หน้าแรก Thai PBS เปิดระเบียบกรมราชทัณฑ์ “คุมขังนอกเรือนจำ” ใครบ้างมีสิทธิ

เปิดระเบียบกรมราชทัณฑ์ “คุมขังนอกเรือนจำ” ใครบ้างมีสิทธิ

91
0
เปิดระเบียบกรมราชทัณฑ์-“คุมขังนอกเรือนจำ”-ใครบ้างมีสิทธิ

ระเบียบกรมราชทัณฑ์ ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ.2566เพื่อให้การบริหารงาน การปฏิบัติงานของเจ้าพนักงานเรือนจำและเจ้าหน้าที่ การปฏิบัติตัวของผู้ต้องขังและการอื่นอันจำเป็นเกี่ยวกับสถานที่คุมขังตามมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ. 2560 เป็นไปในแนวทางและมาตรฐานเดียวกัน อาศัยอำนาจตามมาตรา 34 แห่งพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ.2560 อธิบดีกรมราชทัณฑ์จึงออกระเบียบไว้ ดังต่อไปนี้

อ่านข่าว : ทันใจ! ระเบียบกรมราชทัณฑ์คุมขังนอกเรือนจำรับ “ทักษิณ” 

ข้อ 1. ระเบียบนี้เรียกว่า “ระเบียบกรมราชทัณฑ์ว่าด้วยการดำเนินการสำหรับการคุมขังในสถานที่คุมขัง พ.ศ.2566”

ข้อ 2. ระเบียบนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศเป็นต้นไป

ข้อ 3. ในระเบียบนี้ “สถานที่คุมขัง” หมายความว่า สถานที่คุมขังตามกฎหมายว่าด้วยราชทัณฑ์ “ผู้กำกับสถานที่คุมขัง” หมายความว่า ผู้บัญชาการเรือนจำที่ทำหน้าที่กำกับสถานที่คุมขัง “ผู้ดูแลสถานที่คุมขัง” หมายความว่า

(1) ข้าราชการ พนักงานราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ซึ่งอธิบดีมอบหมายให้ทำหน้าที่ในการกำกับ ดูแลและรับผิดชอบผู้ต้องขังซึ่งได้รับอนุญาตให้ไปคุมขังในสถานที่คุมขัง หรือ 

(2) เจ้าของหรือผู้ครอบครองสถานที่คุมขัง ซึ่งได้ให้ความยินยอมและยอมรับที่จะปฏิบัติตามเงื่อนไขที่รวมถึงคำแนะนำของเจ้าพนักงานตามที่กำหนดไว้ในระเบียบนี้ “คณะทำงาน” หมายความว่า คณะทำงานพิจารณาการคุมขังในสถานที่คุมขัง “อธิบดี” หมายความว่า อธิบดีกรมราชทัณฑ์

ข้อ 4. ให้มีคณะทำงานคณะหนึ่งเรียกว่า “คณะทำงานพิจารณาการคุมขังในสถานที่คุมขัง” ประกอบด้วย รองอธิบดีที่กำกับดูแลกองทัณฑวิทยาเป็นประธาน ผู้อำนวยการกองทัณฑวิทยา ผู้อำนวยการกองทัณฑปฏิบัติ ผู้อำนวยการกองพัฒนาพฤตินิสัย ผู้อำนวยการกองบริการทางการแพทย์ และผู้อำนวยการ กองกฎหมาย และบุคคลภายนอกซึ่งอธิบดีแต่งตั้งจากบุคคลผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญทางด้านสาธารณสุข 1 คน และด้านสังคมสงเคราะห์หรืออุตสาหกรรม 1 คน เป็นคณะทำงาน โดยมีผู้อำนวยการกลุ่มงานมาตรการ ควบคุมผู้ต้องขัง สังกัดกองทัณฑวิทยา เป็นคณะทำงานและเลขานุการ และข้าราชการสังกัดกองทัณฑวิทยาที่ได้รับมอบหมายอีกไม่เกิน 2 คน เป็นผู้ช่วยเลขานุการให้คณะทำงานตามวรรคหนึ่งมีอำนาจหน้าที่ดังต่อไปนี้

อ่านข่าว : ทักษิณกลับไทย : “ทักษิณ” คืนกลับแผ่นดินเกิดในรอบ 17 ปี

(1) พิจารณากลั่นกรองการให้ผู้ต้องขังรายใดคุมขังในสถานที่คุมขัง และการเพิกถอนการคุมขังเสนอต่ออธิบดีเพื่อพิจารณาอนุมัติ

