พรรคพลังปวงชนไทย
เพื่อคนไทยทั้งแผ่นดิน

ครม.เห็นชอบเสนอ 'เคบายา (Kebaya)' ชุดพื้นเมืองสตรีภาคใต้ ขึ้นทะเบียนยูเนสโก เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้

ครม.เห็นชอบเสนอ “เคบายา (Kebaya)” ชุดพื้นเมืองสตรีภาคใต้ ขึ้นทะเบียนยูเนสโก เป็นมรดกโลกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ ร่วมกับ 4 ประเทศอาเซียน

รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2566 ว่า ครม.เห็นชอบเสนอชุดเสื้อเคบายา (Kebaya) ซึ่งเป็นชุดพื้นเมืองสตรีภาคใต้ ขึ้นทะเบียนเป็นมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติต่อองค์การเพื่อการศึกษา วิทยาศาสตร์ และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติหรือยูเนสโก (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization: UNESCO) ร่วมกับประเทศมาเลเซีย บรูไน อินโดนีเซีย และสิงคโปร์ ตามที่กระทรวงวัฒนธรรมเสนอ ทั้งนี้ ในรายงานเอกสารที่ทำส่งต่อยูเนสโก มีชื่อว่า เคบายา: ความรู้ ทักษะ ประเพณีและการปฏิบัติ (Kebaya: Knowledge, Skills, Tradition and Practices) มีสาระสำคัญเกี่ยวกับข้อมูลในภาพรวมเสื้อเคบายาของทุกประเทศ ซึ่งในส่วนของไทยได้ระบุถึงการสืบทอด โดยถ่ายทอดทักษะในการทำเสื้อเคบายาให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่ ส่งเสริมการนำไปใช้ในงานประเพณีพิธีกรรมและงานเทศกาล การจัดเก็บข้อมูลองค์ความรู้ งานวิจัย และนำเสนอความรู้ในสื่อสิ่งพิมพ์สื่อดิจิทัล รวมทั้งการสนับสนุนจากภาครัฐและภาคเอกชนในการสงวนรักษาของชุมชน ซึ่งมีรายละเอียด อาทิ

เคบายา (Kebaya) เป็นชุดพื้นเมืองของสตรี “ไทย – เพอรานากัน” หรือ “ บาบ๋า – ย่าหยา” ในพื้นที่ส่วนใหญ่ทางภาคใต้ของไทย สามารถพบได้ในจังหวัดภูเก็ต พังงา ระนอง กระบี่ ตรัง และสตูล สตรีพื้นเมืองจะนำมาสวมใส่ทั้งงานทางการ งานสังสรรค์ และงานเทศกาลต่าง ๆ โดยเชื่อมโยงไปถึงชุมชนและกลุ่มต่าง ๆ เช่น ช่างฝีมือ นักออกแบบ สมาคมธุรกิจ นักสะสม และกลุ่มศิลปะการแสดง ที่ผ่านมา เคบายา ได้รับการประกาศขึ้นบัญชีมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมของชาติประจำปี 2555 โดยมีความสอดคล้องเป็นมรดกทางวัฒนธรรมร่วมกับประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลายประเทศ

สำหรับคุณสมบัติของเคบายาที่ตรงตามหลักเกณฑ์การพิจารณาของยูเนสโก อาทิ เคบายาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวัน โดยมักจะมีการสวมใส่ในโอกาสสำคัญต่าง ๆ รวมถึงการสวมใส่สำหรับแสดงศิลปวัฒนธรรม เช่น การเต้นรำแบบดั้ง เดิมและร่วมสมัย นอกจากนี้ การทำเสื้อเคบายาต้องใช้ทักษะและความรู้เฉพาะด้าน เช่น การออกแบบ การเลือกและการตัดผ้าและส่วนประกอบ การตัดเย็บ การปักแบบต่าง ๆ ส่วนมาตรการสงวนรักษาของไทย อาทิ 1)การถ่ายทอดองค์ความรู้ผ่านการศึกษาทั้งในระบบและนอกระบบ รวมถึงการแลกเปลี่ยนความรู้ระหว่างชุมชนทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ 2)ส่งเสริมการศึกษาวิจัยและจัดเก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับวัฒนธรรมการสวมใส่เสื้อเคบายาอย่างต่อเนื่อง 3)สนับสนุนการจัดกิจกรรมต่าง ๆ เพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรมการสวมใส่เสื้อเคบายาให้อยู่ในสังคมร่วมสมัย 4)สนับสนุนเงินทุนและการสนับสนุนเชิงเทคนิคให้กับชุมชน ผู้เกี่ยวข้องกับการผลิตและใช้งานเสื้อเคบายา เพื่อให้มีความต่อเนื่องในการรักษาวัฒนธรรมเคบายาจากรุ่นสู่รุ่น

รัชดา กล่าวด้วยว่า การเสนอขึ้นทะเบียนมรดกร่วม “เคบายา” ครั้งนี้ จะเป็น Soft Power อย่างหนึ่งของไทย นอกจากจะกระตุ้นให้เกิดการอนุรักษ์ และสืบทอดมรดกทางวัฒนธรรมแล้ว ยังเป็นการเสริมสร้างภาพลักษณ์และบทบาทของไทยในเวทีโลกที่เป็นตัวอย่างในความร่วมมือด้านวัฒนธรรมและความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย ทั้งนี้ การเสนอรายการมรดกร่วม “เคบายา” กับ 4 ประเทศ ถือเป็นครั้งแรกของไทย ที่ผ่านมาไทยได้เสนอขึ้นบัญชีรายการมรดกวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ในนามของไทยเพียงประเทศเดียว ได้แก่ โขน นวดไทย และโนรา ซึ่งยูเนสโกได้ประกาศขึ้นทะเบียนมรดกโลกทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติแล้ว เมื่อปี 2561 2562 และ 2564 ตามลำดับ ส่วนสงกรานต์ในไทย ต้มยำกุ้ง และผ้าขาวม้า อยู่ระหว่างการพิจารณา

ทิ้งคำตอบไว้

อีเมล์ของคุณจะไม่ถูกเผยแพร่


This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More