ให้ประกัน ‘ป่าน อดีตกลุ่มทะลุฟ้า’ หลังศาลสั่งคุก 2 ปี คดี ม.116 โพสต์เชิญชวนไปร่วมชุมนุม 2 โพสต์ ในช่วงเดือน ส.ค. 2564
22 พ.ย. 2566 เวลา 09.00 น. ศาลอาญานัดฟังคำพิพากษาในคดีของ กตัญญู หมื่นคำเรืยง หรือ “ป่าน” ซึ่งถูกฟ้องในข้อหา “ยุยงปลุกปั่น” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) จากกรณีเพจ “ทะลุฟ้า” โพสต์เชิญชวนไปร่วมชุมนุม 2 โพสต์ ในช่วงเดือนสิงหาคมปี 2564 ศาลพิพากษาว่าจำเลยมีความผิดตามฟ้อง ลงโทษจำคุกกระทงละ 1 ปี รวม 2 กระทง รวมโทษจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา
คดีนี้มี แน่งน้อย อัศวกิตติกร จาก “ศูนย์ช่วยเหลือด้านกฎหมายผู้ถูกล่วงละเมิด bully ทางสังคมออนไลน์” (ศชอ.) เป็นผู้กล่าวหา โดยเข้าแจ้งความที่กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี (บก.ปอท.) กล่าวหาว่า กตัญญูเป็นแอดมินของเพจ “ทะลุฟ้า” และได้โพสต์ข้อความ 2 ข้อความ เมื่อวันที่ 10 และ 12 ส.ค. 2564 เชิญชวนไปร่วมการชุมนุมของกลุ่มทะลุฟ้า ได้แก่ #ม็อบ11สิงหา “ไล่ทรราช” และ #ม็อบ13สิงหา “ศุกร์13ไล่ล่าทรราช” ที่บริเวณอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ
ต่อมา วันที่ 12 ม.ค. 2565 กตัญญูพร้อมทนายความเข้ามอบตัวกับพนักงานสอบสวน กก.2 บก.ปอท. หลังทราบว่า ถูกศาลออกหมายจับเธอตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2564 โดยที่เธอไม่เคยได้รับหมายเรียกมาก่อน พนักงานสอบสวนได้แจ้ง 2 ข้อกล่าวหา ได้แก่ “ร่วมกันทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือ หรือวิธีอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทําภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน และร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลอันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร” ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 116 (3) และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 (3) โดยกตัญญูให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา
18 ต.ค. 2565 พนักงานอัยการ สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีอาญา 5 ได้ยื่นฟ้องกตัญญูต่อศาลอาญา คำฟ้องระบุว่า กตัญญูกับพวกได้ร่วมกันโพสต์ภาพและข้อความลงในเพจเฟซบุ๊ก “ทะลุฟ้า-thalufah” ตั้งค่าเป็นสาธารณะ รวม 2 โพสต์ อันเป็นการทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยหนังสือหรือวิธีอื่นใด อันมิใช่เป็นการกระทําภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็นหรือติชมโดยสุจริต เพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน โพสต์ทั้งสองได้แก่
1. วันที่ 10 ส.ค. 2564 โพสต์ข้อความ “#ม็อบ11สิงหา ไล่ล่าทรราช 15.00 น. เป็นต้นไป เจอกันอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เกาะพญาไทประกาศเดินไปบ้านประยุทธ์ #ทะลุฟ้า #ม็อบ11สิงหา #ประยุทธ์ออกไป #ปฏิวัติประชาชน” และใต้ข้อความปรากฏภาพบุคคลยืนคล้องแขน ภายในภาพมีข้อความคล้ายกัน
2. วันที่ 12 ส.ค. 2564 โพสต์ข้อความ “รวมพล! ศุกร์ 13 ไล่ล่าทรราช #ม็อบ13 สิงหา อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ฝั่งเกาะพญาไท 15.00 น. เป็นต้นไป เราจะเดินคล้องแขนไปบ้านประยุทธ์ พบการต่อสู้ทุกรูปแบบจากประชาชน แม้การต่อสู้ครั้งที่ผ่านมาคนเราจะน้อย และพวกเราทะลุฟ้าจะยังอยู่แค่จุดเริ่มต้น เพราะตํารวจควบคุมฝูงชนเข้ามาสลายการชุมนุมนอย่างป่าเถื่อนเยี่ยงอสุร้ายในกายคน เพื่อปกป้องพวกทรราช ขอพี่น้องประชาชนจงออกมาเพิ่มกําลังคน ร่วมกันและต่อสู้อย่างสันติอหิงสา เพื่อประจันหน้ากับพวกทรราช และทวงถามถึงประชาธิปไตย #ทะลุฟ้า #ประยุทธออกไป #ปฏิวัติประชาชนชน” และใต้ข้อความปรากฏภาพบุคคลยืนเผชิญหน้ากับเจ้าหน้าที่ตํารวจ ภายในภาพมีข้อความคล้ายกัน
