หน้าแรก Voice TV 'วิโรจน์' เผย 'สุทิน' สั่ง ทร. ไม่ให้ชี้แจงเรื่องเรือดำน้ำ ต่อ กมธ.ทหาร

'วิโรจน์' เผย 'สุทิน' สั่ง ทร. ไม่ให้ชี้แจงเรื่องเรือดำน้ำ ต่อ กมธ.ทหาร

90
0
'วิโรจน์'-เผย-'สุทิน'-สั่ง-ทร-ไม่ให้ชี้แจงเรื่องเรือดำน้ำ-ต่อ-กมธ.ทหาร

‘วิโรจน์’ เผย ‘สุทิน’ สั่งกะทันหันไม่ให้กองทัพเรือชี้แจง ‘เรือดำน้ำ’ ต่อ กมธ.ทหาร คาดอัตราค่าปรับราว 3.5 ล้านบาทต่อวัน หากตัดสินใจถูกต้อง ยังอยู่ในวิสัยที่จะจำกัดความเสียหายได้ พร้อมติดตามความคืบหน้าอีกครั้งในเดือนธันวาคม จนกว่ามีความชัดเจน

วันที่ 11 พฤศจิกายน 2566 วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงความคืบหน้ากรณีที่กองทัพเรือต้องชี้แจงโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำ S26T ต่อ กมธ.การทหาร ว่าที่จริงแล้ว กองทัพเรือจะเข้ามาชี้แจงพร้อมกับสำนักงบประมาณกลาโหม ในวันที่ 9 พ.ย. ที่ผ่านมา แต่เวลาประมาณ 12.00 น. ทางกองทัพเรือได้โทรศัพท์มาแจ้งด้วยวาจาว่ารัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพิ่งจะมีคำสั่งไม่ให้กองทัพเรือมาชี้แจง โดยให้เฉพาะสำนักงบประมาณกลาโหม เป็นผู้ชี้แจงเท่านั้น โดยคณะผู้มาชี้แจง ประกอบด้วย พล.อ.อดินันท์ ไชยฤกษ์ ผอ.สำนักงบประมาณกลาโหม พล.อ.ต.ธวัชชัย สงวนเรือง ผช.ผอ.สำนักงบประมาณกลาโหม และ พ.อ.อาร์ม พันกะหรัด ผอ.กองการพัสดุ สำนักงบประมาณกลาโหม พร้อมด้วยคณะ

ในเรื่องการเปิดเผยสัญญา G2G การจัดซื้อเรือดำน้ำ สำนักงบประมาณกลาโหมแจ้งต่อ กมธ.การทหาร ว่ายังไม่สามารถเปิดเผยสัญญาได้ เพราะในสัญญามีเงื่อนไขที่คู่สัญญาต้องปกปิดข้อมูลในสัญญา (NDA: Non-Disclosure Agreement) โดยต้องรอให้บริษัท CSOC อนุญาตก่อน ซึ่งทางกองทัพเรือได้ทำหนังสือขอไปยังบริษัท CSOC เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2566 แล้ว ในกรณีนี้ กมธ.การทหาร มีความเห็นแย้งว่า เงื่อนไข NDA นั้นระบุไว้เพียงแค่ห้ามเปิดเผยรายละเอียดในส่วนของเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เป็นความลับในการผลิตเท่านั้น ไม่ได้ห้ามเปิดเผยในส่วนอื่นที่เกี่ยวข้องกับเรื่องงบประมาณ การปกป้องเงินภาษี และผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชน 

