หน้าแรก Voice TV หนี้นอกระบบ ปัญหา 'โคตรใหญ่' ที่ไม่มีใครรู้ตัวเลขจริง !

หนี้นอกระบบ ปัญหา 'โคตรใหญ่' ที่ไม่มีใครรู้ตัวเลขจริง !

51
0
หนี้นอกระบบ-ปัญหา-'โคตรใหญ่'-ที่ไม่มีใครรู้ตัวเลขจริง-!

ทำความเข้าใจภาพรวม ‘หนี้นอกระบบ’ ของประเทศไทย ก่อนที่เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีจะประกาศมาตรการแก้หนี้นอกระบบครั้งใหญ่ 27 พ.ย.2566

สภาพเศรษฐกิจ ‘วิกฤต’ หรือไม่ไม่รู้ แต่รายได้เข้ากระเป๋าดูไม่สัมพันธ์กับรายจ่ายจนก่อหนี้จำนวนมาก สำนักงานสติถิระบุว่าปี 2564 หนี้สินต่อรายได้ของคนเป็นหนี้นั้น สูงกว่ากันถึง 7.5 เท่า

ล่าสุด สภาพัฒน์เพิ่งแถลงตัวเลขหนี้ครัวเรือน ระบุว่า ไตรมาส 2 ปี 2566 (ก.ค.-ก.ย.) หนี้สินครัวเรือนมีมูลค่า 16.07 ล้านล้านบาท อีกนิดเดียวจะเท่า GDPของประเทศ เพิ่มขึ้น 3.6% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน การขยายตัวของหนี้สินครัวเรือน เป็นไปเพื่ออสังหาริมทรัพย์และเพื่ออุปโภคบริโภคส่วนบุคคลเป็นหลัก 

หนี้ครัวเรือนที่สภาพัฒน์ประกาศนี้ไม่รวมถึง ‘หนี้นอกระบบ’ เนื่องจากมันอยู่นอกระบบจึงรวบรวมไม่ได้ แต่ทุกภาคส่วนรู้ดีว่า มันคือปัญหาใหญ่ที่ฉุดรั้งการเติบโตของประเทศและประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศประสบปัญหานี้

การจะหาตัวเลข ‘หนี้นอกระบบ’ เป็นไปได้ยากยิ่ง ตัวเลขทางการที่พอหาได้สำหรับหนี้นอกระบบ คือ ตัวเลขของสำนักงานสถิติแห่งชาติที่อัพเดทเพียงปี 2564 ซึ่งระบุว่า  

  • ครัวเรือนที่มีหนี้สิน มี 51.5% 
  • ครัวเรือนที่ไม่มีหนี้สิน มี 48.5%

สำหรับครัวเรือนที่มีหนี้ พบว่า 

  • 91.6% มีหนี้ในระบบอย่างเดียว
  • 4.9% มีหนี้นอกระบบอย่างเดียว
  • 3.5% มีทั้งหนี้ทั้งนอกระบบและในระบบ 

จำนวนหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือน 

  • 2554 จำนวน 134,900 บาท 
  • 2556 จำนวน 163,087 บาท
  • 2558 จำนวน 156,770 บาท
  • 2560 จำนวน 178,994 บาท 
  • 2562 จำนวน 164,055 บาท
  • 2564 จำนวน 205,679 บาท

โดยในปี 2564 ซึ่งมียอดนี้ 205,679 บาท/ ต่อครัวเรือนนั้น แบ่งเป็นหนี้ในระบบเฉลี่ย 202,075 บาท หนี้นอกระบบเฉลี่ย 3,604 บาท 

ตัวเลขหนี้นอกระบบเพียง 3,604 บาทต่อครัวเรือน เป็นตัวเลขที่ขัดแย้งกับตัวเลขหนี้นอกระบบเฉลี่ยต่อครัวเรือนของงานวิจัยอย่างน้อย 2 ชิ้น คือ 

  • งานวิจัย (2565) ของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ที่ระบุว่า เฉลี่ยแล้วคนที่เป็นหนี้นอกระบบ จะมีหนี้อยู่ที่ 54,300 บาท “ต่อคน” 
  • งานวิจัย (2557) สถาบันวิจัยสังคม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ระบุว่า เฉลี่ยแล้ว เฉลี่ยแล้วคนที่เป็นหนี้นอกระบบ จะมีหนี้อยู่ที่ 55,278 บาท “ต่อคน”  
คนเป็นหนี้เอาไปทำอะไร ?

