พรรคพลังปวงชนไทย
เพื่อคนไทยทั้งแผ่นดิน

ผ่านมา 4 ปี ส.ว.พิจารณากฎหมาย “ผ่าน” กี่ฉบับ ?

เมื่อเปิดข้อมูลจากสำนักกฎหมาย สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา หมวดหมู่ หน้าที่และอำนาจของวุฒิสภาชุดแรกตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย จะพบว่า “วุฒิสภาตามบทเฉพาะกาล” นั้น ได้ถูกเพิ่มหน้าที่และอำนาจโดยเฉพาะขึ้นมาอีก 4 ข้อ ดังนี้

  1. การติดตาม เสนอแนะ และเร่งรัดการปฏิรูปประเทศ
  2. การพิจารณาร่าง พ.ร.บ. เพื่อดำเนินการตามหมวด 16 การปฏิรูปประเทศ
  3. การพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ที่วุฒิสภาหรือสภาผู้แทนราษฎรยับยั้งไว้ตาม ม.137(2) หรือ (3) ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย
  4. การพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี 

นอกจาก ข้อ 4 ที่ผู้คนทั้งประเทศได้เห็นการทำหน้าที่ของ 250 ส.ว.เฉพาะกาล เมื่อครั้งการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีปี 2562 แล้วนั้น ในช่วงระยะเวลา 5 ปี ของการดำรงตำแหน่ง ส.ว.เฉพาะกาล ยังมีกฎหมาย หรือร่าง พ.ร.บ.มากถึง 98 ร่าง ที่เข้าสู่รัฐสภาที่ ส.ว.ร่วมพิจารณาเช่นกัน  

4 ปี 98 ร่าง โหวตผ่าน 78 ตีตก 1 

ทุกร่าง พ.ร.บ. ที่ผ่านการพิจารณาจาก ส.ส. แล้ว จะถูกส่งให้ ส.ว. พิจารณาอีกขั้น แม้จะดูซับซ้อน แต่เพื่อความละเอียดรอบคอบและถ่วงดุลความเผด็จการที่อาจลุแก่อำนาจของพรรคการเมือง

ตั้งแต่การโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง 250 ส.ว.เฉพาะกาลตั้งแต่วันที่ 11 พ.ค.2562 แล้วนั้น มีการพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ทั้งสิ้น 98 ร่าง ผ่านเป็นกฎหมายบังคับใช้ทั้งหมด 78 ฉบับ อยู่ในขั้นตอนพิจารณาศึกษาล่วงหน้า 19 ร่าง และตีตก 1 ร่าง 

250 ส.ว.เฉพาะกาลชุดนี้ มีวาระ 5 ปี ตั้งแต่ 11 พ.ค.2562 – 11 พ.ค.2567

โดย 2 ร่างกฎหมายแรกที่ ส.ว.พิจารณาร่วมและโหวตผ่าน คือ ร่าง พ.ร.บ.เหรียญรัตนาภรณ์ รัชกาลที่ 10 และ ร่างพ.ร.บ.เหรียญราชรุจิ รัชกาลที่ 10 ช่วงกลางเดือนสิงหาคม 2562 หลังเข้ารับตำแหน่ง 3 เดือน

ต่อมาก็ผ่านร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2563 ในวันที่ 13 ก.พ.2563 และ ร่าง พ.ร.บ.โอนงบประมาณรายจ่ายอันเนื่องมาจากสถานการณ์โควิด เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.2563 

เมื่อพิจารณาจากกฎหมาย 4 ฉบับนี้ จะพบว่าปีแรกของการดำรงตำแหน่ง ส.ว.พิจารณาเห็นชอบโหวตผ่านกฎหมายเพียง 3 ฉบับเท่านั้น

เมื่อทำงานครบ 3 ปี ส.ว.พิจารณาผ่านกฎหมาย 35 ฉบับ และ ตีกลับร่างกฎหมาย 4 ฉบับที่ต้องทำให้ตั้งคณะกรรมาธิการร่วม เพื่อปรับแก้ไข และทำให้การผ่านกฎหมายล่าช้าออกไป ได้แก่

  • พ.ร.บ.พืชกระท่อม พ.ศ.2565
  • พ.ร.บ.คุ้มครองพยานในคดีอาญา (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2565
  • พ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่ 13) พ.ศ. 2565
  • พ.ร.บ.วิชาชีพการสัตวบาล พ.ศ. 2565

เมื่อค้นข้อมูลเพิ่มจากสำนักงานเลขาธิการวุฒิสภา พบว่าภายในเดือนมิถุนายน 2565 วุฒิสภาเฉพาะกาลชุดนี้ ผ่านกฎหมายกว่า 40 ฉบับ ซึ่งมากกว่าร้อยละ 90 เป็นร่างกฎหมายที่พรรคฝ่ายรัฐบาลเสนอ

ส่วน ร่าง พ.ร.บ. ที่ถูกตีตกไป 1 ร่าง คือ ร่าง พ.ร.บ.เครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า (ฉบับที่ ..) พ.ศ. …. ที่คณะรัฐมนตรีเป็นผู้เสนอ ถูกตีตกในขั้นการพิจารณา วาระที่ 3 

หลังมี พ.ร.ฎ.ยุบสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2566 เมื่อวันที่ 20 มี.ค.2566

ส.ส. ไม่สามารถยื่นร่าง พ.ร.บ. เสนอต่อที่ประชุมรัฐสภาได้ เพราะเป็นเพียงคณะรัฐมนตรีรักษาการ ในขณะที่ ส.ว.เฉพาะกาลกลุ่มนี้ ยังเหลือวาระอีก 1 ปี หากมองตามเนื้อผ้า ก็เท่ากับว่า ส.ว.เฉพาะกาลก็ไม่สามารถพิจารณา ร่าง พ.ร.บ. ได้ตามหน้าที่ที่ถูกเพิ่มเข้ามาได้ 

แต่หากเป็นเรื่องที่สำคัญและจำเป็น เช่นกรณีพิจารณาให้บุคคลดำรงตำแหน่งกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งมีพระบรมราชโองการประกาศเรียกประชุมสมัยวิสามัญแห่งรัฐสภา พ.ศ.2566 เพื่อให้ “วุฒิสภา” ประชุมเพื่อทำหน้าที่พิจารณาให้บุคคลดำรงตำแหน่งตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ มาตรา 126 (2) ก็จำเป็นต้องจัดตั้งการประชุมกันเพียง 250 คนนี้ 

อ่าน : วุฒิสภา เห็นชอบ ‘ศิลักษณ์ ปั้นน่วม’ เป็นกรรมการผู้ตรวจเงินแผ่นดิน

เนื่องจากข้อเท็จจริงปรากฏว่าปัจจุบันมีกรรมการ ป.ป.ช. เหลืออยู่เพียง 6 คน ว่างลง 3 คน และจะพ้นจากตำแหน่งอีก 2 คน ในเดือน ก.ย.2566 จึงอาจส่งผลให้กรรมการ ป.ป.ช. เหลืออยู่ไม่ถึง 5 คน ทำให้ไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ตามที่รัฐธรรมนูญบัญญัติได้

รู้หรือไม่ : เมื่อวันที่ 18 มี.ค.2566 ร่าง พ.ร.บ.ราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2566 เสนอโดยคณะรัฐมนตรี  คือ กฎหมายฉบับล่าสุดที่ ผ่านการพิจารณาจาก ส.ว. 

ทิ้งคำตอบไว้

อีเมล์ของคุณจะไม่ถูกเผยแพร่

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More