วันนี้ (28 พ.ย.66) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกฯ และ รมว.มหาดไทย ให้สัมภาษณ์หลังเสร็จสิ้นการแถลงข่าววาระแห่งชาติการแก้ปัญหาหนี้นอกระบบว่า สำหรับการเปิดโอกาสให้ลูกหนี้มาขึ้นทะเบียนตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค.66 นั้น จะเปิดให้ขึ้นทะเบียนออนไลน์ผ่านช่องทางกระทรวงมหาดไทยได้ ไม่จำเป็นต้องใช้วิธีโทรศัพท์มาสอบถามเท่านั้น และภาครัฐไม่ได้ต้องการให้ลูกหนี้มาเปิดเผยตัวตน เมื่อให้ข้อมูลแล้วก็จะนำมาแก้ไขปัญหาต่อไป แต่หากจะมาขึ้นทะเบียนด้วยตนเองก็สามารถทำได้ตามสถานที่ที่กำหนด
อ่านข่าว รัฐจุดพลุแก้หนี้ใน-นอกระบบ “ทนายเดชา” ฟันธงทำไม่ได้
ทั้งนี้ยอมรับว่า ลูกหนี้บางคนมีความหวาดกลัวไม่ยอมมาขึ้นทะเบียนด้วยตนเอง จึงสั่งการให้ใช้กลไกของกระทรวงมหาดไทย ลงไปสำรวจ -สอบถามลูกหนี้ว่า คนใดยังไม่ไปขึ้นทะเบียนบ้าง เพื่อจะได้นำเข้ามาแก้ไขปัญหาให้เพราะผู้ที่ทำหน้าที่ไกล่เกลี่ยโดยหลักแล้วก็คือนายอำเภอและผู้กำกับสถานีตำรวจ เนื่องจากอยู่ใกล้ชิดในพื้นที่ และหากสามารถไกล่เกลี่ยกันได้ในขั้นตอนนี้ก็ไม่ต้องถึงขั้นบังคับใช้กฎหมาย
ส่วนข้อสังเกตว่า ผู้ที่ออกเงินกู้ จะเป็นผู้มีอิทธิพลด้วยหรือไม่นั้น นายอนุทิน ระบุว่า ถ้าเจ้าหนี้ไปข่มเหงหรือรังแกชาวบ้านและใช้อิทธิพลต่าง ๆ ก็เข้าข่ายเป็นผู้มีอิทธิพล และยิ่งถ้าใช้อาวุธปืนก็จะเข้าข่ายการกระทำที่หนัก เพราะเรากำลังจัดระเบียบสังคมให้เป็นนิติรัฐให้มากที่สุด
อ่านข่าว ดีเดย์ 1 ธ.ค.นี้ มท.เปิดลงทะเบียนขอช่วยเหลือแก้ “หนี้นอกระบบ”
พร้อมย้ำว่า กฎหมายต้องดูแลความปลอดภัยของประชาชน ซึ่งการแก้ปัญหานี้รัฐบาลทำมาโดยตลอด แต่สมัยก่อนได้เพียงการไกล่เกลี่ย ซึ่งในวันนี้กระทรวงการคลังมีกฎหมายเรื่องการคิดดอกเบี้ย ทั้งนี้เจ้าหนี้ไม่สามารถคิดดอกเบี้ยร้อยละ 10 ได้อย่างแน่นอน เพราะกฎหมายระบุไว้ว่าห้ามคิดดอกเบี้ยเกินร้อยละ 15 ต่อปี ซึ่งเมื่อกระทรวงการคลังและกรมสรรพากร เข้ามาร่วมบูรณาการแก้ปัญหานี้ก็จะทำหน้าที่ร่วมกันอย่างดีที่สุด
การแถลงข่าวของนายกฯ ในวันนี้ คือ มุ่งเน้นการหาแหล่งเงินทุนมาแก้ปัญหาเรื่องหนี้นอกระบบ รวมถึงการดึงสถาบันทางการเงินภาครัฐเข้ามาร่วม เพื่อให้หนี้นอกระบบสามารถรีไฟแนนซ์ได้ เข้าสู่การเป็นหนี้ในระบบ ซึ่งคิดดอกเบี้ยที่เป็นธรรม และลูกหนี้ไม่ถูกข่มเหงอีก ทั้งนี้ไม่ได้มาแก้ปัญหาหนี้ เพื่อไม่ให้ชาวบ้านทุกคนปลอดหนี้ เพราะไม่สามารถยกหนี้ให้ได้ทั้งประเทศ
