พรรคพลังปวงชนไทย
เพื่อคนไทยทั้งแผ่นดิน

เลือกตั้ง2566 : “เวทีดีเบตใหญ่” ไทยพีบีเอส แนะปราบโกง-ต้านซื้อเสียง-ลดนายพล-ดึงธุรกิจสีดำขึ้นบนดิน

วันนี้ (21 เม.ย.2566) องค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย (ไทยพีบีเอส) จัดเวทีดีเบตใหญ่ ตั้งคำถามใน 5 ประเด็น เพื่อให้ผู้นำพรรคการเมือง 10 พรรค ร่วมกันตอบให้คนไทยได้รู้ถึงแนวคิด และแนวทางของแต่ละพรรคการเมือง ก่อนการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในวันที่ 14 พ.ค.นี้ โดยมี สุทธิชัย หยุ่น และ พรวดี ลาทนาดี ดำเนินรายการ ตลอดเวลา 2 ชั่วโมงครึ่ง

โดยช่วงที่สามของรายการ พิธีกร ให้แต่ละพรรคการเมือง ร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองและนำเสนอแนวทางของพรรค ในประเด็นที่สังคมให้ความสนใจ เช่น การปฏิรูปกองทัพ ยกเครื่องวงการตำรวจ และนโยบายประชานิยม เป็นต้น

นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช จากพรรคเพื่อไทย ตอบคำถามประเด็นเศรษฐกิจและประชานิยม ว่า การเมืองที่แท้จริง คือเพื่อเศรษฐกิจ พรรคเพื่อไทยตั้งเป้าหมาย จะทำให้พี่น้องประชาชนมีเศรษฐกิจดีขึ้น ต้องทำให้ประชาชนนิยม พรรคเพื่อไทยจะเพิ่มรายได้เกษตรกร 3 เท่า รวมทั้งขยายรายได้ภาคการท่องเที่ยว และรัฐสนับสนุนภาคธุรกิจ แก้กฎหมายต่าง ๆ

หากประชาชนไม่มีประชาธิปไตย ไม่มีเสรีภาพ ไม่ได้แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำ นักรบทางเศรษฐกิจของเรา คือ ประชาชน จะไม่มีโอกาสแสดงศักยภาพเต็มที่ จึงจะเน้นแก้ความเหลื่อมล้ำและกฎหมาย พรรคเพื่อไทยขอเสนอตัวเป็นผู้นำความเปลี่ยนแปลงและผู้นำความหวัง ใช้เทคโนโลยีบล็อกเชน กระตุ้นเศรษฐกิจ รวมทั้งทำให้ประเทศโปร่งใส แก้ทุจริตคอร์รัปชัน

ด้าน อนุทิน ชาญวีรกูล จากพรรคภูมิใจไทย กล่าวถึงประเด็นเดียวกัน ว่า ไทยต้องมีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจ โดยขับเคลื่อน 4 ตัว คือ การใช้จ่ายภาครัฐ การลงทุนจากต่างประเทศ การส่งออก และการใช้จ่ายภายในประเทศ

ตนได้ไปพบเอกอัครราชทูตหลายประเทศ ทุกคนพูดเหมือนกันว่า 10 ปีจากนี้ไทยและอาเซียน จะเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจของโลก ต้องสร้างโอกาสให้ไทยเป็น “เฮลท์ ฮับ” ดูแลผู้สูงอายุทั่วโลก

ส่วนเรื่องประชานิยม พรรคภูมิใจไทยจะใช้นโยบายประชานิยมอย่างมีเหตุผล ไม่เกินตัว ไม่มอมเมาพี่น้องประชาชน ไม่สร้างภาระในอนาคตให้ประเทศ

