พรรคพลังปวงชนไทย
เพื่อคนไทยทั้งแผ่นดิน

“ราชทัณฑ์” รับ “ทักษิณ” เข้าเกณฑ์พักโทษกรณีพิเศษ

เมื่อวันที่ 17 ม.ค.2567 นายสมบูรณ์ ม่วงกล่ำ ที่ปรึกษา รมว.ยุติธรรม กล่าวว่า หลังจากที่นายทักษิณ ชินวัตร ซึ่งอยู่ระหว่างรักษาตัวนอกเรือนจำ โดยทุกห้วงเวลานับตั้งแต่รักษาตัวครบ 30 วัน ครบ 60 วันและเกินกว่า 120 วัน เป็นไปตามขั้นตอนที่อธิบดีกรมราชทัณฑ์จะต้องมีความเห็นและรายงานไปตามลำดับชั้น ซึ่งทั้งปลัดกระทรวงยุติธรรม และ รมว.ยุติธรรม ได้เซ็นรับทราบการอนุญาตนอนพักรักษาตัวนอกเรือนจำของนายทักษิณ ถือว่าเข้าเงื่อนไขและปฏิบัติถูกต้องตามกฎหมาย

ที่ปรึกษา รมว.ยุติธรรม กล่าวอีกว่า กรณีของนายทักษิณ ที่นอนพักรักษาตัวนอกเรือนจำ ถูกตรวจสอบจากหลายหน่วยงาน ทั้งสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินและสำนักงาน ป.ป.ช. เป็นต้น โดยเฉพาะสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินที่มีตัวแทนขึ้นไปบนชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจ และได้พบนายทักษิณ

ส่วนตัวเชื่อมั่นว่านายทักษิณนอนพักที่ รพ.ตำรวจ จริง ไม่ได้อยู่ที่คอนโดฯ อย่างที่สังคมเคลือบแคลงสงสัยแน่นอน

ขณะที่นายสิทธิ สุธีวงศ์ รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์และในฐานะโฆษก กล่าวถึงความคืบหน้าของระเบียบกรมราชทัณฑ์ ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ.2566 ว่า เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา ราชทัณฑ์ได้ประชุมและรายงานต่อคณะกรรมการราชทัณฑ์ให้รับทราบถึงการดำเนินการ เพราะกฎกระทรวงกำหนดให้กรมราชทัณฑ์ต้องออกระเบียบนี้

ส่วนความคืบหน้าของระเบียบแนวทางการปฏิบัติและกำหนดคุณสมบัติของผู้ต้องขังที่จะต้องมารองรับระเบียบกรมราชทัณฑ์ ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ.2566 หรือระเบียบคุมขังนอกเรือนจำ อยู่ระหว่างการดำเนินการ ซึ่งในวันประชุม ฝ่ายเลขาได้เสนอในที่ประชุมว่าหากคณะกรรมการราชทัณฑ์มีข้อคิดเห็น ข้อเสนอแนะ ทางกรมราชทัณฑ์จะต้องรับฟัง อีกทั้งในส่วนของผู้ทรงคุณวุฒิจะส่งข้อมูลให้กรมราชทัณฑ์ เพื่อเตรียมยกร่างหลักเกณฑ์ประกอบการพิจารณา

แต่ขณะนี้ระเบียบคุมขังนอกเรือนจำยังไม่ได้ดำเนินการใด เพราะรอระเบียบหลักเกณฑ์แนวทางการปฏิบัตินี้ก่อน ส่วนกลุ่มผู้ต้องขังในรายคดีใดที่จะได้รับการละเว้นจากระเบียบดังกล่าว ก็ต้องใช้ในการจำแนกวิเคราะห์เช่นกันว่ารายคดีใดจะได้ประโยชน์ หรือรายคดีใดต้องละเว้น แต่ตอนนี้ยังไม่มีความชัดเจน ส่วนจำนวนผู้ต้องขังล็อตแรกที่จะใช้พิจารณาก็ยังไม่สามารถระบุได้ ต้องรอการศึกษาให้รอบด้านและต้องรอฟังความเห็นจากคณะกรรมการราชทัณฑ์และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

