‘ชัยธวัช’ มองขั้นตอนขอ ศร. ตีความประชามติ ใช้เวลามากเกินไป ย้ำ ‘ก้าวไกล’ มองสภาฯ แก้ ม.256 เองได้
ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรคก้าวไกล ให้สัมภาษณ์ ภายหลังพรรคเพื่อไทยมีแนวคิดในการเสนอร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 โดยขัดกับคำวินิจฉัยเดิมของศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อเป็นช่องทางในการยื่นคำร้องขอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย
ชัยธวัช กล่าวว่า จุดยืนของพรรคก้าวไกล เห็นว่าสภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจโดยสมบูรณ์ ในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ มาตรา 256 เพื่อให้มี สสร. แล้วคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ผ่านมา ถ้าอ่านดีๆ ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้วินิจฉัยบอกว่าต้องทำ แต่แนะนำให้ทำประชามติก่อนเท่านั้นเอง
พรรคก้าวไกล เสนอให้ทำประชามติแต่แรก ไม่ใช่เพราะคำวินิจฉัยหรือการตีความของศาลรัฐธรรมนูญ แต่เพราะเห็นว่ามีประโยชน์ทางการเมือง อย่าลืมว่าถ้าจะแก้ไขมาตรา 256 ต้องผ่านเสียง 1 ใน 3 ของ สว. ด้วย แล้ว สว. ที่ผ่านมาก็มีจุดยืนชัดว่า ถ้าจะแก้ไขมาตรา 256 ให้มี สสร. มาทำใหม่ทั้งฉบับ ก็ควรจะต้องทำประชามติ เราเลยคิดว่าทำเลยตั้งแต่แรก ไม่เสียเวลาทำจนติดขั้น สว. จะเป็นการเสียโอกาส
ชัยธวัช กล่าวว่า อาจมองได้ว่า การไปถามศาลรัฐธรรมนูญก่อน อาจเป็นการเพิ่มความชัดเจนให้กับการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ก็ได้ อย่าไปมองเพียงมิติเดียว แต่ว่าในแง่หนึ่ง มันอาจทำให้เราใช้ระยะเวลามากจนเกินไป และอย่าไปทำให้ศาลรัฐธรรมนูญเป็นทุกอย่าง เป็นเจ้าของรัฐธรรมนูญ คิดว่าเราใช้คำวินิจฉัยของเราเองได้ ประเด็นสำคัญไม่ใช่อยู่ที่รัฐธรรมนูญ หรือการตีความของศาลรัฐธรรมนูญอย่างเดียว อยู่ที่ว่าเราจะหาแนวทางที่จะได้รับเสียง สว. เกิน 1 ใน 3 ได้อย่างไร ซึ่งประชามติครั้งแรกเราใช้คำตัดสินของพี่น้องประชาชนส่วนใหญ่มาทำให้ สว. ยอมรับได้ คิดว่าเรื่องนี้เป็นประเด็นสำคัญ
ชัยธวัช กล่าวว่า เราใช้โอกาสในการทำประชามติครั้งแรก สามารถหาฉันทามติร่วมของประชาชนได้ว่า ประชาชนส่วนใหญ่เห็นด้วยหรือไม่ เพื่อสร้างความชอบธรรมทางการเมืองให้กับข้อเสนอที่จะแก้ไขรัฐธรรมนูญให้มี สสร. และมีประเด็นบางประเด็นที่เราอาจมีความคิดเห็นแตกต่างกันในสังคม ก็สามารถใส่เป็นคำถามพ่วงในประชามติได้ เพื่อหาข้อยุติในความคิดเห็นแตกต่างกันได้โดยกระบวนการทางประชาธิปไตย
ชัยธวัช กล่าวถึงคำถามพ่วงที่เห็นต่างกับรัฐบาลว่า ข้อเสนอเรื่องคำถามพ่วง มาจากจุดยืนของพรรคก้าวไกลที่อยากเห็นรัฐธรรมนูญฉบับใหม่อย่างแท้จริง ดังนั้น เราไม่อยากให้ออกแบบคำถามหลักในการถามประชามติที่ใส่เงื่อนไขยิบย่อย จนทำให้ประชาชนที่เห็นด้วยกับการมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ แต่ไม่เห็นด้วยกับเงื่อนไขยิบย่อย มาโหวตโน หรือโนโหวต ดังนั้น ถ้าเราอยากเห็นการมีรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จริง คำถามหลักควรเป็นคำถามกว้าง และมีจุดร่วมมากที่สุด ส่วนประเด็นที่มีความแตกต่างกัน ก็มาถามย่อย ส่วนจะถามอะไรก็มีเวลาหารือกัน
ไม่ติด ‘เฉลิมชัย’ นั่งหัวหน้า ปชป.
