หน้าแรก Voice TV เปิดมติ ครม. ส่งเสริมศูนย์กลางท่องเที่ยว ลดภาษีสุราพื้นบ้าน

เปิดมติ ครม. ส่งเสริมศูนย์กลางท่องเที่ยว ลดภาษีสุราพื้นบ้าน

49
0
เปิดมติ-ครม.-ส่งเสริมศูนย์กลางท่องเที่ยว-ลดภาษีสุราพื้นบ้าน

เปิดมติที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ประจำวันที่ 2 มกราคม 2567 โดยมีหลายประเด็นสำคัญดังนี้

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (2 มกราคม 2567) มีมติเห็นชอบ และรับทราบ ตามที่กระทรวงการคลัง (กค.) เสนอชุดมาตรการ จำนวน 2 มาตรการ ส่งเสริมประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวและการใช้จ่าย

โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า มาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวเป็นนโยบายสำคัญของ ครม. ที่ได้แถลงต่อรัฐสภา จึงเห็นควรนำเสนอ ครม. พิจารณาให้ความเห็นชอบรายละเอียดมาตรการ เพื่อเร่งส่งเสริมการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายได้โดยเร็ว จำนวน 2 มาตรการ

1. การปรับปรุงโครงสร้างภาษีสรรพพสามิตเครื่องดื่มสินค้าสุราบางประเภท และการปรับลดอัตราภาษีสรรพสามิตเป็นการชั่วคราวสำหรับกิจการบันเทิงหรือหย่อนใจ และการยกเว้นอากรขาเข้าสินค้าไวน์ เพื่อจูงใจด้านราคาให้นักท่องเที่ยวใช้จ่ายซื้อสินค้าอาหารและเครื่องดื่ม และท่องเที่ยวหย่อยใจภายในประเทศเพิ่มมากขึ้น

1.1 การปรับปรุงโครงสร้างภาษีสรรพพสามิต สินค้าสุรา

วิธีการดำเนินการ – กค. (กรมสรรพสามิต) ได้ยกร่างกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่…) พ.ศ. … เพื่อปรับปรุงโครงสร้างภาษีสรรพสามิต ตอนที่ 13 สินค้าสุรา และปรับปรุงโครงสร้างภาษีสรรพสามิต ตอนที่ 17 กิจการบันเทิงหรือหย่อนใจ โดยมีรายละเอียดสรุปได้ดังนี้

(1) สุราแช่ชนิดไวน์และสปาร์กลิ้งไวน์ที่ทำจากองุ่น (Wine) ยกเลิกการจัดเก็บภาษีจากการแบ่งชั้นของราคา (Price Tier) และกำหนดให้มีการจัดเก็บเป็นอัตราเดียว (Unitary Rate) โดยปรับอัตราภาษีให้มีอัตราภาษีตามมูลค่าที่ร้อยละ 5 และอัตราภาษีตามปริมาณที่ 1,000 บาท ต่อปริมาณหนึ่งลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ 

(2) สุราแช่ผลไม้ที่มีส่วนผสมขององุ่นหรือไวน์องุ่น (Fruit Wine) ยกเลิกการจัดเก็บภาษีจากการแบ่งชั้นของราคา (Price Tier) และกำหนดให้มีการจัดเก็บเป็นอัตราเดียว (Unitary Rate) โดยปรับอัตราภาษีให้มีอัตราภาษีตามมูลค่าที่ร้อยละ 0 และอัตราภาษีตามปริมาณที่ 900 บาท ต่อปริมาณหนึ่งลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ 

(3) สุราแช่ชนิดอื่นๆ จากเดิมจัดเก็บภาษีอัตราตามมูลค่าร้อยละ 10 และอัตราตามปริมาณ 150 บาท ต่อปริมาณหนึ่งลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ ให้กำหนดอัตราภาษีโดยจำแนกพิกัดอัตราภาษีประเภทย่อย ดังนี้

3.1) อุ กระแช่ สาโท สุราแช่พื้นบ้านอื่น และสุราแช่ที่ใช้วัตถุดิบเป็นข้าวที่มีแรงแอลกอฮอล์ไม่เกิน 7 ดีกรี โดยกำหนดอัตราภาษีตามมูลค่าร้อยละ 0 และอัตราตามปริมาณ 150 บาท ต่อปริมาณหนึ่งลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ 

3.2) สุราแช่ ที่มีการผสมสุรากลั่นและมีแรงแอลกอฮอล์เกินกว่า 7 ดีกรี โดยกำหนดอัตราภาษีตามมูลค่าร้อยละ 10 และอัตราภาษีตามปริมาณ 255 บาท ต่อปริมาณหนึ่งลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์

