หน้าแรก Voice TV สส.ก้าวไกล ลงพื้นที่ 'หนองวัวซอโมเดล' หลัง ปชช. ร้องเรียนถูกหลอกให้เซ็นบังคับเช่าที่ดิน

สส.ก้าวไกล ลงพื้นที่ 'หนองวัวซอโมเดล' หลัง ปชช. ร้องเรียนถูกหลอกให้เซ็นบังคับเช่าที่ดิน

77
0
สสก้าวไกล-ลงพื้นที่-'หนองวัวซอโมเดล'-หลัง-ปชช.-ร้องเรียนถูกหลอกให้เซ็นบังคับเช่าที่ดิน

วิโรจน์-อภิชาติ นำทีม สส.ก้าวไกล ลงพื้นที่โครงการกองทัพ ‘หนองวัวซอโมเดล’ หลังประชาชนร้องเรียนถูกหลอกให้เซ็นคิดว่าจะออกโฉนดให้ กลายเป็นบังคับเช่าที่ดิน ยืนยันอยู่มาก่อนกองทัพใช้ประโยชน์ ชี้แนวทางที่ดีที่สุด คือเดินหน้าเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สิทธิ์

วันที่ 30 พฤศจิกายน 2566 ที่บ้านหนองแวงยาว ต.หนองวัวซอ อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี วิโรจน์ ลักขณาอดิศร สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ประธานคณะกรรมาธิการการทหาร สภาผู้แทนราษฎร พร้อมด้วย อภิชาติ ศิริสุนทร สส.บัญชีรายชื่อ เลขาธิการพรรคก้าวไกล ประธานคณะกรรมาธิการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร ร่วมวงพูดคุยรับฟังปัญหาประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนจากการผลักดันโครงการ “หนองวัวซอโมเดล” ซึ่งเป็นต้นแบบของโครงการส่งมอบที่ดินของกองทัพให้ประชาชน ที่ดำเนินการโดยกองทัพ เพื่อช่วยเหลือประชาชนที่มาบุกรุกที่ดินกองทัพโดยผิดกฎหมายให้มีสิทธิทำกินโดยไม่ต้องอยู่ในสถานะบุกรุก 

อย่างไรก็ตาม ในกรณีหนองวัวซอโมเดล ประชาชนที่ถูกให้เข้าร่วมโครงการยืนยันว่าพวกตนเป็นผู้อยู่อาศัยและทำกินมาก่อนกองทัพเข้าใช้พื้นที่เป็นสถานที่ซ้อมยิงปืนใหญ่หลายชั่วอายุคนแล้ว และเรียกร้องให้มีการพิสูจน์สิทธิ์เพื่อความเป็นธรรม แทนที่การผลักดันโครงการหนองวัวซอโมเดลให้พวกตนต้องเป็นผู้เช่าที่ดินที่ควรจะเป็นของพวกตนโดยชอบธรรม ซึ่งก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2566 ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล ได้เดินทางมารับฟังปัญหานี้ก่อนแล้วครั้งหนึ่ง ก่อนแนะนำให้ประชาชนรวบรวมเอกสารหลักฐานทั้งหมดที่มีอยู่ เพื่อยื่นให้กับประธานคณะกรรมาธิการทั้งสองคณะในวันนีัไปดำเนินการในสภาต่อไป

ตัวแทนประชาชนหลายราย ได้ให้ข้อมูลยืนยันว่าพวกตนไม่ใช่ผู้บุกรุกแน่นอน เพราะอยู่มา 3-4 ชั่วอายุคนแล้ว แต่ที่ผ่านมาไม่เคยมีกระบวนการพิสูจน์หรือตรวจสอบเอกสารสิทธิ์ และก่อนหน้านี้ยังมีการมาหลอกยึดเอาเอกสารสิทธิ์ของประชาชนไปหลายครั้งโดยอ้างว่าจะเอาไปทำให้ใหม่ แต่ก็ไม่เคยนำมาคืนให้ ส่วนโครงการหนองวัวซอโมเดล ประชาชนระบุว่ามีการมาทำให้เข้าใจผิดว่าจะเป็นการพิสูจน์สิทธิ์เพื่อออกโฉนดให้ มีการเอาเอกสารมาให้ประชาชนลงชื่อ อ้างว่าถ้าไม่เซ็นจะเสียสิทธิในการพิสูจน์สิทธิ์ จนมาทราบทีหลังว่าเป็นการเซ็นยอมรับที่จะเป็นผู้เช่าที่ดินจากกรมธนารักษ์ ซึ่งประชาชนไม่เห็นด้วยและไม่สามารถยอมรับได้

