ขบวนเคลื่อนไหวผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนแห่งประเทศไทยและองค์กร Protection International ร่วมกันจัดงานวันผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนปี พ.ศ.2566 พร้อมออกแถลงการณ์ เนื่องในวันผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯปี 2566 จี้รัฐจัดสรรงบประมาณค่าตอบแทนแม่-คนทำงาน เขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ผลักดันสวัสดิการถ้วนหน้า
เมื่อวันที่ 29 พ.ย.ที่หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร ขบวนเคลื่อนไหวผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนแห่งประเทศไทยและองค์กร Protection International ร่วมกันจัดงานวันผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนปี พ.ศ.2566 ภายใต้หัวข้อ “จัดสรรงบประมาณค่าตอบแทนของแม่และคนดูแลอย่างไรในประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม”
ปรานม สมวงศ์ Protection International กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการจัดงานครั้งนี้ว่า การจัดงานในครั้งนี้ก็เพื่อที่เราจะได้เริ่มพูดถึงประเด็นค่าตอบแทนแม่และคนทำงานดูแลโดยเริ่มจากการทำงบประมาณสาธารณะแบบมีส่วนร่วม ซึ่งจะให้ความสำคัญกับการสร้างความเป็นธรรมทางสังคม โดยคนจนจะได้รับการจัดสรรทรัพยากรในสัดส่วนที่จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ การร่วมกำหนดงบประมาณเป็นจุดเริ่มต้นของการมีส่วนร่วมของประชาชนในประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม และนำไปสู่การตรวจสอบการใช้อำนาจตามกฎหมายของผู้แทนราษฎรและผู้มีตำแหน่งทางการเมือง
แถลงการณ์ 13 ข้อ จี้รัฐจัดสรรงบประมาณค่าตอบแทนแม่-คนทำงาน ย้ำต้องเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ
ต่อมาตัวแทนขบวนเคลื่อนไหวผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ ได้ร่วมกันอ่านแถลงการณ์เนื่องในวันผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนสากลปี 2566 ค่าตอบแทนแม่และคนทำงานดูแลคือหนทางขจัดความรุนแรง ความยากจนและนำไปสู่ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม โดยใจความสำคัญตอนหนึ่งระบุว่า เนื่องในวันผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนสากลปี 2566 ขบวนเคลื่อนไหวผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯในประเทศไทยซึ่งเป็นการรวมตัวกันของเครือข่ายชุมชนผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯทั่วประเทศและผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบจากประเด็นต่างๆ กัน 19 ประเด็น เราเน้นย้ำอีกครั้งว่าผู้หญิงโดยเฉพาะแม่คือคนที่ทำงานดูแลปกป้องเด็ก พ่อแม่ที่แก่ชรา ชุมชน และปกป้องทรัพยากรธรรมชาติทั้งในไทยและโลกใบนี้
ทั้งนี้เครือข่ายฯ มีข้อเรียกร้องต่อรัฐบาล 13 ข้อ อาทิ รัฐบาลชุดนี้ต้องยอมให้ประชาชนเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ ต้องเร่งออกกฎหมายพ.ร.บ.มาตรการการคุ้มครองผู้ให้บริการทางเพศ ให้สิทธิในการเข้าถึงสัญชาติ ต้องเรารพสิทธิชุมชนและให้สิทธิผู้หญิงในการเข้าถึงที่ดิน และฟื้นฟูผืนดินที่ปนเปื้อนสารพิษ
“เรายืนยันเรียกร้องให้รัฐบาลสนับสนุนให้มีรายได้เพื่องานดูแล (Care Income) เป็นค่าตอบแทนให้แม่และผู้ให้การดูแลทุกคน เพื่อให้เกิดความมั่นคงและคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนทุกคนในสังคม รายได้เพื่องานดูแลเหล่านี้อาจจ่ายเป็นเงินสด หรือในรูปแบบที่อยู่อาศัย ที่ดิน และช่องทางอื่น รัฐต้องลงทุนในชีวิตและความสุขของแม่และคนทำงานดูแล รวมถึงประชาชนทุกคนในสังคม และสิ่งเหล่านี้ต้องระบุในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ทั้งนี้แถลงการณ์ของขบวนฯยังส่งพลัง อำนาจ ความรักและความสมานฉันท์ให้เครือข่าย Global Women Strike และแม่และคนทำงานดูแลท่ามกลางภาวะสงครามการรุกรานและการกดขี่ทั้งในพม่าและปาเลสไตน์ด้วย
กะเทาะนโยบายและการจัดสรรงบประมาณของรัฐ ชงข้อเสนอดูแลประชาชนทุกกลุ่ม
