พรรคพลังปวงชนไทย
เพื่อคนไทยทั้งแผ่นดิน

นาฬิกาเพื่อน ‘ป้อม’ ยังไม่อวสาน ! วีระล่าชื่อถอดถอน ป.ป.ช.- ส่องที่มา ‘คนดี’ ผู้ตรวจสอบ

เปิดไทม์ไลน์ส่องเส้นทางการต่อสู้ เพื่อได้ข้อมูล ‘แหวนแม่ นาฬิกาเพื่อน’ อันกระฉ่อน จนนำไปสู่การล่าชื่อถอดถอน ป.ป.ช. ที่มีคุณสมบัติคนดี ไร้รอยเปื้อนทุจริต

วีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต้านคอร์รัปชั่น  เตรียมยื่นถอดถอนคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริจแห่งชาติ (ป.ป.ช.) จำนวน 5 ราย หลังจากเมื่อวันที่ 26 เม.ย.ที่ผ่านมา มีการลงมติ 5 ต่อ 1 เสียงยังดื้อไม่เปิดเผยข้อมูลผล ‘คดีนาฬิกาหรู’ ของพล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี

แม้ว่าศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาแล้ว ให้สำนักงาน ป.ป.ช. (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 1) และ คณะกรรมการ ป.ป.ช. (ผู้ถูกฟ้องคดีที่ 2) เปิดเผยข้อมูลต่อ ‘วีระ’ ผู้ฟ้องคดี รวมทั้งหมด 3 รายการ ภายใน 15 วัน ได้แก่ 

1.รายการการแสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานเอกสารทั้งหมดในคดียืมนาฬิกาหรูและแหวนเพชรของ พล.อ.ประวิตร 

2.ความเห็นของพนักงานเจ้าหน้าที่ ป.ป.ช. ทุกคนที่รับผิดชอบเรื่องนี้ 

3.รายงานการประชุมของคณะกรรมการ ป.ป.ช.ที่เกี่ยวกับเรื่องนี้ 

นอกจากนี้คณะกรรมการ ป.ป.ช. ยังส่งหนังสือถึงศาลปกครองให้ทบทวนคำสั่งว่าข้อมูลส่วนไหนที่สามารถเปิดเผยหรือไม่เปิดเผยได้ ทำให้ ‘วีระ’ ประกาศผ่านเฟซบุ๊กเตรียมรณรงค์ล่า 20,000 รายชื่อ จากประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ทางออนไลน์ในช่วงวันที่ 1-5 พ.ค. 2566 โดยจะรับรายชื่อผ่านผ่านช่องทางเฟซบุ๊กของวีระ สมความคิด และสมชัย ศรีสุทธิยากร 

หากในวันที่ 6 พ.ค.ซึ่งจะครบ 15 วันตามคำสั่งศาลปกครอง แล้ว ป.ป.ช.ไม่ส่งเอกสารถึงวีระ ในวันที่ 8 พ.ค. วีระและสมชัย ศรีสุทธิยากร ประธานยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนนโยบาย พรรคเสรีรวมไทย จะเดินทางไปยื่น 20,000 รายชื่อ ต่อประธานวุฒิสภา เพื่อส่งต่อไปยังประธานศาลฎีกา ให้มีการตั้งคณะกรรมการไต่สวนอิสระ และเข้าสู่กระบวนการถอดถอน ป.ป.ช. ตามรัฐธรรมนูญ 236 และ 237

คลี่ปูมหลังคดีฟ้องศาล บีบ ป.ป.ช.เปิดข้อมูล

ย้อนไปปี 2562 คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติ 5 ต่อ 3 ตีตกคดีที่พล.อ.ประวิตรถูกกล่าวหาว่าจงใจปกปิดหรือยื่นบัญชีทรัพย์สินอันเป็นเท็จ โดย ป.ป.ช.ชี้แจงว่าคดีของ พล.อ.ประวิตร ยังไม่มีมูลเพียงพอ ต่อมาวีระได้ยื่นขอข้อมูลเกี่ยวกับสำนวนและผลการไต่สวน 3 รายการดังกล่าว

