หน้าแรก Thai PBS จับกระแสการเมือง : วันที่ 19 ธ.ค.2566 คลื่นลูกเล็ก “ฤา สึนามิการเมือง เอื้อขัง “ทักษิณ” นอกคุก”

จับกระแสการเมือง : วันที่ 19 ธ.ค.2566 คลื่นลูกเล็ก “ฤา สึนามิการเมือง เอื้อขัง “ทักษิณ” นอกคุก”

72
0
จับกระแสการเมือง-:-วันที่-19-ธค.2566-คลื่นลูกเล็ก-“ฤา-สึนามิการเมือง-เอื้อขัง-“ทักษิณ”-นอกคุก”

คลื่นลูกเล็กๆ แต่มาเป็นระลอก เมื่อ “ชาญชัย อิสระเสนารักษ์” อดีต สส.นครนายก จับมือ นิติธร ล้ำเหลือ หรือ “ทนายนกเขา” ร่วมยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง ขอให้ไต่สวนในคดีที่ศาลฎีกาฯ ได้ตัดสินถึงที่สุดแล้ว 3 คดีที่ “ทักษิณ ชินวัตร” ได้รับการอภัยลดโทษจาก 8 ปี เหลือเพียง 1 ปี

ชาญชัย บอกว่า หลัง “ทักษิณ” เดินทางกลับไทยวันที่ 22 ส.ค.2566 จำเลยกลับไม่ได้รับโทษจำคุกจริง โดยอ้างเหตุว่าป่วยต้องเข้ารับการรักษาตัวใน รพ.ตำรวจ ชั้น 14 โดยกรมราชทัณฑ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้ส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำ ถือเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎกระทรวงยุติธรรมและระเบียบปี พ.ศ.2563

ชาญชัย ย้ำว่า ในฐานะอดีตรองประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษา เสนอแนะมาตรการและกลไกในการปราบปรามการทุจริตและประพฤติมิชอบ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) และอดีต สส. ที่ได้ติดตามตรวจสอบเรื่องดังกล่าว จึงทำคำร้องเพื่อยื่นต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง

และขอให้ดำเนินการไต่สวน กรณีมีบุคคล คณะบุคคลหรือเจ้าหน้าที่ ร่วมกันกระทำให้ไม่เป็นไปตามคำพิพากษาของศาลฯ ให้เป็นไปตามข้อกำหนดเกี่ยวกับการดำเนินคดีอาญาของศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง พ.ศ.2562

หมวด 9 เกี่ยวกับการบังคับคดี ข้อที่ 62 ที่ระบุว่า เมื่อบุคคลภายนอกยื่นคำร้องหรือคำขอต่อศาลในชั้นบังคับคดีให้ผู้พิพากษาประจำแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองในศาลฎีกา อย่างน้อยสามคนเป็นองค์คณะพิจารณาชี้ขาดคำร้องหรือคำขอดังกล่าว
และขอใช้สิทธิให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญ ปี พ.ศ.2560 มาตรา 41 (3) ที่ระบุให้สิทธิในการฟ้องหน่วยงานรัฐให้รับผิดชอบ เนื่องจากการกระทำหรือการละเว้นการกระทำของข้าราชการพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ

หรือกล่าวคือ เป็นการร้องขอให้ “ศาลฎีกานักการเมือง” ไต่สวนบังคับคดีดังกล่าว โดยให้ยึดข้อกำหนดศาลฯ หมวด 9 ข้อที่ 62 และการที่กรมคุกส่งตัวผู้ต้องขังไปรักษาตัวนอกเรือนจำนั้นเป็นการกระทำที่ขัดต่อกฎกระทรวงยุติธรรมและระเบียบปี 63

สอดคล้องเป็นระนาบเดียวกับ “ศรีสุวรรณ จรรยา” ผู้นำองค์กรรักชาติ รักแผ่นดิน ซึ่งได้ยื่นคำฟ้องต่อศาลปกครอง ฟ้อง “สหการณ์ เพ็ชรนรินทร์” อธิบดีกรมราชทัณฑ์ และผู้บริหารที่เกี่ยวข้องกราวรูด รวมทั้งนายแพทย์ใหญ่ รพ.ตำรวจ ฐานใช้อำนาจโดยมิชอบ และละเลยต่อหน้าที่เอื้อประโยชน์ให้ “ทักษิณ” นอนรักษาตัวใน รพ.ตำรวจ และเพิกเฉยต่อการบังคับใช้กฎกระทรวง ระเบียบต่างๆ ของกรมราชทัณฑ์ รวมทั้งการออกระเบียบให้ผู้ต้องขังออกไปคุมขังที่บ้านได้ ทั้งๆ ที่กฎกระทรวงไม่เคยกำหนดให้สามารถออกไปคุมขังที่บ้านได้ ถือเป็นการใช้อำนาจเกินไปกว่าที่กฎหมายกำหนด

