พรรคพลังปวงชนไทย
เพื่อคนไทยทั้งแผ่นดิน

'โรม' แจงข้อเสนอเปลี่ยนวันชาติ  24 มิ.ย. เป็นความเห็นส่วนตัว เป็นข้อเท็จจริงใน ปวศ.

‘โรม’ แจงข้อเสนอเปลี่ยนวันชาติ 24 มิ.ย. เป็นความเห็นส่วนตัว และเป็นข้อเท็จจริงในปวศ. มองคนทำเป็นประเด็นเพราะต้องการด้อยค่า ชี้ ตอนนี้ ‘ก้าวไกล’ ขอโฟกัสตั้งรัฐบาลแก้ปัญหาประชาชนก่อน หวัง ส.ว. ยึดมาตรฐานเดียวกับปี 62 โหวตนายกฯ

รังสิมันต์ โรม ส.ส.บัญชีรายชื่อ และ โฆษกพรรคก้าวไกล กล่าวชี้แจง กรณีมีข้อเสนอให้วันที่ 24 มิ.ย. เป็นวันชาติ โดยระบุว่า เรื่องนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่อะไร พอมาเป็นประเด็นในช่วงนี้ ส่วนหนึ่งก็คงจะมีความมุ่งหมายทางการเมืองที่ต้องการใช้ทุก ๆ เรื่อง สร้างประเด็นกับพรรคก้าวไกล เพื่อด้อยค่าพรรคก้าวไกลและกระบวนการดังกล่าวจะทำให้พรรคก้าวไกลไม่สามารถจัดตั้งรัฐบาลได้ ซึ่งเราก็เห็นกันอยู่ มีตั้งไม่รู้กี่เรื่องที่ถาโถมกันเข้ามา

เจตนาของคนกลุ่มนี้ต้องการอะไร มอง 100 เมตรก็รู้ ประเด็นของวันชาติไม่ใช่ประเด็นใหม่ เมื่อเราศึกษาประวัติศาสตร์ ซึ่งพูดกันตามจริงวันชาติคือวันที่ 24 มิ.ย. พอมีการรัฐประหารสมัยจอมพลสฤษดิ์ ธนะรัชต์ ก็มีการเปลี่ยนวันชาติใหม่

สิ่งที่ตนพูดก็ไม่ได้แตกต่างกับนักประวัติศาสตร์ แต่แน่นอนว่า ต้องเป็นกระบวนการที่ใช้เวลาที่มีการพูดคุยและจะทำได้จริงหรือไม่ ต้องมีเป็นประเด็นที่หาทางพูดคุยกับสังคม ซึ่งไม่ใช่เป็นวาระในเร็วๆนี้ ในเฉพาะหน้า พรรคก้าวไกลให้ความสำคัญเรื่องการเตรียมนโยบาย รวมไปถึงการเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาล และเอานโยบายที่ได้สัญญาเอาไว้มาแก้ปัญหาให้กับประชาชน ซึ่งวันนี้ปัญหาหลายอย่างที่รอไม่ได้ เช่น ปัญหายาเสพติด

เรื่องการเปลี่ยนวันชาติยังไม่เคยมีการพูดคุยกันในพรรค การพูดของตนในงานเสวนาที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นการพูดในประเด็นประวัติศาสตร์ เป็นการพูดในเรื่องของข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นในอดีต ซึ่งเป็นมุมมองส่วนตัว แต่ต้องยอมรับว่า เป็นข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์เช่นกันว่า ครั้งหนึ่งประเทศไทยของเรา เคยมีวันชาติ วันที่ 24 มิ.ย.