อย่างไรก็ตาม คณะกรรมการ ป.ป.ช.มีมติไม่เปิดเผยข้อมูลดังกล่าว วีระจึงยื่นศาลปกครองเพื่ออุทธรณ์คำสั่งต่อคณะกรรมการการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร (กวฉ.) สาขาสังคม การบริหารราชการแผ่นดิน และการบังคับใช้กฎหมาย สังกัดสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ที่มีอำนาจพิจารณาการเปิดเผยข้อมูลด้านต่างๆ

ต่อมาคณะกรรมการการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร มีคำสั่งที่ สค 333/2562 ให้สำนักงาน ป.ป.ช. เปิดเผยข้อมูลทั้ง 3 รายการให้วีระ แต่เมื่อวีระไปติดต่อสำนักงาน ป.ป.ช. ก็ได้รับแจ้งว่าต้องรอไปก่อน เพราะคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติให้ข้อมูลบางรายการต้องปกปิด เพราะต้องขออนุญาตจากพยานก่อน

วีระจึงได้ขอคณะกรรมการการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร บังคับสำนักงาน ป.ป.ช. ให้ปฏิบัติตามคำวินิจฉัย ทว่าหลังคณะกรรมการการวินิจฉัยฯ ได้ส่งหนังสือเร่งรัดแล้ว สำนักงาน ป.ป.ช. ก็ไม่ได้เปิดเผยข้อมูลแต่อย่างใด จึงเป็นที่มาของการยื่นฟ้องต่อศาลปกครอง ซึ่งในชั้นต้นศาลได้พิพากษาให้ ป.ป.ช. เปิดเผยข้อมูลบางส่วน ทั้งวีระและ ป.ป.ช.ต่างยื่นอุทธรณ์ 

เมื่อเรื่องถึงศาลปกครองสูงสุด จึงพิเคราะห์ว่า ตามการขอข้อมูลของผู้ฟ้องคดี เข้าลักษณะเป็นข้อมูลในชั้นการพิจารณาของเจ้าหน้าที่และคณะกรรมการ ป.ป.ช. ซึ่งจะแสดงถึงความโปร่งใส และตรวจสอบได้ ทำให้เกิดความน่าเชื่อถือในการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรรมการ ป.ป.ช.

ในคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุด ระบุในตอนหนึ่งว่า “เมื่อพิเคราะห์ถึงการปฏิบัติหน้าที่ตามกฎหมายของหน่วยงานของรัฐ ประโยชน์สาธารณะ และประโยชน์ของเอกชนที่เกี่ยวข้องประกอบกันแล้ว ข้อมูลข่าวสารทั้ง 3 รายการจึงเปิดเผยได้ และคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสารได้มีคําวินิจฉัยที่ สค 333/2562 ให้ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งสองเปิดเผยข้อมูลข่าวสารของราชการตามคําขอของผู้ฟ้องคดี คําวินิจฉัยอุทธรณ์นี้ย่อมเป็นที่สุดตามมาตรา 37 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าว”

ในส่วนอุทธรณ์ของผู้ถูกฟ้องที่ระบุว่า หากเปิดเผยข้อมูล ผู้เปิดเผยจะมีโทษตามมาตรา 180 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2561 นั้น ศาลปกครองสูงสุดเห็นว่า พ.ร.บ.ข้อมูลข่าวสารของราชการ พ.ศ. 2540 มาตรา 20 บัญญัติว่า การเปิดเผยข้อมูลข่าวสารใด แม้จะเข้าข่ายต้องมีความรับผิดตามกฎหมายใด ให้ถือว่าเจ้าหน้าที่ของรัฐ ไม่ต้องรับผิดหากเป็นการกระทําโดยสุจริต

ศาลปกครองสูงสุดจึงพิพากษาแก้คำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น ให้สำนักงาน ป.ป.ช. และ คณะกรรมการ ป.ป.ช. เปิดเผยข้อมูลข่าวสารทั้งสามรายการตามคําวินิจฉัยของคณะกรรมการวินิจฉัยการเปิดเผยข้อมูลข่าวสาร ให้ผู้ฟ้องคดีภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษา ซึ่งจะครบกำหนดในวันที่ 6 พ.ค.นี้

