‘ดีอี’ จับมือ ‘ก.เกษตรฯ’ เดินหน้าสำมะโนการเกษตร ต่อยอด Data Analysis สำหรับวางแผนพัฒนาการเกษตรครบวงจร ยกระดับเกษตรไทยด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อยกระดับศักยภาพการแข่งขันของประเทศ
วันที่ 11 มกราคม 2567 นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) พร้อมด้วยร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร่วมกันแถลงข่าว ‘ผลการทำสำมะโนการเกษตร พ.ศ. 2566’ ซึ่งสำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้จัดทำโครงการสำมะโนการเกษตร พ.ศ. 2566 ของประเทศไทย ซึ่งเป็นครั้งที่ 7 โดยเก็บข้อมูลจากเกษตรกรที่เป็นผู้ถือครองทำการเกษตรทุกรายในทุกพื้นที่ของประเทศเพื่อนำมาประมวลผลและนำเสนอผลข้อมูลสถิติ สำหรับใช้อธิบายสถานการณ์การทำการเกษตรของประเทศ ซึ่งจะทำให้ทราบโครงสร้างการเกษตรของประเทศและการเปลี่ยนแปลง รวมทั้งใช้อ้างอิงในการกำหนดนโยบาย มาตรการ ติดตามและประเมินผลการพัฒนาการเกษตรของประเทศ รวมทั้งใช้วางแผนพัฒนาการเกษตรและประชากรในภาคการเกษตรของประเทศ
ประเสริฐ กล่าวว่า ข้อมูลจากสำมะโนการเกษตรที่มาจากเกษตรกรทุกรายในทุกพื้นที่ทั่วประเทศ จะถูกนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาการเกษตรและประชาชนในภาคการเกษตรของประเทศ โดยจะถูกใช้ต่อยอด Data Analysis ให้เป็นข้อมูลปัจจุบันแบบเรียลไทม์ สำหรับตัดสินใจวางแผนการยกระดับและพัฒนา รวมไปถึงการนำเทคโนโลยีในการเพิ่มผลผลิตและบริหารจัดการข้อมูลในอนาคตเพื่อการบริหารตัดสินใจได้อย่างทันท่วงที ซึ่งโครงการสำมะโนการเกษตรที่ครั้งนี้เป็นการบูรณาการการทำงานร่วมกันกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงขอบคุณกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้การสนับสนุนการจัดทำสำมะโนการเกษตรของสำนักงานสถิติแห่งชาติ กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมด้วยดีเสมอมา
สำหรับข้อมูลสำมะโนการเกษตร พ.ศ. 2566 พบว่า ประเทศไทยมีเกษตรกรที่เป็นผู้ถือครองทำการเกษตร จำนวน 8.7 ล้านราย (ร้อยละ 37.5 ของครัวเรือนทั้งประเทศ) และมีเนื้อที่ถือครอง ทำการเกษตรทั้งสิ้น 142.9 ล้านไร่ (ร้อยละ 44.5 ของเนื้อที่ทั้งประเทศ) โดยผู้ถือครองทำการเกษตร มีเนื้อที่ถือครองเฉลี่ย 16.4 ไร่ต่อราย
นอกจากนี้ยังพบว่า มีครัวเรือนผู้รับจ้างทำการเกษตรหรือครัวเรือนลูกจ้างเกษตร ทั้งสิ้นกว่า 2.5 แสนครัวเรือน โดยผู้ถือครองทำการเกษตร เป็นผู้ปลูกพืชมากที่สุดกว่า 8.0 ล้านราย (ร้อยละ 92.1) ซึ่งในจำนวนนี้มีร้อยละ 15.2 ที่มีการทำกิจกรรมการเกษตรประเภทอื่นร่วมกับการปลูกพืชด้วย เช่น เลี้ยงสัตว์ เลี้ยงสัตว์น้ำในพื้นที่น้ำจืด หรือทำนาเกลือสมุทร เนื้อที่ถือครองทำการเกษตร ของประเทศไทย เกือบครึ่งหนึ่ง (ร้อยละ 46.2) เป็นที่ปลูกข้าว รองลงมาคือ ที่ปลูกพืชไร่ (ร้อยละ 23.4) ที่ปลูกยางพารา (ร้อยละ 19.0) ที่ปลูกพืชยืนต้น ไม้ผล สวนป่า (ร้อยละ 8.4) และที่ปลูกพืชผัก สมุนไพร และไม้ดอก ไม้ประดับ (ร้อยละ 0.5) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีจำนวนผู้ถือครองและเนื้อที่ถือครองทำการเกษตรมากที่สุดคือ 4.1 ล้านราย และ 67.0 ล้านไร่ ตามลำดับ รองลงมาคือภาคเหนือ 1.9 ล้านราย และ 32.7 ล้านไร่ ภาคใต้ 1.6 ล้านราย และ 20.9 ล้านไร่ ส่วนภาคกลางมีผู้ถือครองทำการเกษตรน้อยที่สุด 1.2 ล้านราย และมีเนื้อที่ถือครอง 22.3 ล้านไร่