ชัยธวัช กล่าวถึงแนวทางหลังเปิดสมัยประชุมสภาในวันที่ 12 ธ.ค.นี้ ภายหลังพรรคประชาธิปัตย์ได้หัวหน้าพรรคคนใหม่แล้ว ว่า สภาจะเปิดสัปดาห์หน้า พรรคร่วมฝ่ายค้านก็จะมีการคุยกันใกล้ชิดมากขึ้น ในสมัยประชุมที่แล้ว เราได้มีการประชุมอย่างไม่เป็นทางการแล้ว ก็คิดว่าเรารอกระบวนการโปรดเกล้าฯ ผู้นำฝ่ายค้านเสร็จ เมื่อมีผู้นำฝ่ายค้านชัดเจนอย่างเป็นทางการก็ควรจะมีการประชุมพรรคร่วมฝ่ายค้านอย่างเป็นทางการด้วย ตอนนี้เมื่อกระบวนการโปรดเกล้าฯ ยังไม่เรียบร้อย แต่การทำงานในสภาต้องเริ่มแล้ว ก็คิดว่าหลังจากสัปดาห์หน้าเป็นต้นไป จะทำการประชุมร่วมกัน
เมื่อถามว่าพรรคประชาธิปัตย์ได้หัวหน้าพรรคเป็น เฉลิมชัย ศรีอ่อนแล้ว การพูดคุยถือว่าง่ายขึ้นหรือไม่ ชัยธวัช กล่าวว่า ก็คงเหมือนเดิม ไม่ว่าหัวหน้าพรรคจะเป็นท่านใด อย่างไรในฐานะพรรคร่วมฝ่ายค้านก็ยังเหมือนเดิม
เมื่อถามว่าหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์จะเป็นอุปสรรคในการทำงานของฝ่ายค้านหรือไม่ พร้อมกระแสว่าอาจจะไปร่วมรัฐบาล ชัยธวัช กล่าวว่า ก็คิดว่าการทำงานร่วมกันต้องให้เกียรติกัน ถ้าเรามัวแต่เกิดความไม่ไว้วางใจต่อกันโดยไม่จำเป็น ตนคิดว่าคงไม่สร้างบรรยากาศในการทำงานที่ดีร่วมกัน
ส่วนจะลงอภิปรายไม่ไว้วางใจหรืออภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติในช่วงไหน ชัยธวัช กล่าวว่า สภาเปิดช่วงต้น คงให้ความสำคัญกับการพิจารณากฎหมาย ในสมัยสภาชุดที่แล้วไม่ได้พิจารณาร่างกฏหมายเลย ตอนนี้มีร่างกฏหมายจ่อเข้าสภาอยู่ รวมถึงร่างกฏหมายของฝั่งรัฐบาลและภาคประชาชนด้วย ที่สำคัญจะมีวาระการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2567 ซึ่งคิดว่าเมื่อพิจารณาเสร็จน่าจะช่วงปลายเดือนมีนาคม ก่อนจะปิดสมัยประชุมอีกครั้งในช่วงก่อนสงกรานต์น่าจะทำให้มีเวลาอภิปรายใหญ่ได้ ซึ่งจะเป็นการอภิปรายทั่วไปแบบไม่ลงมติหรืออภิปรายไม่ไว้วางใจ คงต้องหารือกับพรรคร่วมฝ่ายค้านอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งขึ้นอยู่กับข้อเท็จจริงและการทำงานของฝ่ายค้านว่าพร้อมมากแค่ไหน โดยต้องเอาเนื้อหาเป็นหลัก
ส่วนจะมีมูลที่จะทำให้เปิดอภิปรายได้หรือไม่ ชัยธวัช กล่าวว่า ต้องใช้เวลา แต่อย่างไรก็ตามในฐานะฝ่ายค้านก็ควรจะใช้โอกาสในสภาในการตรวจสอบถ่วงดุลการทำงานของฝ่ายบริหารให้เป็นประโยชน์ที่สุดกับพี่น้องประชาชน