จากนั้นเป็นเวที Flash talk กะเทาะนโยบายและการจัดสรรงบประมาณของรัฐซึ่งเป็นพื้นที่ให้เครือข่ายและขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคม แลกเปลี่ยนประเด็นการเรียกร้องล่าสุดและความเชื่อมโยงที่เกี่ยวข้องกับนโยบายของรัฐ และ การจัดงบประมาณ โดย กัชกร ทวีศรี ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯ และผู้อำนวยการมูลนิธิพัฒนาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กล่าวในประเด็นคนพิการ ว่า ทราบหรือไม่ว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนประชากรไทยที่เป็นคนพิการกว่า 2 ล้านกว่าคนเป็นผู้หญิงพิการ ซึ่งกระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ อยู่ในพื้นที่ห่างไกลและเป็นพื้นที่ชนบท และยังมีคนอีกกลุ่มที่ไม่ถูกพูดถึงคือผู้หญิงที่เป็นแม่ซึ่งต้องดูแลลูกพิการและผู้ดูแลคนพิการ ไม่เคยถูกกล่าวถึง ยังต้องเผชิญปัญหามากมาย เราพยายามรณรงค์ให้มีความเข้าใจทางสังคมและรัฐต้องเข้าใจ สิ่งแรกสุดคือในเรื่องการเข้าถึงกายอุปกรณ์ที่มีคุณภาพเพื่อการดำรงชีวิตที่มีคุณภาพของคนกลุ่มนี้ ตลอดจนเรื่องการศึกษาที่เข้าถึงคนพิการและครอบครัว นอกจากนั้นในเรื่องการจ้างงานคนพิการยังผูกติดอยู่กับภาครัฐและเอกชน แหล่งทุนเดียวที่เราเข้าถึงได้คือรัฐบาลไม่สามารถเข้าถึงสถาบันทางการเงินอื่นๆ ได้ รายได้เดียวคือเงินคนพิการ 800 บาท หรือ 28 บาทต่อวัน ดังนั้นมีจำนวนคนพิการ ผู้ดูแล และผู้หญิงอีกจำนวนมากที่ยังเข้าไม่ถึงสิทธิ์เหล่านี้ ตนจึงขอสนับสนุนข้อเรียกร้องของขบวนเคลื่อนไหวผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนที่เรียกร้องให้รีฐต้องจัดสรรงบประมาณให้แม่และคนทำงานดูแล
ขณะที่ ลลิตา เพ็ชรพวง นักกิจกรรมคนรุ่นใหม่ กล่าวในประเด็นรัฐสวัสดิการโดยได้บอกเล่าเรื่องราวของตนเองเมื่อครั้งยังเป็นเด็กที่ถูกพ่อทิ้งไป ทำให้แม่ละตนเองรวมถึงน้องต้องไปใช้ชีวิตอยู่กับยายที่แก่ชรามากแล้ว ตอนเด็กๆ ตนและน้องต้องอยู่กับยายเพราะแม่ต้องทำงานหนักเพียงคนเดียวเพื่อหาเลี้ยงตนและน้อง เมื่อแม่แต่งงานใหม่และต้องลาออกจากงานเพื่อมีเวลาได้มากพอเพื่อเลี้ยงดูตนและน้องสาวรวมถึงพ่อเลี้ยงที่ป่วยเป็นโรคเบาหวาน แม้ชีวิตจะดีขึ้นมากแต่ก็เป็นช่วงเวลาสั้นๆ เพราะเมื่อพ่อเลี้ยงป่วยติดเตียงทำให้เกิดค่าใช้จ่ายจำนวนมหาศาล ทำให้ตนและน้องไม่เมีเงินเรียนต่อ จนต้องไปกู้ยืมเงินมาเรียน และต้องทำงานไปด้วยเรียนไปด้วยจนจบ และวันนี้ตนมายืนอยู่ตรงนี้ เพียงแค่ต้องการที่จะตั้งคำถามว่าหากสังคมของเรามีรัฐสวัสดิการที่ถ้วนหน้าต่อเนื่อง ไม่ถูกจำกัดสิทธิ์ เพียงพอต่อการดำรงชีพ และมีโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับ ตนจะมีชีวิตที่ดีขึ้นบ้างไหม หรือรัฐสวัสดิการที่จะครอบคลุมไปถึงแม่และยายของตนและคนที่ดูแลครอบครัวของตน ถ้าเขาได้รับค่าตอบแทน ได้รับการดูแลจากงบประมาณของประเทศ งบประมาณที่เขาเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ประเทศนี้มี งบประมาณที่เราเองเป็นเจ้าของ ดังนั้นไม่มีเหตุผลอะไรเลยที่กลุ่มคนเหล่านี้ไม่เหมาะสมที่จะได้รับค่าตอบแทนในการทำงานดูแล
ขณะที่ มีนา ดวงราษี เครือข่ายผู้หญิงและประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการภาคอีสาน กล่าวถึงประเด็นเงินช่วยอุดหนุนเด็ก การศึกษา ว่า กระทรวงศึกษาได้รับการจัดสรรงบประมาณมากที่สุด มากกว่างบประมาณกระทรวงกลาโหม แต่การพัฒนาการศึกษายังไม่ตอบโจทย์การพัฒนาประเทศอย่างแท้จริง โดยเฉพาะกลุ่มเด็ก 0-6 ปี ที่เป็นเสาเข็ม เป็นรากฐานที่แข็งแกร่งของประเทศ เด็กจำนวน 4 ล้านคน เข้าถึงเงินอุดหนุนแค่ 2 ล้านกว่าคน อีก 2 ล้านที่ยังไม่เข้าระบบ ที่สำคัญการจ่ายเงินอุดหนุนเด็กแรกเกิดตกหล่นกว่า 30 % ด้วยเงื่อนไขต่างๆ ทั้งการคัดกรอง การพิสูจน์ความยากจน เป็นเรื่องน่าเศร้าใจที่รัฐไม่มองเรื่องสิทธิมนุษยชน ข้อเรียกร้องของเราใช้เงินไม่กี่พันล้านบาท ใช้งบไม่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ของจีดีพีก็ได้ถ้วนหน้า เราพยายามทำให้เป็นจริง แต่ห่างไกลเหลือเกิน เพราะรัฐบอกว่าต้องหาแหล่งทุนหางบประมาณ นอกจากนั้นยังเสนอในเรื่องเศรษฐศาสตร์ความเป็นมารดาของอาจารย์มหาวิทยาลัยรังสิต ผู้หญิงหนึ่งคนมีต้นทุนชีวิตมากในการดูแลลูกและครอบครัว ถ้ามีลูก 1 คนรายได้จะลดลงกว่า 20 % ผู้หญิงมีสัดส่วนมากกว่าผู้ชาย ถ้าไม่ได้รับการดูแลประเทศจะพัฒนายากมาก จึงต้องปฏิรูปความคิดว่างานบ้าน งานผู้ดูแลไม่ใช่เกิดขึ้นตามธรรมชาติ แต่เป็นวัฒนธรรมที่สังคมมอบให้ ดังนั้นจึงต้องยกมูลค่าของผู้ดูแลขึ้นมา เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม
ด้าน ธนพงษ์ เชื้อเมืองพาน จากสหภาพแรงงานสิ่งทอไทย กล่าวในประเด็นการต่อรองสภาพการทำงานและค่าจ้างขั้นต่ำ เราเรียกร้องมาหลายรัฐบาลให้มีการรับรองในอนุสัญญา ILO 87 และ 98 ในเรื่องสิทธิการเจรจาต่อรองกับนายจ้าง แต่ไม่เคยมีรัฐบาลไหนรับรองให้อย่างจริงจัง ถ้ารับรองตรงนี้ได้ส่วนที่ไม่ได้อยู่ในระบบสหภาพแรงงานก็จะมีสิทธิ์ในการรวมตัวโดยไม่ขัดต่อกฎหมาย และมีสิทธิ์เจรจาต่อรองกับนายจ้างได้ ทั้งนี้นับจากปี 2556 ค่าแรงขั้นต่ำขึ้นจาก 300 บาท มาเป็น 354 บาท ค่าเฉลี่ยในประเทศขึ้นเพียง 337 บาท เฉลี่ย 10 ปีค่าแรงขึ้นเพียง 30 กว่าบาท เป็นการขึ้นค่าแรงที่ไม่ทันกับค่าครองชีพที่เราเป็นอยู่ในปัจจุบัน รัฐบาลที่แล้วบอกจะขึ้นเป็น 450 บาทแต่ก็ยังไม่ขึ้น และรัฐบาลนี้สูงสุดที่ตั้งไว้คือ 600 บาท ค่าแรงขั้นต่ำสมควรที่คน 1 คนจะเลี้ยงคนในครอบครัวได้ 3 คน ทุกวันนี้ค่าแรงขั้นต่ำไม่เพียงพอ และคนทำงานที่บ้านหรือผู้ดูแลก็ควรต้องได้รับค่าดูแลด้วย แต่สวัสดิการของรัฐยังไม่ได้สนับสนุนคนเหล่านี้
ปกรณ์วุฒิ อุดมพิพัฒน์สกุล จากพรรคก้าวไกล กล่าวในประเด็นปฏิรูปกองทัพ ว่า เราผ่านการเลือกตั้งมากี่ครั้งเราก็ยังปฏิรูปกองทัพไม่สำเร็จสักทีเพราะต้องผ่านสภากลาโหม หากรัฐบาลไหนต้องการปฏิรูปกองทัพคำถามคือคุณไม่กลัวรัฐประหารหรือ ทั้งนี้งบประมาณกองทัพเพิ่มเป็น 2 แสนล้านบาทภายในระยะเวลา 17 ปี กองทัพไทยสะสมกำลังพลและอาวุธเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เพื่อคนไม่กี่คน ประชาชนถูกปิดปากด้วยคำว่าความมั่นคงของชาติ พรรคก้าวไกลมีแนวคิดในการลดงบประมาณกองทัพลงปีละ 5 หมื่นล้านบาท เพื่อนำมาอุดหนุนเด็กเล็ก เรียนฟรี หรือประกันสังคมถ้วนหน้า ซึ่งไม่มีเรื่องไหนใช้งบเกิน 4 หมื่นล้านบาท สวัสดิการถ้วนหน้าคือการนับหนึ่งในกรลดภาระหน้าที่ของพ่อแม่ หรือผู้ดูแล ขณะเดียวกันยังทำให้เรามีกองทัพที่สมอลล์และสมาร์ทได้เช่นกัน ตนไม่เชื่อว่าเราปฏิรูปกองทัพแบบนี้แล้วจะทำให้ประเทศอ่อนแอลง คำถามคือระหว่างการสะสมอาวุธและกำลังพลที่เกินจำเป็นเพื่ออำนาจของคนไม่กี่คน กับการสร้างให้คนมีชีวิตอย่างสมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์อันไหนคือความมั่นคงมากกว่ากัน
บรรณ แก้วฉ่ำ หัวหน้าฝ่ายนิติการขององค์การบริการส่วนจังหวัดพระนครศรีอยุธยา กล่าวในประเด็น การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นว่า การกระจายอำนาจ คือการเอางบประมาณก้อนใหญ่ที่กองในส่วนกลางมาไว้ใกล้บ้านใกล้ประชาชน ความเป็นรัฐสวัสดิการและประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วมเกิดขึ้นได้จริงในระดับท้องถิ่น ตนเกิดในจังหวัดนครศรีธรรมราชแม่ของตนต้องนั่งรถเข็นอยู่ 15 ปี เมื่อแม่ตนป่วยตนไม่มีเงินเรียนหนังสือตอนนั้นตนอยู่ม.2 ต้องหยุดการเรียนเพื่อไปทำงานก่อสร้างได้ค่าแรงวันละ 60 บาท ตอนที่แม่ตนป่วยนอนติดเตียงขาดการดูแลจากรัฐ เทศบางในพื้นที่ อบต.ในพื้นที่ไม่มีงบประมาณที่จะมาดูแลเพราะงบประมาณไปกองอยู่ที่ส่วนกลาง สถานการณ์ในปัจจุบันท้องถิ่น 7,000 กว่าแห่งยังมีท้องถิ่นหลายแห่งที่ไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณตามเป้าหมายคือไม่ต่ำกว่าร้อยละ 35 ตามกฎหมาย โดยได้รับเพียงร้อยละ 29 หากส่วนกลางยินยอมให้งบประมาณท้องถิ่นในการจัดบริการสาธารณะให้ประชาชน จะสามารถดูแลสวัสดิการของประชาชนได้จริง ดังนั้นจึงต้องดึงงบส่วนกลางไปไว้ในท้องถิ่น เพื่อให้คนมีงานทำในพื้นที่และดูแลครอบครัวได้ ถ้าดูแลประเทศด้วยการปฏิรูปการกระจายอำนาจ ปัญหาอื่นก็จะถูกแก้ไปด้วย
