พรรคพลังปวงชนไทย
เพื่อคนไทยทั้งแผ่นดิน

'โรม' ท้า 'ชาดา' เปิดชื่อคนหนุนม็อบ ถามกลับ 'อุทัยธานี' ใครเป็นผู้มีอิทธิพล

‘รังสิมันต์’ ท้า ‘ชาดา’ เปิดรายชื่อผู้สนับสนุนม็อบ-ผู้มีอิทธิพล เย้ย จ.อุทัยธานี ผู้มีอิทธิพลตัวย่อ ช. หรือไม่ ชี้หากไม่เปิดอาจมีความผิด

วันที่ 16 ก.พ. ที่อาคารรัฐสภา รังสิมันต์ โรม สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีที่ อัครวุธ บุรณพนธ์ หรือ ‘เต้ อาชีวะ‘ พร้อมด้วยภาคีราชภักดี ร้องประธานรัฐสภาให้ตรวจสอบจริยธรรม โดยอ้างว่า เป็นการนำภาพตัดต่อภาคีราชภักดี และชาดา ไทยเศรษฐ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ซึ่งทำให้เกิดข่าวบิดเบือน และไม่เป็นความจริง 

โดย รังสิมันต์ กล่าวว่า ยินดีให้ร้อง และยืนยันว่า ไม่ได้ตัดต่อภาพ ทำหน้าที่ตรงไปตรงมา ข้อมูลที่นำมาแสดงปรากฎขึ้นจริง เพราะการนำภาพขึ้นฉายในสภาฯ ต้องผ่านคณะกรรมการพิจารณา และอนุมัติโดย พิเชษฐ์ เชื้อเมืองพาน รองประธานสภาฯ คนที่ 2 ซึ่งทำหน้าที่ประธานในขณะนั้น รวมถึงกฎหมาย PDPA ก็ไม่ได้ครอบคลุมการทำหน้าที่ในสภาฯ 

ส่วนกรณีที่ เต้ อาชีวะ นำภาพสมัยการชุมนุมต้านรัฐประหาร 2557 มาแสดงต่อสื่อมวลชนนั้น รังสิมันต์ ชี้แจงว่า ต้องแยกแยะ และย้อนกลับไปในวันนั้น ภาพดังกล่าวมาจากการที่นักศึกษานัดชุมนุมกันหน้าหอศิลป์ โดยเป็นการยืนเฉยๆ 15 นาที ซึ่งไม่ได้มีการกระทบต่อการจราจร และไม่มีใครเดือดร้อน แต่เวลาประมาณ 18.00 น. ของวันนั้น ได้มีการเข้าสลายการชุมนุม และหนึ่งในผู้ร่วมชุมนุมก็มองว่า การชุมนุมทำได้ตามกฎหมาย ซึ่งการจับกุมนั้นไม่ชอบด้วยกฎหมาย แต่สิ่งที่เกิดขึ้นคือ ทหารใช้วิทยุสื่อสารสีดำทุบไปที่มือของผู้ร่วมชุมนุม รวมถึงต่อยเข้ามาที่เป้าของตนทำให้เกิดอาการจุกเพื่อให้ยอมจำนน

รังสิมันต์ กล่าวอีกว่า เมื่อการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายนั้นมาจากเจ้าหน้าที่เราก็สามารถป้องกันตัวได้ ดังนั้นเราจึงจำเป็นต้องปกป้องเนื้อตัวร่างกาย และหลังเหตุการณ์นั้นก็ไม่ได้ถูกดำเนินคดีจนนำไปสู่การตัดสินจำคุก 

พร้อมกันนั้น รังสิมันต์ ยังมองว่า ประชาธิปไตยเป็นของเราทุกคน แต่รัฐประหารต่างหากที่ผิดกฎหมาย และการต่อสู้ของตนในวันนั้นซึ่งปรากฎว่า มีภาพดังกล่าวออกมา เป็นการต่อสู้เพื่อทุกคน จึงไม่อยากให้ทุกคนคิดว่า เราต้องยอมจำนนต่อรัฐประหาร 

