ยังโต้กันไปมาสำหรับ “โครงการดิจิทัลวอลเล็ต” แจกเงิน 10,000 บาท เมื่อสัปดาห์ที่แล้วนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี ในฐานะ รมว.พาณิชย์ ออกมาระบุว่า รัฐบาลได้ส่งร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน 500,000 ล้านบาทให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาแล้ว
สวนทางกับข้อมูลของ “จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์” รมช. คลัง ที่แย้งว่า ขณะนี้กระทรวงการคลังยังไม่ได้เริ่มร่าง พ.ร.บ.เงินกู้ 500,000 ล้านบาท จึงทำให้เกิดความสับสนว่าขั้นตอนที่แท้จริงของเรื่องดังกล่าวอยู่ตรงไหน
ขณะที่ฟากประชาชนก็ทวงถามเรื่องเงินดิจิทัลทุกครั้งที่ “เศรษฐา ทวีสิน” นายกฯ ลงพื้นที่ว่า ฤกษ์แจกเงินดังกล่าวจะเริ่มขึ้นเมื่อใด หลังจากมีการเคาะหลักเกณฑ์ผู้ได้รับเงินแล้ว
ต่างจากข้อวิตกกังวลของกลุ่มนักวิชาการที่ออกมาแสดงความเป็นห่วงเรื่องแหล่งที่มาของเงินว่าจะนำมาจากไหน หากกู้จะกู้จากใคร สถาบันการเงินในประเทศหรือต่างประเทศ
ระหว่างที่ปัญหาเรื่องร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน ยังไม่สะเด็ดน้ำ แต่คนที่รับเผือกร้อนไปเต็มๆ คือ คณะกรรมการกฤษฎีกา ในฐานะที่ปรึกษากฎหมายของรัฐบาล ต้องพิจารณาข้อกฎหมายว่าเข้าเงื่อนไขที่จะกู้ได้หรือไม่
ประเด็นเดือดที่เกิดขึ้น ส่งผลให้ “นายปกรณ์ นิลประพันธ์” เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ต้องออกโรงแจงว่า ยังไม่ได้รับหนังสือสอบถามเรื่องการออก พ.ร.บ.กู้เงิน 500,000 ล้านบาท และเมื่อสอบถามกับ รมช.คลัง ก็ได้รับคำตอบว่า “กำลังดูอยู่”
นายปกรณ์บอกอีกว่า ตามขั้นตอน คณะกรรมการดิจิทัลวอลเล็ตชุดใหญ่ มีมติให้กระทรวงการคลังถามมาที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เมื่อส่งคำถามมาแล้วจะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาเงื่อนไขของคณะกรรมการกฤษฎีกาว่าจะสามารถทำได้หรือไม่ได้ เพียงเท่านั้น หากสามารถทำได้ก็จะเข้าสู่ขั้นตอนการยกร่างกฎหมายต่อไป
นับเป็นครั้งแรกที่เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ออกมาชี้แจงปมที่ทุกฝ่ายโยนของร้อนมาให้ และหากพลิกดูประวัติของ “ปกรณ์ นิลประพันธ์” ที่กล้าออกมาตอบโต้รัฐบาล พบว่าเป็นนักนิติศาสตร์ที่มีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายคนหนึ่งของประเทศ
เปิดประวัติ “ปกรณ์” เลขาธิการกฤษฎีกา
นายปกรณ์ นิลประพันธ์ วัย 54 ปี จบการศึกษาระดับปริญญาตรี นิติศาสตรบัณฑิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และปริญญาโท นิติศาสตรมหาบัณฑิต เกี่ยวกับกฎหมายวิธีปฏิบัติทางการค้า ที่ The University of Sydney ประเทศออสเตรเลีย
ผ่านการอบรมหลายหลักสูตร เช่น หลักสูตร Train the Trainers ด้านกฎหมายเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำหรับผู้บริหารกระบวนการยุติธรรม รุ่นที่ 1, หลักสูตรผู้บริหารงานด้านกฎหมายภาครัฐ ระดับสูง รุ่นที่ 1 สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, หลักสูตรนักบริหารการงบประมาณระดับสูง รุ่นที่ 1 สำนักงานงบประมาณ รวมถึงหลักสูตรผู้บริหารระดับสูง สำนักงานตำรวจแห่งชาติ รุ่นที่ 2
นอกจากนี้ยังมีความเชี่ยวชาญด้านกฎหมายและข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อม มีประสบการณ์ด้านการกำกับการปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมเคมี รวมถึงการร่างกฎหมาย ให้คำแนะนำและให้คำปรึกษาทางกฎหมายสำหรับอุตสาหกรรมเคมี
ส่วนประวัติการทำงาน เคยดำรงตำแหน่ง ผอ.สถาบันกฎหมายพัฒนาเศรษฐกิจ สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, ผอ.ฝ่ายพัฒนากฎหมาย, ผอ.สำนักกฎหมายต่างประเทศ, กรรมการร่างกฎหมายประจำสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา, รองเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
รองเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี, รอง ผอ.สำนักงานบริหารนโยบายของนายกรัฐมนตรี, ผอ.สำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติและการสร้างความสามัคคีปรองดอง (สำนักงาน ป.ย.ป.) และปัจจุบันดำรงตำแหน่ง เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาและกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักนายกรัฐมนตรี
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
“ดิจิทัลวอลเล็ต” ต้องฝ่าอีกหลายด่าน กับหลายข้อคาใจ ที่ตอบได้ไม่เต็มปาก
“จุลพันธ์” ยังไร้แผนสำรองหากสภาไม่ผ่านเงินกู้ดิจิทัล ไม่ห่วงมีธงคว่ำ
“คำนูณ” แนะรัฐใช้งบปี 67 แจกเงิน 10,000 ดีกว่าออก พ.ร.บ.เงินกู้
“ศิริกัญญา” โต้นายกฯ ปัดประเทศวิกฤต ย้ำกู้เงินแจกดิจิทัลวอลเล็ตขัดกฎหมาย