พรรคพลังปวงชนไทย
เพื่อคนไทยทั้งแผ่นดิน

เลือกตั้ง2566 : “ประธานสภา” ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ ที่พรรคอันดับ 1 ต้องได้ ?

รัฐธรรมนูญของไทยตั้งแต่ พ.ศ.2535 จนกระทั่งฉบับปัจจุบัน 2560 มาตรา 98 กำหนดให้ “ประธานสภาผู้แทนราษฎร” เป็น “ประธานรัฐสภา” และให้ประธานวุฒิสภาเป็นรองประธานรัฐสภาโดยตำแหน่ง

ความสำคัญของตำแหน่งนี้ คือ การเป็นผู้นำชื่อนายกรัฐมนตรีขึ้นทูลเกล้าฯ ต่อพระมหากษัตริย์ หลังที่ประชุมรัฐสภาลงมติเลือกนายกรัฐมนตรี เพื่อโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายกรัฐมนตรี ตามขั้นตอนของรัฐธรรมนูญ

ที่มาที่ไป ใครเลือก ประธานรัฐสภา 

ข้อบังคับการประชุมสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ. 2562 กำหนดให้การเลือกประธานสภาฯ มีวิธีการดังนี้

  1. สมาชิกแต่ละคนมีสิทธิเสนอชื่อสมาชิกได้ 1 ชื่อ
  2. โดยที่การเสนอนั้นต้องมีจำนวนสมาชิกรับรองไม่น้อยกว่า 20 คน
  3. ผู้ถูกเสนอชื่อ แสดงวิสัยทัศน์ต่อที่ประชุม
  4. ถ้ามีการเสนอชื่อผู้ใดเพียงชื่อเดียว ให้ถือว่าผู้ถูกเสนอชื่อนั้นเป็นผู้ได้รับเลือก
  5. ถ้ามีการเสนอชื่อหลายชื่อ ให้ออกเสียงลงคะแนนเป็นการลับ

ขั้นตอนเลือกประธานสภา

ขั้นตอนเลือกประธานสภา

ประธานรัฐสภา มีหน้าที่อะไรบ้าง

  1. เป็นประธานของที่ประชุมรัฐสภา
  2. กำหนดการประชุมรัฐสภา
  3. ควบคุมและดำเนินกิจการของรัฐสภา
  4. รักษาความสงบเรียบร้อยในที่ประชุมรัฐสภาตลอดถึงบริเวณของรัฐสถา
  5. เป็นผู้แทนรัฐสภาในกิจการภายนอก
  6. แต่งตั้งกรรมการเพื่อดำเนินกิจการใดๆ
  7. อำนาจและหน้าที่อื่นตามที่มีกฎหมายบัญญัติไว้ หรือตามที่กำหนดไว้ในข้อบังคับนี้
  8. เป็นผู้นำชื่อนายกรัฐมนตรี ขึ้นทูลเกล้าฯ ต่อพระมหากษัตริย์ เพื่อให้โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายกฯ หลังสภาฯ มีมติเลือก
  9. เป็นผู้รับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้งนายกฯ

อำนาจการบรรจุญัตติเข้าสภา

การเสนอญัตติโดยสมาชิกสภาฯ ผู้ยื่นญัตติต้องมีสมาชิกรับรองไม่น้อยกว่า 5 คน ดำเนินการเสนอหนังสือล่วงหน้าต่อประธานรัฐสภา ส่วนญัตติด่วนนั้น ประธานรับสภา จะเป็นผู้วินิจฉัยว่าเป็นญัตติด่วนหรือไม่ 

ในสภาฯ ชุดที่ผ่านมา มีญัตติหลายประเด็น ที่ไม่ได้ถูกนำเข้าสภาฯ เช่น ส.ส. 44 คน จากพรรคก้าวไกล ยื่นหนังสือถึง นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา เสนอแก้ไขกฎหมายคุ้มครองเสรีภาพในการแสดงออก 5 ฉบับ

1 ในนั้นคือ ประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 แต่ถูกโต้แย้งกลับโดย สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร และประธานสภาฯ ว่ามีบทบัญญัติอาจขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ มาตรา 6 ที่บัญญัติว่า องค์พระมหากษัตริย์ทรงดำรงอยู่ในฐานะอันเป็นที่เคารพสักการะ ผู้ใดจะละเมิดมิได้ เป็นต้น

