โฆษกรัฐบาล โต้ ธปท. อย่าขวางมาตรการช่วยชาวนา ชี้เป็นหน้าที่รัฐบาลมีข้อมูลจริง-ตัดสินใจได้เหมาะสมกว่า
วันที่ 21 พ.ย. ชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงกรณีที่ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ท้วงติงมาตรการในการช่วยเหลือชาวนาของรัฐบาล โดยมองว่า ไม่มีความจำเป็นมากเท่าในอดีต เนื่องจากเห็นว่า ราคาข้าวในปีนี้ปรับตัวสูงขึ้น และต้นทุนการผลิตปรับลดราคาลงแล้ว
โดย ชัย ยืนยันว่า เป็นความจำเป็นของรัฐบาลที่จะต้องช่วยเหลือชาวนาด้วยการทำโครงการให้สินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือก ความชื้น 25% และโครงการสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพข้าว ไร่ละ 1,000 บาท ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติอนุมัติไปก่อนหน้านี้
อีกทั้งในรัฐบาลนี้มีการอนุมัติจ่ายเงินอุดหนุนช่วยชาวนา คิดเป็นงบประมาณราว 56,000 ล้านบาท โดยไม่ได้มีโครงการประกันราคา ซึ่งหากเทียบกับปีที่แล้วถือว่า รัฐบาลนี้ใช้เงินอุดหนุนน้อยกว่าเกือบครึ่ง ขณะที่ปีนี้ราคาข้าวเปลือกบางชนิด แม้จะปรับขึ้นจากปีก่อน แต่ข้าวเปลือกหอมมะลิไม่ได้ขึ้นราคา
ส่วนข้าวบางชนิดที่ราคาขึ้นนั้น รัฐบาลก็ไม่ได้มีการประกันราคาแล้ว นอกจากนี้ต้นทุนการผลิต เช่น ปุ๋ย ที่ราคาลดลง ก็มีเพียงสูตรเดียว คือ 46-0-0 แต่สูตรอื่นๆ นั้น ราคาไม่ได้ถูกลง ทำให้ภาพรวมต้นทุนต่างๆ ทั้งปุ๋ย และน้ำมัน รวมแล้วสูงขึ้นเล็กน้อย ดังนั้น หนังสือแสดงความเห็นจาก ธปท. จึงไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง และไม่ได้เป็นข้อมูลที่ละเอียดเจาะลึกเท่ากับข้อมูลจากหน่วยงานโดยตรง เช่น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพาณิชย์
ชัย กล่าวต่อว่า น่าแปลกใจที่มาตรการเดียวกันของรัฐบาลที่แล้ว แต่ ธปท. กลับไม่ท้วงติง ไม่แสดงความเห็น ไม่ปรากฎในรายงานประชุม และเรื่องนี้เป็นนโยบายการคลัง เป็นความรับผิดชอบของรัฐบาลที่จะดูแลชีวิตความเป็นอยู่ รายได้ของพี่น้องชาวนา ส่วนความเห็นของ ธปท. เราพร้อมรับฟัง แต่บทบาทหน้าที่ต้องแบ่งกันทำ
โดย ธปท. มีหน้าที่ดูแลด้านการเงิน ถ้าจะมีหนังสือท้วงติง หรือแสดงความคิดเห็น ควรจะเป็นในเรื่องของอัตราดอกเบี้ย ระยะเวลาคืนเงินต้น หลักประกันความเสี่ยงของการปล่อยสินเชื่อ ซึ่งสิ่งเหล่านี้จึงถือเป็นบทบาทหน้าที่โดยตรงของ ธปท. แต่เรื่องที่นอกเหนือจากเรื่องการเงินนั้น ขอให้หน่วยงานที่มีหน้าที่โดยตรง และมีข้อมูลอยู่ในมือ ได้เป็นผู้พิจารณาตัดสินใจจะเหมาะกว่า
ชัย ชี้แจงอีกว่า โครงการนี้ควรจะช่วยชาวนาหรือไม่ หรือช่วยในหลักเกณฑ์เท่าไร อย่างไร ต้นทุนแพงขึ้น หรือถูกลง ราคาข้าวเปลือกเป็นอย่างไร เรื่องเหล่านี้ รัฐบาลมีข้อมูลละเอียดถี่ถ้วน เพราะฉะนั้นเราน้อมรับฟังในเรื่องที่หน่วยงานนั้นๆ มีบทบาทหน้าที่ที่เกี่ยวข้องโดยตรง ส่วนเรื่องที่นอกเหนือจากประเด็นด้านการเงิน ขอให้หน่วยงานภาครัฐที่มีข้อมูลลึกซึ้ง แม่นยำกว่า เป็นผู้พิจารณาตัดสินใจ