– สุราแช่อื่นๆ นอกจาก 3.1 และ 3.2 โดยกำหนดอัตราภาษีตามมูลค่าร้อยละ 10 และอัตราภาษีตามปริมาณ 150 บาท ต่อปริมาณหนึ่งลิตรแห่งแอลกอฮอล์บริสุทธิ์

(4) สุราแช่ที่มิใช่เพื่อการค้า ได้มีการปรับโครงสร้างและอัตราภาษีให้สอดคล้องกับการปรับโครงสร้างภาษีและอัตราภาษีในครั้งนี้ โดยกำหนดอัตราภาษีตามมูลค่าร้อยละ 0 และอัตราภาษีตามปริมาณเท่ากับอัตราภาษีของสินค้าสุราแช่ ระยะเวลาดำเนินการ – ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศใน รจ. เป็นต้นไป

1.2 การปรับปรุงโครงสร้างภาษีสรรพสามิต กิจการบันเทิงหรือหย่อนใจ

วิธีการดำเนินการ – กค. (กรมสรรพสามิต) ได้ยกร่างกฎกระทรวงฯ เพื่อปรับปรุงโครงสร้างภาษีสรรพสามิต ตอนที่ 17 กิจการบันเทิงหรือหย่อนใจ โดยปรับลดอัตราภาษีตามมูลค่าจากอัตราร้อยละ 10 เป็นร้อยละ 5 สำหรับกิจการบันเทิงหรือหย่อนใจ ประเภทที่ 17.01 ได้แก่ ไนต์คลับ ดิสโกเธค ผับ บาร์ ค็อกเทลเลาจน์ โดยให้หมายความรวมถึงสถานที่ที่จำหน่ายอาหารและเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ โดยจัดให้มีการแสดงดนตรีหรือการแสดงอื่นใดเพื่อการบันเทิง ซึ่งปิดทำการหลังเวลา 24.00 น. เพื่อเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจในภาคการท่องเที่ยวและบริการ ให้สอดคล้องกับนโยบายสนับสนุนภาคการท่องเที่ยวของรัฐบาลระยะเวลาดำเนินการ – ตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศใน รจ. ถึง 31 ธ.ค. 67 (ตั้งแต่ 1 ม.ค. 68 จะกลับมาใช้อัตราภาษีตามมูลค่าเดิม คือ ร้อยละ 10)

1.3 การปรับปรุงโครงสร้างภาษีศุลกากรสินค้าไวน์

วิธีการดำเนินการ – กค. (กรมสรรพสามิต) ได้ยกร่างประกาศ กค. เรื่อง การลดอัตราอากรและยกเว้นอากรศุลกากรตามมาตรา 12 แห่ง พ.ร.ก.พิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 30 (ฉบับที่…) เพื่อปรับปรุงโครงสร้างภาษีศุลกากรสินค้าไวน์ให้สอดคล้องกับการปรับปรุงโครงสร้างภาษีสรรพสามิต โดยกำหนดให้ยกเว้นอากรศุลกากรสินค้าไวน์ทุกชนิดตามประเภทพิกัด 22.04 (ไวน์ที่ทำจากองุ่นสด และเกรปมัสต์) และ 22.05 (เวอร์มุท และไวน์อื่นๆ ที่ทำจากองุ่นสด ปรุงกลิ่นรสด้วยพืชหรือสารหอม) รวมทั้งสิ้น 21 ประเภทย่อย และให้ลดอัตราอากรจากร้อยละ 60 เป็นยกเว้นอากรระยะเวลาดำเนินการ – ให้มีผลใช้บังคับพร้อมร่างกฎกระทรวงฯ ตามข้อ 1.1 

2. การปรับปรุงหลักเกณฑ์การตรวจสินค้าเพื่อขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มของนักท่องเที่ยว (VAT Refund for Tourists) เพื่อลดปริมาณนักท่องเที่ยวที่ต้องเข้าคิวเพื่อแสดงสินค้าในกระบวนการขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่ม

วิธีการดำเนินการ – กค. (กรมสรรพากร) ได้ออกประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีมูลค่าเพิ่ม (ฉ. 254) เรื่องกำหนด หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ให้ผู้ที่เดินทางออกไปนอกราชอาณาจักรที่ซื้อสินค้าจากผู้ประกอบการจดทะเบียนเพื่อนำออกไปนอกราชอาณาจักรขอคืนภาษีมูลค่าเพิ่มที่ถูกเรียกเก็บไว้แล้วได้ ตาม ม.84/4 แห่งป. รัษฎากร ลงวันที่ 27 พ.ย. 66 และให้มีผลบังคับใช้แล้วตั้งแต่วันที่ 1 ธ.ค. 66 สรุปได้ดังนี้

