หน้าแรก Voice TV ภาคประชาชน เปิดร่าง กม.นิรโทษกรรม หวังเป็นก้าวแรก แก้ปัญหาคดีการเมือง

ภาคประชาชน เปิดร่าง กม.นิรโทษกรรม หวังเป็นก้าวแรก แก้ปัญหาคดีการเมือง

82
0
ภาคประชาชน-เปิดร่าง-กม.นิรโทษกรรม-หวังเป็นก้าวแรก-แก้ปัญหาคดีการเมือง

เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน จัดงานเสวนา “ก้าวแรกอย่างไรในการแก้ไขปัญหาคดีการเมือง” เพื่อมองหาทางออกให้แก่ปัญหาคดีการเมืองและผู้ที่ถูกคุมขังจากข้อหาทางการเมืองจำนวนมาก

19 พ.ย. 2566 เว็บไซต์ iLaw รายงานว่า เวลา 13.00 น. เครือข่ายนิรโทษกรรมประชาชน จัดงานเสวนา “ก้าวแรกอย่างไรในการแก้ไขปัญหาคดีการเมือง” เพื่อมองหาทางออกให้แก่ปัญหาคดีการเมืองและผู้ที่ถูกคุมขังจากข้อหาทางการเมืองจำนวนมาก โดยเฉพาะการพูดคุยถึงความเป็นไปได้ของการออกกฎหมายนิรโทษกรรม

งานเสวนาครั้งนี้มี สมบูรณ์ ม่วงกล่ำ ที่ปรึกษา รมว.กระทรวงยุติธรรม พูนสุข พูนสุขเจริญ ศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชน เบนจา อะปัญ ผู้ถูกดำเนินคดีทางการเมือง เหวง โตจิราการ อดีตแกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) และ อมร รัตนานนท์ อดีตแนวร่วมเครือข่ายพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย (กลุ่มพันธมิตรฯ) เป็นผู้ร่วมเสวนา โดยมี ฐปณีย์ เอียดศรีไชย เป็นผู้ดำเนินรายการ

วงเสวนาเริ่มต้นด้วยคำถามถึงกลุ่มพันธมิตรฯ โดยอมรกล่าวว่าการเคลื่อนไหวของกลุ่มพันธมิตรฯ ตามมาด้วยหลายคดีในหมวดคดีอาญา คดีก่อการร้าย และคดีการเป็นกบฏ เช่น คดีเก้าแกนนำจากการเข้าไปในทำเนียบรัฐบาล หรือ คดีชุมนุมหน้าสมาคมวิทยุโทรทัศน์แห่งประเทศไทย (NBT) อย่างไรก็ตาม หลายคดีเพิ่งเข้าสู่กระบวนการของศาลชั้นต้น เช่น คดีชุมนุมปิดสนามบิน ที่ยืดยาวมาตั้งแต่ปี 2551 และศาลอาญานัดฟังคำพิพากษาในเดือนธันวาคม 2566 ขณะเดียวกันหลายคดีได้ยุติไปแล้วเช่นกัน

ในประเด็นการนิรโทษกรรมนั้นอมรเห็นด้วยกับการมีคณะกรรมการคอยกลั่นกรองกรอบของการนิรโทษกรรมคดีการเมือง ดังที่ร่าง พ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ที่พรรคก้าวไกลเสนอ

ทางฝั่ง นปช. เหวง โตจิราการ เล่าถึงสาเหตุของการเกิดคดีความทางการเมืองว่า เป็นเพราะรัฐมองประชาชนเป็นศัตรูจึงเลือกที่จะใช้กฎหมายเข้าจัดการ ตัวอย่างสำคัญ คือ คดีชายชุดดำ ที่ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) ประกาศ เป็นข้ออ้างความชอบธรรมในการสลายการชุมนุมของกลุ่ม นปช. ขณะที่คดีอื่นๆ อย่าง “คดีเผา” หลายคดีก็เชื่อว่าเจ้าหน้าที่เกลี่ยกล่อมให้คนเสื้อแดงเซ็นไปก่อน จนกลายเป็นความเสียเปรียบในชั้นศาล นอกจากนี้ รัฐยังพยายามใช้สื่อในการทำให้สังคมมองภาพผู้ชุมนุมในทางที่ไม่ดีอีกด้วย

ด้วยเหตุนี้ เหวงจึงมองว่าการนิรโทษกรรมจะเกิดขึ้นได้ยากหากพรรคเพื่อไทยและพรรคร่วมรัฐบาลมองประชาชนเป็นศัตรู โดยเน้นย้ำว่าตราบใดที่ประชาชนไม่ได้กระทำความผิดตามรัฐธรรมนูญ กฎหมายอาญา หรือกฎหมายแพ่งอย่างถึงที่สุด รัฐก็ไม่มีอำนาจที่จะจับกุมประชาชน ขณะที่การนิรโทษกรรมนั้นต้องห้ามนิรโทษกรรมเจ้าหน้าที่รัฐที่กระทำเกินกว่าเหตุ ให้นิรโทษกรรมเฉพาะประชาชนเท่านั้น โดยผู้มีอำนาจสั่งการต้องรับผิดชอบด้วยการถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย

ขยับมาที่การชุมนุมในยุคปี 2563 เบนจา อะปัญ ระบุว่า คดีทางการเมืองมักตามมากับการชุมนุมแบบแฟลชม็อบ จึงทำให้แต่ละคนมีคดีเยอะมาก คดีที่มักถูกนำมาใช้ คือ มาตรา 112 พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ พ.ศ.2558 และ พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 ซึ่งแม้จะมีพลวัตรที่แตกต่างไปจากยุคอื่นแต่สิ่งที่เหมือนกัน คือ รัฐไทยไม่เคยคิดจะแก้ไขปัญหาความขัดแย้งเหล่านี้เลย การสะสางปัญหาด้วยร่างกฎหมายนิรโทษกรรมจึงเป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการพาสังคมเดินหน้าต่อไปได้

อย่างไรก็ตาม เบนจาระบุว่าการนิรโทษกรรมจะเป็นหมุดหมายแรก ที่ต้องตามมาด้วยการปฏิรูปประเทศอีกหลายด้าน เช่น การจัดการกับมาตรา 112 เพราะหากไม่แก้ไขปัญหาตอนนี้ก็จะกลายเป็นปัญหาในอนาคตอยู่ดี และอาจทำให้ต้องเจอกับการต่อต้านจากคนรุ่นต่อไป 

สำหรับสถานการณ์ในด้านคดีการเมือง พูนสุข พูนสุขเจริญ เล่าว่า ความขัดแย้งในประเทศไทยกินระยะเวลายาวนานกว่า 20 ปีจนสภาพเศรษฐกิจสังคมชะงักงัน ส่งผลกระทบต่อคนทุกคน โดยจากปี 2549 เป็นความขัดแย้งแบบสีเสื้อ แต่หลังปี 2557 เป็นต้นมาคือความขัดแย้งระหว่างรัฐกับประชาชน ศูนย์ทนายเพื่อสิทธิมนุษยชน จึงต้องการเสนอให้การนิรโทษกรรมเป็นทางออกขั้นเริ่มต้นสำหรับการนำประเทศกลับไปสู่สภาวะปกติ

ต้นปี 2553 มีคนถูกดำเนินคดีประมาณ 1,700 คน ขณะที่หลังการรัฐประหาร 2557 มีการประกาศให้ประชาชนไปขึ้นศาลทหารในคดีที่เกี่ยวกับพระมหากษัตริย์ ความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง ความผิดเกี่ยวกับประกาศคำสั่งของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ และความผิดเกี่ยวกับอาวุธ จนทำให้มีผู้ถูกดำเนินคดีประมาณ 2,400 คน ปัจจุบันนี้มีผู้ถูกดำเนินคดีไปแล้วประมาณ 1,900 คน บางคนยังถูกจำคุกอยู่ถึงปัจจุบัน พูนสุขจึงอยากนำข้อเสนอนิรโทษกรรมกลับมาเป็นหนึ่งในคำตอบให้แก่สังคมอีกครั้ง

ทางฝั่งตัวแทนความเห็นจากภาครัฐ สมบูรณ์ ม่วงกล่ำ ระบุว่า กระทรวงยุติธรรมมี “กองทุนยุติธรรม” ที่ตั้งมาช่วยเหลือประชาชน โดยใช้กับคดีการเมืองไปแล้ว 183 คดี คิดเป็นเงินจำนวนหลายล้านบาท ขณะที่ผู้ต้องขังที่คดีการเมืองนั้นทางราชทัณฑ์ก็ได้พยายามดูแลเป็นพิเศษไม่ให้กระทบกระทั่งกับผู้อื่นในเรือนจำมาเสมอ รวมทั้งมีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพที่มีหน้าที่นำหลักสูตรมาอบรมเจ้าหน้าที่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับการชุมนุมทางการเมืองเสมอ สมบูรณ์สรุปว่าปัญหาที่ท่านอื่นระบุมาก่อนหน้านี้มีกระทรวงยุติธรรมเป็นปลายเหตุของปัญหาทั้งสิ้น อย่างไรก็ตามกระทรวงยุติธรรมในปัจจุบันหลังการเลือกตั้ง 2566 นั้นพร้อมที่จะอำนวยความสะดวกและช่วยเหลือในการใช้สิทธิเสรีภาพแล้วกว่ายุคก่อนหน้า 

ในคำถามส่วนของการนิรโทษกรรม สมบูรณ์ระบุว่าตัวเองกำลังรวบรวมหลายร่างนิรโทษกรรมของแต่ละพรรคเพื่อนำเสนอความเห็นแก่ รมว.กระทรวงยุติธรรม จึงอาจจะยังกล่าวไม่ได้ว่ามีความคิดเห็นไปในทิศทางใด แต่อยากให้มั่นใจว่ากระทรวงยุติธรรมกำลังทำงานในประเด็นเหล่านี้อยู่อย่างแน่นอน

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่