‘ซื่อสัตย์ เป็นธรรม มืออาชีพ โปร่งใส ตรวจสอบได้’

ย้อนไปเมื่อปี 2542 มีการจัดตั้งคณะกรรมการ ป.ป.ช. ขึ้นตามรัฐธรรมนูญปี 2540 โดยมีเจตนารมณ์ให้ ป.ป.ช. ตรวจสอบอำนาจรัฐ มีฐานะเป็นส่วนราชการที่เป็นองค์กรอิสระ

ภารกิจหลัก 3 ด้าน ตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช. พ.ศ.2542 ประกอบไปด้วย

‘ภารกิจด้านป้องกันการทุจริต’ – เสนอมาตรการต่อคณะรัฐมันตรี รัฐสภา ศาล หรือคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดิน เพื่อป้องกันหรือปราบปรามการทุจริตต่อหน้าที่

‘ภารกิจด้านการปราบปรามการทุจริต’ – ทำหน้าที่ไต่ส่วนข้อเท็จจริง เพื่อส่งเรื่องให้วุฒิสภาถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และผู้บริหารระดับอธิบดีขึ้นไปที่ถูกกล่าวหาว่าร่ำรวยผิดปกติ รวมทั้งไต่สวนวินิจฉัย ผู้ถูกกล่าวหาซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐว่าทุจริตร่ำรวยผิดปกติ เพื่อดำเนินการทางวินัย และยังมีอำนาจสอบสวนคดี ในฐานะเช่นเดียวกับพนักงานสอบสวนตามประมวลกฎหมายวิธีพิจาราณาความอาญา และมีอำนาจเช่นเดียวกับ ผบ.ตร. และผู้ว่าราชการจังหวัด ในกระบวรการสั่งคดีของพนักงานอัยการ

‘ภารกิจด้านการตรวจสอบทรัพย์สิน’ – ป.ป.ช.มีหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้อวของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง แบ่งเป็น 3 ระยะ คือ ก่อนรับตำแหน่ง-พ้นตำแหน่ง และพ้นตำแหน่ง 1 ปี หากผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองจงใจไม่ยื่น ยื่นเท็จหรือปกปิด ต้องส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เพื่อให้พ้นจากตำแหน่ง และห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมืองเป็นเวลา 5 ปี

ปัจจุบัน ป.ป.ช.ถือเป็นองค์กรที่มีบทบาทสำคัญ โดยเฉพาะการสอบคดีทุจริตใหญ่ อาทิ จำนำข้าว, สร้างโรงพักทดแทน, แหวนแม่ นาฬิกาเพื่อน โดยกฎหมาย ป.ป.ช.ฉบับล่าสุด ปี 2561 ยังให้อำนาจให้แสวงหาข้อเท็จจริง เพื่อตรวจสอบหาข้อมูลเกี่ยวกับทรัพย์สิน และเพิ่มอำนาจตัดสินใจร่วมกับอัยการสูงสุด เช่นกรณี ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หรือองค์กรอิสระ มีพฤติการณ์ทุจริตต่อหน้าที่ แต่อัยการสูงสุดเห็นว่าเรื่อง ป.ป.ช.ส่งมายังไม่สมบูรณ์ ให้อัยการสูงสุดและ ป.ป.ช. ตั้งคณะกรรมการร่วมกันวินิจฉัย หากไม่สามารถหาข้อยุติร่วมกันได้ คณะกรรมการ ป.ป.ช.สามารถดำเนินคดีและยื่นฟ้องเองได้เลย

สรรหาคนดี-ไม่แปดเปื้อนทุจริต

ในส่วนการสรรหาคณะกรรมการ ป.ป.ช. ตามกฎหมาย ป.ป.ช. พ.ศ. 2561 กำหนดให้ต้องเป็นอดีตข้าราชการ เช่น รับราชการไม่ต่ำกว่าอธิบดีไม่น้อยกว่า 5 ปี, เคยเป็นตุลาการพระธรรมนูญหัวหน้าศาลทหารกลางไม่น้อยกว่า 5 ปี, เคยดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยในประเทศไทย ไม่น้อยกว่า 5 ปี และมีผลงานทางวิชาการเป็นที่ประจักษ์ โดยมีคุณสมบัติต้องห้ามคือ คนทำงานองค์กรพัฒนาเอกชน และตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ หรือ กรรมการองค์กรอิสระอื่น ไม่เคยรับโทษจำคุก เว้นแต่ความผิดลหุโทษที่พ้นโทษมาเกิน 5 ปี และไม่เคยเป็น ส.ส.-ส.ว. รวมถึงข้าราชการการเมือง

