วันนี้ (5 ม.ค.67) นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รมช.คลัง โพสต์ X ชี้แจงการจัดทำร่าง พ.ร.บ.งบประมาณประจำปี 2567 ในหลายประเด็น ดังนี้
อ่านข่าว : “เศรษฐา” ร่ายยาวแจงใช้งบปี 2567 วงเงิน 3.48 ล้านล้านบาท
การจัดสรรงบประมาณแผ่นดิน
ไม่มีกติกากำหนดว่า ช่วงวิกฤตหรือไม่วิกฤตจะต้องปรับลดหรือเพิ่มส่วนไหน เท่าไร บางปีลดเยอะ บางปีลดน้อย ในบางครั้งที่มีการอนุมัติงบประมาณแผ่นดินแล้ว แต่เมื่อเกิดเหตุการณ์เฉพาะหน้าขึ้น เช่น การจัดเก็บรายได้ไม่เข้าเป้า หรือเหตุการณ์อื่น ๆ ก็เคยมีปรากฎว่า รัฐบาลในอดีตได้ให้หน่วยงานแต่ละส่วนไปลดทอนสัดส่วนงบประมาณของตนลง ไม่ได้ลดเฉพาะกระทรวงใดกระทรวงหนึ่ง แต่เป็นการลดแบบ across the board ที่ทุกส่วนงานก็จะทอนส่วนของตัวเองลงตามความเหมาะสม เพื่อประคับประคองสภาวะเศรษฐกิจและงบประมาณแผ่นดินในปีนั้น ๆ
อ่านข่าว : “จุลพันธ์” ผิดหวัง “ศิริกัญญา” หยิบตัวเลข GDP บางส่วนมาอภิปรายงบฯ 67
การจัดการงบประมาณต่อจากรัฐบาลก่อนหน้า
งบประมาณส่วนหนึ่งเป็นการสานต่อโครงการของรัฐบาลก่อนหน้าจริง และเป็นไปตามข้อผูกพันทางกฎหมาย หรือรัฐธรรมนูญ เช่น โครงการพัฒนาศักยภาพประเทศในด้านต่าง ๆ ซึ่งจำเป็นต้องทำอย่างต่อเนื่อง เราก็ต้องทำต่อให้แล้วเสร็จ
ส่วนงบประมาณอื่นๆ เช่น งบประมาณในการเจรจาความระหว่างประเทศ งบประมาณเงินเดือนของข้าราชการ งบประมาณค่าสมาชิกขององค์กรความระหว่างประเทศ ค่าเบี้ยเลี้ยงผู้สูงอายุ ค่าเงินคนพิการ และงบประมาณในอีกหลายด้าน รวมเป็นจำนวนราว 2 ล้านกว่าล้านบาท ซึ่งมากกว่ากึ่งหนึ่งของงบประมาณทั้งหมด และรัฐบาลปัจจุบันไม่สามารถปรับเปลี่ยนงบประมาณในส่วนนี้ได้ครับ
งบประมาณอีกส่วนหนึ่งที่มีอยู่ราว 1.5 ล้านล้านบาท ได้รับการจัดสรรและปรับเปลี่ยนภายในระยะเวลา 3 เดือนที่ผ่านมาเรียบร้อยแล้วครับ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลชุดปัจจุบัน
อ่านข่าว : “สุริยะ” ผุดแผนพัฒนา “สถานีขนส่งกรุงเทพแห่งใหม่” หนุนเดินทางไร้รอยต่อ
ฉะนั้นจะมีทั้งงบประมาณส่วนที่รัฐบาลปรับแล้ว และส่วนที่ไม่สามารถปรับได้ แต่โดยรวมงบประมาณได้รับการจัดสรรให้เป็นไปตามนโยบาลของรัฐบาลชุดปัจจุบันที่เราได้แถลงต่อรัฐบสภา เมื่อเดือน ก.ย.2023
สำหรับปีหน้า สัดส่วนที่เป็นงบประมาณผูกพันก่อนเก่าก็จะลดทอนลงและมีการทำโครงการใหม่ ๆ ที่จะยิ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลชุดนี้มากขึ้น จะมีโครงการจำนวนมากขึ้นที่จะริเริ่มโดยรัฐบาลชุดปัจจุบัน เช่น นโยบาย Land Bridge เชื่อมอ่าวไทย – อันดามัน หรือการพัฒนาการลงทุนใน EEC ที่จะเกิดเพิ่มขึ้นในอีก 2 – 3 ปี ข้างหน้า
บทบาทหน้าที่ของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์
ส่วนงานของธนาคารรัฐ ไม่ว่าจะเป็น ธ.ก.ส. หรืออื่น ๆ ก็ตาม ต่างมีภารกิจหน้าที่โดยจำเพาะตาม พ.ร.บ.จัดตั้ง เพื่อช่วยเหลือประชาชนในกลุ่มต่าง ๆ เช่น ออมสินดูแลลูกค้ารายย่อย ธ.อ.ส. ดูแลเรื่องบ้านและที่อยู่ของผู้ที่มีรายได้น้อย ธ.ก.ส. ก็ได้รับหน้าที่ดูแลพี่น้องเกษตรกรโดยตรงซึ่งเรื่องการจำนำข้าวก็เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องโดยตรงกับส่วนงาน และที่ผ่านมา ธ.ก.ส. ก็ทำได้อย่างสมบูรณ์
อ่านข่าว : “สุทิน” ชี้แจงสภาฯ ทุกประเด็น รอ อสส.ตอบปม “เรือดำน้ำ” เชื่อมีทางออก
โครงการดิจิทัลวอลเล็ต
การเลือกเส้นทางการออก พ.ร.บ.การกู้เงิน เป็นวิธีการที่ตรงไปตรงมาที่สุดแล้ว เพราะในสภาผู้แทนฯ ไม่ว่าจะฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาลสามารถอภิปราย ถกกัน ตั้งกรรมาธิการ ปรับลดทอน เพิ่มหรือแก้ไขเนื้อหาอย่างไรก็เป็นสิทธิของสมาชิก เป็นช่องทางที่มีความโปร่งใส และตรวจสอบโดยสมาชิกตัวแทนของประชาชนอยู่แล้ว จึงไม่ปรากฏอยู่ในงบประมาณแผ่นดินปี 67
การจัดการกระตุ้นเศรษฐกิจ โครงการดิจิทัลวอลเล็ต อยู่ในกรอบวินัยการเงินการคลัง หนี้สาธารณะเราอยู่ในระดับ 62% ถ้ากู้ 5 แสนล้านบาทเต็ม เราก็ขยับไปอยู่ที่ 64% อยู่ในกรอบที่สามารถบริหารจัดการได้ ไม่ได้มีภาระหรือความเสี่ยงใด ๆ ตามมา
จากที่ได้พูดคุยทางโทรศัพท์กับคุณดนัย เอกมหาสวัสดิ์ และคุณอมรรัตน์ มหิทธิรุกข์ ในรายการเจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand และ คุณสรยุทธ สุทัศนะจินดา ในรายการคุยนอกจอ ผมได้ชี้แจงในหลายๆ ประเด็น ดังนี้ครับ