เมื่อถามว่า กัญชาเคยพูดว่าเป็นพืชเศรษฐกิจ-กระตุ้นเศรษฐกิจหรือไม่ นายอนุทินกล่าวว่า กัญชาของพรรคภูมิใจไทยสำเร็จไปแล้ว นำกัญชาออกจากยาเสพติด ส่วนใหญ่ทุกพรรคให้ความเห็นชอบหลักการกฎหมายกัญชา แต่เหตุผลทางการเมืองทำให้กฎหมายกัญชายังไม่ผ่านสภา แต่ไม่ได้ตก หากพรรคกลับไปจะผลักดันกฎหมายนี้

มองอย่างไรในเศรษฐกิจ-ประชานิยม

สำหรับประเด็นเศรษฐกิจ-ประชานิยม มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ์ จาก พลังประชารัฐ กล่าวว่า ประเทศไทยต้องไม่ลืมว่าเราคือใคร พร้อมยกตัวอย่าง 3 ประเทศที่ก้าวขึ้นมาเป็นมหาอำนาจทางเศรษฐกิจได้ เช่น ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ และจีน ไทยเราเองมีเรื่องของเกษตรอยู่ในมือ และถ้า พปชร.เป็นรัฐบาล จะทำให้อัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจได้มากกว่าหรือเท่ากับที่เพื่อไทยอ้าง

มิ่งขวัญ ส่งท้ายคำขวัญของ พปชร.ก้าวข้ามความขัดแย้ง ถ้าสามารถเลิกทะเลาะกันได้ จะพากันแก้ปัญหาและก้าวข้ามความยากจน พปชร.มีบัตรคนจน มีนโยบายผู้สูงอายุ มีนโยบายพลังงาน จะลดค่าครองชีพ ค่าน้ำมัน-แก๊ส-ค่าไฟ

อย่าคิดว่ามี “คนดี” ที่มี “ย์” บริหารประเทศแล้วจะไม่โกง

ด้าน พิธา จากพรรคก้าวไกล กล่าวถึงการปราบปรามคอร์รัปชัน ว่า เป็นราคาที่เราต้องจ่ายเมื่อยอมให้มีการทำรัฐประหารในไทย เมื่อ 8 ปีก่อน ดัชนีคอร์รัปชันของไทยอยุ่ที่ลำดับ 80 กว่า แต่ขณะนี้กลับตกไปที่อันดับ 110 กว่า พร้อมยกตัวอย่าง เวียดนามที่เคยอยู่ในอันดับ 90 กว่า ตอนนี้ขึ้นมาอันดับที่ 70 กว่า

ปีที่ผ่านมา การลงทุนในเวียดนามมีมากกว่าในไทย เพราะคนสนใจเรื่องของการคอร์รัปชันกับการลงทุน เราต้องยอมรับว่า คอร์รัปชันเป็นเรื่องของระบบ มันไม่ใช่การบอกว่าเป็น คนดี ที่มี ย์ เข้ามาบริหารบ้านเมืองแล้วบอกว่า คอร์รัปชันจะหมดไป สิ่งที่ต้องทำคือ ต้องลดดุลยพินิจ

พิธากล่าวต่อว่า เรื่องของคอร์รัปชันเป็นเรื่องของระบบยังไง สมการของคอร์รัปชัน พูดให้ชัดก็คือการมีดุลยพินิจเยอะของเจ้าหน้าที่ มีการผูกขาดข้อมูล และไม่มีความรับผิดรับชอบในกระบวนการนั้น ๆ สิ่งที่ต้องทำคือลดดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ ลดกฎหมาย ลดเวลาในการรู้ผล ใบอนุญาต ยกเลิกใบอนุญาตที่ไม่จำเป็น การผูกขาดข้อมูลที่ไม่โปร่งใสต้องเปิดทั้งหมด ห้ามใช้งบหลวงในการโปรโมตตัวเอง และ ประชาชนต้องมีจำนวนมากพอในการถอดถอน ป.ป.ช ได้

นักการเมืองต้องไม่ซื้อเสียง-ไม่เข้ามาถอนทุน

ขณะที่ จุรินทร์ จากพรรคประชาธิปัตย์ ให้ความสำคัญกับปัญหาทุจริตคอร์รัปชัน เพราะถือเป็นทำลายเศรษฐกิจ ต่างชาติไม่มาลงทุน เงินใต้โต๊ะสูง และถ้าต้องยึดอำนาจการเจรจาทางการเมือง เช่น FTA ยุโรปไม่เจรจา และพอเปลี่ยนเป็นรัฐบาลจากการเลือกตั้งตอนนี้นับหนึ่งแล้ว