สำหรับกรณีภาพถ่ายที่ถูกมองว่า เป็นผู้สนับสนุนม็อบเยาวชนนั้น รังสิมันต์ กล่าวว่า ขณะนั้นตนอยู่ในคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การกฎหมาย การยุติธรรม และสิทธิมนุษยชน ถ้า กมธ. ไม่ไปลงพื้นที่ แล้วเราจะทำหน้าที่ได้อย่างไร ซึ่งบางครั้งเราลงพื้นที่ไปดูเหตุการณ์ก่อน และหากมีประเด็นอะไรก็สามารถส่งกลับมาที่ กมธ. ได้ 

รังสิมันต์ กล่าวเสริมอีกว่า การที่ตนไปร่วมชุมนุม ต่อให้ตนอยู่ตรงนั้นก็ไม่ได้หมายความว่า เป็นท่อน้ำเลี้ยง เท่าที่ทราบนั้น กลุ่มผู้ชุมนุมก็ไม่ได้รับสิทธิพิเศษใดๆ ทางกฎหมาย แต่ไม่แน่ใจว่า กลุ่ม ศปปส. ที่ไปทำร้ายร่างกายประชาชนมีการแจ้งข้อกล่าวหาอะไรไปแล้วบ้างหรือยัง และยืนยันว่า เยาวชนคนรุ่นใหม่ เขาไม่ยอมให้ใครมาอยู่เบื้องหลัง 

รังสิมันต์ ยังกล่าวถึงกรณีที่ ชาดา ระบุว่า เตรียมเปิดรายชื่อผู้สนับสนุนกลุ่มนักกิจกรรมว่า หลังจากการอภิปรายเรื่องขบวนเสด็จฯ ชาดา เดินมาหาตน และพูดด้วยน้ำเสียงที่อ่อนลง ซึ่งฝั่งตน และ สส.พรรคก้าวไกล ก็เห็นด้วยที่จะให้เปิดรายชื่อเลย เราเองก็อยากรู้ เพราะที่ผ่านมาเราอยู่กับข้อกล่าวหาที่เลื่อนลอย สะกดจิตตัวเอง จึงอยากรู้เหมือนกันว่ารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงหมาดไทยที่จัดทำบัญชีรายชื่อผู้มีอิทธิพลจะสามารถใช้กลไกทางกฎหมายแก้ปัญหาได้หรือไม่ 

รังสิมันต์ กล่าวอีกว่า วันนี้สื่อหลายท่านก็ไม่ได้ทวงถามแล้วว่าบัญชีรายชื่อผู้มีอิทธิพลมีรายละเอียดอย่างไร จ.อุทัยธานี มีชื่อขึ้นต้นด้วย ช.ช้าง เป็นผู้มีอิทธิพลหรือเปล่า ฉะนั้นเราอยู่บนข้อเท็จจริงดีกว่า และท่านเป็นรัฐมนตรีแล้วอาจจะลืมไปว่า ต้องใจเย็น ตนมีสิทธิ์ที่จะตรวจสอบ ท่านก็ตอบ ในการที่ท่านไม่เปิด เผลอๆ ท่านอาจจะผิดด้วยซ้ำ 

ทั้งนี้ รังสิมันต์ ยังกล่าวทิ้งท้ายว่า ชาดา เป็นรัฐมนตรีช่วย อาจจะใช้เวทีสภาฯ ในการเสนอข้อเสนอปรับปรุงขบวนเสด็จฯ ขณะเดียวกันฝั่งผู้ยื่นญัตติก็ไม่ได้มีข้อเสนอใดๆ เลยว่า ต้องมีมาตรการเพิ่มขึ้นอย่างไร สิ่งเหล่านี้แทบไม่เห็นข้อมูล เพราะส่วนใหญ่พูดถึงแต่ปัญหา แต่น้อยมากที่จะพูดถึงข้อเสนอแนะ

ทิ้งคำตอบไว้

อีเมล์ของคุณจะไม่ถูกเผยแพร่

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More