พรรคพลังปวงชนไทย
เพื่อคนไทยทั้งแผ่นดิน

ส่องเสถียรภาพ 'รัฐบาลพลเรือน' ย้อนหลัง 30 ปี ส่วนใหญ่เสียงปริ่มน้ำ บริหารลำบาก

ใครจะได้เป็นแกนนำจัดตั้งรัฐบาล ได้เป็นนายกฯ เป็นเเรื่องใหญ่ แต่อีกเรื่องที่ใหญ่ไม่แพ้กันคือ เป็นรัฐบาลแล้วจะบริหารได้แค่ไหน จะผลักดันนโยบายต่างๆ ได้หรือไม่ เศรษฐกิจที่สาหัสทับถมมาหลายปีจะฟื้นได้หรือเปล่า ฯลฯ สิ่งเหล่านี้นอกจากจะขึ้นอยู่กับ ‘ความสามารถ’ ของรัฐบาลแล้ว ยังขึ้นกับ ‘เสถียรภาพ’ ของรัฐบาลด้วย

เสถียรภาพหรือความมั่นคงของรัฐบาล อาจดูได้จาก 2 เรื่องหลักคือ

1.จำนวน ส.ส.ที่มีมากเพียงพอ ไม่ง่อนแง่นจนจะโหวตกฎหมายอะไรทีก็ลำบาก อภิปรายไม่ไว้วางใจทีก็ไม่เป็นอันทำอะไร จะรอดไม่รอดแหล่

2.พรรคร่วมรัฐบาลที่ไม่เยอะเกินไป จนต้องแบ่งโควต้ากระทรวงนั้นกระทรวงนี้ให้บริหารไปคนละทิศละทางตามแต่แต่ละพรรคจนหาเอกภาพไม่ได้ ผลักดันเรื่องใหญ่ๆ ไม่ได้

ปัญหาความไม่มีเสถียรภาพของรัฐบาลเป็นปัญหาใหญ่ ก่อนมีรัฐธรรมนูญ 2540 รัฐบาลไทยอายุสั้น ยุบสภาบ่อย ไม่เคยอยู่ครบวาระ พรรคร่วมเยอะ นายกฯ ไม่ได้แข็งแกร่งสั่งการอะไรได้มากนัก นโยบายที่พรรคการเมืองหาเสียงไว้ก็ผลักดันลำบาก ส.ส.งูเห่าก็เต็มสภา พร้อมย้ายกันมั่วซั่ว ฯลฯ นั่นเป็นที่มาให้เกิดแนวคิด ‘ปฏิรูปการเมือง’ ยกร่างรัฐธรรมนูญ 2540 ขึ้นมา

ไม่ว่าจะมองกระบวนการปฏิรูปการเมืองนี้อย่างไร แต่รัฐธรรมนูญ 2540 ก็ได้ชื่อว่ามีส่วนร่วมจากประชาชนสูงที่สุด มีการวิจัยรองรับอย่างเป็นระบบ และปรับโฉมหน้าโครงสร้างการเมือง ระบบเลือกตั้งอย่างมีนัยสำคัญ ทำให้เกิดรัฐบาลที่เข้มแข็ง ระบบสองพรรคใหญ่สู้กัน อันที่จริงรัฐบาลไทยรักไทยที่ผลักดันนโยบายใหญ่ได้หลายเรื่อง ส่วนหนึ่งก็เป็นผลจากการออกแบบระบบเลือกตั้งใหม่ของรัฐธรรมนูญ 2540

รัฐบาลหน้าตาแบบไหน อยู่ที่ประชาชนเลือก + การออกแบบของ รธน.

งานวิจัยของ ‘ประจักษ์ ก้องกีรติ’ จากคณะรัฐศาสตร์ มธ. เรื่อง ‘การเลือกตั้งเพื่อลดความขัดแย้งและส่งเสริมคุณภาพประชาธิปไตย’ ซึ่งทำให้สถาบันพระปกเกล้า (2566) ศึกษาปัญหาทางการเมืองที่เป็นผลสืบเนื่องจากการออกแบบระบบเลือกตั้ง ตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน รวมถึงปัญหาของรัฐธรรมนูญ 2540 ด้วย

‘วอยซ์’ ดึงตารางข้อมูลตอนหนึ่งในงานวิจัยดังกล่าวมานำเสนอ ซึ่งจะทำให้เห็นว่า นับตั้งแต่ปี 2535-2544 (2544 เป็นปีที่เริ่มใช้รัฐธรรมนูญ 2540) มีรัฐบาลมาแล้ว 4 ชุด ซึ่งล้วนแล้วแต่อยู่ไม่ครบวาระ มีพรรคร่วมรัฐบล 6-9 พรรค และเสียงของพรรคร่วมรัฐบาลเกินครึ่งหนึ่งของสภาเพียงเล็กน้อย