อ่านข่าว : “ราชทัณฑ์” หวั่นตีตรานักโทษ ไม่ใช้ น.ช.กับ “ทักษิณ ชินวัตร”

รองอธิบดีกรมราชทัณฑ์ ยังกล่าวถึงประเด็นโครงการพักการลงโทษกรณีมีเหตุพิเศษ ว่า เรื่องนี้เป็นประโยชน์ของผู้ต้องขังที่มีสิทธิ์ได้รับ แต่การพิจารณาว่าผู้ต้องขังรายใดจะเข้าเกณฑ์โครงการดังกล่าวนั้น ผู้บัญชาการเรือนจำแต่ละแห่งจะเป็นผู้พิจารณาคุณสมบัติและความเหมาะสม ทั้งแบบกรณีมีเหตุพิเศษและแบบปกติ ซึ่งผู้ต้องขังไม่สามารถเสนอตัวเองได้ อย่างไรก็ตามเรือนจำแต่ละแห่งจะพิจารณาผู้ต้องขังที่ผ่านเกณฑ์พักโทษในทุกเดือน แล้วเสนอรายชื่อมายังกรมราชทัณฑ์ เพื่อนำเข้าสู่คณะกรรมการพิจารณาพักการลงโทษที่จะประชุมในทุกเดือน

อธิบดีกรมราชทัณฑ์ยังไม่ได้รับรายงานจาก ผบ.เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ถึงประเด็นรายชื่อของนายทักษิณ ชินวัตร ว่าเข้าเกณฑ์โครงการพักการลงโทษหรือไม่

สำหรับคุณสมบัติของนายทักษิณ หากดูจากหลักเกณฑ์ที่ว่าเป็นผู้ต้องขังเด็ดขาดชั้นกลาง สูงวัยและมีอาการเจ็บป่วย ถือว่าอยู่ในเกณฑ์ที่จะได้รับการพิจารณาในโครงการพักการลงโทษ กรณีมีเหตุพิเศษ เนื่องจากเจ็บป่วยร้ายแรง หรือพิการ หรือมีอายุตั้งแต่ 70 ปีขึ้นไป (นักโทษเด็ดขาดชั้นกลางขึ้นไป) แต่วันนี้กรมราชทัณฑ์ยังไม่ได้รับรายงานจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ จึงยังไม่มีข้อมูล

ส่วนกระบวนการ หากนายทักษิณผ่านเข้าโครงการดังกล่าวจริง จะเป็นการดำเนินการโดยเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ แนวทางปฏิบัติเรื่องเอกสาร รวมถึงกรณีการติดกำไล EM จะเป็นหน้าที่ของคณะกรรมการพักการลงโทษที่จะพิจารณาเหตุต่างๆ หากจะไม่ติดกำไลก็ต้องมีเหตุผลประกอบ

นายสิทธิ ยังกล่าวถึงระบบพักการลงโทษว่า หากผู้ต้องขังคนใดเข้าเกณฑ์ได้รับการพักโทษ ตามขั้นตอนแล้วจะต้องมีรายชื่อของผู้อุปการะ ซึ่งกรมคุมประพฤติจะต้องไปสืบเสาะว่าใครจะเป็นผู้อุปการะผู้ต้องขัง และเมื่อพักโทษจะประกอบอาชีพใด และจะต้องรายงานตัวต่อพนักงานคุมประพฤติอย่างไรบ้าง หรือกำหนดอาณาเขตว่าห้ามพ้นรัศมีเท่าใด หรือห้ามเดินทางออกนอกราชอาณาจักร ส่วนบทบาททางการเมืองในระหว่างการพักโทษ สามารถกระทำได้ หากไม่เป็นการฝ่าฝืนหรือทำผิดระเบียบ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

“ละเมิดสิทธิคนป่วย” ชั้น 14 หรือ “นักโทษวีไอพี” ละเมิดสิทธิคนไทย

“สมชาย” เตือน จนท.อย่าใช้วิธีพิเศษช่วย “ทักษิณ” ระวังจะถูกดำเนินคดีแทน

ทิ้งคำตอบไว้

อีเมล์ของคุณจะไม่ถูกเผยแพร่

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More