พรรคพลังปวงชนไทย
เพื่อคนไทยทั้งแผ่นดิน

'เพื่อชาติ' พร้อมดันกฎหมายต้าน รปห. หนุนเสรีภาพการชุมนุม สื่อต้องถูกคุ้มครอง

‘โอ้-รักษ์ชาติ’ รองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ประกาศพรรคดันแก้กฎหมายต้านการรัฐประหาร หนุนเสรีภาพการชุมนุม หากมีการสลายต้องให้ ปชช. ร่วมเป็นกรรมการสอบข้อเท็จจริง

เมื่อวันที่ 11 มี.ค. ณ พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รังสิต ภายในงาน นิทรรศการ “วัตถุพยานแห่งการต่อต้าน | Evidences of Resistance” โดย พิพิธภัณฑ์สามัญชน Museum of Popular History และ พิพิธภัณฑ์ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ โดยความร่วมมือกับโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) ได้มีการจัดงานเสวนาขึ้นในหัวข้อ “บทเรียนจากท้องถนน: พรรคการเมืองกับนโยบายด้านเสรีภาพการชุมนุม” โดยมีรักษ์ชาติ วงศ์อธิชาติ รองเลขาธิการพรรคเพื่อชาติ เป็นตัวแทนร่วมเสวนา 

เมื่อถูกถามว่าคิดอย่างไรกับนิทรรศการดังกล่าว รักษ์ชาติ กล่าวว่า “ตลอด 10 กว่าปีที่ผมร่วมต่อสู้บนท้องถนน ผมเห็นการสูญเสียมากมาย เพื่อนหลายคนถูกจับ ถูกทำร้าย ถูกบังคับสูญหาย หนีออกนอกประเทศ และรวมถึงเสียชีวิต พิพิธภัณฑ์แห่งนี้ได้ทำหน้าที่ของมันในการบันทึกประวัติศาสตร์แห่งการต่อสู้เพื่อไม่ให้อุดมการณ์ของพวกเขาได้สูญหายไปตามกาลเวลา และเพื่อย้ำเตือนให้คนที่ยังอยู่ได้ตระหนักถึงความรุนแรงโดยรัฐที่กระทำต่อสามัญชนคนธรรมดาคนหนึ่ง”ทั้งนี้ในงานเสวนายังได้มีการถามถึงจุดยืนของพรรคการเมืองต่างๆเกี่ยวกับเสรีภาพการชุมนุม โดยรักษ์ชาติ กล่าวว่า 

“พรรคเพื่อชาติเชื่อในประชาธิปไตยอย่างแน่นอน และได้มีนโยบายหลักที่จะผลักดันคือกฎหมายต้านรัฐประหาร โดยให้เขียนบัญญัติเพิ่มในรัฐธรรมนูญว่าห้ามไม่ให้ศาล วินิจฉัยหรือพิพากษารับรองการรัฐประหารหรือรับรองสถานะทางกฎหมายให้แก่คณะรัฐประหาร ให้ข้าราชการและเจ้าที่รัฐมีสิทธิไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของคณะรัฐประหารที่ยึดอำนาจประเทศได้ และให้กฎหมายเหล่านี้เป็นจารีตประเพณี หากมีการรัฐประหารหลักการเหล่านี้ก็จะยังคงอยู่ นี่จะทำให้ประเทศหลุดพ้นจากวังวนของรัฐประหารซ้ำแล้วซ้ำเล่า”

“ในส่วนของนโยบายด้านเสรีภาพการชุมนุม เราเสนอว่า 

1. เสรีภาพการชุมนุมต้องรวมถึงการชุมนุมออนไลน์ ไม่มีการแทรกแซง และไม่มีการใช้อำนาจปิดกั้นเว็บไซต์ ไม่มีการใช้สปายแวร์ หรือเรียกจับกุมผู้ที่ชักชวนทำการชุมนุมในโซเชี่ยลมีเดีย

2. ต้องมีการเปิดเผยข้อมูลหน่วยงานรับผิดชอบต่อการชุมนุม ว่าใช้หน่วยงานใด อาวุธแบบใด ขั้นตอนการอำนวยความสะดวกแบบไหน

3. หากมีการสลายการชุมนุมด้วยความรุนแรง ต้องมีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนที่เป็นกลาง โดยมีภาคประชาชน (ผู้เสียหาย) เข้าร่วม เพื่อหาตัวผู้กระทำผิดและลงโทษ รวมถึงเยียวยาผู้เสียหายจากการสลายการชุมนุมของรัฐ 

4. ผู้ชุมนุมต้องได้รับสิทธิในการประกันตัว และต้องถูกสันนิษฐานว่าเป็นผู้บริสุทธิ์จนกว่าจะได้รับการพิสูจน์เป็นอื่น 

5. ต้องมีการคุ้มครองสื่อโดยไม่แบ่งแยกสื่ออิสระและสื่อที่มีสังกัด สื่ออิสระต้องสามารถลงทะเบียนสื่อในพื้นที่ชุมนุมได้ และเจ้าหน้าที่รัฐที่ทำร้ายสื่อจะต้องมีโทษร้ายแรง”

หมายเหตุ: ที่มาภาพจาก iLaw

ทิ้งคำตอบไว้

อีเมล์ของคุณจะไม่ถูกเผยแพร่

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More