อดีตนายกรัฐมนตรี คนที่ 28 และถือเป็น “นายกรัฐมนตรีหญิง” คนแรกของไทย “น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ตกเป็นจำเลยในชั้นศาลหลายคดี บางคดีศาลพิพากษาจำคุก บางคดีศาลยกฟ้อง ไปแล้ว
ล่าสุดเมื่อวันที่ 26 ธ.ค.2566 หลังศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองเสียงข้างมากพิพากษา “ยกฟ้อง” น.ส.ยิ่งลักษณ์ และเพิกถอนหมายจับข้อหา ม.157 ในคดีโยกย้าย นายถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาธิการ สมช. มิชอบ ชี้ไม่มีเจตนาพิเศษสร้างความเสียหาย เอื้อประโยชน์เครือญาตินั่ง ผบ.ตร.
ปี 2566 ศาลฎีกายกฟ้อง คดีย้าย “ถวิล เปลี่ยนศรี”
ย้อนกลับไปตั้งแต่ปี 2554 เมื่อครั้ง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ดำรงตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรี” ขณะนั้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ ลงนามโยก นายถวิล เปลี่ยนศรี จากเลขาธิการ สมช. ไปปฏิบัติหน้าที่ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี
และเมื่อตำแหน่งเลขา สมช. ว่างลง ครม. จึงแต่งตั้ง พล.ต.อ.วิเชียร พจน์โพธิ์ศรี ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ให้ดำรงตำแหน่ง “เลขาธิการ สมช.” แทน
และเมื่อตำแหน่ง ผบ.ตร.ว่างลง เพียง 22 วัน คณะกรรมการนโยบายตำรวจแห่งชาติ ที่มี น.ส.ยิ่งลักษณ์ เป็นประธานก็มีมติเห็นชอบให้ พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ ดามาพงศ์ รอง ผบ.ตร. เข้ารับตำแหน่งแทน
พล.ต.อ.เพรียวพันธ์ เป็นพี่ชายของ คุณหญิงพจมาน ณ ป้อมเพชร อดีตภรรยาของ ทักษิณ ชินวัตร จึงถือว่ามีศักดิ์เป็น “พี่ชายของอดีตพี่สะใภ้” ของนายกฯ ยิ่งลักษณ์
ก่อนที่ นายถวิลจะไปยื่นร้องต่อศาลปกครองด้วยตัวเอง และ ก.พ.2557 ศาลปกครองสูงสุดมีคำสั่งให้เพิกถอนประกาศแต่งตั้งโยกย้าย นายถวิล เพราะชี้ว่า “เป็นการใช้ดุลยพินิจโดยมิชอบ อันเป็นการกระทำที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย”
คดีนี้มีคำพิพากษาที่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ แพ้มาแล้ว 2 ศาล คือ “ศาลปกครองสูงสุด” ที่มองการแต่งตั้งโยกย้ายใช้ดุลยพินิจมิชอบ และให้เพิกถอนประกาศแต่งตั้งโยกย้าย และ “ศาลรัฐธรรมนูญ” มีมติให้ความเป็นนายกรัฐมนตรีของ น.ส.ยิ่งลักษณ์ สิ้นสุดลง จากการแทรกแซงการแต่งตั้งโยกย้าย เพื่อเอื้อประโยชน์แก่เครือญาติ
แต่ในการพิพากษาเมื่อวันที่ 26 ธ.ค. องค์คณะผู้พิพากษาศาลฎีกา แผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อ่านคำพิพากษานี้ โดยชี้ถึงอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาคดีโดยไม่มีผลผูกพันกับ คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญและคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุดก่อนหน้านี้
ก่อนพิพากษายกฟ้อง และเพิกถอนหมายจับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ โดยชี้ว่า ไม่มีความผิดตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 และกฎหมาย ป.ป.ช.
