ปภ. เผยแผ่นดินไหวเมียนมาขนาด 6.4 กระทบ 4 จังหวัดภาคเหนือ กำชับประเมินความแข็งแรงโครงสร้างอาคาร
วันที่ 18 พ.ย. 2566 เมื่อเวลา 09.00 น. ปภ. รายงานจากเหตุแผ่นดินไหว ขนาด 6.4 ที่ประเทศเมียนมา ที่เกิดขึ้นเมื่อช่วงเช้าวันที่ 17 พ.ย.66 ได้รับผลกระทบ 4 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ น่าน และสกลนคร สั่งการ ปภ.จังหวัดประสานเร่งสำรวจและให้การช่วยเหลือประชาชนแล้ว
ไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า กรณีเกิดแผ่นดินไหว ขนาด 6.4 ที่ประเทศเมียนมา เมื่อวันที่ 17 พ.ย. 66 เวลา 08.37 น. โดยจุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวอยู่ห่างจากอำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือประมาณ 100 กิโลเมตร ประชาชนในพื้นที่จังหวัดเชียงราย แม่ฮ่องสอน พะเยา เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง น่าน แพร่ อุตรดิตถ์ ตาก สุโขทัย สกลนคร กรุงเทพมหานคร รับรู้ได้ถึงแรงสั่นสะเทือนดังกล่าว ซึ่ง ปภ.ได้สั่งการไปยัง ปภ.จังหวัดภาคเหนือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่สำรวจผลกระทบที่เกิดขึ้น โดยมีรายงานความเสียหายในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย เชียงใหม่ น่าน และสกลนคร ดังนี้
1) เชียงราย รับรู้แรงสั่นสะเทือนในพื้นที่ 18 อำเภอ และได้รับผลกระทบใน 7 อำเภอ อาคารได้รับผลกระทบ 7 แห่ง (โรงพยาบาล 6 แห่ง เทศบาล 1 แห่ง) บ้านเรือนประชาชนได้รับความเสียหายเกิดรอยร้าวของตัวบ้าน 3 หลัง และมีผู้ได้รับบาดเจ็บ 1 ราย
2) เชียงใหม่ รับรู้แรงสั่นสะเทือนในอำเภอ และได้รับผลกระทบ 3 อำเภอ ได้แก่ สันทราย เชียงดาว และแม่แตง รวม 4 ตำบล 4 หมู่บ้าน เบื้องต้นบ้านเรือนประชาชน ได้รับความเสียหาย 2 หลัง และโรงเรียน 2 แห่ง
3) น่าน รับรู้แรงสั่นสะเทือนในพื้นที่ตำบลในเวียง อำเภอเมืองน่าน เบื้องต้นมีรายงานตรวจสอบพบวัดได้รับความเสียหาย 2 แห่ง ได้แก่ วัดภูมินทร์ มีรอยร้าวบริเวณเพดานวิหารและองค์พระประธานในวิหาร และวัดช้างค้ำวรวิหาร พบรอยร้าวบริเวณประตูซุ้มเข้าหอไตรวัด
4) สกลนคร รับรู้แรงสั่นสะเทือนในพื้นที่ตำบลธาตุเชิงชุม อำเภอเมืองสกลนคร โดยเบื้องต้นพบว่าอาคารอุบัติเหตุ ฉุกเฉินและผู้ป่วยนอก โรงพยาบาลศูนย์สกลนคร ตั้งแต่ชั้นที่ 7- 9 อาคารได้รับความเสียหายเกิดรอยร้าวบางส่วน โดยจังหวัดสกลนครได้สั่งการให้อพยพผู้ป่วยและเจ้าหน้าที่ออกจากอาคาร พร้อมสั่งปิดการใช้อาคารอุบัติเหตุฉุกเฉินและผู้ป่วยนอก และได้ประสานวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทยเข้าตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงของอาคารแล้ว
ทั้งนี้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้ประสานให้จังหวัดที่ได้รับผลกระทบประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งสำรวจความเสียหายและให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัย โดยเฉพาะการประเมินความแข็งแรงของโครงสร้างอาคาร สถานที่ เพื่อป้องกันและลดความเสี่ยงต่อการเกิดอันตรายแก่ประชาชน พร้อมทั้งกำชับให้ทุกจังหวัดที่รับรู้ได้ถึงแรงสั่นสะเทือนจากเหตุแผ่นดินไหวดังกล่าวติดตามสถานการณ์อย่างต่อเนื่องและลงพื้นที่ตรวจสอบผลกระทบที่อาจเกิดขึ้น