(2) เสนอความเห็นหรือข้อเสนอแนะอื่นเกี่ยวกับการคุมขังในสถานที่คุมขังต่ออธิบดีการประชุมของคณะทำงานตามวรรคหนึ่งต้องมีคณะทำงานมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของคณะทำงานทั้งหมด จึงจะเป็นองค์ประชุม การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมให้ถือเสียงข้างมาก คณะทำงานคนหนึ่งให้มีเสียงหนึ่งเสียง ในการลงคะแนน ถ้าคะแนนเสียงเท่ากันให้ประธานในที่ประชุมออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด

ข้อ 5. ให้อธิบดีกรมราชทัณฑ์รักษาการตามระเบียบนี้ และให้มีอำนาจวินิจฉัยชี้ขาดปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติ รวมตลอดถึงการออกหลักเกณฑ์หรือเงื่อนไขเพิ่มเติม เพื่อให้เป็นไปตามระเบียบนี้

หมวด 1

สถานที่คุมขัง

ข้อ 6. การคุมขังผู้ต้องขังในสถานที่คุมขังให้สามารถทำได้เฉพาะเพื่อวัตถุประสงค์และในสถานที่คุมขัง ดังต่อไปนี้

(1) การปฏิบัติตามระบบการจำแนกและการแยกคุมขัง โดยคุมขังในสถานที่สำหรับอยู่อาศัย สถานที่สำหรับควบคุม กักขัง หรือกักตัวตามกฎหมายของทางราชการที่มีใช่เรือนจำ

(2) การดำเนินการตามระบบการพัฒนาพฤตินิสัย โดยคุมขังในสถานที่ราชการ หรือสถานที่ ที่ส่วนราชการหรือหน่วยงานของรัฐใช้ประโยชน์ในการจัดทำบริการสาธารณะ สถานศึกษาตามกฎหมายว่าด้วย การศึกษาแห่งชาติ วัดตามกฎหมายว่าด้วยคณะสงฆ์ มัสยิดตามกฎหมายว่าด้วยการบริหารองค์กรศาสนาอิสลาม สถานที่ทำการหรือสถานประกอบการของเอกชน สถานที่ทำการของมูลนิธิ สถานสงเคราะห์ หรือสถานที่ที่ใช้สำหรับการสังคมสงเคราะห์ ไม่ว่าจะเป็นของทางราชการหรือเอกชน

อ่านข่าว : ทักษิณกลับไทย : “ทักษิณ” บินเครื่องส่วนตัว ลง Private Jet Terminal 

(3) การรักษาพยาบาลผู้ต้องขัง โดยคุมขังในสถานพยาบาลประเภทที่รับผู้ป่วยไว้ค้างคืน

(4) การเตรียมความพร้อมก่อนปล่อย โดยคุมขังในสถานที่คุมขังตาม (1) (2) หรือ (3) ข้อ 7 สถานที่คุมขังตามระเบียบนี้ต้องมีลักษณะ ดังต่อไปนี้

(1) กรณีอสังหาริมทรัพย์ ต้องมีทะเบียนบ้านและเลขประจำบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร

(2) กรณีอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างต้องมีเลขที่อาคาร เลขที่ห้อง อักษรหรือสัญลักษณ์อื่นใด ที่สามารถระบุตำแหน่งของอาคารหรือสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวว่าอยู่ตำแหน่งใดของอสังหาริมทรัพย์ และอาคาร หรือสิ่งปลูกสร้างดังกล่าวนั้นต้องมีทะเบียนบ้านและเลขประจำบ้านตามกฎหมายว่าด้วยการทะเบียนราษฎร

(3) สามารถกำหนดตำแหน่งหรือพิกัดเพื่อใช้งานอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ได้ การกำหนดและการยุบเลิกสถานที่คุมขังตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามที่อธิบดีกำหนด โดยประกาศในระบบสารสนเทศของกรมราชทัณฑ์ โดยมีรายละเอียด ดังนี้

(1) เป็นสถานที่คุมขังที่มีวัตถุประสงค์ใด และเป็นประเภทใดตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ซึ่งออกตามความในมาตรา 33 แห่งพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พ.ศ.2560

(2) ที่อยู่และเลขประจำบ้านที่ระบุไว้ในทะเบียนบ้าน เลขที่อาคาร เลขที่ห้อง อักษรหรือ สัญลักษณ์อื่นใด ที่อ่านแล้วสามารถเข้าใจได้ว่าสถานที่คุมขังดังกล่าวตั้งอยู่ ณ ท้องที่ใด (3) แผนที่แสดงอาณาเขตของสถานที่คุมขังดังกล่าว

(4) ชื่อและนามสกุลของผู้ดูแลสถานที่คุมขัง กรณีสถานที่คุมขังตามวรรคหนึ่งได้มีการกำหนดอาณาเขตไว้ชัดเจนแล้วตามกฎหมายอื่นจะถือเอาการกำหนดอาณาเขตดังกล่าวมากำหนดเป็นอาณาเขตตามระเบียบนี้ก็ได้เพื่อประโยชน์ในการงานเรือนจำและสถานที่คุมขังของกรมราชทัณฑ์ อธิบดีจะกำหนดให้ สถานที่ใดเป็นสถานที่คุมขังไว้เป็นการล่วงหน้าก็ได้

หมวด 2

คุณสมบัติของผู้ต้องขังที่ได้รับการพิจารณาให้ออกไปคุมขังยังสถานที่คุมขัง

ข้อ 8. ผู้ต้องขังที่จะได้รับการพิจารณาคัดเลือกไปคุมขังในสถานที่คุมขัง ต้องมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้

(1) เป็นผู้ต้องขังตามกฎหมายราชทัณฑ์

(2) ผ่านการจำแนกลักษณะผู้ต้องขังหรือทบทวนแผนการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังรายบุคคล และคณะทำงานเพื่อจำแนกลักษณะของผู้ต้องขังประจำเรือนจำเห็นว่า ควรกำหนดแผนการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง รายบุคคลโดยให้คุมขังในสถานที่คุมขังตามระเบียบนี้

อ่านข่าว : ทักษิณกลับไทย : คุมตัว “ทักษิณ” เข้าเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ 

(3) มีคุณสมบัติเฉพาะและไม่มีลักษณะต้องห้ามตามที่กำหนดไว้ในประกาศกำหนดคุณสมบัติเฉพาะ ลักษณะต้องห้าม และวิธีการคุมขังในสถานที่คุมขังสำหรับผู้ต้องขังแต่ละกลุ่มของกรมราชทัณฑ์

ข้อ 9 ผู้ต้องขังที่มีคุณสมบัติตามข้อ 8 หากมีลักษณะดังต่อไปนี้จะไม่ได้รับการพิจารณาคัดเลือกไปคุมขังในสถานที่คุมขัง

(1) มีโทษกักขังแทนโทษจำคุก กักขังแทนค่ปรับ มีโทษปรับซึ่งยังไม่ได้ชำระค่าปรับ หรือต้องถูกกักกันตามคำสั่งศาลภายหลังพ้นโทษ ไม่ว่าจะในคดีนี้หรือคดีอื่น

(2) อยู่ระหว่างถูกดำเนินการทางวินัย หรือถูกลงโทษทางวินัย

หมวด 3

การพิจารณา

ข้อ 10. การให้ผู้ต้องขังออกไปคุมขังในสถานที่คุมขังตามระเบียบนี้ ให้คณะทำงานเพื่อจำแนกลักษณะของผู้ต้องขังประจำเรือนจะดำเนินการคัดกรองแล้วเสนอต่อผู้บัญชาการเรือนจำ

ข้อ 11. ให้คณะทำงานเพื่อจำแนกลักษณะผู้ต้องขังประจำเรือนจำตรวจสอบคุณสมบัติผู้ต้องขังที่มีคุณสมบัติตามข้อ 8 และไม่ต้องห้ามตามข้อ 9 และตรวจสอบข้อเท็จจริง ได้แก่ ข้อมูลการถูกดำเนินคดีซึ่งอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลในคดีอื่น ประวัติและพฤติกรรมก่อนต้องโทษ ประวัติการใช้ความรุนแรงหรือการใช้ความรุนแรงภายในครอบครัว ประวัติการเกี่ยวข้องกับยาเสพติด ประวัติการกระทำผิดความผิดเกี่ยวกับเพศ การเปลี่ยนหรือย้ายที่อยู่อาศัย

