วันนี้ (10 ธ.ค.2566) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี โพสต์ข้อความผ่าน X ระบุว่า 10 ธันวาคม วันรัฐธรรมนูญของประเทศไทย
“รัฐบาลบริหารราชการแผ่นดิน ภายใต้บทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ ดังนั้นรัฐบาลจึงมีหน้าที่ทำให้รัฐธรรมนูญมาจากประชาชน
การแก้ไขรัฐธรรมนูญเป็นภารกิจใหญ่ จะอาศัยเพียงพลังของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งไม่ได้ แต่ทุก ๆ ภาคส่วนในสังคมจะต้องช่วยกันผลักดันเพื่อให้เราไปถึงเป้าหมาย นั่นคือ การมีรัฐธรรมนูญฉบับประชาชน”
ขณะที่นายนิกร จำนง ประธานคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 กล่าวว่า คณะอนุกรรมการได้ดำเนินการรับฟังความคิดเห็นจากทั้ง 4 ภาคครบแล้ว ซึ่งได้รับคำตอบภาพรวมค่อนข้างดี โดยประชาชนอยากให้มีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และอยากให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ขึ้น โดยแต่ละภาคเห็นว่ามีปัญหาอยู่มาก แต่ยังไม่สามารถเชื่อมต่อกับรัฐธรรมนูญได้ ดังนั้นแต่ละปัญหาหากจะมีการกำหนดในรัฐธรรมนูญ คณะอนุกรรมการฯ ก็ต้องรวบรวมไว้ เพื่อส่งให้ ส.ส.ร.ที่จะมีขึ้น
อนุ กก.ประชามติ รับฟังความเห็นครบ 4 ภาคแล้ว
นายนิกร กล่าวว่า การจัดฟังความเห็นในภาคใต้ มีพี่น้องมุสลิมเข้ามาร่วมเสนอแนะข้อคิดเห็นหลายกลุ่ม แต่ที่สำคัญคือข้อมูลจากความเห็นจากสมาชิกรัฐสภา เพราะเป็นคนที่จะต้องลงคะแนนในรัฐธรรมนูญ การขอความเห็นจากสมาชิกรัฐสภา ขณะนี้จึงได้ทำจดหมายไปถึงนายวันมูฮัมหมัดนอร์ มะทา ประธานสภาผู้แทนราษฎรแล้ว พร้อมกับส่งคำถามไปให้รัฐสภา เพื่อให้รับทราบถึงเนื้อหาการทำประชามติ และต้องการรับฟังว่าสมาชิกรัฐสภาต้องการทำประชามติก่อนที่จะดำเนินการใด ๆ หรือไม่ โดยในวันที่ 22 ธ.ค.นี้ คณะอนุกรรมการฯ ชุดของตนเองจะประชุมเพื่อสรุปงาน เพราะถือว่าเสร็จภารกิจในห้วงนี้แล้ว
สำหรับการประชุมคณะกรรมการชุดใหญ่ ในวันที่ 25 ธ.ค.นี้ จะได้ข้อสรุปที่ชัดเจนออกมาในแนวทางใด นายนิกร กล่าวว่า แล้วแต่จะสรุป แต่สิ่งสำคัญคือ รอของความเห็นของสมาชิกรัฐสภา ที่ต้องตอบในฐานะผู้ที่จะลงคะแนนในเรื่องนี้ด้วย
นายนิกร กล่าวว่า นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พาณิชย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการฯ ชุดใหญ่ ได้เรียกประชุมคณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ในวันที่ 25 ธ.ค.นี้ ว่าจะหาข้อสรุปอย่างไรให้ได้ก่อนสิ้นปี
อย่างไรก็ตาม คณะอนุกรรมการชุดของนายวุฒิสาร ตันไชย ที่จะพิจารณาเรื่องประชามติเชิงกฎหมายได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมา เพื่อพิจารณาข้อกฎหมายโดยเฉพาะว่าหากจะแก้ พ.ร.บ.ประชามติ โดยเฉพาะในมาตรา 13 ซึ่งเป็นประชามติสองชั้นจะแก้อย่างไร เพื่อทำให้ทุกอย่างง่ายขึ้น
นอกจากนี้ ในวันที่ 11 ธ.ค.นี้ ตนเองจะพบและหารือกับเอกอัครราชทูตสวิตเซอร์แลนด์ และคณะทำงานของอนุกรรมการ เพื่อขอรับฟังความคิดเห็นและศึกษาแนวทางของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เนื่องจากเป็นประเทศที่ทำประชามติเป็นจำนวนมาก และใช้อย่างมีนัยสำคัญ เพื่อดูว่าจะใช้งบประมาณลดลงได้หรือไม่