รสิตา ซุ่ยยัง ชาวระนองที่ได้รับผลกระทบจากโครงการ แลนด์ บริดจ์ กล่าวในประเด็นโครงการพัฒนา ว่า เดิมตนเป็นคนไร้สัญชาติ และต่อสู้ร่วมกับกลุ่มมากว่า 20 ปีจนได้รับสัญชาติ แต่หลังได้สัญชาติจะไม่มีบ้านอยู่ เพราะอยู่ในป่าชายเลน เป็นที่ราชพัสดุ มีเด็ก และแม่ อีกไม่รู้กี่พันคนต้องย้ายถิ่นฐานจากตรงนี้เพราะโครงการการพัฒนาของรัฐ เขาบอกจะมีเรื่องดีๆ พื้นที่ จะมีโรงงานอุตสาหกรรมเกิดขึ้น วันนี้กลายเป็นว่าคุณจะเอาแม่ของทุกคนเข้าสู่โรงงาน และจะไม่มีเวลาดูแลลูกอีกแล้ว สังคม ครอบครัว จะมีปัญหามากขึ้น หลังจากที่เราคุยกันในกลุ่มพี่น้องคนไทยพลัดถิ่นในพื้นที่ปรากฏว่าจะมีอีกโครงการนอกจากแลนด์บริดจ์ คือโครงการรถไฟรางคู่ ซึ่งจะกระทบกับสวนทุเรียนที่มีมูลค่าถึง 4,000-5,000 ล้านบาท ที่เป็นรายได้ของคนในพื้นที่ หลังเก็บเกี่ยวผลผลิตทุเรียน ยังมีผลผลิต กล้วย ลำไยที่ เก็บเกี่ยวได้ทั้งปี ถ้าเกิดวันนี้ไม่มีทุเรียนให้เก็บเกี่ยวแล้วจะเอาเงินที่ไหนมาเลี้ยงลูก การพัฒนายังมีอีกหลายเรื่องจะเป็นเรื่องเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวก็ได้ เปิดพื้นที่ระนองซึ่งมีแหล่งน้ำพุให้เป็นพื้นที่ท่องเที่ยวสุขภาพ ซึ่งจะเป็นซอฟท์พาวเวอร์เป็นเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ไม่ต้องเอาโรงไฟฟ้า เอาสิ่งชั่วร้ายมาใส่ให้พวกเรา ผู้หญิงอย่างเราๆ มองถึงทรัพยากรและอนาคตของลูกหลานด้วย
แสงศิริ ตรีมรรคา เครือข่ายประชาชนเพื่อรัฐสวัสดิการ กล่าวถึงประเด็นบำนาญ และประกันสุขภาพ ว่า เครือข่ายฯ เห็นว่าเราต้องลุกขึ้นมาต่อสู้เรื่องใหญ่ที่สุด คือเราไม่เคยมีนโบบายสาธารณะในเรื่องสวัสดิการประชาชนที่มาจากเจตจำนงของรัฐจริงๆ เพื่อให้ชีวิตประชาชนมั่นคง ดังนั้นจึงคิดว่าเราต้องลุกขึ้นมาต่อสู้แม้เรื่องนโยบายสาธารณะที่จะทำให้ประชาชนมีชีวิตที่ดีไม่ใช่เรื่องง่าย เราอยากเห็นผู้ดูแลมีรายได้ ซึ่งการขับเคลื่อนเรื่องนี้ไม่ใช่แค่ 1-2 วัน แต่ต้องสู้ต่อไป และขอให้ทุกคนร่วมสนับสนุนเรื่องบำนาญถ้วนหน้า สำหรับผู้มีอายุ 60 ปีขึ้นไป ที่จะเป็นประโยชน์กับคนทุกรุ่นทุกวัยในครอบครัวและหวังว่าระบบบำนาญจะให้พวกเรามีหลังพิงเมื่อแก่ชรา
ขณะที่ ธนพร วิจันทร์ ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนด้านสิทธิแรงงานและผู้นำสหภาพแรงงานและตัวแทนทีมประกันสังคมก้าวหน้า กล่าวในประเด็นประกันสังคมว่า ถ้าพูดถึงการเลือกตั้งคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ดประกันสังคม) เมื่อก่อนใช้สหภาพแรงงาน 1 สหภาพฯ ต่อ 1 เสียง จนมาเป็นผู้ประกันตน 1 คน 1 เสียง ผู้ประกันทุกคนมีสิทธิเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคมในวันที่ 24 ธ.ค. นี้ ขอให้ทุกคนไปใช้สิทธิ์ เพื่อให้เกิดความเป็นประชาธิปไตย ส่วนทำไมเราจึงตั้งทีมประกันสังคมก้าวหน้า เนื่องจากงบประกันสังคมมีขนาดใหญ่มากถึง 2.3 ล้านล้านบาท ใกล้เคียงงบประมาณบริหารประเทศ แต่การบริหารจัดการไม่ตอบโจทย์ในเรื่องการเพิ่มสิทธิประโยชน์ให้กับผู้ประกันตน เพราะอยู่ในการดูแลของราชการ จึงไม่ตอบโจทย์ประชาชน ซึ่งนายจ้าง และผู้ประกันตน จ่ายเงิน สมทบ 5 % ส่วนรัฐบาลตีตั๋วเด็กจ่ายเพียงแค่ 2.75 เปอร์เซ็นต์ จ่ายครึ่งเดียวไม่พอ ยังเป็นหนี้กองทุนประกันสังคมกว่า 6.8 หมื่นล้าน ยังไม่คืนเงินเราแต่กลับจะไปกู้เงินมาจ่ายดิจิทัลวอลเล็ต และยังมีการเอาเงินกองทุนประกันสังคมไปลงทุนอื่นๆ อีก เราจึงอยากไปเปลี่ยนแปลงเรื่องเหล่านี้ กองทุนประกันสังคมต้องโปร่งใสตรวจสอบได้ สุดท้ายประกันสังคมต้องเป็นประชาธิปไตย นำไปสู่รัฐสวัสดิการและเป็นของพวกเราทุกคน
ในส่วนของกองทุนประกันสังคมได้พูดถึงค่าจ้างของคนทำงานดูแลซึ่งมีส่วนสำคัญมาก วันนี้คนที่ทำงานดูแลผู้สูงอายุเด็กหรือคนพิการงานนี้เป็นงานที่มีคุณค่า มากกว่าอาชีพวิศวกรด้วยซ้ำ มันเป็นงานที่ต้องมีทักษะ เช่นคนที่เลี้ยงลูกแล้วทำให้ลูกโตมาเป็นทรัพยากรที่มีคุณค่าของประเทศได้ ตรงนี้เป็นเรื่องที่สำคัญ ทีมประกันสังคมก้าวหน้ามองว่าผู้หญิงเมื่ออัตราการเกิดน้อยเราจะต้องทำอย่างไรให้เห็นว่าต้องมีเงินมาดูแลมีสวัสดิการมาซัพพอร์ตเขาเพื่อให้เขาอยากมีลูก ถ้ารัฐบาลเห็นความสำคัญในค่าจ้างของคนทำงานดูแลเราอาจจะต้องมองตรงนี้ทำให้เกิดการจ้างงาน อาจจะทำให้เกิดการจ้างงานได้ เป็นเรื่องที่สำคัญที่หลายฝ่ายต้องช่วยกัน
‘ทีดีอาร์ไอ’ชี้ตัวเลขเงินอุดหนุนเข้าข่าย ‘คนทำงานดูแล’ จากภาครัฐน้อยนิดแค่ 557 ล้านบาท
Sara Callaway ตัวแทนของขบวนเคลื่อนไหว Global Women’s Strike กล่าวว่า งานดูแลที่ผู้หญิงทำ คือรากฐานของการผลิตและการสืบเผ่าพันธุ์ของมนุษยชาติ เราคือผู้ปกป้องครอบครัว และปกป้องชุมชน เราปกป้องที่ดินและสิ่งแวดล้อม แต่เราถูกคาดหวังให้ทำงานดูแลต่างๆ ซึ่งถือเป็นการปกป้องชีวิต โดยไม่ต้องรับค่าจ้าง งานที่ไม่ได้รับค่าจ้างทั่วโลกคาดว่ามีมูลค่าถึง 10.8 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือ 374.87 ล้านล้านบาท งานเหล่านี้ ควรเป็นแหล่งอำนาจสำหรับผู้หญิง แต่กลับถูกใช้เพื่อเอารัดเอาเปรียบ ทำให้ยากจน และลดทอนคุณค่าความเป็นมนุษย์ ของพวกเรา
