‘ภูมิธรรม’ รับแนวคิด “ฝายแกนดินซีเมนต์” แก้แล้ง เป็นพื้นที่เก็บกักน้ำโดยไม่ต้องลงทุนขุดสระ อ่าง หรือเขื่อน โดยสร้างฝายแกนดินซีเมนต์กั้นลำน้ำเป็นช่วงๆ ก็จะได้น้ำมหาศาล หวังแก้ภัยแล้งทั่วประเทศ
เมื่อวันที่ 22 ธ.ค. 2566 ทำเนียบรัฐบาล รศ.ดร.สังศิต พิริยะรังสรรค์ ประธาน กมธ.การแก้ปัญหาความยากจนฯ วุฒิสภา พร้อมด้วยนายอภิชาติ โตดิลกเวชช์ รองประธานคณะกรรมาธิการฯ นายชีวะภาพ ชีวะธรรม และนางสาววนิดา ฮอร์ณ อนุกรรมาธิการฯ เข้าพบหารือและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกับ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ประเด็นสำคัญดังนี้
เรื่องการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำในมิติต่างๆ โดยหยิบยก 3 ประเด็นแก้จน เพื่อเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ได้แก่
1. แผนบรูณาการบริหาคจัดการแหล่งน้ำขนาดเล็ก เสนอแนวทางใหม่ เพื่อให้กระจายน้ำไปถึงประชาชนควรกำหนดเพิ่มเติม โครงการแหล่งน้ำขนาดเล็ก ด้วยฝายแกนดินซีเมนต์ เพื่อกำหนดสัดส่วนงบประมาณใหม่ให้เหมาะสม โดยมีแม่น้ำลำคลอง 22 ลุ่มน้ำ และแม่น้ำสายหลัก สายรอง และลำน้ำขนาดเล็กๆ อีกจำนวนมากมายนับไม่ถ้วนทั่วทุกจังหวัด เนื่องจากเป็นพื้นที่ต่ำสุดที่น้ำไหลไปรวมตัวกันตามธรรมชาติ เป็นพื้นที่เก็บกักน้ำโดยไม่ต้องลงทุนขุดสระ อ่าง หรือเขื่อน โดยสร้างฝายแกนดินซีเมนต์กั้นลำน้ำเป็นช่วงๆ ก็จะได้น้ำมหาศาล
2. กรณีความเหลื่อมล้ำกับไร้ที่ดินทำกิน เร่งรัดการทำงานของ คทช. ให้สำเร็จครบถ้วนตามเป้าหมาย เร่งแก้ 5 ปัญหาสำคัญ ได้แก่
(1) พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติประกาศทับซ้อนพื้นที่อยู่อาศัยทำกินของประชาชน
(2) กรณีการแก้ไขปัญหาการขออนุญาตพื้นที่ป่าไม้ และอุทยานเพื่อพัฒนาการทำฝายแกนดินซีเมนต์การสร้างถนนและสาธารณูปโภคพื้นฐานสำหรับชุมชน เพื่อเป็นฐานการพัฒนาด้านอาชีพในด้านต่างๆ เพื่อความอยู่ดีกินดีของประชาชนที่อยู่อาศัยทำกินในเขตคาบเกี่ยวกับพื้นที่ของกรมป่าไม้และกรมอุทยาน
(3) การเพิ่มศักยภาพของที่ดินในเขตป่าไม้เสื่อมโทรมที่มีประชาชนอยู่อาศัยทำกินอยู่แล้ว เพื่อพัฒนาอาชีพด้านการท่องเที่ยว
(4) การสำรวจถือครอง จัดสรรที่อยู่อาศัยทำกินในเขตที่รกร้างว่างเปล่าที่ดินสาธารณะประโยชน์ ที่ดินของรัฐอื่นๆ ที่ดินตาม พ.ร.บ. ป่าไม้ พุทธศักราช 2484 ที่ได้อยู่อาศัยทำกินอยู่ก่อนแล้วตามหลักเกณฑ์ของ “คทช.“ ให้อยู่อาศัยทำกินได้ตามระเบียบและกฎหมาย