ทางแก้ต้องเริ่มที่นักการเมือง ต้องไม่ซื้อเสียง เพราะต้องเข้ามาถอนทุนคืน ประชาชนต้องไม่สนับสนุนพรรคการเมืองที่ซื้อเสียง และมีประวัติ และคดีทุจริตคอร์รัปชันต้องไม่มีอายุความ การลงโทษ ถ้าศาลลงโทษต้องไม่ลดโทษแบบคดีทุจริตอื่น ๆ รวมทั้งการทุจริตจะมาติดคุกที่บ้านไม่ได้ ไม่เห็นด้วย เพราะมีแนวโน้มว่ากำลังมีการยกร่างให้คดีทุจริตมาติดคุกที่บ้านได้
แนะทำธุรกิจสีดำให้ขึ้นมาบนดิน

กรณ์ จาติกวณิช จากพรรคชาติพัฒนากล้า กล่าวถึงปัญหาคอร์รัปชันว่า สำคัญที่ตัวระบบ ซึ่งระบบจะต้องทำให้การทุจริตทำได้ยาก ทำแล้วปรากฏหลักฐานที่ทำได้ง่าย และจับแล้วต้องมีการลงโทษจริง จึงจากปราบคอร์รัปชันได้

เราจะพึงให้คนเป็นคนดีอย่างเดียวไม่ได้ ต้นตอที่สำคัญของ คอร์รัปชัน คือ ระบบราชการ ที่มีขั้นตอนที่สลับซับซ้อน มีการใช้วิจารณญาณด้วยกฎหมาย ด้วยหลักเกณฑ์ในระบบราชการ ต้องถูกรื้อทั้งหมด ด้วยเทคโนโลยี และต้องแก้เงื่อนปมที่ทำให้เกิดคอร์รัปชัน โดยเปลี่ยนส่วยเป็นภาษี ธุรกิจใต้ดิน ธุรกิจสีเทา ธุรกิจที่อยู่ในที่มืด ที่เป็นแหล่งที่มาของเงินสกปรก ถ้าเป็นไปได้ทำไมไม่เอามาไว้บนที่สว่าง นอกจากการแก้คอร์รัปชันแล้ว จะแก้ปัญหามาเป็นรายได้ของรัฐ ในการที่จะนำไปดูแลประชาชน

นโยบายปฏิรูปกองทัพ

ขณะที่ประเด็นการปฏิรูปกองทัพ ยกเครื่องตำรวจ พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ร่วมดีเบตกับอีก 2 พรรคการเมือง ระบุว่า การปฏิรูปไม่ว่าตำรวจหรือทหาร ต้องปฏิรูปคน องค์กรและระบบงาน

การปฏิรูปตำรวจในส่วนของบุคลากร ชั้นประทวนจะเปิดรับปริญญาตรี และชั้นสัญญาบัตรจะรับเนติบัณทิตเข้ามาด้วย นอกจากนี้จะแบ่งงานป้องกันและปราบปรามออกจากกัน

ขณะที่ วิทยา จากพรรครวมไทยสร้างชาติ กล่าวถึงการปฏิรูปทหาร ว่า รัฐต้องมีทหารปกป้องอธิปไตย แต่กระบวนการเข้าเป็นทหารต้องมีเกียรติและศักดิ์ศรี เช่น ทหารเกณฑ์ ไม่ควรถูกเลือกเข้าไปเป็นคนรับใช้ในบ้าน