การไม่เปิดเผยข้อมูลจึงเป็นการตีความเงื่อนไข NDA อย่างกว้าง เพื่อปกปิดข้อมูลต่อประชาชน กมธ.การทหาร จึงมีมติให้ทำหนังสือแจ้งไปยังประธานรัฐสภา เพื่อให้ประธานรัฐสภาทำหนังสือต่อไปยังประธาน กมธ.วิสามัญพิจารณาร่างงบประมาณ 2567 เพื่อให้ กมธ.พิจารณาร่างงบประมาณฯ ขอคำมั่นในการเปิดเผยข้อมูลด้านงบประมาณจากเหล่าทัพและกระทรวงกลาโหม ก่อนที่จะพิจารณาอนุมัติงบประมาณในการซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ หากไม่ได้รับคำมั่น ก็ไม่ควรพิจารณาอนุมัติงบประมาณ เพราะการจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ดังกล่าวอาจมีความเสี่ยงที่จะเป็นการจัดซื้อจัดจ้างที่ขาดความโปร่งใส และทำให้ผลประโยชน์ของประเทศชาติและประชาชนเสียหายได้ในอนาคต อย่างไรก็ตาม กมธ.การทหาร จะติดตามทวงถามสัญญา G2G อีกครั้งในเดือนธันวาคม

สำนักงบประมาณกลาโหมชี้แจงด้วยว่า ในสัญญา G2G มีการระบุค่าปรับไว้ประมาณ 0.05-0.06% ต่อวันของมูลค่างานที่ส่งมอบไม่ได้ ซึ่ง กมธ.การทหาร ประเมินว่าน่าจะอยู่ราวๆ วันละ 0.05%x7,000 ล้านบาท = 3.5 ล้านบาท แต่การจัดซื้อจัดจ้างครั้งนี้อยู่ในรูปแบบข้อตกลง ไม่ได้อยู่ในรูปแบบสัญญา จึงมีความยืดหยุ่นในการเจรจาหาทางออกร่วมกัน และอาจไม่จำเป็นต้องนำไปสู่การปรับ ซึ่ง กมธ.การทหาร เห็นด้วยที่จะใช้การเจรจาในการหาทางออก เพียงแต่ว่าจะต้องเป็นทางออกที่ทั้งสองฝ่ายไม่มีใครตกอยู่ในสภาวะเสียเปรียบที่อธิบายกับประชาชนไม่ได้

กมธ.การทหาร มีความกังวลอย่างมาก

วิโรจน์กล่าวต่อว่า สำนักงบประมาณกลาโหม ยังได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่า สัญญา G2G จะสิ้นสุดลงในวันที่ 31 ธ.ค. 66 โดยระหว่างนี้ทางบริษัท CSOC ได้ทำหนังสือแจ้งขอขยายสัญญาออกไป 123 วัน จากเหตุโควิด-19 แต่ยังไม่ได้อนุมัติ โดยการดำเนินการใดๆ เกี่ยวกับสัญญา ทางสำนักงบประมาณกลาโหมแจ้งว่า จะพิจารณาดำเนินการ หลังจากที่สัญญาสิ้นสุดลง ในประเด็นนี้ กมธ.การทหาร มีความกังวลอย่างมาก

เพราะหนังสือทวงถาม หนังสือเร่งรัดติดตามโครงการ หรือหนังสือสงวนสิทธิ์ในการเรียกค่าปรับตามสัญญานั้น สามารถทำได้ในระหว่างสัญญา ไม่จำเป็นต้องรอให้สัญญาสิ้นสุดลงก่อน หากระหว่างนี้ ทั้งๆ ที่ปัญหาได้เกิดขึ้นแล้ว แต่กองทัพเรือกลับไม่ได้ดำเนินการใดๆ ในข้างต้นนี้เลย ประเทศชาติก็อาจตกอยู่ในสภาวะเสียเปรียบได้ และในท้ายที่สุดทั้ง รมว.กลาโหมและกองทัพเรือ ก็ไม่อาจหนีพ้นจากความรับผิด กมธ.การทหาร จึงมีมติเสนอแนะเรื่องนี้ต่อสำนักงบประมาณกลาโหม เพื่อแจ้งให้ รมว.กลาโหมทราบต่อไป