กรรมการสรรหา ป.ป.ช.ประกอบด้วย

1.ประธานศาลฎีกา 

2.ประธานสภาผู้แทนราษฎร และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร 

3.ประธานศาลปกครองสูงสุด 

4.บุคคลซึ่งศาลรัฐธรรมนูญและองค์กรอิสระที่ไม่ใช่คณะกรรมการ ป.ป.ช. แต่งตั้งจากผู้มีคุณสมบัติ และไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ

เมื่อได้บุคคลที่มีคุณสมบัติครบถ้วนแล้ว จะส่งไปยังชั้นวุฒิสภาเพื่อให้ความเห็นชอบ ซึ่งต้องใช้เสียงเกินกึ่งหนึ่ง จึงจะผ่านกระบวนการเข้ามาทำหน้าที่กรรมการ ป.ป.ช.ได้

ขณะที่วาระการดำรงตำแหน่งกำหนดไว้ 7 ปี อย่างไรก็ดี มีการเขียนบทเฉพาะกาลยกเว้นเพื่อให้กรรมการชุดปัจจุบัน ดำรงตำแหน่งไปจนครบวาระ 7 ปี หรือจนกว่าอายุครบ 70 ปี

ถอดถอนผู้ถอดถอน กระบวนการจึงยากยิ่ง

อีกประเด็นที่น่าสนใจคือการยื่นถอดถอนองค์กรอิสระ ซึ่งรวมถึงคณะกรรมการ ป.ป.ช. ไอลอว์สรุปไว้ว่า ในรัฐธรรมนูญ 2540 มาตรา 340 กำหนดให้ ส.ส.เข้าชื่อไม่น้อยกว่า 1 ใน 4 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดในสภาผู้แทนราษฎร หรือให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง 50,000 คน เข้าชื่อร้องต่อวุฒิสภา ให้มีมติถอดถอนบุคคลในองค์กรอิสระ

ต่อมารัฐธรรมนูญ 2550 มาตรา มาตรา 271 เปิดโอกาสให้ประชาชนจำนวน 20,000 คนขึ้นไป และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 4 ของสภาผู้แทนราษฎร สามารถยื่นถอดถอนองค์กรอิสระโดยยื่นประธานวุฒิสภา

ทว่าในรัฐธรรมนูญ 2560 การถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งในองค์กรอิสระได้ตัดอำนาจวุฒิสภาที่จะโหวตถอดถอน ป.ป.ช.โดยตรงออกไป แต่ยังคงให้สิทธิสำหรับประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 20,000 รายชื่อ ยื่นเรื่องถอดถอน ป.ป.ช.ให้แก่ประธานรัฐสภา (กรณีที่ยุบสภาแล้ว ยื่นเรื่องต่อประธานวุฒิสภา) 

1.กระบวนการถอดถอนเป็นไปตามมาตรา 45 ของกฎหมาย ป.ป.ช. 

“สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกวุฒิสภา หรือสมาชิกของทั้งสองสภา จำนวนไม่น้อยกว่า 1 ใน 5 ของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มียู่ของทั้งสองสภา หรือประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งจำนวนไม่น้อยกว่า 20,000 คน มีสิทธิเข้าชื่อกล่าวหาว่ากรรมการผู้ใดมีพฤติการณ์ร่ำรวยผิดปกติ ทุจริตต่อหน้าที่ หรือจงใจปฏิบัติหน้าที่หรือใช้อำนาจขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย หรือฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานทางจริยธรรมอย่างร้ายแรง