เนื่องจากไม่ได้มีเจตนาพิเศษ เพื่อให้เกิดความเสียหาย การแต่งตั้งโยกย้ายครั้งนั้น เป็นการแก้ปัญหา ในการบริหารราชการแผ่นดิน ไม่มีเหตุผลพิเศษเฉพาะกรณี ไม่ได้ประสงค์จะกลั่นแกล้ง หรือไม่ได้มีความขัดแย้งส่วนตัว เป็นมูลเหตุจูงใจและกลั่นแกล้ง
อ่านข่าว : ยกฟ้อง-เพิกถอนหมายจับ “ยิ่งลักษณ์” พ้นคดีเด้งเลขาฯ สมช.
“น.ส.ยิ่งลักษณ์” ไม่ได้อยู่ในประเทศไทย นับตั้งแต่ถูกศาลฎีกาฯ มีคำพิพากษาจำคุก 5 ปี คดีปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริตในโครงการรับจำนำข้าว และถูกหมายจับใบแรกตั้งแต่ปี 2560
ไม่เพียงเท่านี้ มาไล่เรียงกันต่อที่ “น.ส.ยิ่งลักษณ์” ตกอยู่ในสถานะ “จำเลย”
ขณะนี้ศาลฎีกา ยังอยู่ระหว่างพิจารณาคดีปฏิบัติหน้าที่มิชอบ กรณีโครงการโรดโชว์-สร้างอนาคตไทย ซึ่งทำให้รัฐเสียหาย 240 ล้านบาท ซึ่งหากผิดก็อาจมีโทษจำคุกอีก อย่างไรก็ตามต้องจับตา บทสรุปในแต่ละคดีจะเป็นเช่นไร
คดีปล่อยปละละเลยให้มีการทุจริต “รับจำนำข้าว”
“คดีจำนำข้าว” ศาลฎีกาฯประทับรับฟ้องคดีจำนำข้าว เมื่อปี 2558 และศาลมีคำพิพากษาเมื่อปี 2560
อ่านข่าว : จำคุก 5 ปี “ยิ่งลักษณ์” ไม่รอลงอาญา คดีจำนำข้าว
“คดีจำนำข้าว” ศาลฎีกาฯประทับรับฟ้องคดีจำนำข้าว เมื่อปี 2558 และเมื่อเดือน ส.ค.2560 ศาลฎีกาแผนกคดีอาญานักการเมือง พิพากษาจำคุก น.ส.ยิ่งลักษณ์ 5 ปี โดยไม่รอลงอาญา พร้อมให้ออกหมายจับเพื่อนำตัวมารับโทษ คดีรับจำนำข้าว
ศาลพิเคราะห์ว่า คดีดังกล่าวเกี่ยวข้องโครงการรับจำนำข้าว ซึ่งก่อนหน้านี้ได้มีการท้วงติงจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ระงับยับยั้งการระบายข้าว เพราะอาจเกิดความเสียหาย แต่ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ก็ไม่ได้ปฏิบัติตามคำท้วงติงจนสร้างความเสียหายดังกล่าว
ออกหมายจับ “ยิ่งลักษณ์” โครงการโรดโชว์
วันที่ 19 เม.ย.2565 ศาลออกหมายจับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ อีกครั้ง คดีนี้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ยื่นฟ้อง น.ส.ยิ่งลักษณ์ และพวก ในข้อหาปฏิบัติหรือละเว้นการปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบ ใช้อำนาจในตำแหน่งโดยทุจริต โดยมุ่งหมายไม่ให้มีการแข่งขันราคาจัดจ้าง โครงการ Roadshow สร้างอนาคตประเทศไทย Thailand 2020 อย่างเป็นธรรม เพื่อเอื้อประโยชน์เอกชน จัดทำโครงการดังกล่าว โดยจำเลย 5 เดินทางมาศาล ยกเว้น น.ส.ยิ่งลักษณ์ แต่ได้มีเอกสารแต่งตั้งนายนพดล หลาวทอง เป็นทนายความ