นอกจากนี้ แม้ว่าในสัญญาไม่ได้ระบุชื่อเครื่องยนต์ดีเซลที่ใช้ในการขับเคลื่อนเครื่องผลิตไฟฟ้าว่าเป็น MTU396 แต่การระบุสเปกว่า 16V 396 SE84-GB31L ก็คือเครื่องยนต์ MTU396 ไม่สามารถตีความเป็นเครื่องยนต์รุ่นอื่นได้ ซึ่งเครื่องยนต์รุ่นนี้ประเทศจีนได้รับลิขสิทธิ์มาผลิตกว่า 30 ปีแล้ว แต่ได้รับแจ้งในภายหลังว่าห้ามนำเอาเครื่องยนต์ดังกล่าวนี้มาติดตั้งในเรือดำน้ำ ทั้งการผลิตเพื่อใช้เองและการผลิตเพื่อส่งออก เนื่องจาก EU มีข้อตกลงร่วมที่ห้ามมิให้ส่งออกอาวุธยุทโธปกรณ์ให้ประเทศจีน อันเนื่องมาจากเหตุการณ์จัตุรัสเทียนอันเหมิน 

อาจถือได้ว่าเป็นความหละหลวม

ประเด็นดังกล่าว กมธ.การทหาร เชื่อว่าอยู่ในวิสัยที่ทูตทหารจะต้องตั้งข้อสงสัยไว้บ้าง เป็นไปไม่ได้ที่จะไม่ทราบเรื่องนี้มาก่อน จึงได้สอบถามว่ากองทัพเรือได้ทำหนังสือขอคำยืนยันในเรื่องเครื่องยนต์ MTU396 ก่อนที่จะลงนามในสัญญาหรือไม่ ซึ่งสำนักงบประมาณกลาโหมแจ้งว่าไม่สามารถตอบแทนกองทัพเรือได้ กมธ.การทหาร จึงมีมติแจ้งให้ผู้ที่มาชี้แจงนำกลับไปเรียนต่อ รมว.กลาโหม ว่าหนังสือขอการยืนยันในเรื่องเครื่องยนต์ MTU396 ก่อนที่จะลงนามในสัญญานั้น เป็นเรื่องที่สำคัญมาก หากมิได้ดำเนินการ อาจถือได้ว่าเป็นความหละหลวม ซึ่งจำเป็นต้องมีการสืบสวน สอบสวน เพื่อหาผู้รับผิดชอบต่อไป

วิโรจน์กล่าวว่า สำหรับงบประมาณที่ใช้จ่ายไปแล้วกับโครงการเรือดำน้ำ มีต่อไปนี้ (1) เรือดำน้ำ วงเงินงบประมาณ 13,900 ล้านบาท เบิกจ่ายไปแล้ว 63% (2) ท่าจอดเรือดำน้ำ ระยะที่หนึ่ง 857 ล้านบาท เบิกจ่ายไปแล้ว 54% (3) ท่าจอดเรือดำน้ำ ระยะที่สอง 810 ล้านบาท เบิกจ่ายไปแล้ว 50% (4) โรงซ่อมบำรุงเรือดำน้ำ 1,016 ล้านบาท เบิกจ่ายไปแล้ว 43% (5) คลังเก็บตอร์ปิโดและทุ่นระเบิดสนับสนุน 129 ล้านบาท เบิกจ่ายไปแล้ว 60%

(6) อาคารทดสอบและคลังอาวุธปล่อยนำวิถี 138 ล้านบาท เบิกจ่ายไปแล้ว 100% (7) ระบบสื่อสารควบคุมบังคับบัญชาเรือดำน้ำ 300 ล้านบาท (8) ระบบในการสื่อสารภาคพื้นดิน วงเงินงบประมาณ 70 ล้านบาท เบิกจ่ายไปแล้ว 10 ล้านบาท ส่วนอุปกรณ์ของระบบสื่อสาร วงเงินงบประมาณ 230 ล้านบาท ถูกชะลอโครงการ ยังไม่มีการเบิกจ่าย