Sara Callaway กล่าวต่อว่า เราอยากจะเล่าให้ฟังถึงประวัติความเป็นมาของค่าตอบแทนสำหรับแม่และคนทำงานดูแล และข้อเรียกร้อง เพื่อค่าจ้างสำหรับงานที่ไม่ได้รับค่าตอบแทนที่ผู้หญิงทำ เป้าหมายของเราในเรื่องค่าตอบแทนสำหรับแม่และคนทำงานดูแล คือการสร้างเครือข่ายระหว่างประเทศ ร่วมมือกันเพื่อยุติความยากจนของผู้หญิง และขจัดความยกจนของเด็กๆ และผู้ชายด้วย เราเริ่มรณรงค์ในปี 2515 เพื่อให้ผู้หญิงทุกคนได้รับค่าจ้างสำหรับการทำงานบ้านในทั่วโลก สำหรับงานต่างๆ ที่เราทำในบ้าน บนผืนดิน และในชุมชน ในปี 2523 องค์การแรงงานระหว่างประเทศหรือ ILO กล่าวว่าผู้หญิงทำงาน 2 ใน 3 ส่วนของงานทั้งโลก โดยงานที่ทำทั้งหมดนี้ได้รับรายได้คิดเป็นเพียง 5% ของรายได้ทั่วโลก และได้รับทรัพย์สินเพียง 1% ของทรัพย์สินทั่วโลก
Sara Callaway กล่าวต่อไปว่า ทั้งนี้ในปีนี้ 2566 เราได้เปิดตัวการสำรวจข้อมูลและความคิดเห็นของแม่จากทั่วโลก โดยมีผู้ตอบแบบสอบถามมากกว่า 1,000 คนจาก 50 ประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากประเทศไทย และพบว่าผู้หญิงต้องการเงินสำหรับการทำงานดูแลเด็กและดูแลผู้ใหญ่ ขณะที่ประเทศไอร์แลนด์กำลังพิจารณาที่จะยอมรับเอางานดูแลให้ระบุลงในรัฐธรรมนูญของไอร์แลนด์ ในสหรัฐอเมริกาได้ให้การรับประกันโครงการจ่ายค่าตอบแทนสำหรับแม่และคนทำงานดูแลแล้วและกำลังขยายโครงการนี้อยู่ เครือข่ายของเราในซานฟรานซิสโกกำลังเปิดตัวโครงการนำร่องเพื่อจ่ายเงินค่าตอบแทนสำหรับแม่และคนทำงานดูแลแบบรายเดือน ให้กับแม่ที่ทำงานเป็นคนทำงานบริการทางเพศ หรือ แม่ที่มีความเสี่ยงที่จะถูกฟ้องคดีอาญา หรือแม่ที่ถูกพรากลูก เป็นต้น
“ค่าตอบแทนสำหรับแม่และคนทำงานดูแล หมายถึง ความสำคัญของชีวิต ของทุกชีวิตที่อาศัยร่วมกันบนโลกอันล้ำค่ายิ่งของเรา จะต้องได้ความสำคัญสูงสุด ขอเชิญชวนทุกคนร่วมลงมือให้การสนับสนุน ข้อเรียกร้องของขบวนเคลื่อนไหวผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนเพื่อให้รัฐธรรมนูญของประเทศไทย กำหนดให้มีค่าตอบแทนสำหรับแม่และคนทำงานดูแล เราขอส่งเสียงว่าลงทุนกับงานดูแล กับแม่และคนทำงานดูแล ไม่ใช่ลงทุนกับการเข่นฆ่า” Sara Callaway ระบุ
ด้าน แสงคำมา ท้าวศิริ ตัวแทนขบวนเคลื่อนไหวผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน กล่าวว่า ในฐานะที่เป็นผู้หญิงพิการ เป็นแม่ที่ดูแลลูก เป็นคนที่ดูแลพ่อแม่ นอกจากนี้เรายังดูแลผู้พิการผู้สูงอายุคนอื่นๆในชุมชนอีก เชื่อว่าความจริงแล้วแม้แต่ในห้องนี้หลายๆคนต้องทำหน้าที่ดูแลครอบครัว ต้องรับภาระหนักซึ่งเป็นงานที่เหนื่อย แต่หลายคนก็ยังไม่ได้ให้คุณค่ากับงานดูแล วันนี้อยากชวนทุกคนลองคิดดูว่าถ้าในครอบครัวของเราขาดคนดูแลจะเป็นอย่างไร เพราะงานดูแลเหล่านี้ล้วนเป็นงานที่สร้างมนุษยชาติ หล่อเลี้ยงผู้คนให้ต่อสู้ในระบบทุนได้ถ้าคนเหล่านี้ไม่มีแม่และคนดูแลก็จะไม่สามารถทำงานอย่างมีประสิทธิภาพได้แล้วก็จะไม่มีคนที่จะมาจ่ายภาษีให้กับรัฐและจะไม่มีงบประมาณที่จะมาพัฒนาประเทศได้
ขณะที่ เนืองนิช ชิดนอก ตัวแทนขบวนเคลื่อนไหวผู้หญิงนักปกป้องป้องสิทธิมนุษยชนกล่าว่า สำหรับตนก็ทำงานในบทบาทของแม่และคนดูแลเหมือนทุกคนเหมือนกัน และรู้ดีว่างานดูแลเป็นงานที่คุณค่าเมื่อปีที่แล้วได้มีการเปิดเผยข้อมูลจากอาจารย์ ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์ประจำวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มูลค่าที่ได้ระบุชัดเจนว่า การเป็นผู้ดูแลเต็มเวลาจะต้องมีรายได้อยู่ที่ประมาณ 5 หมื่นบาทต่อเดือน ซึ่งคิดเป็น 5 เท่าของค่าจ้างขั้นต่ำ นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยของสหรัฐอเมริกา ที่ระบุว่าการเป็นผู้ดูแลเต็มเวลา 6 เดือนถึง 1 ปี ส่งผลต่อรายได้ทั้งชีวิตของคนหนึ่งคนที่เป็นผู้ดูแล ดังนั้นงานดูแลจึงเป็นงานที่มีคุณค่าในการโอบอุ้มสังคมและความอยู่รอดของพวกเราทุกคน และควรที่จะได้รับค่าตอบแทน
ข้อเรียกร้องของขบวนเราที่ต้องการให้แม่และคนดูแลต้องได้รับค่าตอบแทนนั้นไม่ใช่จะเป็นเรื่องที่ทำไม่ได้ เพราะมีตัวอย่างในประเทศสหรัฐอมริกาและประเทศอังกฤษก็เห็นความสำคัญของแม่และคนทำงานดูแล ได้บรรจุไว้ในกฎหมายสวัสดิการของประเทศเขาและได้จัดสรรงบประมาณให้กับแม่และคนทำงานดูในสัดส่วนที่สามารถอยู่ได้ อยากให้ทุกคนในห้องนี้รวมถึงทีฟังเวทีเสวนาอยู่ลองจิตนาการว่าถ้าประเทศนี้ให้ค่าตอบแทนแม่และคนดูแล ผู้หญิงและคนทำงานดูแลก็จะสามารถจะเลือกที่จะทำงานดูแลในบ้าน หรือในกระบวนการเคลื่อนไหวด้านสังคม ทางด้านสิทธิมนุษยชน หรือเข้าไปมีส่วนร่วมในทุกประเด็นในทางการเมือง เศรษฐกิจและสังคมได้ และผู้หญิงและคนทำงานดูแลก็จะได้อยู่ทุกที่ในสังคม ทั้งในรัฐสภา ในศาล หรือในอาชีพใดๆที่ต้องการจะเลือกได้ การแก้ไขปัญหาความยากจน ความเหลื่อมล้ำ และเพิ่มคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนทุกคน รวมถึงการสร้างคนที่มีคุณภาพในสังคมที่คนมีความสุขและเพิ่มความเพลิดเพลินในการใช้ชีวิต คือการ การเพิ่มสถานะ อำนาจ และรายได้ของแม่และคนทำงานดูแลเท่านั้นที่จะช่วยแก้ปัญหาที่ให้เกิดขึ้นได้ซึ่งหากเราจ่ายค่าตอบแทนให้แม่และคนทำงานดูแลผู้ชายและเพศอื่นๆก็จะเข้าทำงานดูแลมากขึ้น
ด้าน บุญวรา สุมะโน นักวิชาการอาวุโส ทีมนโยบายเพื่อการพัฒนาสังคม ทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า ที่ผ่านมาไม่ได้มีการจัดหมวดหมู่งบประมาณสำหรับแม่และคนดูแลไว้โดยเฉพาะ คำว่าคนทำงานดูแลแทบจะหาไม่เจอในเอกสารทางการของรัฐบาลไม่ว่าจะชุดใดก็ตาม งบประมาณในการดูแลจึงกระจัดกระจายและซ้ำซ้อน โดยจากการรวบรวมงบประมาณโดยใช้คีย์เวิร์ดในเรื่องสตรี มารดา ผู้พิการ เด็กเล็ก ที่เป็นหมายที่ควรได้รับการดูแล มีงบประมาณในการดูแล 557 ล้านบาท ถ้าลงไปดูจากโครงการต่างๆ มีเพียง 5 % เท่านั้นที่เป็นงบประมาณที่จ่ายตรงให้กับคนที่เป็นผู้ดูแล เช่น เงินอุดหนุนเด็ก เงินสงเคราะห์บุตร หรือเด็กในครอบครัวอยากจน สิ่งหนึ่งที่เห็นแล้วตกใจคือแนวโน้มของสัญญาณว่าประเทศไทยเราไม่ได้มีสภาพแวดล้อมหรือการสนับสนุนเพียงพอให้คนมีลูก ไม่ว่าจะเป็นงบอุดหนุนเด็กแรกเกิด หรืองบประมาณประกันสังคม ซึ่งทั้ง 2 ก้อนนี้ลดลงตลอดในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โดยในส่วนเงินอุดหนุนเด็กมีเด็กที่ควรได้รับเงินหายไปประมาณ 1.2 แสนคน ส่วนเงินประกันสังคม เงินสงเคราะห์บุตรลดลง สะท้อนว่าคนไม่ได้อยากเป็นแม่แล้ว
ศศินันท์ ธรรมนิฐินันท์ ส.ส.พรรคก้าวไกล กล่าวว่า ตนเคยเสนอหลายวงประชุมในสภาว่าถ้าหากจะแก้ปัญหาอย่างแท้จริง เช่นปัญหายาเสพติด เรื่องนักโทษล้นคุก ต้องสร้างเรียนจำเพิ่ม เป็นต้น เราต้องแก้ที่ต้นเหตุก่อน เพราะที่ผ่านมามีการทุ่มงบประมาณเยอะมากในการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ก็คือในเรื่องค่าตอบแทนผู้ดูแลที่เราพูดกันอยู่นี้ คืองบประมาณในการเลี้ยงดูเด็กคนหนึ่งที่จะต้องเติบโตขึ้นมา โดยเฉพาะเด็กอายุ 0-6 ขวบแรก แม่และคนในครอบครัวต้องได้รับการสนับสนุนเต็มที่ หากปันงบประมาณมาสัก 10 % จะสามารถนำมาช่วยเหลือแม่และผู้ดูแลได้เยอะมาก เนื้อแท้ของปัญหาจริงๆ เกิดจากการที่รัฐไม่ได้สนับสนุนงบประมาณในเรื่องแคร์อินคัมหรืองบประมาณในการเลี้ยงดูเด็ก หรือเลี้ยงดูกลุ่มเปราะบางที่ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษ เป็นเรื่องที่รัฐต้องลงทุนมากกว่าการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ
อังคณา นีละไพจิตร ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชน คณะทำงานด้านการบังคับสูญหายโดยไม่สมัครใจ องค์การสหประชาชาติ(UN Human Rights Expert- WGEID) กล่าวว่า รากเหง้าของปัญหามันมาจากความไม่เท่าเทียมทางเพศ การกำหนดบทบาทผู้หญิงผู้ชายในครอบครัว โดยเฉพาะประเทศในเอเชียที่ผู้หญิงถูกกำหนดว่าต้องมีบทบาทอย่างไร และมักจะถูกตีตราถ้าผู้หญิงไม่ได้ดำเนินบทบาทที่ค่านิยมทางสังคมกำหนดไว้ งานของผู้หญิงที่ต้องทำในบ้าน วันนี้เราได้ยินมาว่าคำว่าผู้ดูแล ซึ่งคนที่รับจ้างดูแลจะได้รับค่าตอบแทน แต่พอพูดถึงคนที่อยู่ในบ้าน ภาระทั้งหมดถูกมองมาที่ผู้หญิง ผู้ชายมีหน้าที่หาเลี้ยง แต่หาแล้วเลี้ยงหรือไม่นั้นไม่สามารถรับประกันได้ ส่วนตัวมองว่าเรามีเครื่องมือพอสมควรในการที่จะเริ่มต้นดูแลเรื่องนี้ได้ แต่ยังไม่มีการปฏิบัติจริงในกระทรวงหรือหน่วยงานต่างๆ