พฤติกรรมขณะต้องโทษ และรายละเอียดอื่นเท่าที่จะรวบรวมได้ และพิจารณาว่า ผู้ต้องขังดังกล่าวสมควรที่จะใช้วิธีการคุมขังในสถานที่คุมขังหรือไม่

ในกรณีที่เห็นสมควรให้คุมขังในสถานที่คุมขัง สมควรกำหนดแผนการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังมีรายละเอียดอย่างไร มีเงื่อนไขให้ปฏิบัติหรือข้อห้ามใด และมีข้อที่ผู้ดูแลสถานที่คุมขังจะต้องปฏิบัติอย่างไร รวมทั้งความยินยอมของผู้ดูแลสถานที่คุมขัง จากนั้นให้เสนอผู้บัญชาการเรือนจำพิจารณา

 

ข้อ 12. เมื่อผู้บัญชาการเรือนจำได้รับความเห็นของคณะทำงานเพื่อจำแนกลักษณะผู้ต้องขังประจำเรือนจำแล้ว ให้พิจารณาดำเนินการ ดังนี้

1.) กรณีที่ผู้บัญชาการเรือนจำพิจารณาแล้วเห็นชอบ ให้เสนอแผนการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง รายบุคคลโดยให้คุมขังในสถานที่คุมขัง ให้กรมราชทัณฑ์พิจารณา

(2.)กรณีที่ผู้บัญชาการเรือนจำพิจารณาแล้วไม่เห็นชอบให้คืนเรื่อง กรณีนี้ไม่ให้เสนอ ผู้บัญชาการเรือนจำพิจารณาใหม่จนกว่าจะครบกำหนด 6 เดือนนับแต่วันคืนเรื่อง และได้มีการทบทวน แผนการปฏิบัติต่อผู้ต้องขังรายบุคคลแล้ว

ข้อ. 13 ในการพิจารณาของคณะทำงานตามข้อ 4 ให้คำนึงถึงเหตุผลดังต่อไปนี้ประกอบกัน

(1.) ผู้ต้องขังดังกล่าวมีความเหมาะสมที่จะคุมขังในสถานที่คุมขังมากกว่าเรือนจำหรือไม่

(2.) พฤติการณ์ก่อนต้องโทษและขณะต้องโทษ

(3.) ความเสี่ยงในการกระทำผิดซ้ำ

(4.) ความเสี่ยงในการหลบหนี

(5.) ผลกระทบต่อสังคมหรือชุมชน

(6.) ความเหมาะสมของแผนการปฏิบัติต่อผู้ต้องขัง เงื่อนไขให้ปฏิบัติหรือข้อห้ามสำหรับ ผู้ต้องขัง และข้อปฏิบัติของผู้ดูแลสถานที่คุมขัง

(7.) ความสะดวกของเรือนจำในการกำกับดูแลและตรวจสอบสถานที่คุมขัง

(8.) ความเหมาะสมของสถานที่คุมขัง ให้คณะทำงานมีอำนาจแสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานได้ตามความเหมาะสม โดยไม่ต้องยึดตามเอกสารที่เรือนจำเสนอ ในการนี้จะเชิญผู้บัญชาการเรือนจำ ผู้ซึ่งเสนอชื่อเป็นผู้ดูแลสถานที่คุมขัง หรือผู้เชี่ยวชาญด้านหนึ่งด้านใดมาให้รายละเอียดข้อเท็จจริงเพิ่มเติม โดยจะดำเนินการทางโทรภาพ วิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ หรือวิธีการใด ๆ เพื่อให้เกิดความรวดเร็วก็ได้

อ่านข่าว : ทักษิณกลับไทย : เปิดมาตรา 22 นับโทษจำคุก “ทักษิณ” นับต่อ-นับทับ 

เมื่อคณะทำงานเห็นสมควรให้ผู้ต้องขังรายใดไปคุมขังในสถานที่คุมขัง ให้เสนออธิบดี เพื่อพิจารณาอนุมัติให้ผู้ต้องขังดังกล่าวไปคุมขังในสถานที่คุมขัง และเมื่ออธิบดีอนุมัติแล้วให้กำหนดแผนที่ และอาณาเขตสถานที่คุมขังดังกล่าวและประกาศในระบบสารสนเทศของกรมราชทัณฑ์

