“เพาะเห็ดนางฟ้าจากขี้เลื่อยกิ่งผลไม้เมืองจันท์” จากทีม Pilleus gang มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี จังหวัดจันทบุรี ความสำเร็จของโครงการ CSR Tollway Contest ปั้น ปลูก คิด(ส์) ปี 2 by Tollway Green Way
เนื่องในโอกาสครบรอบ 35 ปีของบริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) หรือ DMT ได้จัดโครงการ CSR Tollway Contest ปั้น ปลูก คิด(ส์) ปี 2 by Tollway Green Way ภายใต้หัวข้อ นวัตกรรมการจัดการขยะอย่างยั่งยืน ซึ่งทีมผู้ชนะเลิศได้แก่ ทีม Pilleus gang จากมหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี จังหวัดจันทบุรี ผลงาน เพาะเห็ดนางฟ้าจากขี้เลื่อยกิ่งผลไม้เมืองจันท์ ได้รับใบประกาศนียบัตร ทุนการศึกษามูลค่า 30,000 บาท และทุนพัฒนาชุมชนมูลค่าถึง 100,000 บาท
อ.ดร. ฉัตรมงคล สีประสงค์ ผู้ช่วยคณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ภาควิชาชีววิทยา มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี กล่าวว่า “จังหวัดจันทบุรี เป็นจังหวัดที่มีการทำการเกษตรติดอันดับต้น ๆ ในประเทศไทย สามารถปลูกพืชผลต่าง ๆ ได้หลากหลาย โครงสร้างเศรษฐกิจของจังหวัดจันทบุรี ขึ้นอยู่กับภาคการเกษตรเป็นสำคัญ แต่หลังจากฤดูเก็บเกี่ยวผ่านพ้นไป ปัญหาที่พบมากคือปัญหาการจัดการขยะทางการเกษตร ซึ่งชาวบ้านส่วนใหญ่มักนำมารวมกัน โดยไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ใดๆ บางส่วนมีการนำไปกำจัดด้วยการเผา ทำให้เกิดมลพิษในอากาศ และอาจนำไปสู่การเกิดอัคคีภัยได้”
นักศึกษาจากคณะครุศาสตร์ สาขาวิชาชีววิทยา มหาวิทยาลัยราชภัฏรำไพพรรณี ประกอบด้วย นายดนุเดช ใหญ่กระโทก นางสาวนริศรา ช่างเจรจา และนางสาวเพชรลดา ผ่องผุด จึงได้รวมตัวกันในนามของทีม Pilleus gang ส่งโครงงาน “เพาะเห็ดนางฟ้าจากขี้เลื่อยกิ่งผลไม้เมืองจันท์” เข้าประกวดในโครงการ CSR Tollway Contest ปั้น ปลูก คิด(ส์) ปี 2 by Tollway Green Way ปีที่ 2 และได้รับรางวัลชนะเลิศมาในที่สุด
คุณนพพล โพธิ์ขี ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจและกลยุทธ์เพื่อความยั่งยืน บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า “หนึ่งในเกณฑ์การตัดสินของโครงการนี้คือต้องเป็นโครงการที่สามารถทำได้จริง และก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดในมิติด้านสิ่งแวดล้อมให้กับชุมชนที่อาศัยอยู่อย่างยั่งยืน โครงการของน้อง ๆ ทีม Pilleus gang ที่นำเสนอมาเป็นโครงการที่จะสามารถช่วยลดขยะทางการเกษตรได้จริงด้วยการนำเศษไม้ที่เหลือจากการเพาะปลูกมาแปรรูปเป็นขี้เลื่อยและนำมาเพาะเห็ดนางฟ้า เพื่อสร้างรายได้เสริมให้กับคนในชุมชนได้อีกทางหนึ่ง
นอกจากจะสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของโครงการแล้วยังสอดคล้องกับเป้าหมายขององค์การสหประชาชาติ Sustainable Development Goals ทั้ง 4 เป้าหมาย ได้แก่ เป้าหมายที่ 1 ยุติความยากจนทุกรูปแบบในทุกที่ เป้าหมายที่ 2 ยุติความหิวโหย บรรลุความมั่นคงทางอาหารและยกระดับโภชนาการและส่งเสริมเกษตรกรรมที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 8 ส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ต่อเนื่อง ครอบคลุมและยั่งยืน การจ้างงานเต็มที่และมีผลิตภาพ และการมีงานที่มีคุณค่าสำหรับทุกคน และเป้าหมายที่ 12 สร้างหลักประกันให้มีแบบแผนการผลิตและการบริโภคที่ยั่งยืนอีกด้วย
