วันนี้ (9 ม.ค.2567) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง เป็นประธานประชุมคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ ครั้งที่ 1/2567 โดยมีคณะกรรมการ และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม
นายกรัฐมนตรีกล่าวมอบนโยบายก่อนการประชุมว่า การประชุมครั้งนี้ เป็นการประชุมเพื่อติดตามการดำเนินงานขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์ ของประเทศไทย ในด้านต่าง ๆ ซึ่งในระยะแรกเริ่ม ประเทศไทยได้ให้ความสำคัญกับอุตสาหกรรมด้านซอฟต์พาวเวอร์ เป้าหมายใน 11 สาขา
ในวันนี้จะมีการพิจารณาแผนงานโครงการสำคัญที่จะขับเคลื่อนประเทศไทยในห้วงปีงบประมาณ 2567 และปีงบประมาณ 2568 ถือได้ว่า มีความสำคัญต่อการผลักดันให้ซอฟต์พาวเวอร์ไทย เป็นที่รู้จักในระดับสากลมากขึ้น และขอให้ทุกคนช่วยกันแสดงความคิดเห็นกันอย่างเต็มที่ เพื่อที่รัฐบาลจะนำไปเร่งดำเนินการให้เกิดผลอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป
นายชัย วัชรงค์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมได้ร่วมกันพิจารณาในประเด็นต่าง ๆ พร้อมเห็นชอบในเรื่องที่สำคัญ ดังนี้ 1.เห็นชอบ ข้อเสนอโครงการของอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ เป้าหมาย 11 สาขา ประกอบด้วย สาขาเฟสติวัล ท่องเที่ยว อาหาร ศิลปะ ออกแบบ กีฬา ดนตรี หนังสือ ภาพยนตร์ ละครและซีรีส์ สาขาแฟชั่น และเกม โดยมอบหมายให้สำนักงบประมาณ พิจารณากรอบวงเงิน และหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามขั้นตอนต่อไป
อ่านข่าว : Soft Power คืออะไร ? รวม “ของไทย” ปังจริงในหมู่ชาวต่างชาติ
2.เห็นชอบ กรอบวงเงินงบประมาณ ในการสนับสนุนผู้ประกอบการเข้าร่วมเทศกาลภาพยนตร์ต่างประเทศ 3 เทศกาล ในวงเงิน 3,000,000 บาท โดยมอบหมายกระทรวงวัฒนธรรม จัดทำคำของบประมาณไปยังสำนักงบประมาณเพื่อขอรับการพิจารณา และมอบสำนักงบประมาณพิจารณาจัดสรรงบประมาณ
3.เห็นชอบหลักการ งาน “Maha Songkran World Water Festival เย็นทั่วหล้า มหาสงกรานต์ 2567” โดยนายกรัฐมนตรีได้ให้ข้อเสนอแนะเกี่ยวกับเรื่องของการเดินทางเข้าร่วมงานดังกล่าว ที่คาดว่าจะมีการจัดงานอย่างยิ่งใหญ่ทั่วประเทศ
จะต้องมีการเตรียมความพร้อมทั้งเรื่องของรถ เครื่องบิน ที่พัก เพื่อรองรับนักท่องเที่ยว โดยให้คณะทำงานฯ ไปหารือกับกระทรวงคมนาคม ซึ่งช่วงเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา มีการบริหารจัดการเรื่องการเดินทางได้เป็นอย่างดี
พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีได้ให้ความเห็นเรื่องงบประมาณซึ่งมีการตั้งไว้จำนวนมาก ขอให้พิจารณาถึงความคุ้มค่า คำนึงถึงประโยชน์ที่จะได้รับเป็นสำคัญ
อ่านข่าว : เปิดแผนรุก “ซอฟต์ พาวเวอร์” กระตุ้น “เศรษฐกิจไทย”
4.เห็นชอบพิจารณาให้สำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (สำนักงาน ป.ย.ป.) เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ โดยมีหน้าที่ ดังนี้
1) ดำเนินการ บูรณาการ และขับเคลื่อนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการศึกษา วิเคราะห์ และจัดทำแผนการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ การจัดสรรงบประมาณ การดำเนินโครงการ/กิจกรรมต่าง ๆ ให้มีประสิทธิภาพมีประสิทธิผล ลดความซ้ำซ้อน
2) ติดตามและเร่งรัดการดำเนินการทบทวน ปรับปรุง แก้ไข ยกเลิก และจัดทำกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ 11 อุตสาหกรรม ของส่วนราชการและหน่วยงานของรัฐ เพื่อให้เป็นไปตามมติของคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง
3) ประสานงานและสร้างความร่วมมือระหว่างส่วนราชการ หน่วยงานของรัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคมในการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์
4) ประสาน และบูรณาการการประชาสัมพันธ์ข้อมูลเกี่ยวกับอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ 11 อุตสาหกรรม ตลอดจนการเผยแพร่ความคืบหน้าและผลการดำเนินการเกี่ยวกับการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศ
5.เห็นชอบให้มีการแต่งตั้งผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ และเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เป็นกรรมการ และผู้อำนวยการสำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ ในคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ
แต่งตั้งให้ปลัดกระทรวงมหาดไทย และผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) เป็นกรรมการ และผู้อำนวยการสำนักงานขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง เป็นกรรมการและเลขานุการร่วมในคณะกรรมการพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ
อ่านข่าวอื่นๆ