หมวด 4 การคุมขังในสถานที่คุมขัง

ข้อ 14. เมื่ออธิบดีอนุมัติให้ผู้ต้องขังรายใดไปคุมขังในสถานที่คุมขัง ให้ผู้บัญชาการเรือนจำที่ เสนอเรื่องเป็นผู้กำกับสถานที่คุมขัง มีอำนาจหน้าที่ ดังนี้

(1.) กำกับดูแลผู้ต้องขังและผู้ดูแลสถานที่คุมขัง

(2.) มอบหมายเจ้าพนักงานเรือนจำไปตรวจสอบสถานที่คุมขัง กรณีสถานที่คุมขังอยู่ห่างไกลจากที่ตั้งของเรือนจำจนไม่สามารถกำกับดูแลได้ อย่างมีประสิทธิภาพ ให้ย้ายผู้ต้องขังดังกล่าวไปยังเรือนจำที่ใกล้กับสถานที่คุมขังที่สุด ก่อนที่จะให้ไปคุมขัง ยังสถานที่คุมขัง และในกรณีนี้ให้ผู้บัญชาการเรือนจำที่รับย้ายผู้ต้องขังเป็นผู้กำกับสถานที่คุมขังแทน

 

ข้อ 15. เมื่อผู้ต้องขังได้ถูกคุมขังที่สถานที่คุมขังแล้ว ให้ผู้ดูแลสถานที่คุมขังมีหน้าที่ ดังนี้

(1) กรณีผู้ดูแลสถานที่คุมขังเป็นข้าราชการ พนักงานราชการหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อธิบดี มอบหมาย ให้มีหน้าที่กำกับดูแล และให้คำแนะนำแก่ผู้ต้องขังให้ปฏิบัติตนตามเงื่อนไขและไม่ฝ่าฝืนข้อห้ามที่กำหนดไว้ รวมถึงรายงานให้ผู้กำกับสถานที่คุมขังทราบอย่างน้อยสัปดาห์ละหนึ่งครั้ง

2. กรณีเจ้าของหรือผู้ครอบครองสถานที่คุมขังเป็นผู้ดูแลสถานที่คุมขัง ต้องดูแลผู้ต้องขังให้ปฏิบัติตนตามเงื่อนไขและไม่ฝ่าฝืนข้อห้ามที่กำหนด ต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขในส่วนของตนที่ได้ให้ความยินยอมไว้ ต้องยอมให้เจ้าพนักงานเรือนจำตรวจดูสถานที่คุมขัง รวมถึงต้องแสดงภาพนิ่งหรือภาพเคลื่อนไหวของผู้ต้องขังในสถานที่คุมขังเมื่อถูกร้องขอจากเจ้าพนักงาน

หมวด 5 การเพิกถอนการคุมขังในสถานที่คุมขัง

ข้อ 16. คณะทำงานอาจเสนออธิบดีเพิกถอนการคุมขังในสถานที่คุมขังได้ในกรณี ดังต่อไปนี้

(1) ผู้ต้องขังไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขหรือฝ่าฝืนข้อห้ามในการคุมขังในสถานที่คุมขัง

(2) มีการฝ่าฝืนข้อ 15 (2) แห่งระเบียบนี้

(3) มีเหตุที่ทำให้สถานที่คุมขังไม่สามารถใช้คุมขัง หรือผู้ดูแลสถานที่คุมขังไม่สามารถทำหน้าที่ดูแลสถานที่คุมขังได้อีกต่อไป

อ่านข่าว : “เรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ” เตรียมแผนรับ “ทักษิณ” 

(4) เหตุที่นำมาพิจารณากำหนดให้คุมขังในสถานที่คุมขังหมดไป หรือได้รับการแก้ไขด้วยวิธีการอื่นแล้วเมื่อมีเหตุอันควรเชื่อได้ว่ามีกรณีตามวรรคหนึ่ง ให้ผู้กำกับสถานที่คุมขังนำตัวผู้ต้องขังกลับมาจำคุกที่เรือนจำทันที แล้วเสนอรายงานต่อกรมราชทัณฑ์

นอกจากเหตุตามวรรคหนึ่ง คณะทำงานอาจเสนอให้อธิบดีเพิกถอนการคุมขังในสถานที่คุมขัง เมื่อคำนึงถึงเหตุผลความจำเป็นและประโยชน์ของทางราชการก็ได้ โดยก่อนที่เรือนจำจะให้ผู้ต้องขังไปคุมขังในสถานที่คุมขัง ให้แจ้งข้อสงวนสิทธินี้ให้ผู้ต้องขังทราบด้วยทุกครั้ง