ในส่วนของวิโรจน์ ระบุว่าก่อนมารับฟังข้อเท็จจริงจากประชาชนในวันนี้ ตนได้พูดคุยกับกรมธนารักษ์มาแล้วครั้งหนึ่งในเวทีกรรมาธิการ กรมธนารักษ์อ้างว่าได้มาลงพื้นที่ด้วยตัวเองแล้ว ประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยและยินยอมลงนามรับหนังสือสัญญาเช่า แต่จากการได้มาพบประชาชนวันนี้ ได้ข้อเท็จจริงในอีกทางหนึ่ง ว่าประชาชนไม่ได้เข้าใจอย่างที่กรมธนารักษ์ชี้แจง

ดังนั้น เท่ากับว่าข้อเท็จจริงที่กรมธนารักษ์ชี้แจงต่อกรรมาธิการกับสิ่งที่ตนได้ฟังจากประชาชนวันนี้ไม่ตรงกัน และเป็นที่ชัดเจนว่าแนวทางที่ดีที่สุดวันนี้คือการเดินหน้าเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สิทธิ์ ซึ่งใครที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ รู้อยู่แล้วว่ามาทีหลัง ตนแนะนำว่าให้เดินหน้าสู่กระบวนการเช่าไป แต่กรณีที่อยู่มาก่อน มีพยานหลักฐาน มีเอกสารสิทธิ์ ควรต้องเดินเข้าสู่กระบวนการพิสูจน์สิทธิ์เพื่อความถูกต้อง

ทั้งนี้ ตนขอแนะนำให้ประชาชนส่งตัวแทนกลุ่มหนึ่งไปติดต่อกรมธนารักษ์เพื่อขอถอนความประสงค์และนำชื่อออกจากโครงการ ส่วนตนจะใช้เวที กมธ.การทหาร เพื่อเชิญทั้งกรมธนารักษ์ มลฑลทหารบกที่ 24 และตัวแทนประชาชน ให้มาร่วมกันหารือ โดยประเด็นสำคัญคือจะต้องมีการขอถอนชื่อออกจากสัญญาก่อน และการเดินหน้าเพื่อนำไปสู่กระบวนการพิสูจน์สิทธิ์ต่อไป

ในส่วนของอภิชาติ ระบุว่าจากการสืบค้นข้อมูลเบื้องต้น พื้นที่แห่งนี้เดิมมีการระบุให้เป็นเพียงที่รกร้าง มีการจำแนกในปี 2504 เมื่อกองทัพมาขอใช้ และเพิ่งเป็นของธนารักษ์ตามมติ ครม. เมื่อปี 2509 และเมื่อหน่วยงานราชการตรวจสอบสภาพสถานะก่อนหน้านั้น ก็ไม่มีกฎหมายอื่นใดที่เกี่ยวข้องนอกจาก พ.ร.บ.ที่ดินหวงห้าม 2478 ขณะที่ประวัติศาสตร์การตั้งหมู่บ้านตั้งอย่างเป็นทางการ มีบันทึกตั้งแต่ปี 2468 

ดังนั้น เมื่อไล่เรียงไทม์ไลน์ได้เป็นเช่นนี้ ว่าประชาชนมีการตั้งรกรากมาก่อน พ.ร.บ.สงวนหวงห้ามที่ดิน 2478 ก็สามารถสันนิษฐานได้ว่าประชาชนอยู่มานานแล้วจริง แต่ที่ผ่านมาไม่เคยมีกระบวนการพิสูจน์สิทธิ์เกิดขึ้นมาก่อนเลยแม้แต่ครั้งเดียว ดังนั้น สิ่งที่สำคัญที่สุดเป็นอับดับแรกคือการนำไปสู่กระบวนการพิสูจน์สิทธิ์ นี่คือแนวทางหนึ่งที่สามารถทำได้ ส่วนอีกแนวทางหนึ่ง หากเกิดการพิสูจน์สิทธิ์แล้ว มีผู้ที่ไม่สามารถพิสูจน์สิทธิ์ไปถึงขั้นได้รับกรรมสิทธิ์ได้ ประชาชนอาจร่วมกันขอให้รัฐมีนโยบายให้ราชพัสดุยกที่ให้ ส.ป.ก. เพื่อจัดรูปที่ดินได้หรือไม่

“เราไม่คัดค้านโมเดลในการจัดสรรที่ดินกองทัพให้ประชาขน แต่ต้องเป็นโมเดลที่ยกระดับสิทธิให้พี่น้องได้จริง ไม่ใช่ลิดรอนสิทธิ ก่อนที่มันจะกลายเป็นโมเดลที่ไม่ถูกต้อง โมเดลต้องเป็นสิ่งที่ให้สิทธิที่ดีกว่าสำหรับประชาชน แก้ปัญหาของประชาชนได้อย่างตรงจุด” อภิชาติกล่าว

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่