อันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ ได้บังคับใช้มาตรา 99 แห่งกฎบัตรสหประชาชาติ โดยเรียกร้องให้คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (UNSC) ดำเนินการเกี่ยวกับสงครามในฉนวนกาซา
ความเคลื่อนไหวที่เกิดขึ้นไม่บ่อยนักของเลขาธิการสหประชาชาติในครั้งนี้ เกิดขึ้นในขณะที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติยังไม่มีมติที่เรียกร้องให้มีการหยุดยิงระหว่างอิสราเอลกับฮามาส และกลุ่มพันธมิตรของแต่ละฝ่ายออกมา ทั้งนี้ คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติมีสมาชิก 15 ชาติ และถือเป็นองค์กรที่ทรงอิทธิพลที่สุดของสหประชาชาติ ซึ่งมีหน้าที่ในการรักษาสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ
ในหนังสือถึงประธานคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ กูเตอร์เรสกล่าวถึงความรับผิดชอบในการรักษาสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ โดยเลขาธิการสหประชาชาติกล่าวว่าเขาเชื่อว่าสถานการณ์ในอิสราเอลและดินแดนปาเลสไตน์ที่ถูกยึดครอง “อาจทำให้ภัยคุกคามที่มีอยู่ต่อการรักษาสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศย่ำแย่ลง”
นอกจากนี้ กูเตอร์เรส ซึ่งก่อนหน้านี้เรียกร้องให้มีการ “หยุดยิงเพื่อมนุษยธรรมทันที” นับตั้งแต่วันที่ 18 ต.ค. ยังกล่าวถึง “ความทุกข์ทรมานของมนุษย์ที่น่าตกใจ การทำลายล้างทางกายภาพ และความบอบช้ำทางจิตใจโดยรวมทั่วอิสราเอลและดินแดนปาเลสไตน์ที่ถูกยึดครอง”
สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ซึ่งปัจจุบันเป็นสมาชิกของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติแบบไม่ถาวร ตอบรับต่อความเคลื่อนไหวดังกล่าวของกูเตอร์เรส ผ่านการโพสต์บนแพลตฟอร์ม X เพื่อระบุว่า สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ได้ส่งร่างมติการเรียกร้องการหยุดยิงฉบับใหม่ ไปยังที่ประชุมของคณะมนตรีแล้ว และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ “เรียกร้องให้มีการนำมติหยุดยิงด้านมนุษยธรรมมาบังคับใช้อย่างเร่งด่วน”
หากคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเลือกที่จะปฏิบัติตามคำแนะนำของกูเตอร์เรส ผ่านการบังคับใช้มาตรา 99 แห่งกฎบัตรสหประชาชาติ และรับมติหยุดยิงไปผ่านการพิจารณาโดยคณะมนตรี คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติจะมีอำนาจเพิ่มเติม เพื่อทำให้แน่ใจว่ามติดังกล่าวได้รับการปฏิบัติ รวมถึงอำนาจในการกำหนดมาตรการคว่ำบาตร หรืออนุญาตให้ส่งกองกำลังระหว่างประเทศเข้าไปประจำการในฉนวนกาซาด้วย อย่างไรก็ดี สมาชิกถาวร 5 ชาติของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ได้แก่ จีน รัสเซีย สหรัฐฯ สหราชอาณาจักร และฝรั่งเศส ต่างมีอำนาจยับยั้งมติได้
สหรัฐฯ ได้ลงมติยับยั้งมติเรียกร้องการหยุดยิงในคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติเมื่อวันที่ 18 ต.ค. ต่อมติที่จะประณามการโจมตีอิสราเอลของฮามาส ขณะที่มติดังกล่าวได้เรียกร้องให้มีการพักรบชั่วคราว เพื่อให้มีการส่งความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเข้าไปในฉนวนกาซาได้ แม้ว่าสมาชิกคณะมนตรีอีก 12 ชาติจะลงมติเห็นชอบ ในขณะที่รัสเซียและสหราชอาณาจักรลงมติงดออกเสียง
กูเตอร์เรสกล่าวว่าการที่คณะมนตรีขาดการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และสถานการณ์ในฉนวนกาซาที่ถดถอยลงอย่างมาก ส่งผลให้เขาต้องบังคับใช้มาตรา 99 แห่งกฎบัตรสหประชาชาติเป็นครั้งแรก นับตั้งแต่เขาเข้ารับตำแหน่งสูงสุดเป็นเลขาธิการสหประชาชาติในปี 2560 ทั้งนี้ กูเตอร์เรสกล่าวเตือนว่าความเป็นอยู่ของประชาชนในฉนวนกาซาจะพังทลายลงในเร็วๆ นี้ ท่ามกลางการล่มสลายของระบบมนุษยธรรมอย่างสิ้นเชิง
“สถานการณ์กำลังเลวร้ายลงอย่างรวดเร็ว ืจนกลายเป็นหายนะที่อาจมีผลกระทบต่อชาวปาเลสไตน์โดยรวมและต่อสันติภาพและความมั่นคงในภูมิภาคอย่างถาวร” กูเตอร์เรสระบุ “ผลลัพธ์ดังกล่าวจะต้องได้รับการหลีกเลี่ยงไม่ว่าจะด้วยวิธีใดก็ตาม”
อย่างไรก็ดี การบังคับใช้มาตรา 99 แห่งกฎบัตรสหประชาชาติของกูเตอร์เรส ได้รับท่าทีต่อต้านจาก กิลาด เออร์ดาน เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำสหประชาชาติ โดยเออร์ดานระบุบนแพลตฟอร์ม X ถึงหนังสือดังกล่าวของกูเตอร์เรสว่าเป็น “ข้อพิสูจน์เพิ่มเติม” ของ “การบิดเบือนทางศีลธรรมและอคติของเขา (กูเตอร์เรส) ต่ออิสราเอล” เออร์ดานยังเรียกร้องให้กูเตอร์เรสลาออกจากตำแหน่งเลขาธิการสหประชาชาติ พร้อมระบุว่า “การเรียกร้องของเลขาธิการให้หยุดยิงนั้น แท้จริงแล้วเป็นการเรียกร้องให้รักษาการปกครองอันน่าหวาดกลัวของฮามาสในฉนวนกาซา”
กฎบัตรสหประชาชาติให้อำนาจอย่างจำกัดแก่เลขาธิการสหประชาชาติ ซึ่งทำหน้าที่เป็นประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายบริหารของสหประชาชาติ และเป็นตำแหน่งที่ได้รับเลือกจากรัฐสมาชิกของสหประชาชาติ โดยมาตรา 99 แห่งกฎบัตรสหประชาชาติให้อำนาจแก่เลขาธิการในการ “นำเรื่องใดๆ ก็ตามที่ตนเห็นว่าอาจเป็นภัยคุกคามต่อการรักษาสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศยื่นให้แก่คณะมนตรีความมั่นคงทราบ”
ที่มา: