ปภ. รายงานยังคงมีสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคใต้ 5 จังหวัด ได้แก่ สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส ภาพรวมสถานการณ์ระดับน้ำลดลงเกือบทุกพื้นที่
วันที่ 27 ธ.ค. 66 เวลา 10.00 น. ไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า สถานการณ์มรสุมตะวันออกเฉียงเหนือที่พัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้มีกำลังแรง ประกอบกับหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงปกคลุมบริเวณเกาะสุมาตราและทะเลอันดามันตอนล่าง ทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักถึงหนักมาก ทำให้ระหว่างวันที่ 22 – 27 ธันวาคม 2566 มีสถานการณ์น้ำท่วมใน 5 จังหวัด ได้แก่ สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส รวม 32 อำเภอ 165 ตำบล 922 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบจำนวน 71,401 ครัวเรือน โดยปัจจุบัน (ข้อมูลวันที่ 27 ธ.ค. 66 เวลา 06.00 น.) ยังคงมีสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้ รวม 5 จังหวัด 32 อำเภอ 164 ตำบล 890 หมู่บ้าน ประชาชนได้รับผลกระทบ 68,941 ครัวเรือน ได้แก่
1) สตูล เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 1 อำเภอ ได้แก่ อ.ควนโดน รวม 4 ตำบล 16 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 1,801 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง
2) สงขลา เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 3 อำเภอ ได้แก่ อ.คลองหอยโข่ง อ.สะบ้าย้อย และอ.รัตภูมิ รวม 9 ตำบล 29 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 836 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง
3) ปัตตานี เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 8 อำเภอ ได้แก่ อ.เมืองฯ อ.กะพ้อ อ.ทุ่งยางแดง อ.หนองจิก อ.โคกโพธิ์ อ.ไม้แก่น อ.ยะรัง และอ.สายบุรี รวม 30 ตำบล 95 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 8,360 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง
4) นราธิวาส เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 13 อำเภอ ได้แก่ อ.แว้ง อ.สุคิริน อ.จะแนะ อ.ระแงะ อ.สุไหงปาดี อ.ศรีสาคร อ.ยี่งอ อ.เจาะไอร้อง อ.รือเสาะ อ.เมืองฯ อ.บาเจาะ อ.ตากใบ และอ.สุไหงโก-ลก รวม 70 ตำบล 457 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 39,604 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง
5) ยะลา น้ำท่วมในพื้นที่ 7 อำเภอ ได้แก่ อ.ธารโต อ.ยะหา อ.บันนังสตา อ.เมืองฯ อ.กาบัง และอ.รามัน รวม 51 ตำบล 293 หมู่บ้าน บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบ 18,340 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง
ภาพรวมสถานการณ์ระดับน้ำลดลงเกือบทุกพื้นที่ สำหรับการแก้ไขปัญหาและให้การช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย โดยสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดได้ประสานจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องลงพื้นที่ช่วยเหลือผู้ประสบภัยและแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนอย่างเร่งด่วน โดยจัดตั้งจุดอพยพให้ประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนเข้าพักชั่วคราวจำนวน 6 จุด แจกจ่ายอาหาร น้ำดื่ม และถุงยังชีพให้แก่ประชนในพื้นที่รวมกว่า 189,000 ชุด และระดมกำลังเจ้าหน้าที่ชุดปฏิบัติการพร้อมเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัย อาทิ เครื่องสูบน้ำจำนวน 31 เครื่อง รถบรรทุกเครื่องสูบส่งระยะไกลจำนวน 5 คัน รถปฏิบัติการบรรเทาอุทกภัยจำนวน 5 คัน รถเคลื่อนย้ายผู้ประสบภัยจำนวน 14 คัน รถผลิตน้ำดื่มจำนวน 4 คัน รถขุดตักไฮดรอลิคจำนวน 1 คัน และเรือท้องแบนจำนวน 18 ลำ เพื่อแก้ไขปัญหา เร่งระบายน้ำ และบรรเทาความเดือดร้อนแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบ
สำหรับพื้นที่ที่สถานการณ์คลี่คลายแล้วได้ระดมกำลังเจ้าหน้าที่ฟื้นฟูพื้นที่ประสบภัยให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว เพื่อให้ประชาชนสามารถกลับมาดำเนินชีวิตได้ตามปกติโดยเร็วที่สุด รวมถึงจัดเจ้าหน้าที่เข้าสำรวจและจัดทำบัญชีความเสียหาย เพื่อดำเนินการช่วยเหลือตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ ต่อไป
มท.1 สั่งทุกหน่วยเร่งช่วยประชาชน
อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย กล่าวถึงสถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ในขณะนี้ว่า กระทรวงมหาดไทยลงพื้นที่ 3 ชายแดนภาคใต้ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส สตูล สงขลา แต่นราธิวาสหนักสุด ได้อพยพประชาชนออกมายังศูนย์พักพิง ซึ่งเป็นอาคารที่ให้มาพักอาศัย มีอาหาร และความปลอดภัยจากอุบัติภัยน้ำท่วม อีกทั้งผู้ว่าราชการจังหวัดทุกพื้นที่ ได้ประกาศเป็นพื้นที่ภัยพิบัติ เร่งดำเนินการช่วยเหลือ ส่วนงบประมาณต่างๆ ก็จะลงไปดูในพื้นที่อย่างเต็มที่
นอกจากนี้ เกรียง กัลป์ตินันท์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้ลงพื้นที่ 2 วันแล้ว และนายกรัฐมนตรีได้ลงพื้นที่ตรวจสถานการณ์น้ำท่วมในจังหวัดที่เกิดเหตุตั้งแต่เมื่อวาน (26 ธ.ค.) ซึ่งความร่วมมือ การช่วยเหลือ และการอำนวยหน่วยความสะดวกในพื้นที่ เราเร่งอย่างเต็มกำลัง