หน้าแรก Thai PBS “อนุทิน” ยันแก้หนี้นอกระบบ ไม่ใช่ยกหนี้ เน้นไกล่เกลี่ย-เป็นธรรม 2 ฝ่าย

“อนุทิน” ยันแก้หนี้นอกระบบ ไม่ใช่ยกหนี้ เน้นไกล่เกลี่ย-เป็นธรรม 2 ฝ่าย

71
0
“อนุทิน”-ยันแก้หนี้นอกระบบ-ไม่ใช่ยกหนี้-เน้นไกล่เกลี่ย-เป็นธรรม-2-ฝ่าย

วันนี้ (1 ธ.ค.2566) นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.มหาดไทย กล่าวถึงการเปิดให้ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนจากปัญหาหนี้นอกระบบลงทะเบียน เพื่อขอความช่วยเหลือจากกลไกของรัฐ ในโครงการแก้หนี้นอกระบบวันแรก ว่า ทำได้ 3 ช่องทาง คือ ลงทะเบียนที่ศูนย์ดำรงธรรม ของจังหวัดหรือที่ว่าการอำเภอ ลงทะเบียนผ่านทางออนไลน์ โดยทางอำเภอจะลงพื้นที่สำรวจในพื้นที่ชุมชนและหมู่บ้าน

อ่านข่าว : เช็กขั้นตอน! ลงทะเบียนแก้หนี้นอกระบบทุกอำเภอเริ่ม 1 ธ.ค.นี้

ส่วนปัญหาเจ้าหนี้กลัวถูกตรวจสอบภาษีไม่กล้ามาไกล่เกลี่ยกับลูกหนี้นั้น นายอนุทิน กล่าวว่า รัฐบาลต้องการให้เกิดความเป็นธรรม พร้อมย้ำว่าโครงการนี้ไม่ใช่การลดหนี้หรือยกหนี้ พักหนี้ และไม่ได้ใช้หนี้ให้ แต่เป็นการให้ความเป็นธรรมกับเจ้าหนี้และลูกหนี้

หากคิดดอกเบี้ยที่เป็นธรรม ลูกหนี้ก็จะสามารถใช้หนี้ได้ เจ้าหนี้ก็ไม่ถูกเบี้ยวหนี้ เจ้าหนี้ไม่ต้องไปกดดัน กดขี่ ข่มเหง หรือใช้วิธีทวงหนี้ที่ผิดกฎหมาย ซึ่งเป็นเจตนารมณ์ของรัฐบาลที่ต้องการให้เกิดความเป็นธรรม ไม่เสียหายกับลูกหนี้และเจ้าหนี้ ยืนยันลูกหนี้ยังเป็นหนี้อยู่ โดยมีอัตราดอกเบี้ยที่สามารถหามาใช้ได้

อ่านข่าว : “อนุทิน” เดินหน้าแก้หนี้นอกระบบ เน้นไกล่เกลี่ย – ดึงสถาบันการเงินรีไฟแนนซ์

ส่วนกรอบเวลาที่จะเห็นผลสำเร็จของการแก้หนี้นั้น นายอนุทิน กล่าวว่า ขอให้รอฟังรายละเอียด 8 ธ.ค.ที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีจะเป็นประธาน Kick Off กับ หน่วยงานที่จะดำเนินการคือนายอำเภอและผู้กำกับสถานีตำรวจภูธรทั่วประเทศ ซึ่งจะจัดขึ้นที่เมืองทองธานี

นายอนุทิน กล่าวว่า การแก้หนี้เป็นขั้นตอนการไกล่เกลี่ย ไม่ได้มีเจตนาที่จะขุดคุ้ยปูมหลัง ขอให้อย่าเป็นกังวล เรื่องอื่นเป็นเรื่องของหน่วยงานอื่นเราไม่มีเวลาไปขยายผลเรื่องอื่น ๆ

อ่านข่าว : นายกฯ ระดม “แก้หนี้นอกระบบ” เป็นวาระแห่งชาติ เทียบ “ค้าทาสยุคใหม่”

ขึ้นตอนกระบวนการไกล่เกลี่ย 

นายอนุทิน กล่าวว่า เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานมีทั้งศาสตร์และศิลป์ในการที่เข้าไกล่เกลี่ยประนีประนอม คงไม่มีวิธีการเป็นขั้นตอนที่ชัดเจน ทั้งนี้กระบวนการหากเมื่อมีการไกล่เกลี่ยแล้วเจ้าหนี้ไม่ยอมมาไกล่เกลี่ย ก็ต้องเอาสัญญากู้เงินมาดู หากตรงไหนขัดต่อกฎหมายก็ไม่ต้องปฏิบัติตาม และจะมีการคุ้มครองให้เกิดความเป็นธรรม แต่หากเจ้าหนี้ยังคิดดอกเบี้ยในอัตราที่สูงจนเกินความสามารถที่ลูกหนี้จะชำระหนี้ได้นั้น ส่วนนั้นก็จะหายไป

แต่โครงการของรัฐบาลจากวินวินทั้ง 2 ฝ่าย เจ้าหนี้ได้เงินคืนไม่มีการเบี้ยวหนี้ ลูกหนี้ก็จะได้อัตราดอกเบี้ยที่ลดลง ซึ่งจะเกิดความเป็นธรรมกับทั้ง 2 ฝ่าย

อย่างไรก้ตาม ลูกหนี้อย่าดีใจเพราะไม่ใช่การพักหนี้ ลูกหนี้ต้องจ่ายทุกบาททุกสตางค์ และที่เข้าใจว่ารัฐบาลจะจ่ายหนี้ให้นั้นไม่ใช่ แต่เป็นการช่วยลดอัตราดอกเบี้ย เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมมากกว่า

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่