จนเริ่มมีความเปลี่ยนแปลงหลังใช้รัฐธรรมนูญ 2540 รัฐบาลเริ่มมีเสียงในสภาเกิน 70% ซึ่งหมายความว่ามีเสถียรภาพสูง รัฐบาลทักษิณ 1 อยู่ครบวาระเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์การเมืองไทย และรัฐบาลทักษิณ 2 ถึงขนาดสามารถจัดตั้งเป็นรัฐบาลพรรคเดียว และนั่นคือปฐมบทของวาทกรรม ‘เผด็จการรัฐสภา’ ที่ยังคงต้องถกเถียงในทางวิชาการว่ามีจริงหรือไม่ แต่ความจริงก็คือ การอภิปรายในสภานั้นเกิดขึ้นไม่ได้เพราะรัฐบาลมีเสียงแข็งแกร่งมาก

จนกระทั่งเกิดการรัฐประหาร 2549 จุดพลิกผันที่ฉุดดึงให้การเมืองไทยถอยหลัง รัฐบาลหลายชุดหลังจากนั้นอยู่รอดอย่างยากลำบาก รัฐธรรมนูญถูกฉีก ระบบเลือกตั้งถูกออกแบบใหม่ การยุบพรรคเกิดขึ้นบ่อย แต่ประชาชนก็ยังคงเลือกแบบเดิม กระทั่งเกิดขบวนการประชาชนที่ต่อต้านรัฐบาลวางเงื่อนไขให้นำไปสู่รัฐประหาร 2557 ทหารปกครองประเทศอีกครึ่งทศวรรษจนมีการเลือกตั้ง แล้วได้ ‘รัฐบาลประยุทธ์’ ซึ่งเป็นผลมาจากการออกแบบรัฐธรรมนูญ 2560 ซึ่งฝ่ายสนับสนุนรัฐประหารเองนิยามว่า ‘ออกแบบมาเพื่อพวกเรา’

รัฐบาลประยุทธ์เป็นรัฐบาลที่ทำสถิติ มีพรรคร่วมรัฐบาลมากที่สุดถึง 19 พรรค เสียง ‘ปริ่มน้ำ’ อย่างไม่เคยมีมาก่อน ทำให้การเมืองไทยย้อนกลับไปยังทศวรรษ 2530 รัฐบาลประยุทธ์จัดตั้งรัฐบาลได้สำเร็จเพราะมี ส.ว.แต่งตั้ง 250 คนค้ำชู จนผู้คนขนานนามว่า ส.ว.เป็นพรรคใหญ่ที่สุดในสภาที่ไม่ต้องผ่านการเลือกตั้ง

ผลงานการบริหารของรัฐบาล 19 พรรค ของพล.อ.ประยุทธ์เป็นที่ซาบซึ้งกันดีในทุกภาคส่วน

แม้รัฐธรรมนูญ 2560 ที่ออกแบบกลไกสืบทอดอำนาจรัฐประหารไว้มากมายยังคงอยู่ ไม่สามารถแก้ไขอะไรได้ ส.ว.250 คนก็ยังคงอยู่ แต่อย่างน้อยสภาก็สามารถแก้ไขระบบเลือกตั้งได้สำเร็จหนึ่งอย่าง ทำให้ระบบเลือกตั้งกลับไปใกล้เคียงกับรัฐธรรมนูญ 2540 บัตร 2 ใบ และประชาชนมีโอกาสอีกครั้งในการเลือกรัฐบาลของตัวเอง

แต่กับดักต่างๆ ในเกมการเมืองยังคงซับซ้อน และขึ้นอยู่กับผลเลือกตั้งด้วยว่าเจตจำนงของประชาชนจะแข็งแกร่งแค่ไหน พรรคฝ่ายประชาธิปไตยจะสามารถทำงานร่วมกันได้หรือไม่ หนทางในการกอบกู้เศรษฐกิจปากท้องและโครงสร้างบิดเบี้ยวของประเทศยังอีกยาวไกล ห้ามกระพริบตา

เสถียรภาพรัฐบาลย้อนหลัง 30 ปี

ทิ้งคำตอบไว้

อีเมล์ของคุณจะไม่ถูกเผยแพร่

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More