สำหรับสถานการณ์ด้านการใช้เครื่องจักร และเทคโนโลยีดิจิทัลเพื่อการเกษตร พบว่า ผู้ถือครองทำการเกษตร ร้อยละ 71.3 รายงานว่ามีการใช้เครื่องจักรเพื่อการเกษตร โดยรายงานการใช้เครื่องจักรมากที่สุด 5 ชนิด ได้แก่ (1) รถแทรกเตอร์ 4 ล้อ (2) เครื่องเกี่ยวนวดข้าว (3) รถไถเดินตาม (4) เครื่องสูบน้ำหรือระหัดวิดน้ำ และ (5) เครื่องพ่นยาปราบศัตรูพืช ผู้ถือครองทำการเกษตร ร้อยละ 4.0 รายงานว่ามีการใช้โดรนเพื่อการเกษตร และยังพบว่ามีจำนวนโดรนที่ผู้ถือครองทำการเกษตรรายงานการครอบครองอยู่กว่า 15,000 ลำ
ผู้ถือครองทำการเกษตร ร้อยละ 29.8 รายงานว่ามีการใช้แอปพลิเคชันเพื่อการเกษตร โดยรายงานวัตถุประสงค์ที่มีการใช้มากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ (1) ใช้เพื่อดูพยากรณ์อากาศ (2) ใช้สำหรับลงทะเบียนหรือให้ข้อมูลและติดต่อภาครัฐ (3) ใช้ตรวจสอบราคาปัจจัยการผลิต (4) ประกันภัยพืชผลทางการเกษตร และ (5) ใช้เพื่อตรวจสอบราคาสินค้าที่ขายสถานการณ์การถือครองที่ดินเพื่อการเกษตรจากผลสำมะโน พบว่า ผู้ถือครอง ทำการเกษตรส่วนใหญ่ถือครองที่ดินขนาดเล็ก โดยพบผู้ที่มีเนื้อที่ถือครองทำการเกษตรน้อยกว่า 20 ไร่ มีสูงถึงร้อยละ 65.4
สำหรับหนี้สินในภาคการเกษตรนั้น ผลสำมะโนพบว่า ผู้ถือครองทำการเกษตร ร้อยละ 74.3 มีหนี้สิน โดยผู้ถือครองทำการเกษตรบางส่วน มีจำนวนหนี้สินค้างชำระมากกว่ารายได้จากมูลค่าผลผลิตการเกษตรเกือบเท่าตัว
ผลสำมะโนการเกษตร ยังได้สะท้อนปัญหาจากผู้ถือครองทำการเกษตร โดยพบว่า ร้อยละ 73.5 ของผู้ถือครองทำการเกษตร รายงานว่ามีปัญหาในการประกอบการเกษตร โดยปัญหาที่พบ มากที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ (1) ราคาปัจจัยการผลิต ได้แก่ ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง น้ำมันเชื้อเพลิง สูงขึ้นมาก (2) ฝนแล้งหรือขาดแหล่งน้ำ (3) ราคาผลผลิตตกต่ำ ผลผลิตล้นตลาด (4) ได้ผลผลิตน้อยเกินไป และ (5) น้ำท่วม โคลนถล่ม พายุ
ประเสริฐ กล่าวว่า กระทรวงดีอีมีภารกิจสำคัญในการส่งเสริมการยกระดับเกษตรไทยด้วยเทคโนโลยีดิจิทัล โดยมีแผนการพัฒนาศักยภาพการผลิตเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพที่อาศัยเทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตรในรูปแบบต่างๆ รวมถึงการใช้และการเข้าถึงเทคโนโลยีการเกษตรเทคโนโลยีดิจิทัล และระบบข้อมูลสำหรับวางแผนการผลิตเพื่อพัฒนาเกษตรกรให้เป็นเกษตรกรอัจฉริยะที่สามารถนำองค์ความรู้ไปประยุกต์ใช้พัฒนาไปสู่รูปแบบฟาร์มอัจฉริยะ รวมทั้งสนับสนุนให้มีการนำเทคโนโลยีและอุปกรณ์อัจฉริยะต่างๆ เข้ามาใช้ทำการเกษตร ได้แก่ โดรน ไอโอที (Internet of Things) รวมถึงแพลตฟอร์มต่างๆ เพื่อยกระดับศักยภาพและยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกร ซึ่งจะเป็นการยกระดับศักยภาพการแข่งขันด้านการเกษตรของประเทศ