พรรคพลังปวงชนไทย
เพื่อคนไทยทั้งแผ่นดิน

ภาคประชาชน เรียกร้อง 'นายกฯ-ผบตร.' ทำตามกฎหมายอุ้มหาย ปกป้องสิทธิ ปชช.

ภาคประชาชนเรียกร้อง นายกฯ และ ผบ.ตร. ปฏิบัติตามกฎหมายอุ้มทรมานฯ เพราะศาลยังไม่ตีความ จี้รับผิดชอบการออก พรก.มิชอบ ทำลายระบบนิติรัฐ และคอร์รัปชั่นเวลา

10 มี.ค. 2566 เมธา มาสขาว เลขาธิการคณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) ได้กล่าวสรุปในเวทีอภิปรายวาระประเทศไทยของสภาที่ 3 เรื่อง “ชะตากรรมประชาชน หลังรัฐบาลประยุทธ์ ออกพรก.เลื่อนบังคับใช้กฎหมายอุ้มหายฯ” ว่าการที่คณะรัฐมนตรีแอบออกพระราชกำหนดเลื่อนการบังคับใช้กฎหมายออกไปนั้น เพื่องดเว้นการบังคับใช้กฎหมายบางมาตรา เป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ และคณะรัฐมนตรีจะต้องรับผิดชอบ เพราะไม่เข้าเงื่อนไขในการออกพระราชกำหนดสักข้อเดียว 

“เรื่องนี้ต่างประเทศกำลังติดตามและจับตาอย่างใกล้ชิด เพราะพล.อ.ประยุทธ์ และคณะรัฐมนตรีชุดนี้ ชอบทำผิดรัฐธรรมนูญการปกครองของตนเองซ้ำๆ เรื่อๆ จนเกิดสภาวะยกเว้นของกฎหมายเรื่อยมา จนไปทำลายระบบนิติรัฐ นิติธรรม ของประเทศ จนไม่แน่ใจว่าใช้รัฐธรรมนูญในการปกครองประเทศหรือไม่ อันไหนขัดผลประโยชน์ตนเองและพวกพ้องก็งดเว้นได้ นี่คือความไม่ชอบธรรมของพล.อ.ประยุทธ์ “

การที่ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ มีผลใช้บังคับแล้ว แต่ต่อมาพบว่าหน่วยงานมีความไม่พร้อม ครม. จึงต้องออก พ.ร.ก.ฉบับนี้ เพื่อเลื่อนการบังคับใช้ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการทรมานฯ เฉพาะมาตรา 22 ถึง มาตรา 25 ออกไปเป็น 1 ต.ค.66 จนครบวาระของ ผบ.ตร. ทั้งที่ก่อนหน้านี้ อดีต ผบ.ตร. เคยออกคำสั่งให้เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้กล้องติดตัว บันทึกภาพและเสียง ขณะทำการตรวจค้นจับกุมและการสอบสวน มาตั้งแต่ปี 2564 แล้ว จะอ้างว่าไม่พร้อมปฏิบัติไม่ได้ 

“พล.อ.ประยุทธ์ คงคิดคอร์รัปชั่นเวลาตามที่ผบ.ตร.เสนอว่า ควรออก พรก.ค้างไว้ให้สภาหน้าพิจารณาเพราะหมดสมัยประชุมสภาแล้ว แต่เมื่อส่งเรื่องให้ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา แล้วก็ต้องรีบเปิดสภาวิสามัญเพื่อพิจารณาเป็นกรณีเร่งด่วนเพราะจะถือว่าละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ได้ รัฐบาลน่าจะคาดไม่ถึง และคิดว่าไม่น่าผ่านสภาไปได้ จึงใช้แทคติกทางการเมือง ให้ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล 1 ใน 5 ยื่นประธานสภา เพื่อส่งเรื่องไปยังศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยตีความ ทั้งที่เป็นกฎหมายของรัฐบาลเอง และแทนที่จะเป็นฝ่ายค้านเสนอ เพราะถ้า พรก.ไม่ผ่านสภา ครม.ต้องลาออกทั้งคณะ แต่สภาดันเปิดพิจารณาและคาดว่าพรรคร่วมฝ่ายค้านไม่เห็นด้วย นี่คือประเด็นสำคัญ”

เมธากล่าวว่า การชิงลงมือนี้มาจาก ผบ.ตร. และนายกรัฐมนตรี กลัวความผิดฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ และสภาผู้แทนราษฎรชุดนี้ กำลังจะหมดวาระลงในวันที่ 23 มี.ค.66 คาดว่าหากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยไม่ทัน กฎหมายฉบับนี้ก็ต้องข้ามไปพิจารณาในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรสมัยหน้า แต่ก็จะมีผลอยู่ดีหากไม่ผ่าน หรือศาลรัฐธรรมนูญยังไม่ตีความ จึงขอแนะนำให้ ผบ.ตร. และนายกฯ เร่งทำตามกฎหมายที่มีอยู่ เพื่อคุ้มครองประชาชน สำหรับประชาชนสามารถเรียกร้องให้มีการบันทึกภาพและเสียงได้ รวมทั้งร้องเรียนอัยการและนายอำเภอเพื่อให้เข้ามาตรวจสอบได้

“เรื่องนี้ที่ ผบ.ตร.ต้องการทอดเวลาออกไปจนกว่าจะหมดวาระเพื่อปัดความรับผิดชอบ เป็นการยืดเวลารัฐตำรวจออกไปเพราะไม่อยากให้ปฏิรูปและถูกแบ่งแยกอำนาจในการสืบสวนสอบสวนตามอำเภอใจ ต้องบอกว่าตำรวจที่ดีก็มีมาก แต่ระบบงานตำรวจต่างหากที่สร้างปัญหาจากตำรวจไม่กี่นาย การใช้อำนาจซ้อมทรมานแบบเก่าทำให้เกิดรอยด่างพร้อยของกระบวนยุติธรรมไทย นับตั้งแต่การอุ้มหายนายพอละจี รักจงเจริญ แกนนำชาวกระเหรี่ยง คดีการอุ้มฆ่าสมชาย นีละไพจิตร ทนายความสิทธิมนุษยชน ถ้ามีการบันทึกภาพและเสียงขณะเข้าจับกุม คนเหล่านี้จะไม่หายไป และไม่สามารถออกแบบคดีความได้เหมือนเดิม” เมธากล่าว

ทิ้งคำตอบไว้

อีเมล์ของคุณจะไม่ถูกเผยแพร่


This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More