โดยยื่นต่อประธานรัฐสภา พร้อมด้วยหลักฐานตามสมควร หากประธานรัฐสภาเห็นว่ามีเหตุอันควรสงสัยว่ามีการกระทำตามที่ถูกกล่าวหา ให้ประธานรัฐสภาเสนอเรื่องไปยังประธานศาลฎีกาเพื่อแต่งตั้งคณะผู้ไต่สวนอิสระตามกกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง และให้นำความตามมาตรา 87 มาใช้บังคับด้วยอนุโลม”

2.เมื่อไปสู่มือประธานศาลฎีกา พ.ร.ป.วิธีพิจารณาคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองกำหนดไว้ว่า  ประธานศาลฎีกาจะต้องตั้ง ‘คณะผู้ไต่สวนอิสระ’ เพื่อดำเนินการไต่สวนหาข้อเท็จจริง คณะกรรมการนี้มีอำนาจเหมือนเป็น ป.ป.ช.ที่ตรวจสอบ ป.ป.ช. และต้องไต่สวนให้แล้วเสร็จภายใน 90 วันหลังจากวันที่ได้รับแต่งตั้ง เว้นแต่มีเหตุจำเป็นยื่นประธานศาลฎีกาขยายเวลาได้ตามสมควร

คณะกรรมการนี้ ประกอบด้วยบุคคลจำนวนไม่น้อยกว่า 7 คน กฎหมายกำหนดว่า คัดเลือกจากผู้มีความเป็นกลางทางการเมือง ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ แต่งตั้งจากข้าราชการอัยการที่ดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีอัยการ หรืออัยการอาวุโสที่เคยดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีอัยการมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 อย่างน้อย 1 คน

สำหรับจำนวนที่เหลือคัดเลือกจากบุคคลดังนี้ อายุไม่ต่ำหว่า 45 ปี และมีคุณสมบัติอย่างหนึ่งอย่างใด คือ เคยรับราชการไม่ต่ำกว่าอธิบดีผู้พิพากษาหรืออธิบดีอัยการมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี รับราชการหรือเคยรับราชการตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี เป็นหรือเคยเป็นผู้บริหารสูงสุดของรัฐวิสาหกิจหรือหน่วยงานอื่นของรัฐไม่ต่ำกว่า 5 ปี

เคยเป็นศาสตราจารย์ของมหาวิทยาลัยในไทยมาไม่ต่ำกว่า 5 ปี, ประกอบวิชาการชีพที่มีกฎหมายรองรับ ทำมาต่อเนื่องไม่ต่ำกว่า 20 ปี จนได้เสนอชื่อและรับการรับรองจากการองค์กรวิชาชีพ มีประสบการณ์ด้านการบริหาร การเงิน การคลัง บัญชี หรือบริหารกิจการวิสาหกิจไม่ต่ำกว่าผู้บริหารระดับสูงของบริษัทมหาชนจำกัดไม่น้อยกว่า 10 ปี 

3.เมื่อคณะกรรมการไต่สวนอิสระไต่สวนเสร็จ ถ้าเห็นว่าไม่มีมูลจะสั่งยุติเรื่อง คำสั่งดังกล่าวเป็นที่สุด

4. ถ้าคณะกรรมการไต่สวนอิสระเห็นว่าผู้ถูกกล่าวฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมร้ายแรงให้เสนอเรื่องต่อศาลฎีกาวินิจฉัย

5. ถ้าคณะกรรมการไต่สวนอิสระเห็นว่าผู้ถูกกล่าวหามีพฤติการณ์ตามที่ถูกกล่าวหา (แต่ไม่ใช่เรื่องจริยธรรม) ให้ส่งสำนวนไปยังอัยการสูงสุดเพื่อดำเนินการฟ้องคดีต่อศาล

6.ให้อัยการสูงสุดฟ้องคดีอาญาตามความเห็นของคณะผู้ไต่สวนอิสระภายใน 60 วันนับแต่วันที่ได้รับเรื่อง

แต่งตั้งประธาน ป.ป.ช. ยุค คสช. คนใกล้ชิดผู้มีอำนาจ 

สำหรับคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดปัจจุบันมี ‘พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ’ อดีตรักษาราชการแทนผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (รรท.ผบ.ตร.)  เป็นประธาน ซึ่งถูกแต่งตั้งเมื่อปี 2558 หลังคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ทำรัฐประหารปี 2557 โดยการคัดเลือกจากสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)