สำหรับเรือหลวงช้าง 6,100 ล้านบาท และอาคารพักข้าราชการ 294 ล้านบาท แม้จะเบิกจ่ายไปเต็มจำนวนแล้ว แต่ กมธ.การทหาร มีความเห็นว่า ภารกิจของเรือหลวงช้าง นั้นมีภารกิจแยกต่างหาก ไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการปฏิบัติภารกิจของเรือดำน้ำแต่แรก แต่เป็นเพราะการสื่อสารที่ไม่ถูกต้องของกองทัพเรือ ที่อ้างว่าเรือหลวงช้างนั้นเป็นเรือพี่เลี้ยงของเรือดำน้ำ จึงทำให้ถูกผนวกมาเป็นโครงการเรือดำน้ำ ส่วนอาคารพักข้าราชการ มีวัตถุประสงค์เพื่อปรับปรุงสวัสดิการของข้าราชการ จึงไม่ควรนับเอา 2 รายการนี้ มารวมเป็นส่วนหนึ่งของโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำ

สรุปแล้วจากวงเงินงบประมาณทั้งสิ้น 17,000 ล้านบาท มีการเบิกจ่ายไปแล้วทั้งสิ้น 9,500 ล้านบาท ซึ่งยังอยู่ในวิสัยที่สามารถบริหารจัดการให้มูลค่าความเสียหายอยู่ในวงจำกัด โดยไม่กระทบกับความสัมพันธ์ระหว่างประเทศได้ อย่างไรก็ตาม เพื่อประโยชน์ในการติดตามตรวจสอบงบประมาณ กมธ.การทหาร จึงขอให้สำนักงบประมาณกลาโหมส่งข้อมูลเพิ่มเติม โดยของบประมาณที่ได้รับจัดสรรไปแล้ว พร้อมกับรายการโอนเปลี่ยนแปลง เพื่อจะได้ประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้นได้อย่างครบถ้วน

วิโรจน์กล่าวว่า สำหรับกรณีที่ รมว.กลาโหม ตอบกลับมาว่า คณะกรรมการกฤษฎีกา และกระทรวงการต่างประเทศ ได้ให้ความเห็นว่า กรณีการเปลี่ยนแปลงสัญญาในการจัดซื้อเรือดำน้ำ ไม่จำเป็นต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภา เนื่องจากการจัดซื้อเรือดำน้ำถูกตีความว่าเป็นข้อตกลง ไม่ใช่สัญญา จึงไม่เข้าข่ายเป็นสัญญาระหว่างประเทศ ตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญ 2560 

ในประเด็นนี้ กมธ.การทหาร มีความกังวลอย่างมาก เนื่องจากเจตนารมณ์ของมาตรา 178 ไม่ได้สนใจชื่อเรียกว่าเป็นข้อตกลงหรือเป็นสัญญา หากการลงนามดังกล่าวมีผลผูกพันกับความมั่นคงของประเทศ ย่อมถือว่าเป็นสัญญาระหว่างประเทศตามมาตรา 178 อย่างในกรณี “เขาพระวิหาร” ซึ่งเป็นเพียงแถลงการณ์ร่วม ก็ยังถือว่าเข้าข่ายตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญ 2550 (เทียบเคียงได้กับมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญ 2560) หรืออย่างกรณีสัญญา G2G ของโครงการจำนำข้าว ก็ถูกตีความว่าเป็นสัญญาระหว่างประเทศ ที่ต้องขอความเห็นชอบจากรัฐสภาเช่นกัน และนำมาซึ่งการดำเนินคดีกับรัฐมนตรีที่เกี่ยวข้องในเวลาต่อมา

กมธ.ทหาร จึงมีมติส่งหนังสือทักท้วงไปยัง รมว.กลาโหม และขอให้ รมว.กลาโหม ส่งรายงานความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาและกระทรวงการต่างประเทศ ที่ตีความว่าสัญญา G2G ในการจัดซื้อเรือดำน้ำ ไม่เข้าข่ายตามมาตรา 178 ของรัฐธรรมนูญ 2560 มาให้ กมธ.ทหาร พิจารณาตรวจสอบด้วย

วิโรจน์กล่าวว่า ในกรณีการแลกเรือดำน้ำเป็นเรือฟริเกต ยังไม่มีคำตอบที่ชัดเจนจากสำนักงบประมาณกลาโหม ว่าจะทำมาแทนโครงการสั่งต่อเรืออานันทมหิดล (เรือคู่แฝดของเรือหลวงภูมิพลที่เข้าประจำการเมื่อปี 2562) ซึ่งได้รับเงื่อนไขที่จะมาต่อเรือที่ประเทศไทย พร้อมกับได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีจากประเทศเกาหลีใต้หรือไม่