อย่างไรก็ดี ข้อมูลของสำนักงานสถิติก็ยังมีประโยชน์ที่ชี้ให้เห็นว่า คนเป็นหนี้ทั้งในและนอกระบบเอาไปใช้ในด้านใด ข้อมูลปี 2564 พบว่า  

  • 75.4% เป็นหนี้การจ่ายในครัวเรือน (อุปโภคบริโภค, เช่าบ้าน, การศึกษา)
  • 15.8% เป็นหนี้เอาไปใช้ทำการเกษตร
  • 8.3% เป็นหนี้เอาไปใช้ทำธุรกิจ
  • 0.5% หนี้อื่นๆ 

การเข้าถึงแหล่งเงินกู้ของครัวเรือนที่เป็นหนี้ พบว่า 

  • 73.1% หนี้ธนาคาร (สูงสุดคือ ธ.ก.ส.27%) 
  • 16.3% หนี้กองทุนหมู่บ้าน
  • 5.4% หนี้นอกระบบ 
  • 5.2% หนี้สหกรณ์ออมทรัพย์/สวัสดิการหน่วยงาน 

หากจำแนกภูมิภาค จะพบว่าภูมิภาคที่หนี้เฉลี่ยต่อครัวเรือนสูงสุดคือ กทม., อีสาน, เหนือ, กลาง, ใต้ ตามลำดับ

เกือบครึ่ง กู้นอกระบบเอาไปลงทุน 

สำหรับงานสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ (2557) นั้นน่าสนใจยิ่งกว่า เพราะทำวิจัยปี 2565 ว่าด้วยเรื่องหนี้นอกระบบโดยเฉพาะ โดยลงพื้นที่สำรวจ 4,800 ครัวเรือนจาก 12 จังหวัด พบว่า 

  • เจ้าหนี้ส่วนใหญ่เป็น นายทุนนอกพื้นที่ -ในพื้นที่ คิดดอกเบี้ยเฉลี่ย 10-11% ถ้าเป็น ‘แก๊งหมวกกันน็อก’ จะคิดดอกเบี้ยเฉลี่ย 20% 
  • อาชีพที่มีสัดส่วนผู้กู้ยืมเงินนอกระบบต่ำที่สุด คือข้าราชการและพนักงานรัฐวิสาหกิจ แต่กลับก่อหนี้นอกระบบโดยเฉลี่ยสูงสุดอยู่ที่ 118,000 บาท (ข้าราชการ) และ 158,000 บาท (พนักงานรัฐวิสาหกิจ) 
  • สาเหตุการกู้เงิน พบว่า (ผลรวมมากกว่า 100% เพราะเลือกได้หลายข้อ)

46.8% ของหนี้นอกระบบถูกนำมาใช้เพื่อค่าใช้จ่ายจำเป็น  

41.5% ของหนี้นอกระบบถูกนำไปลงทุนในการประกอบอาชีพ 

9.4% ของหนี้นอกระบบเท่านั้นที่ถูกกู้มาเพื่อใช้จ่ายหนี้อื่นๆ 

2.3% ที่ถูกนำมาใช้สำหรับค่าใช้จ่ายไม่จำเป็น

  • มากกว่า 50% ของลูกหนี้ซึ่งมีอาชีพเป็นพ่อค้าแม่ค้า เจ้าของธุรกิจส่วนตัวและเกษตรกร กู้หนี้นอกระบบเพื่อนำไปใช้จ่ายในการลงทุน  
เข้าไม่ถึงแหล่งเงินกู้ ดอกเกินกฎหมายกำหนด 7 เท่า 

สำหรับงานวิจัยของสถาบันวิจัยสังคม จุฬาฯ พบว่า 8 เหตุผลหลักในการกู้เงินนอกระบบมีดังนี้ (ผลรวมากกว่า 100% เพราะเลือกได้หลายข้อ)

  • 89.8% ต้องการใช้เงินด่วน รอไม่ได้
  • 84.5% มีความสะดวกในการกู้เงิน (มากกว่า) 
  • 51.5% สามารถกู้ได้ตามจำนวนเงินที่ต้องการ 
  • 46% ไม่มีหลักทรัพย์หรือบุคคลค้ำประกัน 
  • 38.2% กู้สถาบันการเงินไม่ผ่าน/ธนาคารไม่อนุมัติ 
  • 37.1% เข้าไม่ถึงสถาบันการเงิน (เช่น รายได้ไม่แน่นอน ติดเครดิตบูโร ไม่มีเอกสาร) 
  • 27.4% ต้องการใช้เงินเพิ่มจากวงเงินที่กู้มาแล้ว 
  • 20.6% บัตรเครดิตเติมวงเงิน 

