พรรคพลังปวงชนไทย
เพื่อคนไทยทั้งแผ่นดิน

บทวิเคราะห์ SCB เผยคนรอเงินดิจิทัล เตรียมใช้เงินกับรายย่อย มากกว่าทุนใหญ่

ผลสำรวจคนจ่อได้ “เงินหมื่น” เฮ พบประชาชนจะเอาไปใช้กับร้านของชำ มากกว่าร้านเจ้าสัว

ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ (SCB EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด (มหาชน) ได้ออกบทวิเคราะห์ “ส่องพฤติกรรมการใช้จ่ายผู้มีสิทธิ จากนโยบาย Digital wallet” โดยระบุว่า จากการที่รัฐบาลเปิดเผยเงื่อนไขโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท ซึ่งผ่านการพิจารณาของที่ประชุมคณะรัฐมนตรีวานนี้ (23 เม.ย.) โดยผู้มีสิทธิจะเป็นคนไทยอายุ 16 ปีขึ้นไป ที่มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 70,000 บาท ราว 50 ล้านคน สามารถนำไปซื้อสินค้าทุกประเภท ยกเว้นอบายมุข บริการ น้ำมันเชื้อเพลิง และสินค้าออนไลน์ ซื้อสินค้าได้จากร้านค้าปลีกขนาดเล็กภายในอำเภอ รวมร้านสะดวกซื้อ และการใช้จ่ายจะเริ่มในไตรมาส 4 ปี 2567

ผลสำรวจ scb

SCB EIC ได้สำรวจความคิดเห็นผู้บริโภคที่คาดว่าจะได้รับสิทธิดิจิทัลวอลเล็ต พบว่า กรณีที่ 1.เม็ดเงินโดยส่วนใหญ่จากโครงการดิจิทัลวอลเล็ตจะหมุนเข้าระบบภายใน 6 เดือน โดยผู้ตอบแบบสอบถามราว 58% จะทยอยใช้เงินโครงการ 10,000 บาท ครบภายใน 6 เดือน อย่างไรก็ตาม กลุ่มผู้มีรายได้น้อย (รายได้น้อยกว่า 15,000 บาทต่อเดือน) หรือกลุ่มผู้สูงอายุมีแนวโน้มจะทยอยใช้จ่ายเงินไปจนถึงวันสิ้นสุดโครงการ ทั้งนี้ หากภาครัฐต้องการให้เงินหมุนเวียนเร็วอย่างเต็มประสิทธิภาพ อาจต้องกำหนดระยะเวลาให้สั้น เช่น ไม่เกิน 6 เดือน เพื่อกระตุ้นใช้จ่าย

กรณีที่ 2 กว่า 80% ของผู้ตอบแบบสอบถาม ระบุว่าจะลดการใช้จ่ายเงินส่วนตัวของตัวเองลงหากได้รับเงิน 10,000 บาท จากโครงการดิจิทัลวอลเล็ตมาใช้จ่าย โดยผู้มีสิทธิฯ ที่ลดการใช้จ่ายเงินส่วนตัวบางส่วนนำเงินที่ลดลงดังกล่าวกลับเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจผ่านการให้ญาติใช้จ่าย หรือนำไปลงทุนธุรกิจต่อ ทั้งนี้ หากรวมเงินที่เข้าสู่ระบบเศรษฐกิจข้างต้นจะพบว่า ผู้มีสิทธิทั้งกลุ่มรายได้มาก (เงินเดือน 40,000-70,000 บาท) รายได้ปานกลาง (15,000-40,000 บาท) และรายได้น้อย ราว 30% จะมีการใช้จ่ายเงินส่วนเพิ่มเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจได้ไม่น้อยกว่า 10,000 บาทต่อราย ขณะที่ผู้มีสิทธิฯ ส่วนใหญ่จะลดการใช้จ่ายเงินส่วนตัวลง เพื่อนำไปเก็บออมหรือชำระคืนเงินกู้ ซึ่งส่วนนี้จะไม่เข้าระบบทันที แต่ทำให้คนมีเงินออม หรือเงินใช้จ่ายในอนาคตมากขึ้น