พล.ต.อ.วัชรพล เป็นนักเรียนตำรวจรุ่นที่ 29 ชีวิตรับราชการเคยขึ้นไปถึง รอง ผบ.ตร. และเคยเป็นโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ในปี 2551 สมัย ‘พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ’ เป็น ผบ.ตร. ซึ่ง ‘พล.ต.อ.พัชรวาท’ คือ น้องชายของ ‘พล.อ.ประวิตร’ และเคยดำรงตำแหน่ง สนช. ในยุค คสช. รวมถึงเป็นรองเลขาธิการ พล.อ.ประวิตร ด้วย

อย่างไรก็ดีหลังเกิดประเด็น ‘แหวนแม่-นาฬิกาเพื่อน’ ในปี 2560 เมื่อเข้าสู่กระบวนการ ป.ป.ช. ตรวจสอบบัญชีทรัพย์สินของ พล.อ.ประวิตร ในเวลาต่อมา พล.ต.อ.วัชรพล ขอถอนตัวออกจากคดีดังกล่าว เนื่องจากถูกข้อครหาว่ามีความใกล้ชิดกับ พล.อ.ประวิตร

ขณะที่เลขาธิการ ป.ป.ช. คือ นิวัตรไชย เกษมมงคล อดีตรองเลขาธิการฯ ด้านการปราบปราม และโฆษก ป.ป.ช. ในปี 2563 โดยดำรงตำแหน่งเลขาธิการตั้งแต่ปี 2564 จนถึงปัจจุบัน

เมื่อดูรายชื่อคณะกรรมการ ป.ป.ช.ชุดปัจจุบัน 9 คนหลายคนอาจงุนงง เพราะหลายคนถูกแต่งตั้งมายุค คสช. และดำรงตำแหน่งอยู่มาเกินกว่า 7 ปีตามที่กำหมายกำหนด นั่นเป็นเพราะกฎหมาย ป.ป.ช.ฉบับเดินปี 2542 กำหนดเวลาดำรงตำแหน่งไว้ยาวนานถึง 9 ปี ส่วนกฎหมายฉบับล่าสุด ปี 2561 กำหนดไว้ 7 ปีก็จริง แต่ก็กำหนดไว้ด้วยว่า หากใครเป็นมาก่อนหน้ากฎหมายนี้ ก็ให้ดำรงตำแหน่งได้ตามกฎหมายเก่า (9 ปี)

9 กรรมการป.ป.ช. ประกอบไปด้วย

  • พล.ต.อ.วัชรพล ประสารราชกิจ ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ ป.ป.ช. ตั้งแต่ปี 2558-ครบวาระ 2567
  • สุภา ปิยะจิตติ ดำรงตำแหน่งกรรมการตั้งแต่ ปี 2557-ครบวาระ 2566 
  • วิทยา อาคมพิทักษ์ ดำรงตำแหน่งกรรมการตั้งแต่ปี 2558-ครบวาระ 2567
  • สุวณา สุวรรณจูฑะ ดำรงตำแหน่งกรรมการตั้งแต่ปี 2558-ครบวาระ 2567
  • ณัฐจักร ปัทมสิงห์ ณ อยุธยา ดำรงตำแหน่งกรรมการตั้งแต่ปี 2563-ครบวาระ 2570
  • สุชาติ ตระกูลเกษมสุข ดำรงตำแหน่งกรรรมการตั้งแต่ปี 2563- ครบวาระ 2570
  • พล.ต.อ.สถาพร หลาวทอง ดำรงตำแหน่งกรรมการตั้งแต่ปี 2555-ครบวาระ 2564 (สรรหาใหม่มีปัญหา)
  • ณรงค์ รัฐอมฤต ดำรงตำแหน่งกรรมการตั้งแต่ปี 2556-ครบวาระ 2565 (รอการสรรหาใหม่)
  • พล.อ.บุญยวัจน์ เครือหงส์ ดำรงตำแหน่งกรรมการตั้งแต่ปี 2558-ครบวาระ 2565 (รอการสรรหาใหม่)
ทิ้งคำตอบไว้

อีเมล์ของคุณจะไม่ถูกเผยแพร่

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More