(5) ประเด็นปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนที่ถูกแจ้งข้อกล่าวหากรณีบุกรุกยึดถือครอบครองที่ดินตาม พ.ร.บ. ป่าไม้ พุทธศักราช 2484 และไม่สามารถอยู่อาศัยทำกินในพื้นที่เดิมได้ในช่วงดำเนินการตามกระบวนการยุติธรรม
3. กรณีแก้จนพ้นเหลื่อมล้ำโดยเพิ่มรายได้ โดยชู 2 แนวทาง ได้แก่
(1) Scale up ผู้ประกอบการมืออาชีพ
(2) บริหารจัดการธุรกิจการตลาด S curve เกิดธุรกิจใหม่ รายได้ก้าวกระโดด
ผลการหารือ
นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ เห็นด้วยกับข้อเสนอของคณะกรรมาธิการฯ และสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการบริหารจัดการแหล่งน้ำขนาดเล็ก โดยจากการประชุม ครม.สัญจร ที่ผ่านมาที่ จ.หนองบัวลำภู ได้เสนออนุมัติการสร้างฝายแกนดินซีเมนต์ 92 โครงการ เพื่อแก้ปัญหาให้กับพี่น้องในพื้นที่ พร้อมกันนี้ รองนายกฯ ยินดีที่จะให้ทีมวิศวกรการสร้างฝายแกนดินซีเมนต์ของคณะกรรมาธิการฯ ร่วมเป็นที่ปรึกษาในการดำเนินการด้วย
สำหรับประเด็นปัญหาคนอยู่กับป่า ยังมีข้อกฎหมายที่เป็นปัญหาอุปสรรคในทางปฏิบัติ เพราะเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับหลายหน่วยงาน แม้จะมีการบูรณาการกัน แต่เมื่อยังไม่แก้กฎหมายทำให้การทำงานของเจ้าหน้าที่ลำบาก อย่างไรก็ตามจะเร่งดำเนินการ โดยเร่งจัดทำ One map ในการดำเนินการต่อไป
ต่อประเด็นด้านเศรษฐกิจ ซึ่งตนได้กำกับดูแลหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง พบว่า ยังมีปัญหาที่ต่างคนต่างทำ ซึ่งตอนนี้ได้มีการสร้างทีมพาณิชย์เพื่อยกระดับเศรษฐกิจของประเทศต่อไป
ท่านรองนายกรัฐมนตรีได้หารือถึงเรื่องจุดอ่อนบางประการของฝายแกนดินซีเมนต์ตามที่ได้ทราบมาคือ
ประเด็นแรก คือความสามารถของฝายแกนดินซีเมนต์ในการต้านทานแรงน้ำในหน้าน้ำว่ามีมากน้อยเพียงใด และจะสามารถต้านทานแรงน้ำได้จริงหรือไม่ และ
ประเด็นที่สอง คือการสร้างฝายแกนดินซีเมนต์ที่มีขนาดใหญ่ ยังมีผู้ที่วิตกว่าจะไม่ปลอดภัยพอในการใช้งาน การสร้างฝายแกนดินซีเมนต์ขนาดเล็กจะปลอดภัยกว่า และดีกว่าฝายขนาดใหญ่ใช่หรือไม่
