พรรคพลังปวงชนไทย
เพื่อคนไทยทั้งแผ่นดิน

ผู้ว่าฯ กทม. ระบุพร้อมทำงานกับทุกพรรค

ไทยพีบีเอส สัมภาษณ์ นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ถึงการเลือกตั้งทั่วไป ในวันที่ 14 พ.ค.2566

ไทยพีบีเอส : ในฐานะผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ส.ส.กทม. ตอนนี้มีคนในใจแล้วหรือยัง

นายชัชชาติ : ( ยิ้ม) ยังไม่ได้ดูรายละเอียด ต้องขอไปดูก่อน ยังมีเวลาอยู่ ขอไปดูประวัติ ดูผลงานและข้อมูลต่าง ๆ ประกอบก่อน

ไทยพีบีเอส : ปีนี้สนามแข่งขันบรรยากาศดุเดือด ทั้งในจังหวัดต่าง ๆ และในกรุงเทพฯ ด้วย อาจารย์ มองเห็นปรากฏการณ์นี้อย่างไร

นายชัชชาติ : ผมว่าดีนะ มันดีมาก มีข้อมูลหลากหลาย ที่เข้าถึงคนได้มากขึ้น เป็นบรรยากาศที่ดีเลยนะ มองเห็นผู้คนที่เขาอยากเลือกตั้ง ผมเองก็อยากให้ออกมาเลือกตั้งกันเยอะๆ นะครับ สัก 80-90 เปอร์เซ็นต์เลยยิ่งดี

ผมว่าประชาธิปไตยก้าวแรก เริ่มจากการเลือกตั้ง เพราะการเลือกตั้งเป็นตัวแทนของประชาชนที่แท้จริง และต้องมีความโปร่งใส ถ้าการเลือกตั้งมีความโปร่งใส ก็ทำให้ก้าวต่อไป มั่นคงมากขึ้น แต่ถ้าก้าวแรกไม่มั่นคง ก้าวต่อไปก็เดินยากขึ้น

ไทยพีบีเอส : อยากให้ ส.ส.กทม. เดินหน้าคู่กับ ผู้ว่าฯ กทม.อย่างไร

นายชัชชาติ : จริงๆ แล้ว ส.ส.มีสถานะใหญ่กว่า ผู้ว่าฯ กทม. เพราะ ส.ส.เป็นตัวแทนของประเทศ เป็นตัวแทนของเรา แต่เราก็พร้อมทำงานกับเขา พร้อมทำงานกับทุกคน ซึ่งที่ผ่านมาจะเห็นว่า เราพร้อมกับทำงานกับรัฐบาลเต็มที่ ทำงานกับทุกคนเต็มที่

ไทยพีบีเอส : มีประเด็นไหนใน กทม. ที่อยากเสนอ ส.ส. หรือ ร่วมผลักดันกันเป็นพิเศษไหม

นายชัชชาติ : มีหลายประเด็นที่เราอาจจะต้องเสนอไป เช่น การแก้ปัญหาวิกฤตฝุ่น PM 2.5 ถ้า กทม.ทำอยู่ฝ่ายเดียวมันก็จะได้ระดับหนึ่ง แต่ว่าถ้าทำเป็นภาพรวม เป็นแผนงานเป็นวาระแห่งชาติ ก็จะช่วยกันทำให้งานดีขึ้นได้

หรือเช่น ประเด็นที่อยู่อาศัย พื้นที่ขายของให้ผู้มีรายได้น้อย ซึ่งเฉพาะใน กทม.เอง เราไม่ได้มีพื้นที่มาก แต่ขณะที่รัฐบาลเองมีหน่วยงานที่มีพื้นที่ที่เขาดูแลได้จำนวนมาก เช่น ที่ดินของกรมธนารักษ์ หรือหน่วยราชการต่าง ๆ ถ้านำมาพัฒนาเป็นที่อยู่อาศัยได้ในสวนสาธารณะ หรือ การนำพื้นที่มาใช้ประโยชน์ รูปแบบ ศูนย์อาหาร Hawker Center รวมถึงการดูแลแหล่งค้าขาย เพื่อให้คนได้ใช้ประโยชน์ ก็จะทำให้การแก้ไขปัญหาเมืองปัญหาของคนมันง่ายขึ้น

