‘สุทิน’ แจงละเอียดยิบ ย้ำตัดงบกลาโหมพรวดพราดไม่ได้ ส่งผลต่อขวัญกำลังใจกองทัพ การปฏิรูปต้องใช้เวลา ลั่นมานั่ง ‘รมว.กลาโหม’ จุดยืนคงเดิม ไม่คิดซูเอี๋ยทหาร
วันที่ 4 ม.ค. ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎร วาระพิจารณาร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี 2567 ต่อเนื่องเป็นวันที่ 2 สุทิน คลังแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม กล่าวชี้แจง โดยระบุว่า ต้องขอบคุณสมาชิกทุกท่าน เพราะทราบดีว่ากระทรวงกลาโหม ที่สมาชิกได้ตั้งคำถามมาตลอด รวมถึงตนเองเมื่อคราวยังเป็นฝ่ายค้านก็ตั้งคำถามเช่นกัน
จะปลดตำแหน่งต้องดูขวัญกำลังใจ
สำหรับข้อซักถามว่าเหตุใดงบกองทัพไม่ลด แต่เพิ่มขึ้นอยู่ตลอด และเหตุใดงบกองทัพจึงยังมาก แม้อยู่ในภาวะวิกฤต ซึ่งแต่เดิมตนเองก็เคยคิดว่างบประมาณของกลาโหมสูง แต่เมื่อมาเทียบกับกระทรวงอื่นแล้วไม่ได้มาก และความจริงงบประมาณของกองทัพมีการลดลง แต่การจัดสรรงบของกองทัพไม่ได้เหมือนกับกระทรวงอื่นๆ เพราะไม่ได้ปรับจากงบประมาณฐานข้อมูลเดิม แต่ขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของประเทศ ว่ามีสัญญาณภัยคุกคามหรือไม่
สุทิน ยืนยันว่า งบประมาณของกลาโหมเพิ่มขึ้น แต่เพิ่มในสัดส่วนที่ลดลง เมื่อเทียบกับงบประมาณแผ่นดิน เพียงแต่อาจจะเห็นว่ายอดสูงขึ้น และเมื่อเทียบกับ GDP กลุ่มประเทศในอาเซียนและเอเชีย ไม่ได้มีงบด้านความมั่นคงสูง และปัจจุบันกระทรวงกลาโหมมีแผนการดำเนินการปรับลดกำลังพลระยะ 5 ปี ซึ่งตนจะพยายามทำให้สำเร็จเร็วขึ้นก่อนปี 2570 การปฏิรูปจะรีบไม่ได้ ต้องใช้เวลา เพราะต้องดูขวัญกำลังใจของกำลังพล
สำหรับการลดกำลังพลระดับนายพลให้เร็วขึ้น โดยไม่กระทบขวัญกำลังใจ คือการทำโครงการ Early Retire ซึ่งจะประหยัดงบประมาณได้มากกว่าหากให้ทหารระดับนายพลเกษียณอายุราชการเร็วขึ้น ตนเองเพิ่งมา 3 เดือน หากจะลดงบด้านกำลังพลลง ต้องปลดหลายตำแหน่ง แต่ทำไม่ได้ เพราะคนไม่ใช่อิฐ เพราะเรื่องขวัญกำลังใจมีความอ่อนไหวมาก แต่งบประมาณดังกล่าวจะค่อยๆ ลดลงในปีต่อไป และจะมีความพยายามยุบหน่วยที่ไม่จำเป็น รวมถึงการควบรวม
ส่วนการงดเกณฑ์ทหารนั้น สุทิน กล่าวว่า ใช้วิธีปรับลดยอดรับทหารกองประจำการลง แล้วจูงใจให้คนมาสมัครเพิ่มมากขึ้น ทั้งการไม่หักเบี้ยทหารเกณฑ์ ให้การศึกษาโดยตลอดไม่ต้องดรอปเรียน และเพิ่มโอกาสได้รับข้าราชการ สำหรับจำนวนทหารเกณฑ์ที่ต้องการนั้นไม่สามารถบอกได้ ต้องดูตามสถานการณ์และความเสี่ยงจะเกิดสงครามหรือไม่
เรือดำน้ำเลือกทางไหนก็โดน
สุทิน กล่าวถึงกรณีการจัดซื้อเรือดำน้ำ ที่ถูกวิจารณ์ว่าเสียเปรียบนั้น ต้องเรียนว่าเป็นผลของรัฐบาลที่แล้ว ซึ่งตนต้องเข้ามาแก้ และดูแล้วจะแก้อย่างไรก็โดนหมด หากดำเนินการต่อก็มีปัญหา สมัยเป็นฝ่ายค้านก็วิจารณ์ หากจะเปลี่ยนเป็นเรือฟริเกต เมื่อโยนหินถามทาง เพราะอยากฟังความเห็นทุกฝ่าย แล้วก็ยังโดนอีก