– ปรับเพิ่มวงเงินซื้อสินค้าที่ต้องแสดงต่อเจ้าพนักงานศุลกากร จากเดิมตั้งแต่ 5,000 บาทขึ้นไป เป็น 20,000 บาทขึ้นไป ซึ่งจะลดจำนวนนักท่องเที่ยวที่ต้องแสดงสินค้าลงจาก 1.2 แสนรายต่อปี เหลือประมาณ 30,000 รายต่อปี หรือลดลงประมาณร้อยละ 75

– ปรับเพิ่มมูลค่าสินค้าที่ต้องนำไปแสดงต่อเจ้าพนักงานสรรพากร 9 รายการ (Luxury Goods) ได้แก่ เครื่องประดับ ทองรูปพรรณ นาฬิกา แว่นตา ปากกา สมาร์ทโฟน แล็ปท็อปหรือแท็บเล็ต กระเปา (ไม่รวมกระเปาเดินทาง) เข็มขัด จากเดิมมูลค่าต่อชิ้นตั้งแต่ 10,000 บาทขึ้นไป เป็น 40,000 บาทขึ้นไป และปรับเพิ่มมูลค่าของที่สามารถถือขึ้นเครื่องได้ (carry-on) จากเดิมมูลค่าต่อชิ้นตั้งแต่ 50,000 บาทขึ้นไป เป็น 100,000 บาทขึ้นไป

ในภาพรวม มาตรการดังกล่าวที่ กค. เสนอ จะส่งผลให้การจัดเก็บรายได้ภาษีสรรพสามิตและภาษีศุลกากรเพิ่มขึ้นสุทธิประมาณ 401 ล้านบาทต่อปี และ GDP ขยายตัวเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.0073

ครม.รับทราบข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริต

ขณะเดียวกันคณะรัฐมนตรีรับทราบข้อเสนอแนะเพื่อป้องกันการทุจริต กรณีโครงการที่ได้รับเงินสนับสนุนจาก “กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน” ในกลุ่มงานส่งเสริมอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนเศรษฐกิจฐานรากโครงการระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อการเกษตร สำหรับบ่อบาดาล ตามที่คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (คณะกรรมการ ป.ป.ช.) เสนอ 

คารม กล่าวว่า คณะกรรมการ ป.ป.ช. ได้มีการศึกษาเพื่อเฝ้าระวังในโครงการที่ได้รับเงินสนับสนุนจาก “กองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน” ในกลุ่มงานส่งเสริมอนุรักษ์พลังงานและพลังงานทดแทนเศรษฐกิจฐานรากโครงการระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อการเกษตร สำหรับบ่อบาดาล พบประเด็นในขั้นตอนต่าง ๆ ของโครงการอาจนำไปสู่การทุจริตและประพฤติมิชอบ ดังนี้ 1.การจัดสรรงบประมาณ 2.การยื่นขอโครงการต่อกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน 3.การจัดซื้อจัดจ้าง 4.กรรมสิทธิ์และการบำรุงรักษา 5.การใช้ประโยชน์จากทรัพย์สินและความคุ้มค่า 6.การติดตามและประเมินผลโครงการ และ 7.การเปิดเผยข้อมูลโครงการเพื่อให้เกิดความโปร่งใส

ครม.มอบหมายให้กระทรวงพลังงานเป็นหน่วยงานหลักรับเรื่องนี้ไปพิจารณาร่วมกับกระทรวงการคลัง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงมหาดไทย กระทรวงอุตสาหกรรม สำนักงบประมาณ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ได้ข้อยุติ โดยให้กระทรวงพลังงานสรุปผลการพิจารณา ผลการดำเนินการ ความเห็นในภาพรวม แล้วส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายใน 30 วัน นับจากวันที่ได้รับแจ้งจากสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเพื่อนำเสนอคณะรัฐมนตรีต่อไป

เห็นชอบร่างความร่วมมือในโครงการภายใต้กองทุนพิเศษแม่โขง-ล้านช้าง ประจำปี พ.ศ.2566

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในโครงการภายใต้กองทุนพิเศษแม่โขง-ล้านช้าง ประจำปี พ.ศ.2566 ตามที่กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) เสนอ ดังนี้

1.เห็นชอบร่างบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในโครงการภายใต้กองทุนพิเศษแม่โขง-ล้านช้าง ประจำปี พ.ศ.2566 ทั้งนี้ หากมีคามจำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุงถ้อยคำของร่างบันทึกความเข้าใจฯ ในส่วนที่มิใช่สาระสำคัญเพื่อให้สอดคล้องกับผลประโยชน์และนโยบายของไทย ขอให้ อว. หารือร่วมกับกรมสนธิสัญญาและกฎหมาย กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เพื่อพิจารณาดำเนินการในเรื่องนั้น ๆ โดยไม่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาอีก

2.อนุมัติให้ปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม หรือผู้ที่ได้รับมอบหมายเป็นผู้ลงนามในร่างบันทึกความเข้าใจฯ

สาระสำคัญของร่าง ฯ สรุปได้ดังนี้ 1.หลักการเบื้องต้น เพื่อสร้างประชาคมที่มีอนาคตร่วมกันแห่งสันติภาพและความมั่งคั่งในบรรดาประเทศสมาชิกแม่โขง-ล้านช้าง 2.โครงการและหน่วยงานดำเนินโครงการ ฝ่ายจีนได้พิจารณาโครงการที่เสนอขอรับการสนับสนุนงบประมาณในปี 2566 ของไทย โดยมีโครงการที่ได้รับอนุมัติ จำนวน 13 โครงการ เช่น โครงการเชื่อมโยงและยกระดับขีดความสามารถด้านสมุนไพรในพื้นที่ลุ่มแม่น้ำโขงด้วยเทคโนโลยีสีเขียว โดยมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ โครงการการพัฒนาและสาธิตระบบการรู้จำและตรวจจับข้อมูลสำหรับกระบวนการเลี้ยงโคเนื้อและการบริหารจัดการฟาร์มในภูมิภาคแม่โขงล้านช้าง โดยมหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง เป็นต้น

3.การจัดสรรงบประมาณและบริหารงบประมาณ ฝ่ายจีนจะจัดสรรงบประมาณให้กับฝ่ายไทย ภายใน 20 วันทำการ หลังจากที่ได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจฯ (รวมเป็นเงิน 2,834,101 ดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 103.1 ล้านบาท) 4.การบริหารจัดการโครงการ ฝ่ายไทยจะใช้มาตรการที่จำเป็นและเหมาะสมในการกำหนดความรับผิดชอบของหน่วยงานดำเนินโครงการ ทั้งนี้ ให้ถือว่าวันที่ลงนามบันทึกความเข้าใจฯ เป็นวันเริ่มต้นโครงการ

5.การกำกับดูแลการตรวจสอบและการประเมินผล ฝ่ายไทยจะเร่งรัดหน่วยงานดำเนินโครงการจัดทำรายงานผลการดำเนินโครงการและเบิกจ่ายให้แล้วเสร็จ ภายใน 2 เดือน หลังโครงการเสร็จสมบูรณ์ และ 6.ระยะเวลา บันทึกความเข้าใจฯ มีผลบังคับใช้ในวันที่ลงนามและมีระยะเวลา 5 ปี โดยจะได้รับการต่ออายุโดยอัตโนมัติเป็นเวลา อีก 5 ปี

เห็นชอบรายงานการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ ฉบับที่ 8 

นอกจากนีิ้ยังมีมติเห็นชอบรายงานผลการดำเนินงานของประเทศไทยตามอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ ฉบับที่ 8 ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) เสนอ

อนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ (อนุสัญญาฯ) เป็นหนึ่งในสนธิสัญญาระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนที่สหประชาชาติจัดทำขึ้นเพื่อเป็นแนวทางในการปรับปรุงและประกันพัฒนาการและความก้าวหน้าอย่างเต็มที่ของสตรี โดยประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาฯ เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2528 โดยการภาคยานุวัติ ส่งผลให้รัฐบาลไทยต้องเสนอรายงานของประเทศต่อคณะกรรมการประจำอนุสัญญาฯ เพื่อชี้แจงถึงมาตรการต่างๆ ที่ได้นำมาเพื่อใช้ปฏิบัติงานตามอนุสัญญาฯ 

พม. ได้จัดทำรายงานฯ ฉบับที่ 8 ซึ่งครอบคลุมผลการดำเนินงานในปี 2554-2566 ด้วยการรวบรวมข้อมูลสถานการณ์ พร้อมทั้งปัญหาและอุปสรรคในการปฏิบัติตามอนุสัญญาฯ จากนั้นได้จัดประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนการปฏิบัติตามอนุสัญญาว่าด้วยการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรีในทุกรูปแบบ เพื่อนำเสนอข้อมูลและร่วมกันพิจารณา รวมถึงให้ข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะในการจัดทำเป็น (ร่าง) รายงานฯ และแจ้งเวียนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อพิจารณาความถูกต้องและให้ความเห็นชอบต่อ (ร่าง) รายงานฯ ในขั้นสุดท้าย เพื่อให้ได้รายงานฯ (ฉบับสมบูรณ์) ภายหลังจากหน่วยงานต่างๆ ให้ความเห็นชอบต่อรายงานฯ (ฉบับสมบูรณ์) เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