สำหรับประเด็นแรก ประธานคณะกรรมาธิการฯ ได้กล่าวตอบว่าฝายแกนดินซีเมนต์เป็นฝายที่มีขนาดความสูงค่อนข้างน้อยเมื่อเทียบกับฝายประเภทอื่นๆ และเมื่อเปรียบเทียบกับปริมาณน้ำในหน้าน้ำ กล่าวคือฝายแกนดินซีเมนต์โดยทั่วไปมีความสูงระหว่าง 1 – 1.5 เมตร และถูกจำกัดความสูงไว้ไม่เกิน 2 เมตร ในขณะที่ปริมาณน้ำในหน้าน้ำมีความสูงระหว่าง 6-12 เมตร ดังนั้นฝายแกนดินซีเมนต์จึงเป็นฝายที่มักถูกเรียกกันว่า “ฝายดำน้ำ” หรือ “ฝายใต้น้ำ” ฉะนั้นในหน้าน้ำเมื่อน้ำไหลมาจึงท่วมตัวฝายไปได้ตลอดเวลา
ฝายประเภทนี้มิได้สร้างขึ้นมาเพื่อจุดมุ่งหมายที่จะเก็บน้ำไว้เป็นจำนวนมาก และมิได้มีจุดมุ่งหมายในการสร้างขึ้นเพื่อต่อต้านกำลังแรงของน้ำในหน้าน้ำ ดังนั้นเท่าที่ที่ผ่านมาฝายแกนดินซีเมนต์หรือฝายดำน้ำจึงสามารถอยู่ร่วมกับกระแสน้ำที่ไหลเชี่ยวกรากได้อย่างเป็นดี และยังไม่เคยมีข่าวว่าฝายดำน้ำจะถูกทำลายจากความรุนแรงของกระแสน้ำในหน้าน้ำจาก ณ ที่แห่งใดในประเทศไทย
ประการที่สอง ยังมีมีผู้ที่เข้าใจผิดเป็นจำนวนมากว่าฝายขนาดเล็กจะมีความปลอดภัยกว่าฝายขนาดใหญ่ เพราะความจริงแล้ว ความไม่ปลอดภัยของฝายขึ้นอยู่กับ “ความสูง” ของฝาย มิใช่ขนาด “ความกว้าง“ ของฝายแต่อย่างใด
ฝายแกนดินซีเมนต์โดยทั่วไปเน้นไปที่ความสูงระหว่าง 1.2 – 1.5 เมตรเป็นหลัก เพราะฉะนั้นถึงจะสร้างฝายที่มีขนาดตั้งแต่ 5, 10, 30, หรือ 50 -100 เมตร ก็ไม่มีความแตกต่างกัน แต่ฝายที่มีขนาด 50-100 เมตรและสูงเพียง 1.5 เมตร จะปลอดภัยกว่าฝายที่มีความกว้าง 10 เมตรแต่สูง 5 เมตร เพราะความไม่ปลอดภัยของฝายอยู่ที่ความสูงของฝาย มิใช่ความกว้างแต่ประการใด ฝายส่วนใหญ่ที่ถูกกระแสน้ำพัดทำลายนั้นเป็นเพราะมีส่วนสูงมากเกินไปนั่นเอง
ประธานคณะกรรมาธิการฯ ได้กล่าวเสริมว่า เพื่อเป็นการแบ่งปันประสบการณ์ระหว่างคณะกรรมาธิการฯ กับคณะทำงานของรัฐบาล คณะกรรมาธิการฯ มีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะใคร่ขอเรียนเชิญคณะทำงานของรัฐบาลร่วมเดินทางไปศึกษาและดูงานฝายแกนดินซีเมนต์ระหว่างวันที่ 10-12 มกราคม 2566 ที่จังหวัดน่าน พะเยาและเชียงราย ซึ่งจะมีคณะของวุฒิสภาจำนวนหนึ่งร่วมเดินทางไปศึกษาดูงานฝายแกนดินซีเมนต์ด้วย
ท่านรองนายกรัฐมนตรีได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ที่มีความพร้อมร่วมเดินทางไปศึกษาดูงานในครั้งนี้ด้วย และตัวท่านเองสนใจที่จะเดินทางไปศึกษาดูงานในครั้งนี้ด้วยเช่นเดียวกัน
ช่วงท้ายนายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ได้กล่าวขอบคุณคณะกรรมาธิการฯ ที่ได้มีข้อเสนอดีๆ และจะนำข้อเสนอต่างๆ ไปหารือกับหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องต่อไป