กรณีที่ 3 พบว่า สินค้าที่ใช้ในครัวเรือน หรือ Grocery เป็นสินค้าหลักที่จะได้ประโยชน์จากโครงการฯ โดยผู้ตอบแบบสอบถามเลือกใช้จ่ายเงินในสินค้า Grocery เกือบ 40% ของสินค้าทั้งหมด ขณะที่สินค้าหมวดสุขภาพและร้านอาหารรองลงมา ยกเว้นกลุ่ม Gen Z มีแนวโน้มนำไปซื้อโทรศัพท์มือถือ ขณะที่กลุ่มผู้มีรายได้น้อยและผู้สูงอายุ มีแนวโน้มนำเงินบางส่วนจากโครงการไปซื้อสินค้าเพื่อแต่งและซ่อมบ้าน โดยกลุ่มสินค้าคงทน เช่น เครื่องใช้ไฟฟ้า ของแต่งบ้าน และมือถือ จะได้รับอานิสงส์ ราว 10-17% และเป็นกลุ่มที่มีแนวโน้มใช้จ่ายเงิน 10,000 บาทในครั้งเดียว ซึ่งค่อนข้างกระจุกอยู่ในผู้มีสิทธิฯ กลุ่ม Gen Y และ Z รวมถึงผู้มีรายได้มากกว่า 1.5 หมื่นบาท

กรณีที่ 4 ร้านค้าท้องถิ่นและร้านสะดวกซื้อจะเป็นกลุ่มธุรกิจหลักที่ได้ประโยชน์จากโครงการดิจิทัลวอลเล็ต โดยผู้ตอบแบบสอบถามเลือกใช้จ่ายเงินโครงการในร้านค้าท้องถิ่นราว 40% และร้านสะดวกซื้อ เช่น CJ และ 7-11 ราว 26% ของประเภทร้านค้าที่เลือกใช้จ่ายทั้งหมด ขณะที่กลุ่มร้านอาหารและร้านขายยาเป็นกลุ่มรองลงมา นอกจากนี้ ร้านอุปกรณ์ยานยนต์และร้านอุปกรณ์การเกษตร คาดว่าจะได้อานิสงส์อยู่บ้าง อย่างไรก็ดี ในส่วนของร้านค้าส่ง/ค้าปลีกขนาดใหญ่แม้จะไม่ได้รับประโยชน์โดยตรง แต่คาดว่าจะได้ประโยชน์ทางอ้อมจากร้านค้าท้องถิ่นขนาดเล็กที่ต้องนำเงินรายได้จากการขายสินค้าให้ผู้มีสิทธิฯมาใช้จ่ายต่อไป เช่น การซื้อสินค้าเพื่อสต๊อกสินค้าในร้านค้า เป็นต้น

สำหรับกรณีที่ 5 ข้อจำกัดของโครงการ พบว่า การกำหนดพื้นที่ใช้จ่ายเงินโครงการฯ ในร้านค้าตามที่อยู่ทะเบียนบ้านของผู้มีสิทธิฯ อาจเป็นอุปสรรคต่อการใช้จ่ายเงินโครงการฯ ทั้งนี้ผู้ตอบแบบสำรวจที่คาดว่ามีสิทธิในโครงการ มองว่า การกำหนดพื้นที่ใช้จ่ายเงินโครงการฯ เป็นข้อจำกัด โดยเฉพาะกลุ่มที่ทำงาน อยู่อาศัยในกรุงเทพฯ และปริมณฑล จังหวัดหัวเมืองใหญ่ รวมถึงกลุ่มผู้ถือบัตรสวัสดิการ ซึ่งราว 70% มองว่าการกำหนดพื้นที่ใช้จ่ายเป็นอุปสรรค โดยปัญหาหลักมาจากการไม่มีร้านค้าที่เหมาะสมและตรงกับความต้องการในพื้นที่ที่กำหนด

ทิ้งคำตอบไว้

อีเมล์ของคุณจะไม่ถูกเผยแพร่

This website uses cookies to improve your experience. We'll assume you're ok with this, but you can opt-out if you wish. Accept Read More