ผลการวิจัยยังพบลักษณะหนี้นอกระบบว่าส่วนใหญ่เป็นระยะสั้น

  • 66.3% เป็นหนี้ระยะสั้นไม่เกิน 1 ปี 
  • 22.5% เป็นหนี้รายวัน
  • 2.8% กลุ่มลูกหนี้ที่กู้วน ไม่สามารถระบุระยะเวลาได้

ผลการวิจัยยังพบว่าขนาดของหนี้มักเป็นก้อนไม่ใหญ่ โดย 68% มียอดเงินกู้ไม่เกิน 30,000 บาท แต่ลูกหนี้ 15.4% มีหนี้มากกว่า 1 ก้อน โจากการสารวจพบว่า ลูกหนี้ที่มียอดเงินกู้สูงสุดอยู่ที่ 14 ยอด

เมื่อพิจารณาอัตราดอกเบี้ยของหนี้นอกระบบ งานวิจัยของสถาบันวิจัยสังคมฯ ระบุว่า ค่าเฉลี่ยรวมของอัตราดอกเบี้ยในภาพรวมเท่ากับร้อยละ 9.48 ต่อเดือน หรือร้อยละ 113.76 ต่อปี ซึ่งมากกว่าอัตราดอกเบี้ยที่กฎหมายกำหนด (ร้อยละ 15 ต่อปี) ถึง 7.58 เท่า

หลากรูปแบบหนี้รายวัน ‘ดอกลอย’ น่ากลัวมาก

งานวิจัยยังอธิบายรูปแบบของหนี้ด้วย ดังนี้ 

1.หนี้เงินสด เก็บเงินดอกเบี้ยรายวัน โดยบวกทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยไว้ด้วยกัน ส่วนใหญ่คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 20 ต่อการให้กู้ยืม 1 ครั้ง มีระบบการจัดเก็บหนี้แตกต่างกันไป 24 วันบ้าง 30 วันบ้าง ยกตัวอย่างเช่น

การกู้วันแรกจะมีการหักเงินล่วงหน้า 1 วันและคิดค่าสมุด (สมุดประจำตัวของลูกหนี้) รวมแล้วเป็นร้อยละ 10 ของยอดเงินกู้ ลูกหนี้จึงได้รับเงินสุทธิเพียงร้อยละ 90 และต้องชำระคืนรายวันรวมเป็นร้อยละ 120 ถ้าลูกหนี้กู้เงิน 10,000 บาท หักค่าสมุด 500 บาท หักงวดแรก 500 บาท รับเงินสุทธิ 9,000 บาท ผ่อนชำระวันละ 500 บาท จำนวน 24 วัน คิดเป็นเงิน 12,000 บาท ถ้าลูกหนี้ผิดนัด ก็จะมีการคิดค่าปรับโดยการเพิ่มดอกเบี้ยในวันที่ขาดส่งหรือเพิ่มค่าทวงถามอีก 

2. เงินกู้ในลักษณะ ‘ดอกลอย’ คือ เงินกู้ที่มีการเก็บดอกเบี้ยทุกวันจนกว่าจะนำเงินต้นมาคืนเป็นก้อน อัตราดอกเบี้ยเงินกู้จะอยู่ที่ร้อยละ 5-20 จากการเก็บข้อมูลภาคสนามพบอัตราดอกเบี้ยสูงที่สุดอยู่ในจังหวัดนครศรีธรรมราช คิดดอกเบี้ยร้อยละ 6.25 ต่อวัน จำนวน 24 วัน เท่ากับร้อยละ 150

ถ้าลูกหนี้กู้เงิน 10,000 บาท เก็บดอกเบี้ยวันละ 500 บาท จำนวน 24 วัน รวมเป็น 12,000 บาท รวมกับเงินต้น 10,000 บาท ถ้าลูกหนี้สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนดก็จะต้องใช้หนี้รวมทั้งหมด 22,000 บาท แต่ถ้าไม่สามารถใช้หนี้ได้ตามกำหนดก็ต้องชำระเฉพาะดอกเบี้ยต่อไป กลุ่มเจ้าหนี้ประเภทนี้ มักจะให้ลูกน้องมาปล่อยเงินกู้ โดยมีทั้งเจ้าหนี้ที่เป็นคนในพื้นที่และคนในจังหวัดใกล้เคียง