ซึ่ง กมธ.การทหาร มีความเห็นว่าการแลกเป็นเรือฟริเกตจีน (Type 054A) น่าจะเป็นการตัดสินใจที่ไม่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์การพัฒนากองทัพเรือ แม้ว่าเรือฟริเกตจีนจะมีศักยภาพสูง แต่เป็นเรือคนละ Class กับเรือรบหลวงภูมิพล ที่สั่งต่อจากเกาหลีใต้ มีระบบการทำงาน การเชื่อมต่อข้อมูล (Datalink) การบำรุงรักษา การสำรองอะไหล่ ตลอดจนอาวุธที่ติดตั้งบนเรือ ที่แตกต่างกัน หากนำมาประจำการ จะเป็นภาระอย่างมากต่อกองทัพเรือ ที่สำคัญคือเรือฟริเกตจีน ใช้เครื่องยนต์ Pielstick ของฝรั่งเศส ซึ่งมีแนวโน้มสูงมาก ที่ฝรั่งเศสจะไม่ขายเครื่องยนต์ให้กับจีน เหมือนกับกรณีเครื่องยนต์ MTU396 ของเยอรมนี ซึ่งเท่ากับว่าหากแลกเป็นเรือฟริเกตจีน ก็อาจจะต้องพันวนมาที่ปัญหาเดิม 

กมธ.การทหาร จึงมีมติให้ทบทวนการตัดสินใจโดยคำนึงถึงยุทธศาสตร์การพัฒนากองทัพเรือ ที่ระบุเอาไว้ในสมุดปกขาวให้รอบคอบ เพราะตกลงแล้ว ณ วันนี้ กรณีแลกเป็นเรือฟริเกตจีนที่ รมว.กลาโหม อ้างว่าเป็นความประสงค์ของกองทัพเรือ แต่ข้อมูลที่ กมธ.การทหาร ทราบนั้นกลับเป็นไปในอีกทางหนึ่ง คือกองทัพเรือไม่ได้ต้องการ เพราะเป็นการตัดสินใจที่ขัดแย้งกับสมุดปกขาว

อย่างไรก็ตาม ทางสำนักงบประมาณกลาโหม ได้ชี้แจงว่า เรือฟริเกตจีนอาจจะเป็นการสั่งต่อเพิ่มเติมจากเรือรบหลวงอานันทมหิดลก็เป็นได้ และตามแผนยุทธศาสตร์ของกองทัพเรือ ก็ได้ระบุไว้ว่ามีความต้องการเรือฟริเกตถึง 8 ลำ โดยปัจจุบันมีเรือฟริเกตประจำการอยู่เพียง 5 ลำ ต่อให้มีเพิ่มอีก 2 ลำ คือเรือรบหลวงอานันทมหิดลและเรือฟริเกตจีน ก็ยังไม่เกินกรอบ 8 ลำ

ในประเด็นดังกล่าวนี้เพื่อความชัดเจน ทาง กมธ.การทหาร จะขอให้กองทัพเรือได้จัดส่งแผนยุทธศาสตร์ของกองทัพเรือที่ระบุว่าจำเป็นต้องมีเรือฟริเกต 8 ลำ พร้อมกับรายงานผลการศึกษาความเป็นไปได้ในการจัดซื้อเรือดำน้ำ ซึ่งมีวงเงินงบประมาณในการศึกษาสูงถึง 200 ล้านบาท มาให้ กมธ. ได้พิจารณา และเปิดเผยต่อสาธารณชนด้วย เพราะในเมื่อการศึกษานั้นใช้งบประมาณที่มาจากภาษีของประชาชน ผลการศึกษาก็ควรต้องเปิดเผยต่อสาธารณชนได้ ทั้งนี้ กมธ.การทหาร จะติดตามกรณีเรือดำน้ำอีกครั้งในเดือนธันวาคม และจะติดตามอย่างต่อเนื่อง จนกว่าจะมีความชัดเจน

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่