รมว.ยุติธรรม เตรียมเสนอร่าง พรบ.ขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล พ.ศ. …. ต่อ ครม. – หวังช่วยลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม ขจัดการเลือกปฏิบัติ เพื่อความสงบสุขในสังคม
ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยถึงความคืบหน้า การผลักดันกฎหมายของรัฐบาล ในส่วนของกฎหมายที่ส่งเสริมความอยู่ดีมีสุขในสังคม ลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม และขจัดการเลือกปฏิบัติ ว่า ล่าสุด พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม กระทรวงยุติธรรม ได้ลงนามเสนอร่างพระราชบัญญัติขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล พ.ศ. …. ไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อนำเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) แล้ว
โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวต่อไปว่า ร่างพระราชบัญญัติขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล พ.ศ. …. เป็นกฎหมายที่กำหนดให้มีกลไกทางกฎหมายในการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลในทุกรูปแบบ ไม่ว่าด้วยเหตุความแตกต่างในเรื่องถิ่นกำเนิด เชื้อชาติ ชาติพันธุ์ ภาษา เพศ เพศสภาพ วิถีทางเพศ อายุ ความพิการ สภาพทางกายหรือจิต สุขภาพ ผู้ติดเชื้อเอชไอวี ผู้พ้นโทษ สถานะของบุคคล ฐานะทางเศรษฐกิจหรือสังคม ความเชื่อทางศาสนา ความเชื่ออื่น การศึกษาอบรม
หรือความคิดเห็นทางการเมือง ความคิดเห็นอื่น อันไม่ขัดต่อบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ หรือเหตุอื่นใดจะกระทำมิได้ ซึ่งสอดคล้องตามกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิพลเมืองและสิทธิทางการเมือง (ICCPR) ข้อ 2 (1) และกติการะหว่างประเทศว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ข้อ 2 (2) (ICESCR) และรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 4 และมาตรา 27
สำหรับสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติฯ มีจำนวนทั้งหมด 48 มาตรา แบ่งเป็น 5 หมวด 1 บทเฉพาะกาล ประกอบด้วย อารัมภบท (มาตรา 1-5 ) หมวด 1 บททั่วไป (มาตรา 6-9) หมวด 2 คณะกรรมการส่งเสริมความเสมอภาคและขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคลและสภาส่งเสริมความเสมอภาคและขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล (มาตรา 10-21) หมวด 3 การบริหารงาน (มาตรา 22) หมวด 4 การคุ้มครองและช่วยเหลือผู้เสียหายจากการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล (มาตรา 23-39) หมวด 5 มาตรการบังคับ (มาตรา 40-46) และบทเฉพาะกาล (มาตรา 47-48)
“ยืนยันว่า รัฐบาลส่งเสริมและผลักดันกฎหมายเพื่อสังคม เพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำ สร้างความเป็นธรรม ขจัดการเลือกปฏิบัติ เพื่อความสงบสุขในการอยู่ร่วมกันของสังคม โดยรัฐบาลจะเดินหน้าอย่างส่งเสริมความเสมอภาคอย่างต่อเนื่อง ตามที่ได้แถลงนโยบายของ ครม.ต่อรัฐสภา โดยจะไม่ละเลยเรื่องเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของสหประชาชาติ มุ่งลดความเหลื่อมล้ำในสังคมไทย
ส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีสำหรับทุกคน ควบคู่กับการสร้างสันติภาพและการปกป้องสิทธิมนุษยชน สำหรับร่างพระราชบัญญัติขจัดการเลือกปฏิบัติต่อบุคคล พ.ศ. …. จะเข้าพิจารณาในที่ประชุม ครม. ตามขั้นตอนของสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี หาก ครม.มีมติอนุมัติหลักการของร่างพระราชบัญญัติฯ จะส่งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป ” โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกล่าว