ประเภทเจ้าหนี้นอกระบบ พบว่า

1. ญาติหรือคนรู้จัก ดอกต่ำหรือไม่คิดดอกเบี้ยเลย อาจมีการใช้หลักทรัพย์ค้ าประกัน เช่น โฉนดที่ดิน

2. นายทุนเงินกู้ในพื้นที่ คิดดอกเบี้ยเงินกู้ตั้งแต่ร้อยละ 5-20 ต่อครั้ง เงินกู้ประเภทนี้มักมีปัญหาในเรื่อง ‘ดอกลอย’ คือ ถ้าลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ทั้งจำนวนได้ในคราวเดียวกันจะสามารถชำระได้เฉพาะดอกเบี้ยเท่านั้น และในกรณีที่มีการผิดนัดชำระหนี้ ก็จะถูกคิดดอกเบี้ยทบต้นทบดอก

3. นายทุนนอกพื้นที่ มักปล่อยเงินกู้ผ่านตัวกลาง ลูกหนี้จึงไม่สามารถระบุได้ว่าใครเป็นเจ้าหนี้ เพราะติดต่อผ่านโทรศัพท์ตามหมายเลขที่แปะไว้ที่เสาไฟฟ้า หรือแจกนามบัตรไว้ที่ร้านค้า และจะมี ‘แก๊งค์หมวกกันน็อก’ เป็นทำหน้าที่ติดต่อ จ่ายเงินและรับชำระหนี้ จุดเด่นของเจ้าหนี้ประเภทนี้คือ การให้เงินกู้ในเวลาที่รวดเร็ว ขอกู้ตอนเช้าได้เงินตอนบ่าย /ไม่ต้องการหลักฐานทางการเงิน / การทำสัญญาเงินกู้ใช้เพียงสำเนาบัตรประชาชน ทะเบียนบ้าน บุคคลค้ำประกันเท่านั้น ปัญหาหลักของเจ้าหนี้ประเภทนี้ คือ ในกรณีที่ลูกหนี้ผิดนัด มักจะมีการข่มขู่ คุกคาม หลายกรณีมีการทำร้ายร่างกาย เมื่อพิจารณาจากรายได้ของแก๊งค์หมวกกันน็อก พบว่า ปกติแก๊งค์หมวกกันน็อกจะมีรายได้ประจำไม่มากนัก แต่จะมีรายได้ที่เพิ่มมาจากค่าคอมมิชชั่นที่ได้จากการทวงหนี้ 2% รวมแล้วได้รายได้มากกว่ารายได้ประจำเสียอีก

4. แขกให้กู้ยืมเงิน เจ้าหนี้ประเภทนี้ผันตัวเองจากการเป็นแขกขายสินค้าผ่อนตามหมู่บ้านจนปล่อยเงินกู้ได้ และให้เฉพาะคนที่ไว้วางใจเท่านั้น อัตราดอกเบี้ยไม่ต่างจากแก๊งค์หมวกกันน็อก (ร้อยละ 20 /24 วัน) แต่แขกให้กู้ยืมเงินมีความเป็นมิตรกับลูกหนี้มากกว่าโดยเฉพาะในกรณีลูกหนี้ผิดนัด

5. กลุ่มแม่ค้าที่ปล่อยกู้เงินภายในตลาด ซึ่งจะมีทั้งระบบการให้เงินกู้และการให้ออมไปพร้อมกัน คล้ายกับกองทุนหมู่บ้าน กรณีนี้พบในเขตจังหวัดยโสธร

6. เจ้าหนี้ที่เป็นเจ้าของกิจการสินค้า โดยเฉพาะสินค้าทางการเกษตร (ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง เมล็ดพันธุ์) ให้กู้โดยการให้ลูกหนี้ซื้อสินค้าเงินเชื่อ แล้วมาชำระหนี้หลังจากเก็บเกี่ยวผลผลิต คิดอัตราดอกเบี้ยร้อยละ3-5 ต่อฤดูกาล เจ้าหนี้ในลักษณะนี้ดำเนินการในลักษณะคล้าย ‘การตกเขียว’ ผลผลิตทางการเกษตรหรือ ‘เกษตรพันธสัญญา’ ถ้าฤดูกาลใดประสบปัญหา ลูกหนี้จะตกอยู่ในสภาวะเสียเปรียบอย่างมาก

