เมื่อวันที่ 13 ธ.ค.2566 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง กล่าวในงานเสวนา “คนไทยถาม นายกฯ เศรษฐาตอบ” ช่วงหนึ่งนายกฯ พูดถึงสาเหตุที่ให้คณะกรรมการไตรภาคีกลับไปทบทวนการปรับขึ้นค่าแรงใหม่ เพราะที่เสนอปรับขึ้น 2-16 บาทเป็นตัวเลขที่รับไม่ได้ และต่ำเกินไปหากเทียบกับค่าครองชีพ โดยเฉพาะ 3 จังหวัดชายแดนใต้ พร้อมขอให้ภาคธุรกิจพิจารณาขึ้นค่าแรงให้สูงขึ้น เชื่อว่าจะไม่กระทบกับภาคธุรกิจอย่างแน่นอน
จะอ้างเรื่องอะไรก็ได้ เรื่องไตรภาคี เรื่องนายกฯ ไม่มีอำนาจแทรกแซง พูดได้หมด แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานความเป็นจริงว่าเหมาะสมหรือไม่ในการที่ค่าแรงขึ้นไปขนาดนั้น และจะทำให้ธุรกิจถึงกับหายนะหรือไม่ ถ้าต้องขึ้นค่าแรงอย่างเหมาะสม
อ่านข่าว : ทบทวน “ค่าแรง” รมว.แรงงานดึงกลับไปพิจารณาใหม่
ด้านนายเกรียงไกร เธียรนุกูล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ระบุว่า หากจะให้ค่าแรงขยับสูงขึ้นกว่านี้ รัฐบาลต้องหามาตรการช่วยเหลือ เฉพาะกลุ่ม SME ซึ่งมีอยู่ราวร้อยละ 50 จาก 47 กลุ่มอุตสาหกรรมที่ยังใช้แรงงานเข้มข้น เป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบทางตรงจากการขึ้นค่าแรง
ขณะที่นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สะท้อนความเห็นอีกด้านว่า แม้จะปรับอัตราค่าแรงใน จ.ภูเก็ต สูงขึ้นที่สุด หรือจะปรับให้สูงขึ้นกว่านี้ ธุรกิจท่องเที่ยวคงไม่ได้รับผลกระทบ เพราะปกติจ่ายค่าแรงเฉลี่ย 500-1,000 บาทต่อวันอยู่แล้ว แต่ปัญหาที่อยากให้รัฐบาลแก้ไขคือการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ เช่น ภาษา งานบริการ
ส่วนธุรกิจก่อสร้างขนาดใหญ่อย่างนายภาคภูมิ ศรีชำนิ กรรมการผู้จัดการบริษัทซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ค่าแรงถือว่าเป็นต้นทุนของธุรกิจร้อยละ 10 ซึ่งในสมัยรัฐบาลของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็เคยค่าแรง 300 บาทมาแล้ว แต่ก็ไม่ได้กระทบการเงินของบริษัท จึงมั่นใจว่าหากรัฐบาลจะปรับขึ้นค่าแรงก็จะไม่กระทบต่อบริษัทมากนัก
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
เคาะค่าแรงขั้นต่ำ “ภูเก็ต” สูงสุดวันละ 370 ต่ำสุด 3 จว.ใต้ 330 บาท
แรงงาน-นายจ้าง ยิ้มไม่ออก ! ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 2 บาท “ดีกว่าไม่ได้”