แต่ตอนนี้ สิ่งที่เรากำลังคุยคือการจัดตั้งรัฐบาลเพื่อให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของประชาชนที่ไปใช้สิทธิ์ออกเสียงในวันเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พ.ค. 2566 การที่เราจะตั้งรัฐบาลได้ สุดท้ายเราก็บริหารประเทศประชาชนชื่นชอบประชาชนเห็นด้วยอย่างไรเป็นเรื่องของประชาชน

สิ่งที่เราคาดหวังเมื่อตอนปี 2562 มีการพูดในหมู่ส.ว.ที่สนับสนุนพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา บอกว่า พลเอกประยุทธ์ รวบรวมเสียงได้เกินกึ่งหนึ่งของสภาผู้แทนราษฎร เราก็หวังว่า ส.ว.จะใช้มาตรฐานนี้ในการจัดตั้งรัฐบาลของพรรคก้าวไกลก็ควรที่จะเดินต่อไปได้ ซึ่งตอนนี้เราก็มองไปถึงการโหวตประธานสภาฯ ก่อน ซึ่งวันที่ 4 ก.ค. นี้จะได้รับทราบผลของการลงมติจะเป็นอย่างไร

นอกจากนี้ยังให้สัมภาษณ์ถึงกระแสข่าวจะซื้องูเห่าคนละ 100 ล้าน ก่อนเปิดสภาว่า ถ้าพูดถึงเรื่องของการซื้องูเห่า ต้องยอมรับว่าสำหรับตน เป็นเรื่องของประวัติศาสตร์บาดแผลเป็นเรื่องที่ไม่ควรจะเกิดขึ้น คนที่ได้รับเลือกตั้งจากประชาชน สิ่งที่เราไม่อยากเห็นที่สุดคือการทรยศต่อประชาชน ไม่ว่าจะเกิดขึ้นกับพรรคไหน มันก็คือกระบวนการที่อาจจะทำให้ความเชื่อมั่น และความศรัทธาของประชาชนต่อระบอบรัฐสภาอาจจะลดลงได้ และสร้างความเสียหายระยะยาวต่อการเมืองไทย เรื่องแบบนี้ไม่ควรเกิด 

“ต้องเรียนตามตรงว่า งูเห่า ถ้ามี โอกาสที่จะยืนระยะยาวต่อไปในทางการเมือง ผมว่าก็ไม่ง่าย ถ้าเราดูหลายๆ คนที่เป็นงูเห่า ไม่ได้รับโอกาสจากประชาชนอีกแล้ว ดังนั้นตนคิดว่าอย่าให้มีบรรยากาศเช่นนั้นเลย ไม่ว่าจะเป็นการเลือกประธานสภา เลือกนายกรัฐมนตรี ควรจะเป็นหน้าที่ที่สอดรับกับความมุ่งหมายของประชาชนที่อยากเห็นต่อรัฐบาล ไม่ควรนำเรื่องเงินที่จะสัญญาให้กันมาเป็นเงื่อนไขในการยกมือ ซึ่งถ้าทำเช่นนั้นคือการทำลายการเมือง ประเทศชาติ และประชาธิปไตย” รังสิมันต์กล่าว

เมื่อถามว่า มีความเห็นอย่างไรที่เรื่องของงูเห่ามาจากส.ว. รังสิมันต์กล่าวว่า ตนตอบไม่ได้ ตนไม่ทราบว่าเรื่องของงูเห่าจริงเท็จแค่ไหน สิ่งที่ตนตอบได้คือเรื่องของหลักการ ว่าเรื่องแบบนี้ไม่ควรจะเกิดขึ้น ควรเป็นการทำหน้าที่อย่างตรงไปตรงมาของคนที่ใช้อำนาจนิติบัญญัติ ไม่ว่าจะเป็นส.ส. หรือส.ว. สิ่งที่เราต้องช่วยกันทำให้เกิดขึ้นให้ได้ คือการเลือกประธานสภาหรือนายกรัฐมนตรี สอดคล้องกับผลของการเลือกตั้ง และตนเชื่อว่าวิธีเช่นนี้เป็นวิธีการเดียวที่ทำให้ประเทศของเราออกจากบ่วงของความขัดแย้ง และเดินหน้าต่อไปได้ หากรัฐบาลทำหน้าที่ไม่ดี เป็นเรื่องของประชาชนที่จะต้องตัดสิน ว่าสุดท้ายรัฐบาลชุดนนั้นทำหน้าที่อย่างมีคุณภาพหรือไม่ หากนำกระบวนการตามรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่กำลังจะหมดอายุไขในปีหน้ามาขัดขวาง คำถามคือว่าเราจะมั่นใจได้อย่างไรว่า ประเทศไทยจะเดินหน้าไปอย่างที่เป็นได้ สุดท้ายอาจจะเป็นหล่มการเมืองแบบเดิมหรือไม่ สิ่งที่ตนต้องการเห็นคือทำให้มันถูกต้องเท่านั้น คืนความปกติให้การเมือง อย่าใช้ขบวนการวิชามารทั้งหลายอีกเลย 