20 ปี 11 ประธานรัฐสภา

  • 2535 มารุต บุนนาค พรรคประชาธิปัตย์ โดยที่ประชาธิปัตย์ ได้ที่นั่ง ส.ส. สูงสุดในสภาฯ 79 ที่นั่ง
  • 2538 พล.ต.บุญเอื้อ ประเสริฐสุวรรณ พรรคชาติไทย โดยที่ชาติไทย ได้ที่นั่ง ส.ส. สูงสุดในสภาฯ 92 ที่นั่ง
  • 2539 วันมูหะมัดนอร์ มะทา พรรคความหวังใหม่ โดยที่ความหวังใหม่ ได้ที่นั่ง ส.ส. สูงสุดในสภาฯ 125 ที่นั่ง
  • 2543 พิชัย รัตตกุล พรรคประชาธิปัตย์ จาก “รัฐบาลชวน 2” โดยที่รัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ เป็นรัฐบาลจากการดึง ส.ส.พรรคประชากรไทยร่วมตั้งรัฐบาล
  • 2544 อุทัย พิมพ์ใจชน พรรคไทยรักไทย โดยที่ไทยรักไทย ได้ที่นั่ง ส.ส. สูงสุดในสภาฯ 248 ที่นั่ง
  • 2548 โภคิน พลกุล พรรคไทยรักไทย โดยที่ไทยรักไทย ได้ที่นั่ง ส.ส. สูงสุดในสภาฯ 377 ที่นั่ง
  • 2551 ยงยุทธ ติยะไพรัช พรรคพลังประชาชน โดยที่พลังประชาชน ได้ที่นั่ง ส.ส. สูงสุดในสภาฯ 233 ที่นั่ง
  • 2551 ชัย ชิดชอบ พรรคภูมิใจไทย (ก่อนหน้านั้นระหว่างดำรงตำแหน่งสังกัดพรรคพลังประชาชน) สมัยรัฐบาลพรรคประชาธิปัตย์ หลังจากมีการยุบพรรคการเมือง 3 พรรค ได้แก่ พลังประชาชน, ชาติไทย และมัชฌิมาธิปไตย ชัย ชิดชอบ ย้ายไปพรรคภูมิใจไทย ซึ่งเปลี่ยนขั้วมาเข้าร่วมรัฐบาลกับประชาธิปัตย์
  • 2554 สมศักดิ์ เกียรติสุรนนท์ พรรคเพื่อไทย โดยที่เพื่อไทย ได้ที่นั่ง ส.ส. สูงสุดในสภาฯ 265 ที่นั่ง
  • 2557 พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) แต่งตั้งโดยคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
  • 2562 ชวน หลีกภัย พรรคประชาธิปัตย์ (ประชาธิปัตย์มีที่นั่งในสภาฯ 52 เสียง เป็นพรรคอันดับ 4 ) ถือเป็นประธานสภาฯ คนแรก ที่ไม่ได้มาจากพรรคการเมืองที่ได้คะแนนเสียงเลือกตั้งเป็นอันดับ 1  

ประธานรัฐสภาไทย 11 สมัย

ประธานรัฐสภาไทย 11 สมัย

อ่าน : เลือกตั้ง2566 : “ศิริกัญญา” แถลงย้ำก้าวไกลต้องได้ตำแหน่ง “ประธานสภา”

ตำแหน่งประธานสภา ตัวต่อรองร่วมรัฐบาล?

ในการเลือกตำแหน่งประธานสภาผู้แทนราษฎร ชุดที่ 25 ในปี 2562

ชิงชัยกันระหว่างผู้ที่ถูกเสนอชื่อ 2 ชื่อ ได้แก่

  1. ชวน หลีกภัย จากพรรคประชาปัตย์ ถูกเสนอชื่อจากพรรคพลังประชารัฐ
  2. สมพงษ์ อมรวิวัฒน์ จากพรรคเพื่อไทย ถูกเสนอชื่อจากพรรคประชาชาติ

เมื่อมีผู้เสนอชื่อผู้รับการโหวตมาก 1 คน ประธานที่ประชุมจึงให้มีการลงคะแนนโดยลับ มีผู้ลงคะแนนทั้งหมด 494 คน จากผู้เข้าประชุม 496 คน ผลโหวต ชวน หลีกภัย ได้ 258 คะแนน ส่วนสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ได้ 235 คะแนน งดออกเสียง 1 ทำให้ ชวน หลีกภัย เป็นว่าที่ประธานสภาฯ คนใหม่ โดยที่ได้คะแนนโหวตจากการรวมพลังของ 20 พรรคการเมือง นำโดยพรรคพลังประชารัฐ ที่พลิกล็อกได้จัดตั้งรัฐบาลจากคะแนนเสียงที่เพิ่มขึ้น 250 คะแนนของ ส.ว.

ผลการลงมติของสภาผู้แทนราษฎรชุดที่ 25 นอกจากจะได้ประธานสภาฯ จากพรรคที่ได้คะแนนเสียงเพียงอันดับ 4 แล้วยังแสดงให้เห็นถึงพรรคที่หนุนการนำของพรรคพลังประชารัฐ ให้จัดตั้งรัฐบาล จึงถือได้ว่า ตำแหน่งประธานสภาฯ อาจเป็น “ตัวต่อรอง” เงื่อนไขการเข้าร่วมเป็นรัฐบาล

ผู้สื่อข่าวบีบีซีไทย ให้ข้อมูลว่า ก่อนการประชุมจะเริ่มขึ้น สุชาติ ตันเจริญ จากพรรคพลังประชารัฐ ส่งสัญญาณ “พร้อมหมอบ” ให้แก่คู่แคนดิเดตจากประชาธิปัตย์ ตามความเห็นแกนนำ พปชร. ที่ไปเจรจาจับขั้วตั้งรัฐบาลกับพรรคการเมืองต่าง ๆ สุชาติยอมรับอย่างไม่ปิดบังว่า

ขณะนี้เราตระหนักถึงการจัดตั้งรัฐบาลเป็นหลัก

ที่มา : รัฐสภา, BBC ไทย, iLaw

อ่านข่าวเพิ่ม : เลือกตั้ง2566 : “อุทัย” ชี้ ประธานสภาฯ ต้องเป็นกลาง – คุมการประชุมให้เรียบร้อย

 

ทิ้งคำตอบไว้

อีเมล์ของคุณจะไม่ถูกเผยแพร่


This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More