พรรคพลังปวงชนไทย
เพื่อคนไทยทั้งแผ่นดิน

'รอมฎอน' เผยหลังคุย 'สมศักดิ์' ปมขัดแย้งใต้ สานต่อพูดคุย 'BRN-รัฐบาล'

21 พ.ย. 2566 รอมฎอน ปันจอร์ ส.ส. บัญชีร่ยขชื่อ พรรคก้าวไกล โพสต์เฟซบุ๊ค ระบุว่า รองนายกฯ สมศักดิ์ เทพสุทิน ออกตัวเบา ๆ ว่าตนเปรียบเป็นพระบวชใหม่ ในภารกิจรับมือปัญหาความขัดแย้งในชายแดนใต้ วันนี้ กมธ.สันติภาพได้รับเชิญจากแกมาแลกเปลี่ยนทัศนะที่ ทำเนียบรัฐบาล เราได้รับแจ้งข้อมูลใหม่เกี่ยวกับ การพูดคุยสันติภาพ ว่านายกรัฐมนตรี ได้มีความเห็นชอบเมื่อต้นเดือนที่ผ่านมาเกี่ยวกับแนวทางการพูดคุยที่จะมี การสานต่อจากสิ่งที่รัฐบาลก่อนหน้านี้ได้ดำเนินการมา หลังจากที่ทาง สมช.ได้บรีฟสรุปไปก่อนหน้านี้เมื่อต้นเดือนตุลาฯ เท่ากับว่าความเห็นพ้องระหว่างทีมรัฐบาลไทยและบีอาร์เอ็นที่บันทึกเอาไว้ในเอกสาร General Principle on Peace Dialogue Process (ลงนาม 31 มีนาคม 2565) ได้รับการยืนยันและรับรองจากรัฐบาลใหม่แล้ว

ส่วนคณะพูดคุยและโครงสร้างกลไกการพูดคุยจะมีความชัดเจนภายใน 2 สัปดาห์นี้ หรือน่าจะหลังจากการเยือนมาเลเซียในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ครับ เรา ๆ ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด

กลไกการพูดคุยใหม่ในฝั่งรัฐบาลไทยจะรองรับด้วย คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ฉบับใหม่ เพื่อทดแทนคำสั่งฯ เดิมที่ยกเลิกไปพร้อมกับรัฐบาลก่อน โครงสร้างใหม่ที่ว่านี้จะยึดโยงกับกลไกภายใน สมช. เองที่ชื่อ คณะกรรมการนโยบายและยุทธศาสตร์แก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ (คยศ.จชต.) ที่มีเลขาธิการ สมช. เป็นประธาน โดยที่ถ้าฟังไม่ผิด จะมี สภา มช. (สภาความมั่นคงแห่งชาติ) ที่มีนายกฯ เป็นประธานและมีรัฐมนตรี 7-8 กระทรวงเป็นกรรมการ ทำหน้าที่ในลักษณะกลไกกำกับทิศทางการพูดคุย (steering committee)

ทั้งหมดนี้ แม่งานหลักของงานพูดคุยสันติภาพจะยังคงอยู่ที่ สมช. (สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติ) หนึ่งในเรื่องที่น่าจะยังไม่ลงตัวก็คือ หน่วยแนวหน้า ที่จะต้องทำหน้างานกับภาคประชาสังคมและประชาชน ที่ผู้แทนจาก สมช.ระบุในวงประชุมว่าน่าจะต้องเป็นหน่วยงานทางสังคมและการพัฒนา

หากเป็นเช่นนั้น ชะตากรรมของงานประสานงานในพื้นที่อาจเปลี่ยนโฉมไป ในยุครัฐบาลหลังรัฐประหารและรัฐบาลประยุทธ์ งานนี้เดิมทีอยู่ในมือของ กอ.รมน.ภาค 4 สน. ซึ่งเข้ามามีส่วนใน งานการเมือง นี้อย่างสำคัญ หลายคนรู้จักกันในชื่อ “สล.3” นั่นเอง บทบาทของกองทัพและ กอ.รมน.ในงานสันติภาพนั้นน่าสนใจ เพราะหากพวกเขาไม่มีส่วนเลย ก็มีความเสี่ยงที่จะสปอยล์ กระบวนการที่หลายฝ่ายกำลังทำกันอยู่ แต่หากให้บทบาทมากเกินไปก็อาจสร้างปัญหาความเชื่อมั่น เพราะการใช้กรอบคิดแบบทหารทำงานการเมืองที่ต้องละเมียดละไมอาจส่งผลด้านกลับ

น่าติดตามว่าตกลงแล้ว กอ.รมน. กำลังจะถูกลดบทบาทลงหรือไม่? แล้วพวกเขาจะอยู่ตรงไหนใน กระบวนการสันติภาพ ภายใต้การบริหารงานของรัฐบาลใหม่

มีหลายเรื่องที่ต้องอัพเดทครับ โดยเฉพาะอนาคตของ กระบวนการสันติภาพ ในรัฐบาลชุดนี้

หมายเหตุ: ความรู้พื้นฐานสำหรับการติดตามเรื่องนี้ก็คือ สภา มช. กับ สมช. เป็นคนละอันกันนะครับ สภา มช. เป็นองค์กรตัดสินใจในทางนโยบาย มีนายกฯ เป็นประธานโดยตำแหน่ง ส่วน สมช. เป็นหน่วยงานราชการ ทำหน้าที่เหมือนกองเลขาฯ ของที่ประชุมสภาฯ แห่งนี้ครับ

ทิ้งคำตอบไว้

อีเมล์ของคุณจะไม่ถูกเผยแพร่


This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More