การเสียชีวิตของ นพ.กฤตไท ธนสมบัติกุล อาจารย์คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เจ้าของเพจเฟซบุ๊ก “สู้ดิวะ” นอกจากจะเป็นความสูญเสียครั้งใหญ่ของบุคลากรทางการแพทย์ ยังทำให้สังคมหันมาสนใจประเด็นปัญหาฝุ่น PM 2.5 ที่เชื่อว่าเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้นายแพทย์กฤตไท ป่วยด้วยโรคมะเร็งปอด
กับอีกด้านหนึ่งก็คือ บทบาทการขับเคลื่อนเรื่องฝุ่น ที่คุณหมอกฤตไท พยายามสื่อสาร ว่า น่าจะเป็นส่วนหนึ่งที่มีผลกับมะเร็ง เรียกร้องให้แก้ไขปัญหาให้ตรงจุดเพื่อเด็กๆ ที่เกิดมา จะได้มีอากาศที่บริสุทธิ์ปลอดภัย
ฝุ่น PM 2.5 เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นมาอย่างต่อเนื่อง และดูเหมือนว่าแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ ทั้งใน กทม. ปริมณฑล และ ตามภูมิภาคต่าง ซึ่งมาจากหลายสาเหตุ ทั้งภาค ภาคเกษตร อุตสาหกรรม และฝุ่นควันข้ามแดน
ย้อนกลับไปดู เมื่อ 29 พ.ย.ที่ผ่านมา ที่ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รมว.คลัง เดินทางไปเยือนเชียงใหม่ เมืองใหญ่แห่งภาคเหนือที่ถูกฝุ่นปกคลุมทุกปี และ เป็นหนึ่งในเรื่องที่มีบาดแผลบอบช้ำ จากการจัดการโดยรวมที่ไปไม่ถึงต้นตอฝุ่น
ในการหารือกับผู้ว่าฯ 17 จังหวัดภาคเหนือ กระทรวงทรัพย์ฯ กองทัพ ภาคประชาชน และเอกชน ก็ได้มีข้อเสนอเกี่ยวกับการจัดการในหลายมิติ ทั้งการรับซื้อวัสดุเหลือใช้ , การรับรองสิทธิที่ดินเพื่อแก้ปัญหาการบุกรุกป่า การใช้กฎหมาย ให้ ร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดเป็นกฎหมายเพื่อการปฏิรูป การติดเครื่องวัดฝุ่นขนาดเล็กในชุมชนเสี่ยง และ การตั้งคณะอนุกรรมการเพื่อสุขภาวะของประชาชน
ล่าสุด (6 ธ.ค.2566) นายกรัฐมนตรี กล่าวถึง ย้ำเรื่องการผลักดัน พ.ร.บ.อากาศสะอาด เป็นเรื่องหนึ่งที่จะผลักดันเข้าสภาในการเปิดสมัยประชุมนี้ ซึ่งมีการแต่งตั้งคณะกรรมการไปเรียบร้อยแล้ว ซึ่งต้องดูความเหมาะสมว่าจะมีการเพิ่มจำนวนบุคลากรหรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าไปหรือไม่ ซึ่ง พ.ร.บ.อากาศสะอาดเป็นส่วนหนึ่งของการแก้ปัญหานี้ แต่การลงพื้นที่ไปกำชับ ตรวจสอบสม่ำเสมอก็เป็นอีกเรื่องที่ต้องให้ความสำคัญอย่างมาก
นายกรัฐมนตรียังระบุด้วยว่าว่าค่าฝุ่น PM2.5 ปีนี้จะต้องอยู่ในเกณฑ์ที่ดีขึ้น ทุกหน่วยงานต้องเตรียมพร้อมรับมือทั้งการเผาป่า รวมถึงการให้ฝ่ายความมั่นคงช่วยดูแลอีกหลายเรื่องที่เกี่ยวข้อง
และก็เป็นเรื่องที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่งเมื่อ UNESCO ประกาศขึ้นทะเบียน “สงกรานต์ในประเทศไทย” ให้เป็นรายการในบัญชีตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ
ทั้งนี้ “สงกรานต์ในประเทศไทย” ถือเป็นรายการในบัญชีตัวแทนมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมที่จับต้องไม่ได้ของมนุษยชาติ ลำดับที่ 4 ของประเทศไทย โดยก่อนหน้านี้ UNESCO ได้ประกาศขึ้นทะเบียนให้แก่ “โขน” ในปี 2561, “นวดไทย”ในปี 2562 และ “โนรา” ของภาคใต้ ในปี 2564
เรื่องที่ยังถกเถียงกันไม่เลิก “เห็นด้วย” หรือ “ไม่เห็นด้วย” กับแผนผลักดันโครงการกระเช้าขึ้นภูกระดึง เพื่อหวังกระตุ้นท่องเที่ยว และ การกระจายรายได้ในท้องถิ่น ที่ผ่านมาเคยศึกษามาแล้ว 3 ครั้ง ตั้งแต่ปี 2525 – 2541
ช่วงปี 2554 – 2556 ในสมัยที่นายปรีชา เร่งสมบูรณ์สุข อดีต รมว.ทส. ซึ่งเป็นคน จ.เลย ในยุครัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เคยผลักดันโครงการนี้มาแล้ว ซึ่งช่วงนั้น นายดำรงค์ พิเดช อดีตอธิบดีกรมอุทยานฯ แสดงความเห็นสนับสนุนโครงการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง
ในปี 2562 สมัยนายวราวุธ ศิลปอาชา อดีต รมว.ทส.ก็มีการเสนอกระเช้าภูกระดึงอีกครั้ง โดย อพท.อ้างสรุปผลการศึกษา ทราบว่าชาว จ.เลย มากกว่า 90% ได้ให้การสนับสนุนการดำเนินการในเรื่องนี้
ก่อนที่จะนำเสนอ ครม. เมื่อ 4 ธ.ค.ที่ผ่านมา เพื่อของบประมาณ 28 ล้านบาท สำรวจและออกแบบ การก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึงอีกครั้ง
ทางด้าน นางพวงเพ็ชร ชุนละเอียด รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่าประชาชนในพื้นที่ กว่า 99% เห็นด้วย ซึ่งต้องจัดทำแบบสำรวจผลกระทบสิ่งแวดล้อม หรือ EIA เพื่อออกแบบก่อน
ในฐานะอดีต สส.ในพื้นที่ จ.เลย จะมีกระบวนการอะไรที่จะทำให้โครงการเดินหน้า นางพวงเพ็ชร กล่าวว่า เรื่องนี้ทางจังหวัดจะต้องหารือกับทางสำนักงบประมาณ ถึงข้อมูลที่มีการขอไปเพียงพอหรือไม่ ฉะนั้นจะต้องตรวจสอบกับทางจังหวัดต่อไป
ส่วนหวังว่าให้โครงการดังกล่าวแล้วเสร็จช่วงใด นางพวงเพ็ชร กล่าวว่า ประเด็นดังกล่าวตนก็เคยผลักดันตั้งแต่เป็น สส.สมัยแรกเมื่อปี 2539 ว่าอยากให้มีกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง แต่ที่ผ่านมาจะมีผู้ต่อต้านบ้าง แต่ก็ยังมีผู้สนับสนุน และเมื่อมาในยุคนี้ ซึ่งเป็นยุคที่เศรษฐกิจค่อนข้างตกต่ำ และจากที่นายอำเภอรายงานมา ขณะนี้ยอดนักท่องเที่ยวขึ้นภูกระดึงลดน้อยลง ฉะนั้นจึงอยากมีกระเช้าเพื่อเพิ่มรายได้ และยังคงให้มีทางขึ้นลง 2 ทาง ทั้งทางเดินเท้าและทางกระเช้า โดยจะทำให้ลูกหาบในพื้นที่ยังคงมีรายได้ต่อไป
ในระหว่างวันที่ 6 – 7 ธ.ค.ที่จะถึงนี้ พรรคเพื่อไทย จะจัดสัมมนา ที่ จ.นครราชสีมา ซึ่งเป็นการประชุมเพื่อกระชับความสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร หรือ สส.ด้วยกัน รวมไปถึงบรรดารัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี
บทบาทของ อิ๊งค์ แพทองธาร ที่ได้ไปร่วมประชุมคณะรัฐมนตรีสัญจรที่ จ.หนองบัวลำภู ที่หลายคนมองว่าเตรียมตัวเป็นนายกรัฐมนตรี หรือไม่นั้น นางพวงเพ็ชร ได้ออกมาชี้แจงว่า ขณะนี้ น.ส.แพทองธาร เป็นหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ก็มีหน้าที่ในการดูแลพบปะประชาชน ในแต่ละจังหวัดว่ามีเรื่องร้องเรียนอะไรบ้างผ่าน สส.และอีกอย่างคือ น.ส.แพทองธารเป็นประธานกรรมการซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ซึ่งหลังลงพื้นที่ก็จะได้พิจารณาว่า มีเรื่องใดที่จะเป็นซอฟต์พาวเวอร์ได้บ้าง
สำหรับการเสนอ พ.ร.บ.นิรโทษกรรม ที่กำลังเป็นกระแสอยู่นั้น อิ๊งค์ แพทองธาร ยืนยันพรรคเพื่อไทยสนับสนุน เรื่องนี้มาโดยตลอด แต่ต้องหาจุดยืนที่ทำให้ทุกฝ่ายเข้าใจกันอย่างแท้จริง และร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อช่วยเหลือใครคนหนึ่งอย่างแน่นอน ทั้งนี้ไม่ตอบว่า พ.ร.บ.นิรโทษกรรมเคยเป็นแผลของพรรคเพื่อไทยเมื่อปี 57
ซึ่งเรื่องนี้ “ช่อ พรรณิการ์” เปิดเผยแกนนำ อนาคตใหม่-ก้าวไกล อาจไม่รับนิรโทษกรรม เพื่อพิสูจน์ตัวเองตามกระบวนการ พร้อมหวังว่ากรณีของนายทักษิณจะไม่เป็นมูลเหตุจูงใจให้พรรคเพื่อไทย ยกมือโหวตให้แต่เป็นกรณีของประชาชนทั่วไป ที่ติดคุกอยู่ในวันนี้ ที่จะเป็นมูลเหตุจูงใจให้พรรคเพื่อไทยและทุกพรรคการเมืองเห็นความสำคัญว่าเราจะปล่อยให้ผู้ต่อสู้ทางการเมือง เพียงเพราะเขามีความเห็นที่แตกต่าง ติดคุกแบบนี้ต่อไปหรือไม่ และหวังใจว่ากรณีของคุณทักษิณ จะไม่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจของพรรคเพื่อไทย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ซอฟต์พาวเวอร์ “สงกรานต์” ทั้งเดือนเมษายน ข้อเท็จจริงที่ไม่อาจมองข้าม