อังคณา กล่าวว่า สำหรับข้อเสนอแนะคิดว่ามีหลายประเด็นที่รัฐทำได้ ประการแรกรัฐมีหน้าที่ต้องผิดชอบในการรับประกันสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวยต่อผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนทุกคน และป้องกันไม่ให้มีการโจมตี หรือด้อยค่าผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน ประการที่สองประชาคมระหว่างประเทศมีส่วนอย่างมากในการติดตามและทวงถามต่อรัฐบาลไทยในมาตรการต่างๆ เช่น กระบวนการทบทวนสถานการณ์สิทธิมนุษยชนเป็นกลไกภายใต้คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UPR) ทำไมจึงไม่ทำ มันติดขัดตรงไหน ซึ่งประเทศไทยสมัครเป็นสมาชิกของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนสหประชาชาติ ตนคิดว่าประเทศไทยจำเป็นต้องให้คำมั่นต่อองค์กรระหว่างประเทศว่าประเทศไทยมีนโยบายและแผนที่จะทำอะไรบ้าง ยกตัวอย่าง นายกฯ ลงพื้นที่ภูเก็ตหลายครั้งแต่ไม่เคยไปพบชาวเล หรือว่าไปดูโครงการใหญ่ๆ ทำไมไม่ไปฟังชาวบ้านบ้าง คิดว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องของการมีส่วนร่วมอย่างมีนัยสำคัญ แม้นายกฯ จะมาจากภาคธุรกิจแต่เรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ก็มีความสำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากัน ส่วนประการที่สามคิดว่าเพื่อให้ผู้หญิงสามารถที่จะยืนอยู่ได้อย่างมีศักดิ์ศรี จำเป็นต้องจัดเก็บภาษีเพื่อจัดสรรงบประมาณที่เป็นจริง เพื่อจัดสวัสดิการรองรับประชาชนต่อไป โดยรัฐต้องมีหลักประกันว่าภาษีที่ประชาชนเสียไปจะถูกใช้อย่างถูกต้องและเป็นธรรมปราศจากการทุจริตและมีกลไกให้ประชาชนตรวจสอบได้
“ที่สำคัญรัฐต้องยอมรับบทบาทของผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนด้วย รัฐบาลไทยให้คำมั่นต่อสหประชาชาติครั้งแรกเมื่อปี 2548 ในเรื่องมาตรการคุ้มครองนักสิทธิมนุษยชน แต่จนถึงวันนี้เรายังไม่มีอะไรเลย ในขณะที่ผู้หญิงที่ทำหน้าที่ปกป้องสิทธิมนุษยชนยังคงถูกด้อยค่า โดยใช้เพศเป็นเป็นเครื่องมือในการด้อยค่าผู้หญิง ตรงนี้รัฐจะต้องไม่อดทนในการปล่อยให้เกิดสิ่งเหล่านี้ขึ้น และต้องมีกลไกที่ส่งเสริมคุ้มครองให้ผู้หญิงมีความเข้มแข็งทั้งในระดับท้องถิ่น ระดับประเทศ และระหว่างประเทศด้วย สนับสนุนส่งเสริมผู้หญิง ไม่ใช่คาดหวังต่อผู้หญิงในขณะที่รัฐเองกลับไม่ได้สนับสนุนเท่าที่ควร รัฐบาลมีแผนมากมายเพียงแต่ว่าเมื่อไรจะทำเสียที” อังคณากล่าว
แถลงการณ์เนื่องในวันผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนสากลปี 2566
ค่าตอบแทนแม่และคนทำงานดูแลคือหนทางขจัดความรุนแรงความยากจนและนำไปสู่ประชาธิปไตยแบบมีส่วนร่วม
เนื่องในวันผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนสากลปี 2566 ขบวนเคลื่อนไหวผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯในประเทศไทยซึ่งเป็นการรวมตัวกันของเครือข่ายชุมชนผู้หญิงนักปกป้องสิทธิฯทั่วประเทศและผู้หญิงที่ได้รับผลกระทบจากประเด็นต่างๆ กัน 19 ประเด็น
เราเน้นย้ำอีกครั้งว่าผู้หญิง โดยเฉพาะแม่คือคนที่ทำงานดูแลปกป้องเด็ก พ่อแม่ที่แก่ชรา ชุมชน และปกป้องทรัพยากรธรรมชาติ ทั้งในไทยและโลกใบนี้ ทั้งผู้หญิงยังคงเป็นคนแรกที่จะตื่นก่อนแต่นอนเป็นคนสุดท้าย เราทำงานดูแล เราไปทำงานหาเงินมาดูแลครอบครัว และต่อสู้เพื่อปกป้องสิทธิมนุษยชน สิทธิในความยุติธรรมทางสิ่งแวดล้อมและลดวิกฤตโลกร้อน เราต่อต้านสงครามและปกป้องความยุติธรรมในสังคม
ด้วยสภาพการเมืองการปกครองและสังคมที่ยังคงอยู่ในระบบศักดินาผสมพันธุ์กับทุนผูกขาดและผู้ชายที่มีอำนาจ ที่ผ่านมาพรรคการเมืองต่างๆ ทั้งก่อนและหลังเลือกตั้ง แทบจะไม่ให้ความสำคัญต่อนโยบายสำหรับแม่ และคนทำงานดูแลเลย ในการเลือกตั้งที่ผ่านมาเริ่มเห็นนโยบายสำหรับผู้หญิงมากขึ้นแต่ยังไม่มากพอ
คนจ่ายภาษีและคนไปเลือกตั้งส่วนใหญ่เป็นผู้หญิง แต่รัฐบาลไม่เคยรับใช้พวกเรา มีแต่พึ่งพาผู้หญิงเพื่อปกป้องและจัดหาสวัสดิการแก่ครอบครัวและแก่ผู้คนในสังคม แม้แต่ในช่วงที่มีโรคระบาดที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจและชีวิตของเราอย่างหนักหน่วง ก็ไม่มีเงินสักบาทที่รัฐจะสนับสนุนให้แก่ “แม่ และคนทำงานดูแล” ที่แบกรับภาระสวัสดิการแทนรัฐบาลมาตลอด