การสืบพยานมีขึ้นเมื่อวันที่ 5-8 ก.ย. 2566 โดยจำเลยมีข้อต่อสู้ว่า ตนไม่ได้เป็นแอดมินเพจและไม่ได้เป็นผู้โพสต์ข้อความเชิญชวนในทั้ง 2 โพสต์ดังกล่าว ทั้งพยานหลักฐานโจทก์ก็ไม่ปรากฏใบหน้าของผู้ไลฟ์สดชัดเจน รวมถึงข้อความเชิญชวนให้มาชุมนุมในทั้ง 2 โพสต์ ก็ไม่ได้มีข้อความใดที่เป็นการยั่วยุ หรือยุยงให้ประชาชนออกไปทำผิดกฎหมาย เป็นเพียงข้อความที่ชวนให้ไปชุมนุมโดยสงบและสันติ
วันนี้ (22 พ.ย. 2566) ที่ห้องพิจารณาคดีที่ 902 ศาลอาญา กตัญญูพร้อมด้วยทนายความเดินทางมารอฟังคำพิพากษาตามเวลาที่ศาลได้นัดหมายเอาไว้ ก่อนเวลาประมาณ 09.40 น. ศาลอ่านคำพิพากษามีใจความสรุปได้ดังนี้
เห็นว่า คดีนี้มีปัญหาให้ต้องวินิจฉัยว่า จำเลยกระทำความผิดตามฟ้องหรือไม่ พิเคราะห์แล้วเห็นว่า พยานโจทก์เบิกความสอดคล้องกันและชี้ชัดว่า จำเลยเข้าร่วมการชุมนุมและเป็นผู้ไลฟ์สดในวันเกิดเหตุจริง แสดงให้เห็นว่า จำเลยย่อมรู้เห็นเกี่ยวกับการโพสต์เชิญชวนให้คนมาชุมนุม จึงมาร่วมชุมนุมและไลฟ์สดได้
ที่จำเลยนำสืบว่า พยานโจทก์ไม่สามารถบ่งชี้ได้ว่าตนเป็นคนโพสต์เชิญชวนให้คนมาชุมนุม จึงไม่มีน้ำหนักหักล้างพยานโจทก์ เมื่อจำเลยรู้เห็นเกี่ยวกับการโพสต์ข้อความทั้ง 2 โพสต์ จึงถือเป็นการทำให้ปรากฏแก่ประชาชนในลักษณะหนึ่ง ซึ่งเป็นเหตุจูงใจให้คนมาร่วมชุมนุมกันเพื่อขับไล่นายกรัฐมนตรี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ออกจากตำแหน่ง
แม้ตามมาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญ 2560 จะรับรองเสรีภาพในการชุมนุมไว้ แต่ในวรรค 2 ก็ระบุว่า การจำกัดเสรีภาพตามวรรคหนึ่งจะกระทำมิได้ เว้นแต่โดยอาศัยอำนาจตามบทบัญญัติแห่งกฎหมายที่ตราขึ้นเพื่อรักษาความมั่นคงของรัฐ ความปลอดภัยสาธารณะ ความสงบเรียบร้อย หรือศีลธรรมอันดีของประชาชน บุคคลจึงไม่สามารถอ้างเสรีภาพในการชุมนุมเพื่อปฏิเสธหน้าที่และความรับผิดชอบของตนได้
การกระทำของจำเลยจึงเป็นการทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจา หนังสือหรือวิธีอื่นใดอันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ หรือมิใช่เพื่อแสดงความคิดเห็น หรือติชมโดยสุจริต โดยได้กระทำในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งในขณะนั้นมีการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกเขตท้องที่ทั่วราชอาณาจักร ดังนั้น การที่จำเลยกับพวกชักชวนให้คนมาชุมนุม จึงเป็นการกระทำที่มีเจตนาประสงค์ต่อผลให้มีการรวมตัวกันของบุคคลจำนวนมาก เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชน และเล็งเห็นผลได้ว่า จะเกิดการแพร่กระจายของเชื้อโควิด-19 ได้โดยง่าย จนอาจกระทบต่อความสงบเรียบร้อยและความปลอดภัยของประชาชน และเป็นการนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ อันจะทำให้การแพร่กระจายของโรคโควิด-19 เกิดขึ้นได้โดยง่าย เป็นการล่วงละเมิดต่อกฎหมาย และเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร
พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 116 (2) (3) และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 เป็นความผิดหลายกรรมต่างกัน ให้ลงโทษทุกกรรมเป็นกระทงความผิดไป
ฐานกระทำให้ปรากฏแก่ประชาชนด้วยวาจาฯ เพื่อให้เกิดความปั่นป่วนหรือกระด้างกระเดื่องในหมู่ประชาชนและเพื่อให้ประชาชนล่วงละเมิดกฎหมายแผ่นดิน ตามมาตรา 116 และฐานนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ใดๆ อันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคง ตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ เป็นกรรมเดียวผิดต่อกฎหมายหลายบท ให้ลงโทษตามมาตรา 116 ซึ่งเป็นบทที่มีโทษหนักที่สุด จำคุกกระทงละ 1 ปี รวม 2 กระทง รวมโทษจำคุก 2 ปี ไม่รอลงอาญา
ลงชื่อท้ายคำพิพากษาโดย บุศรา เกิดวิชัย พฤกษมาศ และ วราภรณ์ คริศณุ ผู้พิพากษาเจ้าของสำนวนคดี
ภายหลังการอ่านคำพิพากษา ทนายได้ยื่นคำร้องขอประกันกตัญญูระหว่างอุทธรณ์ ก่อนศาลมีคำสั่งอนุญาตให้ประกันตัวโดยเพิ่มหลักทรัพย์เป็นจำนวน 75,000 บาทจากเงินประกันเดิม รวมเป็นจำนวนเงิน 100,000 บาท ได้รับความช่วยเหลือจากกองทุนราษฎรประสงค์ และไม่ได้กำหนดเงื่อนไขใด ๆ เพิ่มเติม