ส่วนการปฏิรูปตำรวจ ซึ่งเป็นผู้รักษากฎหมาย ซึ่งกฎหมายที่มีโทษทางอาญาของไทยมีนับพันฉบับ แต่ใช้พนักงานสอบสวนชุดเดียว มองว่าเป็นการรวบอำนาจการสอบสวน และคนที่อยู่ในระบบสอบสวนจะรู้สึกว่ามีโอกาสน้อย เพราะใช้อำนาจในคดีอย่างเดียว แต่คนที่มีอำนาจจับกุมปราบปรามมีอำนาจรอบราชอาณาจักร จึงเป็นที่มาของการวิ่งเต้นเข้าสู่ตำแหน่ง

ขณะที่ เสรีพิศุทธ์แย้งว่า ที่เป็นเช่นนี้เพราะนายกฯ เข้ามาเป็นประธานคณะกรรมการข้าราชการตำรวจ จึงมีนักการเมือง – ส.ส.ส่งบัญชีรายชื่อคนของตัวเองไปให้นายกฯ และนายกฯ ก็ส่งบัญชีไปให้คณะกรรมการข้าราชการตำรวจ พร้อมระบุว่า “ผมเคยเป็นตำรวจ ผมรู้”

สุดารัตน์ กล่าวว่า ต้องสร้างกองทัพมืออาชีพเพื่อประชาชน ต้องเอากองทัพออกจากการเมือง และเชื่อว่า ทหารรุ่นใหม่ ต้องการสร้างกองทัพมืออาชีพ มีทหารแก่ไม่กี่คนที่เกษียณแล้วยังอยากอยู่ในอำนาจ และทำให้กองทัพเสียด้วยการรัฐประหาร ทำในสิ่งที่ไม่ถูกต้องในระบบประชาธิปไตย

เชื่อว่าทหารส่วนใหญ่ต้องการทำแบบมืออาชีพ ต้องเอาทหารออกจากการเมือง และลด “นายพล” จากกองทัพ และให้เกษียณไปพร้อมกับตำแหน่ง จะช่วยลดนายพล และยกเลิกเกณฑ์ทหาร เพื่อให้สมัครใจเข้ามาเป็นทหาร ยกเลิกจับบดำใบแดง เขาจะทำงานด้วยความภาคภูมิใจ เพราะปีหนึ่งที่มาสมัคร 2.6 หมื่นคน และทหารเกณฑ์ที่ต้องไปเป็นคนรับใช้ต้องเลิก

สุดารัตน์กล่าวต่อว่า เมื่อลดกองทัพจะเหลือเงินนำไปพัฒนาเทคโนโลยี และเพิ่มเงินสวัสดิการชั้นผู้น้อยถึงจะแก้คอร์รัปชันได้ เพราะจะโยกย้ายก็ต้องจ่าย หรือแม้จะอยู่ที่เดิมก็ยังต้องจ่าย

พิธีกรถามว่า ทำอย่างไรจะไม่ให้การเมืองไปยุ่งกับทหาร สุดารัตน์กล่าวว่า 90 ปีประชาธิปไตยสู้ระหว่างประชาธิปไตยที่ประชาชนเลือก และรัฐราชการที่นำโดยทหาร มารัฐประหาร แข่งกันแย่งอำนาจมา 90 ปี และเลวร้ายในช่วง 17 ปีนี้

วันนี้ ต้องบอกว่าถ้าย้อนกลับไปหลายนายกฯ สั่งทหารไม่ได้ เราต้องทำให้เป็นทหารมืออาชีพอยู่ภายใต้รัฐบาล และรัฐบาลต้องไม่ฉ้อฉลจนเป็นเหตุให้เขามาอ้างรัฐประหาร

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง

เลือกตั้ง2566 : “เวทีดีเบตใหญ่” ไทยพีบีเอส : 10 พรรค ตั้งเป้าแก้ 5 ปัญหาใหญ่ระดับชาติ

เลือกตั้ง2566 : “ไทยพีบีเอส” จัด “ดีเบตใหญ่” 10 ผู้นำพรรคการเมือง ด้วย 5 คำถาม และอนาคตประเทศไทย 6 เดือน หลังเลือกตั้ง

ทิ้งคำตอบไว้

อีเมล์ของคุณจะไม่ถูกเผยแพร่

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More