พรรคพลังปวงชนไทย
เพื่อคนไทยทั้งแผ่นดิน

'ศรีสุวรรณ' ติงเจ้าของ 'แอชตัน อโศก' อย่าดึงลูกบ้านมาเป็นตัวประกัน

‘ศรีสุวรรณ’ ติงเจ้าของ ‘คอนโดแอชตัน อโศก’ อย่าดึงลูกบ้านมาเป็นตัวประกัน เตือนหากเดินเกมผิดสุดท้ายอาคารที่มีมูลค่า 6,400 กว่าล้าน คงต้องถูกทุบทิ้ง

วันที่ 29 ก.ค. 2566 ศรีสุวรรณ จรรยา นายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน เปิดเผยว่า ตามที่ศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษาเป็นที่สุดเมื่อ 27 ก.ค.66 ที่ผ่านมา โดยให้เพิกถอนใบอนุญาตก่อสร้างคอนโด Ashton Asoke ด้วยเหตุผล ที่ดินของ รฟม.ไม่อาจนำมาให้เอกชนใช้ในการทำโครงการได้ จึงทำให้หน่วยงานของรัฐไม่อาจออกใบอนุญาตในการก่อสร้าง จึงมีผลให้ใบอนุญาตไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้น

กรณีดังกล่าว เจ้าของอาคารดังกล่าวพยายามที่จะดึงเจ้าของร่วมหรือผู้ซื้อห้องคอนโด 580 ครอบครัวมาเป็นพวกเพื่อกดดันให้กรุงเทพมหานคร และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. ร่วมรับผิดชอบและเยียวยาต่อความเสียหายที่เกิดขึ้น

กรณีปัญหาดังกล่าว เจ้าของอาคารแอชตัน ควรจะต้องสำเหนียกและทบทวนต่อผลที่เกิดขึ้น ทั้งๆ ที่รับรู้มาตั้งแต่ต้นแล้วว่าที่ดินที่ตั้งของอาคารแอชตัน เป็นที่ดินที่มีทางเข้า-ออกเพียง 6.4 เมตร ไม่สามารถสร้างอาคารสูงได้เกิน 23 เมตรหรือไม่เกิน 8-9 ชั้นเท่านั้น ซึ่งนัก Developper ต่างรู้กันดีในข้อกฎหมายดังกล่าว เพราะถ้าสามารถสร้างอาคารสูงได้มากกว่า 23 เมตร ที่ดินแปลงดังกล่าวคงถูกซื้อไปจากเจ้าของที่ดินเดิมนานแล้ว ไม่ตกมาถึงมือเจ้าของตึกแอชตันหรอก

แต่การที่อาคารแอชตันสามารถได้ใบอนุญาตก่อสร้างได้เกิน 23 เมตรนั้น เพราะอะไร หรือมีมหัศจรรย์ปาฎิหารย์ทางกฎหมายหรืออย่างไร เด็กอมมือทั่วไปก็น่าจะรู้ว่าเป็นเพราะอะไร การอ้างฝ่ายเดียวว่าได้รับอนุมัติจาก 8 หน่วยงานราชการ ได้ใบอนุญาตถึง 9 ฉบับ ได้รับความเห็นก่อนดำเนินการจาก 7 หน่วยงานและ 5 คณะกรรมการมาแล้ว ไม่อาจนำมาเป็นข้ออ้างได้ เพราะเมื่อติดกระดุมเม็ดแรกผิด คือไปเช่าที่ดินจาก รฟม.เป็นทางเข้า-ออก ทั้งๆ ที่ควรจะรู้ตั้งแต่แรกก่อนขออนุญาตก่อสร้างแล้วว่าเป็นที่ดินที่ รฟม.ได้มาจากการเวนคืนจากประชาชน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อประโยชน์สาธารณะเกี่ยวกับการขนส่งมวลชนเท่านั้น การที่ รฟม.ซิกแซกกฎหมาย ออกระเบียบเกินไปกว่าที่กฎหมายให้อำนาจ แล้วนำมาให้เอกชนเช่า เป็นการฝ่าฝืนกฎหมายมาตั้งแต่ต้น ทำให้การกลัดกระดุมเม็ดต่อๆไปก็ผิดตามมาทั้งหมด ดังนั้น ความเสียหายที่เกิดขึ้นจากคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดนั้น ชอบที่เจ้าของอาคารย่อมรับรู้ความเสี่ยงมาตั้งแต่ต้น จะมาโวยวายแล้วดึงลูกบ้านมากดดันให้ กทม.รับผิดชอบแทนตนนั้น หาถูกต้องไม่

ที่สำคัญ ข้อพิพาทที่เกิดขึ้นชาวบ้าน ซ.สุขุมวิท 19 แยก 2 ร้องเรียนผู้ประกอบการมาก่อนการฟ้องคดี ก่อนการก่อสร้างมาตั้งแต่ปี 2557-2559 แล้ว แต่บริษัทกลับเพิกเฉย ไม่รีบเข้าไปเจรจาป้องกันและแก้ไขปัญหาจากการก่อสร้างกับชาวบ้านข้างเคียงให้เบ็ดเสร็จหรือเปล่า หรือย่าใจในมหศจรรย์ของกฎหมายและเจ้าหน้าที่ จนทำให้ชาวบ้านต้องมาร้องขอความเป็นธรรมและขอความช่วยเหลือทางคดีกับสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อน

ทางออกของเรื่องนี้มีทางเดียวคือ ต้องไปเจรจาซื้อที่ดินจากเอกชนแปลงใดก็ได้เพื่อให้มีทางเข้า-ออกอาคารแอชตันสู่ถนนสายหลักที่มีความกว้างไม่ต่ำกว่า 18 เมตร โดยทางเข้า-ออกนั้นต้องมีความกว้างไม่น้อยกว่า 12 เมตร แค่นี้ถ้าทำได้ก็สามารถนำไปขอใบอนุญาตก่อสร้างเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดจึ้นได้แล้ว มัวแต่ไปกดดัน กทม.หรือ รฟม.ไม่มีประโยชน์ใด ๆ ถ้าไม่รีบไปเจรจาซื้อทางเข้า-ออกมาเพิ่ม หน้าที่เอาผิด กทม.และรฟม.ปล่อยให้เป็นหน้าที่ของสมาคมฯและชาวบ้านผู้ฟ้องคดีจะเหมาะสมกว่า ถ้าเดินเกมผิดสุดท้ายอาคารที่มีมูลค่า 6,400 กว่าล้าน คงต้องถูกทุบทิ้งเป็นแน่แท้

ทิ้งคำตอบไว้

อีเมล์ของคุณจะไม่ถูกเผยแพร่


This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More