เมื่อถามว่า มีความเห็นว่าหลายฝ่ายมองว่าการจัดตั้งรัฐบาลไม่สำเร็จสักทีและใช้เวลานาน รังสิมันต์กล่าวว่า ตนคิดว่ามันมีระดับของมันอยู่ กรณีที่เราฟอร์ม 8 พรรคร่วมรัฐบาลถือว่ารวดเร็ว ถือว่าเป็นกระบวนการที่สมูทดว้ยซ้ำไป ถึงแม้ว่าจะมีแต่ 8 พรรคการเมืองคุยกัน เราตกลงเป็นเอ็มโอยูได้ หากไม่มีมาตรา 272 กระบวนการนี้คงจะดำเนินการไปจนเกือบเสร็จแล้ว ในส่วนที่ช้าอาจจะเป็นปัจจัยอื่น เช่น การรับรองส.ส. ซึ่งใช้เวลาในการรับรองมาก ตนไม่เข้าใจว่ารับรองทันทีหลังเลือกตั้งกับใช้เวลา1 เดือนในการรับรอง ผลออกมาแตกต่างกันอย่างไร เพราะทางคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ไม่ได้สอยใครหรือแจกใบอะไรสักอย่าง ตนไม่แน่ใจว่าความล่าช้าเช่นนี้ที่ส่วนหนึ่ง กกต. เป็นปัจจัย ประเทศได้ประโยชน์จากอะไร หากเรามองอย่างเป็นธรรม กระบวนการจัดตั้งรัฐบาลของก้าวไกลไม่ได้ช้า แต่ที่เกิดคำถามเพราะเรากังวลว่า ประเทศของเราจะมีการเมืองที่ไม่ปกติ หากเราเชื่อมั่นว่าการเมืองเราปกติ จะไม่เกิดคำถามพวกนี้ขึ้น เรารู้แก่ใจใช่หรือไม่ว่าการเมืองของเรามีปัญหาอยู่ แต่ตนยืนยันว่าพรรคก้าวไกลเรามีจุดยืนที่จะคืนความปกติให้สังคม ดังนั้นเราจึงพยายามเดินหน้าจัดตั้งรัฐบาลให้ได้ 

เมื่อถามว่า หากมีการจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างน้อยจริงทางพรรคก้าวไกลจะทำอย่างไร รังสิมันต์กล่าวว่า ตนมองว่าโอกาสที่จะเกิดขึ้นค่อนข้างยาก เพราะ 1. เท่าที่ติดตามดีเบตมาบางพรรคการเมืองก็พูดตรงกัน ว่าโอกาสที่จะมีรัฐบาลเสียงข้างน้อยคงเป็นไปไม่ได้ 2. รัฐบาลเสียงข้างน้อยบริหารยาก ถึงที่สุดก็ต้องผ่านกฎหมายผ่านสภา ทั้งเรื่องงบประมาณ การอภิปรายไม่ไว้วางใจ ดังนั้นตนยังมั่นใจว่าวิถีทางที่เราเสนอต่อสังคมในการจับมือ 8 พรรค รวมเสียงกันได้ 313 เสียง เป็นทางออกเดียวและทางออกที่ดีที่สุดสำหรับประเทศไทยในตอนนี้

ทิ้งคำตอบไว้

อีเมล์ของคุณจะไม่ถูกเผยแพร่

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More