“เรือดำน้ำนี่ซื้อมาหลายปี เราจ่ายเงินไปแล้ว หลายงวด หลายคนบอกยกเลิกสัญญาเลยสิ ถ้ายกเลิกแล้วได้เงินคืน ผมยกเลิกวันพรุ่งนี้แหละ แต่ถ้ายกเลิกแล้วไม่ได้คืน เรื่องอะไรล่ะ เราไปเสียเงินทิ้ง ตั้ง 6 พันกว่าล้านแล้ว” สุทิน กล่าว
สุทิน ย้ำว่า การแก้ปัญหาเรือดำน้ำต้องยึดประโยชน์ของกองทัพเรือ เรื่องเงิน และเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ไม่ได้ง้อจีน แต่ยุทธศาสตร์ทางเศรษฐกิจที่เราทำร่วมกับจีน ไทยได้ประโยชน์ร่วม 2 แสนล้าน แต่ถ้ายอมยกเลิกเพื่อเงิน 6 พันล้าน เป็นทางออกที่ไม่ฉลาด วันนี้จึงถามไปที่อัยการสูงสุด ว่ายกเลิกข้อตกลงได้หรือไม่โดยไม่ผิด ซึ่งคาดว่าอีก 1-2 วันจะได้คำตอบ และได้คำอธิบายดีๆ ต่อต่างประเทศ
ทร. ถูกจีบเชิงบังคับ มาช่วยทำสนามบิน
ขณะที่การกู้เรือหลวงสุโขทัย ยังอยู่ระหว่างการสอบสวนสาเหตุการจมจากลำเรือ ดังนั้น จึงจำเป็นต้องนำโคลนซึ่งฝังเรืออยู่ออกก่อน โดยไม่ใช่การทำลายหลักฐานแต่อย่างใด รวมถึงการอภิปรายว่า เหตุใดกองทัพเรือจึงยุ่งเกี่ยวกับภารกิจก่อสร้างรันเวย์สนามบิน แต่ภารกิจนี้ กองทัพเรือปฏิเสธไม่อยากทำ เพราะไม่ใช่ภารกิจหลัก แต่รัฐบาลขอร้องให้กองทัพเรือช่วยเป็นองคาพยพขับเคลื่อน EEC ซึ่งอู่ตะเภาเป็นพื้นที่ของกองทัพเรือ รัฐบาลจึงจีบเชิงบังคับให้กองทัพเรือมาเป็นหนึ่งในภาคี โดยกองทัพเรือต้องแบกรับภาระงบประมาณที่เพิ่มมาด้วย และบอร์ด EEC ก็มีมติให้กองทัพเรือกู้เงินจากต่างประเทศ ในฐานะเจ้าของพื้นที่
ไม่ได้ดาวน์น้อย แต่ถูกตัด
สำหรับข้อกล่าวหาของสมาชิกที่ว่า เป็นยุค สุทิน ดาวน์น้อย ผ่อนนาน เพื่ออำพรางงบจัดซื้ออาวุธนั้น สุทิน กล่าวว่า ความจริงเม็ดเงินแบ่งเป็น คือ 15% เม็ดเงินต้องจ่ายล่วงหน้า อีก 5% คือการจ่ายจริง ซึ่ง กระทรวงกลาโหมได้ขอดาวน์ก้อนแรก 20% แต่สำนักงบประมาณได้ตัดลงเหลือ 15% ซึ่งก็มีเหตุผลรับฟังได้ เนื่องจากงบประมาณปี 2567 เหลือเวลาใช้อยู่อีกเพียง 4 เดือน จึงถูกปรับลดลง โดยไม่ได้นำไปอำพรางการซื้ออาวุธแต่อย่างใด
สุทิน ยังชี้แจงถึงโครงการหนองวัวซอโมเดล ที่นำที่ดินของทหารมาให้ประชาชนใช้ประโยชน์ สำหรับที่ดินของทหารในส่วนอื่นๆ นั้น แบ่งออกเป็น ที่ดินตั้งหน่วย สนามฝึกซ้อมรบ และพื้นที่ทางความมั่นคง บริเวณชายแดน ซึ่งที่ประเภทดังกล่าวจะไม่สามารถให้ประชาชนเข้าไปใช้ได้เลย เผื่อเกิดกรณีมีศึกสงครามและทหารต้องใช้พื้นที่นั้น จึงต้องสงวนไว้
“ผมมาเป็นรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม ก็ไม่ลืมจุดยืนและตัวตนคนเดิม เคยอภิปรายกองทัพไว้อย่างไร และที่ไม่ลืมที่สุดก็คือ อยากจะให้กองทัพทันสมัย เมื่อเข้ามาก็พยายามทุกอย่าง แต่หลายอย่าง มันจะพุ่งโครมครามๆ ไม่ได้ ต้องใช้เวลา ต้องใช้กลยุทธ์ในการปรับเปลี่ยน ขอเวลาได้พิสูจน์ต่อไป แต่ยืนยันให้ทุกท่านมั่นใจว่า ไม่ได้เข้ามาเพื่อซูเอี๋ยกับกองทัพ” สุทิน ทิ้งท้าย