ข้อ 17. ในการพิจารณาตามข้อ 16 ให้คณะทำงานมีอำนาจแสวงหาข้อเท็จจริงและรวบรวมพยานหลักฐานได้ตามความเหมาะสม และเสนอความเห็นต่ออธิบดีเพื่อพิจารณาสั่งการ ในการนี้ให้นำข้อ 13 วรรค 2 มาใช้บังคับโดยอนุโลม ในการเสนอความเห็นต่ออธิบดีเพื่อเพิกถอนการคุมขังตามข้อ 16 (1) และ (2) หากคณะทำงานเห็นว่าการไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข การฝ่าฝืนข้อห้าม หรือการฝ่าฝืนข้อ 15 (2) ไม่ได้เกิดจากการกระทำโดยจงใจ จะเสนอไม่เพิกถอนการคุมขังในสถานที่คุมขังและให้เรือนจำกำชับผู้ต้องขังหรือผู้ดูแลสถานที่คุมขังแทนก็ได้

ในการเพิกถอนการคุมขังตามข้อ 16 (3) หากเรือนจำเสนอสถานที่คุมขังแห่งใหม่แทนแห่งเดิม หรือผู้ดูแลสถานที่คุมขังคนใหม่แทนคนเดิม คณะทำงานจะเสนองดการเพิกถอนแล้วมีมติให้คุมขังในสถานที่คุมขังแห่งใหม่ หรือภายใต้การดูแลผู้ดูแลสถานที่คุมขังคนใหม่แทนก็ได้

 

ข้อ 18. การเพิกถอนการคุมขังในสถานที่คุมขังให้มีผลนับแต่วันที่ผู้ต้องขังถูกนำตัวมาคุมขัง ในเรือนจำเป็นต้นไป และให้เรือนจะดังนี้ 

(1) นับระยะเวลาคุมขังในสถานที่คุมขังเป็นระยะเวลาจำคุก

(2) กรณีถูกเพิกถอนตามข้อ 16 (1) ให้ดำเนินการทางวินัยแก่ผู้ต้องขังด้วย

หมวด 6 เบ็ดเตล็ด

ข้อ 19. ในกรณีมีเหตุร้ายแรงอันอาจจะเกิดภยันตรายต่อร่างกายหรือชีวิตของผู้ต้องขังที่คุมขังในสถานที่คุมขัง ผู้บัญชาการเรือนจำอาจมอบหมายให้เจ้าพนักงานเรือนจำนำตัวมาขังไว้ในเรือนจำจนกว่า เหตุดังกล่าวจะสิ้นสุดลงก็ได้ ในกรณีนี้ไม่ให้ถือว่าเป็นการเพิกถอนการคุมขังในสถานที่คุมขัง

ข้อ 20. ประกาศกำหนดคุณสมบัติเฉพาะ ลักษณะต้องห้ามและวิธีการคุมขังในสถานที่คุมขังสำหรับผู้ต้องขังแต่ละกลุ่มของกรมราชทัณฑ์ ตามข้อ 8 (3) ต้องมีรายการ ดังต่อไปนี้

(1) คุณสมบัติเฉพาะและลักษณะต้องห้ามของผู้ต้องขังที่จะถูกคุมขังในสถานที่คุมขังตามประกาศนี้ เช่น กำหนดโทษ กำหนดโทษเหลือจำต่อไป อายุ ความเจ็บป่วย ความประพฤติ เป็นต้น

(2) เอกสารที่ทางเรือนจำต้องจัดหา

(3) เงื่อนไขและข้อห้ามทั้งในส่วนของผู้ต้องขังและผู้ดูแลสถานที่คุมขังรวมทั้งหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ในกรณีที่เห็นสมควร อธิบดีจะกำหนดให้มีรายการเพิ่มเติมในประกาศนอกจากที่กำหนดไว้ในวรรคหนึ่งก็ได้ 

ประกาศ ณ วันที่ 6 ธ.ค.2566 นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ รองปลัดกระทรวงยุติธรรม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมราชทัณฑ์ 

 

อ่านข่าว 

ทันใจ! ระเบียบกรมราชทัณฑ์คุมขังนอกเรือนจำรับ “ทักษิณ”  

 

 

 

 

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่