พรรคพลังปวงชนไทย
เพื่อคนไทยทั้งแผ่นดิน

'พิธา' เข้าใจ 'ปิยบุตร' กังวล MOU ยืนยันเนื้อหาสอดคล้อง ‘รัฐธรรมนูญ’

‘พิธา’ เข้าใจ ‘ปิยบุตร’ กังวล MOU ยันไร้ปัญหา เพราะเนื้อหามีความสอดคล้อง รธน. จ่อชวนพรรคร่วมเดินสายพบผู้ประกอบการ เตรียมนโยบายแถลงสภาฯ ชี้หุ้นตกเพราะการเมืองไทยไม่แน่นอน ยกเหตุพรรคเสียงข้างมากเคยชวดนายกฯ

ที่ทำการพรรคก้าวไกล พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าและแคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์เพิ่มเติมถึงการลงนามบันทึกความเข้าใจร่วมกัน (MOU) โดยระบุว่า จากเมื่อวานในการทำการบันทึกข้อตกลงความเข้าใจของพรรคร่วม เป็นเพียงวาระการทำงานร่วมกันขั้นต่ำ ในส่วนของพรรคก้าวไกล 300 นโยบาย ที่เคยหาเสียงไว้ทางพรรคพยายามผลักดันต่อให้สำเร็จ ที่เป็นวาระร่วมก็อย่างที่เห็นเมื่อวาน 23 ข้อ แต่ในขณะเดียวกันก็มีวาระเฉพาะของพรรคก้าวไกลที่พยายามผลักดันผ่านสองกลไก คือกลไกการบริหาร

ในฐานะที่ตนเป็นว่าที่นายกรัฐมนตรี ก็จะมีอำนาจในการบริหารจัดการให้เกิดผลการเปลี่ยนแปลงให้ได้มากที่สุด และสอง คืออำนาจรัฐมนตรีของพรรคก้าวไกลที่จะอยู่ใยกระทรวงต่างๆ ในการผลักดันวาระที่อาจจะไม่ได้อยู่ใน MOU แต่อยู่ในนโยบาย 300 ข้อของพรรคก้าวไกล และสาม หากพรรคก้าวไกลไม่ได้เป็นเจ้ากระทรวง เราก็ยังประสานงานกับรัฐบาลร่วม ในการพูดคุยเจรจาให้รัฐมนตรีแต่ละกระทรวงผลักดันนโยบายของพรรคเราได้

พิธา ยังย้ำว่า การที่มี MOU 23 ข้อ เป็นวาระร่วมแค่ขั้นต่ำ แต่ในขณะเดียวกันหลายประเด็นที่อาจจะทำให้ประชาชนต้องลำบาก และต้องการความเปลี่ยนแปลงผ่านกฎหมายที่ก้าวหน้า และการบริหารงานของพรรคก็จะมีวาระเฉพาะที่สามารถผลักดันได้เช่นเดียวกัน

กรณี ปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า โต้แย้งบางประเด็นในเนื้อหา MOU พิธา ระบุว่า เข้าใจความกังวลใจของปิยบุตร แต่ข้อความก็คือข้อความ เนื้อหาใน MOU ก็สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญ รวมทั้งคิดว่าไม่น่ามีปัญหาอะไร

เมื่อถามว่าสาเหตุที่การแถลงข่าวเมื่อวานนี้ ล่าช้ากว่ากำหนด ก็มีการแก้ไขเนื้อหาบางส่วน รวมถึงตัดประเด็นนิรโทษกรรมออกใช่หรือไม่ พิธา ระบุว่า ไม่ใช่แค่นั้น เพราะยังมีปัจจัยอื่นที่ทำให้ล่าช้า รวมถึงประเด็นกัญชาที่ต้องมาแก้ในนาทีสุดท้าย

เมื่อถามถึงขั้นตอนต่อไปหลังจากลงนาม MOU แล้วคืออะไรบ้าง พิธา ระบุว่า คงต้องเป็นการเดินสาย พบพี่น้องประชาชนกลุ่มต่างๆ ขณะที่คณะกรรมการเปลี่ยนผ่านรัฐบาลก็ไม่ได้มีเพียงพรรคก้าวไกล ในการพบปะหารือครั้งต่อไปจึงจะเชิญพรรคร่วมรัฐบาลมาฟังปัญหาจากผู้ได้รับผลกระทบ เพื่อจัดทำนโยบายรวมแถลงต่อรัฐสภาและนำเอาผู้มีความรู้จริงมาบริหารกระทรวงที่เหมาะสม

เมื่อถามว่าจะสามารถคืนความมั่นใจของนักลงทุนได้อย่างไร เนื่องจากหลังเลือกตั้งหุ้นตกลงอย่างต่อเนื่อง พิธา ระบุว่า สิ่งที่น่ากังวลตอนนี้ไม่ใช่เรื่องศักยภาพของประเทศ แต่เป็นความผันผวนทางการเมือง เพราะที่ผ่านมาเคยมีพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้ง แต่ไม่ได้เป็นนายกรัฐมนตรี ทำให้เกิดความไม่มั่นใจในระบอบประชาธิปไตยที่ไม่แน่นอน จึงต้องเร่งสร้างความมั่นใจว่าระบบการเมืองมีความแน่นอน สะท้อนเจตจำนงของประชาชน จึงจะสามารถคืนเสถียรภาพของการลงทุนกลับมาได้

ทิ้งคำตอบไว้

อีเมล์ของคุณจะไม่ถูกเผยแพร่


This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More