การที่รัฐบาลที่ไม่ได้มาจากเสียงข้างมากของประชาชน ไม่ยอมแก้ไขความเหลื่อมล้ำเชิงโครงสร้าง ไม่แก้รัฐธรรมนูญทุกมาตรา ไม่จริงใจในการปฏิรูปกองทัพ แต่จะไปกู้ยืมเงินเพื่อโครงการแจกเงินดิจิทัลโดยอ้างว่าเอามาให้ประชาชน แต่ผลประโยชน์จะตกไปที่กลุ่มทุน นั่นเท่ากับว่ารัฐบาลได้เอาคุณภาพชีวิตที่ดีของแม่ คนทำงานดูแลและประชาชนไปขายเพื่อเป็นต้นทุนให้ทุนนิยมที่รับใช้และหนุนเสริมศักดินา การปกครองแบบนี้เป็นการปกครองที่น่ารังเกียจและไม่ได้มาจากฉันทามติของคนทำงานดูแลและประชาชนส่วนใหญ่ของประเทศ
หากประเทศนี้จะเกิดวิกฤตทางการเมือง วิกฤตเศรษฐกิจ หรือความขัดแย้งที่มาจากความเหลื่อมล้ำสูง ทำให้ประชาชนต้องทุกข์ยาก เราขอย้ำว่าความผิดไม่ใช่ของประชาชนแต่เป็นของรัฐบาลผู้กำหนดนโยบาย
เราไม่ต้องการประเทศที่ประชาชนต้องรอคอยความหวังในทุกวันที่ 1 หรือวันที่16ของเดือน แต่เราจะมุ่งสร้างประเทศที่มีรัฐบาลและสมาชิกรัฐสภาทุกคน ที่มาจากการเลือกตั้งและทำงานรับใช้แม่ คนทำงานดูแลและประชาชนในทุกๆวัน เพื่อนำพาประชาชนไปสู่ความหวังในการมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในทุกๆวัน
รัฐบาลชุดนี้ต้องยอมให้พวกเราประชาชนเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ และรัฐบาลที่มีคุณค่าคู่ควรกับผู้หญิง คนทำงานดูแลและประชาชนทุกคน จะต้องมีคุณสมบัติดังนี้
- จริงจังในการขจัดความยากจน ไม่ใช่รังแกคนจน หรือขับไล่ให้เราต้องออกจากบ้าน ละทิ้งวิถีชีวิต ละทิ้งที่ดิน ของเราเราไม่เอารัฐบาลที่จะให้เรากินเกลือโปแตสแทนข้าว
- ต้องรับใช้เรา มิใช่รับใช้ทุนนิยม ศักดินาและความโลภของใครหรือสถาบันใด
- งานบริการคืองาน รัฐต้องเร่งออกกฎหมายพ.ร.บ.มาตราการคุ้มครองผู้ให้บริการทางเพศ
- ให้สิทธิในการเข้าถึงการได้สัญชาติ สิทธิในการมีพื้นที่ปลอดภัยและความมั่นคงในการทำงาน
- ต้องทำให้โรงเรียนเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็ก การศึกษาต้องไม่มีค่าใช้จ่ายจริงๆ และให้คนทุกคนเข้าถึง
- ต้องเคารพสิทธิชุมชน และให้สิทธิเราในการเข้าถึงที่ดิน รัฐต้องปกป้องและสนับสนุนการต่อสู้เพื่อปกป้องสิ่งแวดล้อมและวิถีชีวิตของเรา
- ต้องเคารพคุณค่าของเราและมีรัฐสวัสดิการที่ดีของประชากรสูงวัย แม่ คนทำงานดูแลและผู้พิการ รวมถึงผู้รอดชีวิตจากความรุนแรง
- ทำหน้าที่ในการขจัดความเกลียดชังและความรุนแรงต่อผู้หญิง ไม่ว่าเราจะเป็นหญิงข้ามเพศ เป็นเลสเบี้ยน เป็นคนชอบเพศตรงข้าม หรือมีเพศสภาพและความต้องการทางเพศแบบใด
- ไม่ใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการข่มขู่คุกคาม จับกุมคุมขังเรา ลูกหลานของเรา หรือครอบครัวของเรา เมื่อเราปกป้องสิทธิในการมีชีวิต เสรีภาพในการแสดงออก เสรีภาพในการรวมกลุ่ม และสิทธิเสรีภาพต่างๆ
- ต้องมีความยุติธรรม ทำให้เกิดสันติภาพ เพื่อยุติความรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนใต้ รวมถึงสนับสนุนประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชนในประเทศพม่าและปาเลสไตน์
- ต้องไม่มีส่วนในการปกปิดการสังหารและการบังคับให้ประชาชนสูญหายและอำนวยความสะดวกให้ครอบครัวของเหยื่อเข้าถึงความยุติธรรม
- ต้องฟื้นฟูผืนดินที่ปนเปื้อนสารพิษ ดินที่มีความเค็มจากเหมืองโปแตช ปกป้องแหล่งน้ำ ภูเขา ท้องทะเล และรับประกันว่าอากาศที่เราหายใจอยู่ทุกวันจะไม่ย้อนกลับมาฆ่าลมหายใจของเราและลูกหลาน
- ต้องเคารพสิทธิและเจตจำนงในการกำหนดอนาคตของตนเองและเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของผู้หญิงชาติพันธุ์และชุมชนท้องถิ่นดั้งเดิมของพวกเธอ
เรายืนยันเรียกร้องให้รัฐบาลสนับสนุนให้มีรายได้เพื่องานดูแล (Care Income) เป็นค่าตอบแทนให้แม่และผู้ให้การดูแลทุกคน เพื่อให้เกิดความมั่นคงและคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนทุกคนในสังคม รายได้เพื่องานดูแลเหล่านี้อาจจ่ายเป็นเงินสด หรือในรูปแบบที่อยู่อาศัย ที่ดิน และช่องทางอื่น รัฐต้องลงทุนในชีวิตและความสุขของแม่และคนทำงานดูแล รวมถึงประชาชนทุกคนในสังคม และสิ่งเหล่านี้ต้องระบุในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
ท้ายที่สุดเราขอส่งพลัง อำนาจ ความรักและความสมานฉันท์ให้พี่น้องของเราในเครือข่าย Global Women’s Strike และแม่และคนทำงานดูแลท่ามกลางภาวะสงครามการรุกรานและการกดขี่ทั้งในพม่าและปาเลสไตน์
ขบวนเคลื่อนไหวผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชน
29 พ.ย. 2566