ด้านคุณอัจฉรา เจริญพร ผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส สายงานพัฒนาความยั่งยืนองค์กร บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) กล่าวปิดท้ายว่า “ในวันนี้รู้สึกเป็นเกียรติและมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้มาร่วมเปิดโครงการ “เพาะเห็ดนางฟ้าจากขี้เลื่อยกิ่งผลไม้เมืองจันท์” ณ ชุมชนเขาวัว อ.ท่าใหม่ จ.จันทบุรีอย่างเป็นทางการ โดยบริษัทฯ ตระหนักถึงความรับผิดชอบต่อปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม จึงเชื่อว่าโครงการ “เพาะเห็ดนางฟ้าจากขี้เลื่อยกิ่งผลไม้เมืองจันท์” ของน้องๆ ทีม Pilleus gang จะช่วยลดขยะทางการเกษตรได้เป็นอย่างดี รวมถึงจะสามารถพัฒนาเป็นแหล่งเรียนรู้ และต่อยอดเพื่อสร้างรายได้ให้กับชุมชนเขาวัวและชุมชนอื่น ๆ ในจังหวัดจันทบุรี โดยทางบริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) ในฐานะเจ้าของโครงการ CSR Tollway Contest ปั้น ปลูก คิด(ส์) ปี 2 by Tollway Green Way ยังคงสนับสนุนโครงการดี ๆ แบบนี้ต่อไป”
เกี่ยวกับ CSR Tollway Contest “ปั้น ปลูก คิด(ส์)”
บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) หรือ DMT ได้ริเริ่มจัดกิจกรรม CSR Tollway Contest “ปั้น ปลูก คิด(ส์)” ขึ้นเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2565 โดยมีวัตถุประสงค์สำคัญเพื่อช่วยยกระดับความคิดและเป็นเวทีให้เยาวชนไทยได้แสดงออกถึงแนวความคิดสร้างสรรค์ ผ่านการออกแบบโครงงานด้านสิ่งแวดล้อมในรูปแบบต่างๆ และนำไปต่อยอด พัฒนา เปลี่ยนแปลง รวมถึงสร้างประโยชน์ให้กับชาวบ้านในชุมชนได้อย่างยั่งยืน
โดย“ทีมเด็กปั้นปุ๋ย” ผู้ชนะเลิศโครงการ “ปั้น ปลูก คิด(ส์) ปี 1 ได้ถูกพัฒนาและต่อยอดนำไปสู่การจัดตั้ง ‘วิสาหกิจชุมชนเด็กปั้นปุ๋ย’ นับเป็นความสำเร็จที่บริษัท ทางยกระดับดอนเมือง จำกัด (มหาชน) ภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง เพราะในปัจจุบันโครงการดังกล่าวได้สร้างรายได้ให้กับชาวบ้านในชุมชนบ้านหนองโก หมู่ที่ 3 ตำบลหนองโก อำเภอบรบือ จังหวัดมหาสารคาม เฉลี่ยเดือนละถึง 40,000 บาทต่อคน โดยมีชาวบ้านเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 120 ครัวเรือน และตลอด 1 ปีที่ผ่านมา จากต้นกล้าต้นเล็กๆ ที่ได้รับการปั้นและปลูกมาเป็นอย่างดี ‘วิสาหกิจชุมชนเด็กปั้นปุ๋ย’ ยังชนะรางวัลที่ 2 ในการประกวดชุมชนเข้มแข็งของอำเภอบรบือ ซึ่งจัดโดยท่านนายอำเภอบรบือ มีผู้เข้าร่วมทั้งหมด 15 ตำบล และน้องสมาชิกได้เป็นเป็นวิทยากรบรรยายเรื่องการผลิตปุ๋ยอินทรีย์ให้กับหน่วยงานต่างๆ ใกล้เคียง อาทิ อบต.แกดำ อบต.แวงน่าน และตามโรงเรียนต่างๆ รวมถึงเตรียมความพร้อมในการจัดตั้งเป็นวิสาหกิจเพื่อสังคมต่อไปอีกด้วย