อ่านข่าว ขยายอีก 1 ปีกฎหมายลำดับรอง พ.ร.บ.ทวงหนี้
พร้อมกันนี้เข้าใจทั้งฝ่ายเจ้าหนี้และลูกหนี้ ไม่อยากให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งถูกรังแกจนเกินไป พร้อมยอมรับว่าจากการสำรวจ มีลูกหนี้จำนวนมาก แต่ไม่ใช่เป็นความผิดของใคร และเข้าใจว่าคนที่มาเป็นหนี้นอกระบบ เพราะสิ้นหนทาง ไม่สามารถหาแหล่งเงินที่ถูกต้องตาม กฎหมายได้ เพราะมีข้อจำกัด
ทั้งนี้ถ้านายกรัฐมนตรีสั่งการให้แค่กระทรวงมหาดไทย และตำรวจไปแก้ปัญหาหนี้นอกระบบ อาจเป็นเรื่องที่ยากลำบาก เพราะคนที่เป็นหนี้ก็ยังเป็นหนี้อยู่ ดังนั้นเมื่อมีกระทรวงการคลัง โดยกรมสรรพากร เข้ามาร่วมแก้ปัญหา และควบคุมการเก็บดอกเบี้ยเงินกู้ เพราะหากเก็บเกินกฎหมายกำหนดจะถูกค่าปรับมากกว่าดอกเบี้ยที่จะได้รับจากลูกหนี้
อ่านข่าว มท.ขึ้นทะเบียนแก้หนี้ ส่งโพยถึง “นายกรัฐมนตรี” แถลง 28 พ.ย.
นายอนุทิน ยังย้ำถึงการที่กระทรวงมหาดไทยจับตาผู้มีอิทธิพลว่า หากพบว่าเข้าข่าย 16 มูลฐานความผิดก็จะต้องมีการปราบปราม ไม่ใช่เฉพาะเรื่องหนี้นอกระบบเท่านั้น เพราะหากทำผิดกฎหมายก็ต้องดำเนินการทั้งหมด แต่กรณีเรื่องหนี้ต้องยอมรับว่า เป็นเรื่องของการสมยอม
พร้อมยกตัวอย่างการดำเนินการ ปัญหาหนี้นอกระบบว่าหากการไกล่เกลี่ย พบว่า การเก็บดอกเบี้ยเกินเงินต้นแล้วก็ต้องหยุดชำระ แต่หากมีการข่มเหงและรังแก ก่อความเดือดร้อนหรือเอาเปรียบผู้มีกำลังน้อยกว่า จะต้องถูกดำเนินการตามกฎหมาย
อ่านข่าว จับตา! นายกรัฐมนตรี แถลงใหญ่ปลาย พ.ย. แก้หนี้ทั้งระบบ
ส่วนกรณีที่อาจจะมีข้าราชการปล่อยเงินกู้เองจะมีการกำชับอย่างไรนั้นนายอนุทิน มองว่า ในส่วนข้าราชการประจำคงไม่มี เพราะข้าราชการน่าจะเป็นลูกหนี้มากกว่า ซึ่งข้าราชการประจำ เงินเดือนแค่ 3-4 หมื่นบาท จะเอาเงินที่ไหนไปปล่อยกู้ แต่ถ้าหากมีใครทำจริง และมีการร้องเรียนเข้ามาก็จะไม่มองว่าคนๆนั้นเป็นข้าราชการ แต่ถือเป็นเจ้าหนี้นอกระบบ ที่ต้องถูกดำเนินการตามกฎหมาย เพราะกฎหมายให้ความเป็นธรรมกับทุกคน
อ่านข่าวอื่น ๆ
รัฐจุดพลุแก้หนี้ใน-นอกระบบ “ทนายเดชา” ฟันธงทำไม่ได้
ดีเดย์ 1 ธ.ค.นี้ มท.เปิดลงทะเบียนขอช่วยเหลือแก้ “หนี้นอกระบบ”