พร้อมครับ รอเลยครับที่จะทำงานร่วมกับทางฝ่ายรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นพรรคไหนก็ตาม เพราะว่า จริง ๆ แล้ว กทม.เราอยู่ใต้ กระทรวงมหาดไทยด้วยซ้ำ เราต้องรู้ตำแหน่งตัวเอง และสุดท้ายแล้ว เราต้องทำงานร่วมกับคนที่ประชาชนเลือกมาให้ได้

ไทยพีบีเอส : ถ้าถอดหมวก ผู้ว่าฯ กทม. ออก ในฐานะผู้มีสิทธิเลือกตั้ง มองว่าผู้สมัคร ส.ส.กทม. มีตัวเลือกมากน้อยขนาดไหนสำหรับอาจารย์

นายชัชชาติ : (ยิ้ม) ดีครับ ตัวเลือกเยอะเลยนะ ผมว่าคนรุ่นใหม่ก็มีเยอะ ส่วนคนรุ่นที่อยู่มาแล้วก็มีเยอะ หรือ คนที่มีประสบการณ์มาแล้วก็มี สุดท้าย เราก็ต้องตัดสินใจเอาเองว่า เราต้องให้น้ำหนักตรงไหนเยอะสุด และอยู่ที่คำสุดท้ายว่า เราไว้ใจใครที่จะให้มาดูแลเรา

ไทยพีบีเอส : อาจารย์จะไปใช้สิทธิเลือกตั้งล่วงหน้า 7 พ.ค. หรือ 14 พ.ค.

นายชัชชาติ : ไปวันที่ 14 เลยครับ หน่วยเลือกโรงเรียนแจ่มจันทร์ (แขวงคลองตันเหนือ เขตวัฒนา) วันนั้น ใช้สิทธิเสร็จ ก็น่าจะไปตระเวนดูไปตรวจหน่วยเลือกตั้งตามจุดต่าง ๆ ด้วย

ไทยพีบีเอส: การเปิดพื้นที่ของ กทม. ให้พรรคการเมืองต่าง ๆ หาเสียง ราบรื่นดีไหม

นายชัชชาติ : ภาพรวมตอนนี้ กรุงเทพมหานคร ประกาศพื้นที่ให้ใช้สถานที่ในการหาเสียงแล้วกว่า 20 แห่ง โดยขอให้แต่ละพรรคการเมืองประสานเข้ามาที่ กทม. หรือ สำนักเขตก่อน เพื่อจัดคิวกันโดยไม่ทับซ้อน ซึ่งผมเห็นว่าการเปิดพื้นที่สำหรับจัดหาเสียงหรือปราศรัย จะช่วยทำให้ส่งเสริมบรรยากาศการเลือกตั้ง เป็นบรรยากาศประชาธิปไตยได้มาก

ไทยพีบีเอส : เรื่องการติดป้ายหาเสียงตามสถานที่ต่างๆ ใน กทม.มีประเด็นใดต้องกำชับผู้สมัครหรือพรรคการเมือง

นายชัชชาติ : มีที่พบว่า ประชาชนร้องเรียนมาแล้วบ้าง โดยเฉพาะการติดป้ายในจุดที่อาจบังสายตา หรือ ไม่สะดวกสำหรับประชาชาชน ที่ใช้ทางเท้า ก็ขอฝากให้ทุกพรรคระมัดระวังการติดป้ายหาเสียง

หากมีปัญหาจุดใด ทาง กทม. จำเป็นต้องเข้าไปเก็บป้ายที่ รกรุงรัง ไม่เป็นระเบียบเรียบร้อย หรือการวางในลักษณะที่ปิดบังทางเข้าออกซอย ที่ต้องระมัดระวัง แต่ก็ยืนยันว่า กทม.พยายามอะลุ่มอล่วยให้มากที่สุด เพราะเป็นบรรยากาศของการเลือกตั้ง ที่ประชาชน จะได้เข้าถึงข้อมูลให้มากที่สุด

เรื่อง/ภาพ : ภัทราพร ตั๊นงาม

ทิ้งคำตอบไว้

อีเมล์ของคุณจะไม่ถูกเผยแพร่

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More