โดยรายงาน ฯ ฉบับที่ 8 มีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

1. ประเทศไทยมีความก้าวหน้าในการส่งเสริมสิทธิและความเสมอภาคระหว่างเพศ ซึ่งเป็นผลมาจากการที่รัฐบาลไทยมีมาตรการและกลไกเพื่อส่งเสริมสิทธิและสถานภาพสตรี เพื่อสร้างความเท่าเทียมอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สตรีทุกคนในประเทศสามารถเข้าถึงและใช้สิทธิมนุษยชนของตนเองได้ตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและกฎหมายสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ 

2. ด้านกฎหมาย มีการดำเนินการที่สำคัญ เช่น 

– ความก้าวหน้าในการจัดทำกฎหมายเพื่อปรับปรุงกฎหมายที่มีนัยยะเลือกปฏิบัติระหว่างเพศ 

– การดำเนินการวิเคราะห์เนื้อหากฎหมายที่มีผลบังคับใช้ในปัจจุบันที่เกี่ยวข้องกับสิทธิทางเพศระหว่างหญิงชาย และผู้ที่แสดงออกแตกต่างจากเพศกำเนิด ซึ่งพบว่ามีกฎหมายที่มีเนื้อหาบางส่วนมีนัยยะในการเลือกปฏิบัติระหว่างเพศ จำนวน 3 ฉบับ คือ ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ประมวลกฎหมายอาญา และพระราชบัญญัติสัญชาติ พ.ศ. 2508

3. รัฐบาลไทยได้พยายามแก้ไขปัญหาต่างๆ มาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในทางกฎหมาย นโยบาย และการปฏิบัติ ประกอบกับองค์กรภาคเอกชน องค์กรชุมชน และภาคประชาสังคมได้เข้ามามีบทบาทสำคัญร่วมกับภาครัฐในการปกป้องผลประโยชน์ของสตรีอย่างเข้มแข็ง โดยมีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินการส่งเสริมสิทธิของคนทุกกลุ่มในสังคม ตลอดจนเร่งรัดสร้างความรู้ความเข้าใจในเรื่องสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานให้มากขึ้น เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกคนในประเทศอย่างเท่าเทียมกัน เกิดการยอมรับในความเสมอภาคและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ อันเป็นพื้นฐานของการอยู่ร่วมกันโดยสันติสุข

4. ประโยชน์และผลกระทบจากการดำเนินการตามอนุสัญญาฯ ได้แก่ (1) ระดับประเทศ ประชาคมโลกเห็นถึงความจริงจังและความก้าวหน้าของประเทศไทยในการส่งเสริมสถานภาพและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของสตรี ความเสมอภาคระหว่างเพศ รวมทั้งการกำหนดมาตรการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรี รวมทั้งส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีแก่ประเทศไทยในเวทีระหว่างระเทศ

(2) ระดับสังคม ได้รับทราบถึงการดำเนินการส่งเสริมสถานภาพและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของสตรี การส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ รวมทั้งการกำหนดมาตรการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรี และ (3) ระดับประชาชน ประชาชนเกิดความมั่นใจและเชื่อมั่นต่อการดำเนินการของรัฐบาลไทยในการขจัดการเลือกปฏิบัติต่อสตรี และประชาชนมีหลักประกันสิทธิและเสรืภาพของตนซึ่งทัดเทียมกับมาตรฐานสากล ตลอดจนเกิดความเสมอภาคต่อประชาชนทุกเพศ มีคุณภาพชีวิตที่ดี อยู่ร่วมกันอย่างสงบสุขและมีสันติในการดำรงชีวิตบนพื้นฐานของการเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

ทั้งนี้ มอบหมายให้ กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) ดำเนินการเสนอรายงานฯ ฉบับภาษาอังกฤษ ต่อคณะกรรมการประจำอนุสัญญาฯ ซึ่งกำหนดส่งรายงานภายในวันที่ 25 ธันวาคม 2566 และขณะนี้ได้พ้นกำหนดระยะเวลาดังกล่าวแล้ว ซึ่ง พม. ได้ประสาน กต. เพื่อแจ้งสำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติทราบว่า ประเทศไทยจะเร่งดำเนินการให้สามารถจัดส่งรายงานฯ ได้ภายหลังที่ ครม. มีมติเห็นชอบในวันที่ 2 มกราคม 2567

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่