คลื่นเอื้อประโยชน์กักตัวผู้ต้องขังนอกเรือนจำ เคลื่อนตัวมาช้าๆ เป็นระลอกเล็กก็จริง แต่ก็ไม่ควรมองข้ามการก่อตัวของคลื่นเป็นอันขาด ไม่แน่ว่าในชั่วข้ามคืน แค่คลื่นลูกเล็กๆ อาจกลายเป็นสึนามิการเมืองถล่มทุกฝ่ายให้แหลกลาญลงได้

คะแนนเต็ม 10 ได้แค่ 4 หากเป็นนักเรียนถือว่า “สอบตก” ชกไม่ตรงเป้า “วันชัย สอนศิริ” สมาชิกวุฒิสภา บอกว่า รัฐบาลทำได้แค่ฉาบฉวย มีภาพ อีเวนท์ และการลงพื้นที่ แต่ผลงานชิ้นเป็นอันที่จับต้องได้ยังไม่มี ส่วนการประสานความร่วมมือระหว่างนายกรัฐมนตรี และภาคราชการ รวมทั้งคณะรัฐมนตรียังน้อยเกินไป เพราะอาจชินกับการเป็นผู้บริหารบริษัทภาคเอกชน

และยังไม่ทราบว่าการบริหารราชการแผ่นดินมีกลไกกฎหมาย ข้อบังคับ จะทำเหมือนบริษัทขายบ้านจัดสรรไม่ได้ จึงเปรียบเหมือนมวยที่คนต่อยหนัก ต่อยตลอด แต่ต่อยไม่ตรงเป้า มันวืดไปหมด นายกรัฐมนตรีรำมวยสวย ไหว้คนสวยงาม ลงพื้นที่เก่ง แต่ชกไม่ตรงเป้า ไม่ได้คะแนน เสียดาย”

เสียงทักท้วง ไม่ใช่คำชม แต่หากเป็นการติเพื่อก่อ … นายกฯ คงรอไม่ได้ ทิ้งไว้นานสนิมเกาะแล้วจะสตาร์ทเครื่องยาก

ขึ้นต้นเป็นลำไม้ไผ่ สร้างความกระดี๊กระด๊า ให้ประชาชาชน ได้แหงนมอง รอใช้ สำหรับนโยบายเงินดิจิทัล 10,000 บาทของพรรคเพื่อไทย แต่พอเหลาเข้าไปอาจกลายเป็นบ้องกัญชา เมื่อ “จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์” รมช.กระทรวงการคลัง ต้องตอบคำถามเรื่องการดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ที่ส่งให้คณะกรรมการกฤษฎีกาพิจารณาว่า ต้นปี 2567 กฤษฎีกาจะให้คำตอบกลับมา ทำได้ หรือ ไม่ได้

จุลพันธ์ ย้ำว่า กระบวนการนี้ไม่ได้เร่งรัด เพราะต้องให้คณะกรรมการกฤษฏีกาพิจารณาอย่างละเอียดรอบคอบ และไม่ได้มีการพูดกันในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) แต่มีการพูดคุยส่วนตัว และยืนยันว่าโครงการดิจิทัลวอลเล็ตยังอยู่ในกรอบเวลาเดิมคือช่วงเดือน พฤษภาคม 2567

ดังนั้นผู้ที่กำลังรอใช้เงินดิจิทัล ยังต้องร้องเพลงรอต่อไปอีกนาน …อีกเกือบครึ่งปีโน่น

ม้วนเดียวจบแบบไม่ต้องลุ้น เมื่อ “แมนรัตน์ รัตนสุคนธ์” อดีตอธิบดีกรมการปกครอง ได้รับการชื่อเป็นกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) คนใหม่แทน “สุภา ปิยะจิตติ” ซึ่งจะพ้นตำแหน่งหลังครบวาระปฎิบัติหน้าที่ครบ 9 ปีเต็ม

“แมนรัตน์” เพิ่งเกษียณอายุราชการในตำแหน่งอธิบดีกรมการปกครองเมื่อวันที่ 30 ก.ย.2566 ที่ผ่านมา ถือเป็นศิษย์เก่า “สิงห์ดำ” รัฐศาสตร์ จุฬาฯ ช่วงชีวิตรับราชการมีความแนบแน่นกับ “สุทธิพงษ์ จุลเจริญ” ปลัดกระทรวงมหาดไทยคนปัจจุบัน และเติบโตในยุคที่ “บิ๊กป็อก” พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา เป็น รมว.มหาดไทย

คนเก่าจากไป ขณะที่คนใหม่กำลังจะเริ่มงาน การเปลี่ยนแปลงเป็นสัจธรรมที่จริงแท้แน่นอน จึงต้องรอดูการทำงานของกรรมการ ป.ป.ช. คนใหม่ว่าจะมีประสิทธิภาพเพียงใด

อ่านข่าวเพิ่ม : 

นายกฯ ลาพักร้อนครั้งแรก ถูกโยง “โทนี่” ติดคุกครบ 120 วัน

ครม.เคาะงบ 4,900​ ล้านบาทหนุน 3 มาตรการแก้หนี้ทั้งระบบ

สว.เห็นชอบ “แมนรัตน์” นั่งบอร์ด ป.ป.ช.แทน “สุภา” ที่ครบวาระ 9 ปี

 

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่