จากนั้นศาลได้อ่านอธิบายคำฟ้องให้จำเลยทั้ง 6 ฟัง โดยจำเลยทั้งหมดปฏิเสธข้อกล่าวหา และทำหนังสือขอขยายระยะเวลาคำให้การ โดยศาลได้อนุญาตและได้นัดตรวจพยานหลักฐานในวันที่ 12 กันยายน 2565 พร้อมออกหมายจับ น.ส.ยิ่งลักษณ์ ที่ไม่เดินทางมาศาล โดยไม่แจ้งเหตุ และให้ ป.ป.ช.ดำเนินการติดตามตัวให้มารับฟังคดี
และคดีนี้ ยังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลฯ
กลุ่มคดีค้างในชั้น ป.ป.ช. อย่างน้อย 4 คดี
2.1 คดีซื้อขายข้าวแบบรัฐต่อรัฐ (จีทูจี) ภาค 2 ป.ป.ช. แจ้งข้อกล่าวหา ยิ่งลักษณ์ พร้อมพวก รวมถึงทักษิณ ชินวัตร และเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ อดีต สส.พรรคเพื่อไทย ท่ามกลางกระแสข่าว ท่ามกลางกระแสข่าว ป.ป.ช. กันชื่อ นายบุญทรง เตริยาภิรมย์ อดีต รมว.พาณิชย์ จำเลยคดีระบายข้าวจีทูจีไว้เป็นพยาน
2.2 คดีจ่ายเงินเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบทางการเมือง ระหว่างปี 2548 – 2553 ไม่มีกฎหมายรองรับ ทำรัฐเสียหาย 1.9 พันล้านบาท
2.3 คดีร่ำรวยผิดปกติที่เกี่ยวข้องกับโครงการรับจำนำข้าว
อ่านข่าว : ทักษิณ “Full Power” ยุติธรรมเอื้อตระกูลชินวัตร “จุดไม่ติด”
ป.ป.ช.ตีตก หลายข้อกล่าวหา
ขณะที่ คดีที่ ป.ป.ช.ตีตกข้อกล่าวหาในหลายคดี ได้แก่ คดีกล่าวหาว่า “ยิ่งลักษณ์-ครม.” รวม 34 ราย อนุมัติจ่ายเงินเยียวยาผู้ชุมนุม, คดีปล่อยปละละเลยให้ นายจารุพงษ์ เรืองสุวรรณ รมว.มหาดไทย ในขณะนั้นพร้อมพวกปราศรัยรุนแรงแบ่งแยกประเทศ , คดีปล่อยให้สถานี NBT ถ่ายทอดสดมวยไทยวอริเออร์ส เจตนาแพร่ภาพ “ทักษิณ”, คดีอนุมัติงบกลาง 120 ล้านบาทช่วยเหลือผู้ต้องขังคดีการเมือง, คดีกล่าวหาออก พ.ร.ก.กู้เงินจัดการน้ำฯ 3.5 แสนล้านบาท
คดีกล่าวหาว่าบริหารจัดการน้ำผิดพลาด จนเกิดน้ำท่วมใหญ่ปี 2554, คดีเพิกเฉยไม่ไต่สวนอดีต รมว.กลาโหม แทรกแซงแต่งตั้งปลัด กห., คดีให้สำนักงาน กศน.จัดทำป้ายพีอาร์รัฐบาล, คดีประกาศใช้ พ.ร.บ.ความมั่นคงฯ ช่วงการชุมนุม กปปส.
ทั้งหมดเป็นคดีที่อดีตนายกฯ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จะต้องกลับมาต่อสู้ตามกระบวนการยุติธรรมไทย
อ่านข่าวอื่น ๆ
ย้อนรอย “อดีต 9 นักการเมืองชื่อดัง” ถูกจองจำในคุกจริง
ศปถ.เปิดศูนย์ลดอุบัติเหตุปีใหม่ 2567 ตั้งเป้าลด 5% – เข้ม 7 วันอันตราย
ผ่านฟรี! เปิดมอเตอร์เวย์ “บางใหญ่-กาญจนบุรี” 27 ธ.ค.-3 ม.ค.นี้