อย่างไรก็ดี งานวิจัยของสถาบันวิจัยสังคมฯ มีความน่าสนใจในแง่ที่มีผลลัพธ์ “แง่ดี” ของหนี้นอกระบบอยู่ด้วย โดยระบุว่า กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 73.1 บอกว่าตนเองไม่ประสบปัญหาจากการกู้ยืมเงิน มีเพียงร้อยละ 26.9 เท่านั้นที่ระบุว่าประสบปัญหาจากการกู้ยืมเงินนอกระบบ 

ผลการศึกษาข้างต้นจึงแสดงให้เห็น บทบาทของหนี้นอกระบบอีกด้านหนึ่ง ในแง่ของการช่วยเหลือกันในทางเศรษฐกิจของผู้คนที่อยู่ในเครือข่ายความสัมพันธ์เดียวกัน” งานวิจัยระบุ 

สำหรับข้อเสนอแนะในงานวิจัยของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ระบุถึงแนวทางไว้ดังนี้  

1.การพัฒนาระบบการเงินในระดับจุลภาค หรือที่เรียกว่า ไมโครไฟแนนซ์ (micro-finance) เนื่องด้วยครัวเรือนที่มีอาชีพค้าขายและทำธุรกิจส่วนตัวมากกว่า 50% กู้หนี้นอกระบบเพื่อนำไปใช้จ่ายในการลงทุน และค่ามัธยฐานของมูลค่าหนี้นอกระบบของกลุ่มอาชีพค้าขายและทำธุรกิจอยู่ที่ประมาณ 10,000–20,000 บาท ดังนั้นรัฐบาลอาจพิจารณานโยบายทางการเงินในการปล่อยกู้ครัวเรือนรายย่อยเพื่อการลงทุนในธุรกิจ ในวงเงินไม่เกิน 20,000 บาท พร้อมดอกเบี้ยที่ต่ำ โดยนำเงินสวัสดิการในอนาคตจากรัฐบาล (เช่น เบี้ยผู้สูงอายุ) มาช่วยค้ำประกัน เพื่อช่วยสนับสนุนการลงทุนเพื่อสร้างอาชีพและเป็นประโยชน์ต่อประชาชนในระยะยาว

2.การประยุกต์ใช้เครื่องมือ machine learning ในการค้นหาครัวเรือนที่ควรได้รับการช่วยเหลือ เนื่องจากการเข้าหาเป้าหมายอย่างแม่นยำจะช่วยจัดสรรทรัพยากร ทั้งเวลา แรงงานเจ้าหน้าที่ และงบประมาณ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และช่วยแก้ไขปัญหาหนี้นอกระบบอย่างตรงจุดมากยิ่งขึ้น งานวิจัยนี้พบว่า เครื่องมือ machine learning สามารถใช้ปัจจัยพื้นฐาน เช่น อายุ รายได้ จำนวนสมาชิกในครัวเรือน เพศ และจังหวัด ในการช่วยคาดการณ์การกู้ยืมหนี้นอกระบบได้อย่างมีประสิทธิภาพและแม่นยำ และแบบจำลอง Gradient Boosting สามารถคาดการณ์การตัดสินใจกู้หนี้นอกระบบได้แม่นยำถึง 75% ของกลุ่มตัวอย่าง ดังนั้นการประยุกต์ใช้เครื่องมือ machine learning จะช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าถึงกลุ่มบุคคลที่มีความน่าจะเป็นที่จะกู้หนี้นอกระบบ รวมถึงลดการใช้ทรัพยากรในการช่วยเหลือครอบครัวที่ไม่จำเป็นต้องได้รับการช่วยเหลือ

ทั้งหมดนี้เหมือน ‘เอามะพร้าวห้าวมาขายสวน’ เนื่องจากคนส่วนใหญ่น่าจะประสบเหตุกับตนเอง แต่ถือว่าเป็นการฉายภาพรวมของหนี้นอกระบบ ซึ่งล่าสุด ‘รัฐบาลเศรษฐา’ กำลังจะประกาศมาตรการแก้หนี้นอกระบบในวันนี้ โดยความร่วมมือกับกระทรวงมหาดไทย นี่อาจเป็นครั้งแรกที่เราจะได้เห็นการประมาณการมูลค่าหนี้นอกระบบ จำนวน ‘ผู้ประสบภัยหนี้นอกระบบ’ ว่าสเกลใหญ่แค่ไหน และมาตรการต่างๆ จะมีมารองรับอย่างไร เป็นความหวังในการลืมตาอ้าปากสำหรับรากหญ้าได้เพียงไหน  

ที่มาบางส่วน :

https://www.pier.or.th/abridged/2022/08/

http://www.cusri.chula.ac.th/backup/download/cluster6.pdf

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่