‘โรม’ แจง ‘ชัยธวัช’ พบ ‘พุทธอิสระ’ ขอเสียงหนุน พ.ร.บ.นิรโทษกรรม หวังทุกฝ่ายช่วยถอนฟืนจากกองไฟ ชี้วันนี้สังคมไทยเดินหน้าแล้ว
วันที่ 24 พ.ย. 2566 ที่พรรคก้าวไกล รังสิมันต์ โรม สส.แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวถึงกรณีเมื่อวันที่ 16 พ.ย. ที่ผ่านมา และ ชัยธวัช ตุลาธน สส.แบบบัญชีรายชื่อ และหัวหน้าพรรคก้าวไกล พร้อมผู้ติตตามส่วนหนึ่ง ได้เดินทางไปพบกับ สุวิทย์ ทองประเสริฐ หรือ ‘พุทธอิสระ’ อดีตเจ้าอาวาสวัดอ้อน้อย จ.นครปฐม และอดีตแนวร่วมคณะกรรมการประชาชน เพื่อการเปลี่ยนแปลงปฏิรูปประเทศไทยให้เป็นประชาธิปไตยที่สมบูรณ์แบบอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (กปปส.)
โดยได้พูดคุยกันเป็นเวลากว่าหนึ่งชั่วโมง เพื่อขอหารือ และสอบถามความเห็น รวมถึงขอเสียงสนับสนุนในกรณีที่พรรคก้าวไกลได้เสนอร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) นิรโทษกรรมแก่ผู้กระทำความผิด อันเนื่องจากการชุมนุมทางการเมือง (ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ฉบับก้าวไกล) ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างที่สภาผู้แทนราษฏรกำลังรับฟังความคิดเห็นประชาชน มีข้อเท็จจริงอย่างไร
“ถามคุณชัยธวัชได้ไหม หรือถามทางโฆษกพรรคได้ไหมครับ ผมเองอาจจะไม่ได้ดูในรายละเอียดข้อเท็จจริง อันไหนที่ตอบได้ก็จะตอบ” รังสิมันต์ ตอบข้อซักถามดังกล่าว
เมื่อถามย้ำว่า มองอย่างไรในฐานะที่เป็นผู้เรียกร้องประชาธิปไตยมาตั้งแต่สมัยยังเป็นนักศึกษา การที่พรรคก้าวไกลขอเสียงสนับสนุนจากขั้วตรงข้ามทางการเมือง รังสิมันต์ กล่าวว่า ตอบได้แค่กว้างๆ ตนเองก็มีส่วนพอสมควรในการทำ ร่างพ.ร.บ.นิรโทษกรรมฯ ฉบับก้าวไกล แน่นอนว่าเราอยากให้ร่างนี้เข้าสู่การพิจารณาของสภาฯ เราคงอยากให้ทุกฝ่ายช่วยกันสนับสนุน ตั้งแต่ในชั้นสภาฯ ตนเองก็ต้องพยายามหาหนทางในการคุยกับทุกพรรคว่า ให้ช่วยกันเถอะ อย่างน้อยร่างนี้ ก็เป็นการถอนฟืนออกจากกองไฟ ทำให้สังคมเดินต่อได้ เช่นกันเมื่อเข้าสู่ชั้นของวุฒิสภา จะให้ตนไม่ไปคุยกับ สว. บอก สว.ว่าอย่าไปโหวตเลย ก็คงเป็นไปไม่ได้ ต้องพูดต้องคุยเพื่อให้กฎหมายฉบับนี้นำไปสู่การผลักดันให้เกิดขึ้นอย่างเร็วที่สุด
เพราะฉะนั้น ในการที่จะรณรงค์ทางความคิด เพื่อให้สังคมทุกฝ่าย ทุกกลุ่ม ทุกก้อน ช่วยกันสนับสนุนร่างนี้ ก็มีความจำเป็นอยู่แล้ว วันนี้เราไม่ได้เป็นเสียงข้างมากเกินกึ่งหนึ่งของสภาฯ สว.ก็ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ถามว่าถ้าเราอยากจะสร้างความเปลี่ยนแปลงในเชิงข้อกฎหมายต่อสังคม เราก็ต้องไปให้การศึกษา ไปเปลี่ยนแปลงความคิดเขา ไปทำให้เขาทุกฝ่ายได้เห็น
“วันนี้ถ้าสังคมไทยจะเดินหน้า คุณต้องนิรโทษกรรม คุณจะปล่อยให้เด็ก เยาวชน ที่ถูกดำเนินคดี ไม่ว่าจะ ม.112, ม.116 ต่อไปเรื่อยๆ หรอ” รังสิมันต์ กล่าว
รังสิมันต์ กล่าวต่อว่า บางคนก็บอกว่าเราทำให้กับตัวเองหรือเปล่า กระบวนการนี้ใครที่มีส่วนได้ส่วนเสียจริงๆ จะไม่เข้าร่วมกระบวนการนิรโทษกรรมก็ได้ เราเปิดช่องให้ขนาดนี้แล้ว ดังนั้น เราก็หวังว่าจุดมุ่งหมายสำคัญของกฎหมายฉบับนี้ คือการทำให้สังคมไทยมาเริ่มต้นกันใหม่