รองเลขาฯ ครม. รับหนังสือ Con for All ยอมรับคำถามประชามติยังต้องถกเถียง
15 ม.ค. 2567 เวลา 12.30 น. กลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญยื่นหนังสือต่อ สมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการคณะรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง เพื่อขอนัดพบนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีเพื่อหารือทางออกเกี่ยวกับแนวทางการทำประชามติเพื่อร่างรัฐธรรมนูญใหม่ เนื่องจากกังวลว่า คำถามประชามติที่คณะกรรมการศึกษาประชามติฯ ได้เสนอต่อคณะรัฐมนตรียังมีปัญหาที่อาจจะนำไปสู่ความขัดแย้งและไม่เป็นที่ยอมรับจนอาจทำให้กระบวนการประชามติไม่ผ่าน
การยื่นหนังสือขอเข้าพบดังกล่าว สืบเนื่องมาจากตามที่คณะกรรมการเพื่อพิจารณาศึกษาแนวทางในการทำประชามติเพื่อแก้ไขปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 ที่นายกรัฐมนตรีเป็นผู้ลงนามออกคำสั่งแต่งตั้งได้แถลงสรุปผลการศึกษาแนวทางการทำประชามติไปเมื่อวันที่ 25 ธันวาคม 2566
โดยสาระสำคัญของการแถลงผลการศึกษา ระบุว่า จะจัดออกเสียงประชามติเพื่อนำไปสู่การเขียนรัฐธรรมนูญใหม่จำนวนทั้งสิ้นสามครั้ง และการจัดออกเสียงประชามติครั้งแรกนั้นจะใช้คำถามว่า “ท่านเห็นชอบหรือไม่ให้มีการทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยไม่แก้ไข หมวด 1 บททั่วไป หมวด 2 พระมหากษัตริย์”
จากผลสรุปดังกล่าว ทำให้กลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญอันประกอบไปด้วยองค์กรภาคประชาชนและภาคประชาสังคมไม่น้อยกว่า 43 องค์กร มีความรู้สึกผิดหวังและมีความห่วงกังวลต่ออนาคตการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ เนื่องจากเห็นว่าแนวทางการทำประชามติดังกล่าวจะไม่เป็นที่ยอมรับจากทุกภาคส่วน
เพราะเป็นการตั้งคำถามประชามติที่มีความกำกวมและมีประเด็นให้ต้องตัดสินใจมากกว่าหนึ่งประเด็นในหนึ่งคำถาม อันอาจจะนำไปสู่การบิดเบือนเจตนารมณ์ของประชาชน หรือไม่สะท้อนเจตนารมณ์ที่แท้จริงของประชาชน
อีกทั้ง การตั้งคำถามประชามติในเชิงปิดกั้นความคิด ความเชื่อ ความฝัน ต่อการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับอาจจะนำไปสู่ความขัดแย้งในระหว่างการจัดออกเสียงประชามติ เนื่องจากตัวคำถามไม่ได้เปิดกว้างเพียงพอต่อประชาชนที่มีความคิดเห็นที่แตกต่างทางการเมือง รวมถึงเป็นการนำสถาบันกษัตริย์เข้ามาสู่ใจกลางความขัดแย้งของการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่โดยไม่จำเป็น จนอาจกลายเป็นชนวนที่ทำให้การทำประชามติซึ่งเป็นประตูด่านแรกของการร่างรัฐธรรมนูญใหม่อย่างที่รัฐบาลมีความตั้งใจไม่ประสบความสำเร็จ
ด้วยเหตุนี้ ทางกลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญ จึงมีความประสงค์ที่จะเข้าพบกับนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีในฐานะผู้มีอำนาจพิจารณาให้ความเห็นชอบการจัดออกเสียงประชามติตามรัฐธรรมนูญ และพระราชบัญญัติว่าด้วยการจัดออกเสียงประชามติเพื่อหารือทางออกเกี่ยวกับแนวทางการทำประชามติ
รัชพงษ์ แจ่มจิรไชยกุล ตัวแทนจากโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน (iLaw) กล่าวว่า “เป้าหมายของเราเหมือนกัน คือ เราอยากให้ประชามตินี่ผ่าน และทำให้การร่างรัฐธรรมนูญใหม่มันสำเร็จได้ แต่เราก็กลัวว่า การที่ตั้งคำถามประชามติโดยที่เอาเรื่องของเนื้อหาและเจตจำนงการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ของประชาชนมารวมกัน โดยการห้ามแก้ไขหมวด 1 หมวด 2 อาจจะเป็นปัญหา”
“การเขียนคำถามเรื่องการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ไม่ใช่เรื่องจะแก้ไขหมวด 1 หมวด 2 หรือ ไม่แก้ไขหมวด 1 หมวด 2 แต่เราเห็นว่า ใครจะแก้หรือไม่แก้ มาตราไหน หมวดไหน ประเด็นไหน สำคัญอย่างไร ก็ให้ไปที่ สสร.(สภาร่างรัฐธรรมนูญ)” ตัวแทน iLaw กล่าว
ด้าน ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล ตัวแทนจากเครือข่ายรณรงค์รัฐธรรมนูญ (CALL) กล่าวด้วยว่า “ทางกลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญต้องการจะหารือกับคุณเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ว่าคำถามประชามติที่ดีควรจะเป็นอย่างไร และสุดท้ายคำถามประชามติจะเป็นแบบไหน”
“เราอยากจะถามถึงตัวคำถามประชามติของ Con for All ด้วย ประชาชนได้ลงชื่อกว่า 211,904 รายชื่อ เสนอเข้าไปแล้ว ณ ตอนนี้ มันอยู่ในขั้นตอนไหน มันถึงมือ ครม. แล้วใช่ไหม ครม. ได้อ่านคำถามแล้วหรือยัง แล้วได้เห็นหรือไม่ว่า ประชาชนได้รวบรวมรายชื่อภายในเวลาห้าวัน ซึ่งแต่ละคนต้องทุ่มทุนทุ่มแรงกันขนาดไหน” ตัวแทน CALL กล่าว
อย่างไรก็ดี ในหนังสือขอเข้าพบมีการระบุข้อเสนอของภาคประชาชนด้วยว่า ขอให้คณะรัฐมนตรีทบทวนคำถามประชามติที่คณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติเสนออีกครั้ง และควรตัดสินใจทำประชามติภายใต้คำถามที่มีลักษณะของการเปิดกว้าง โอบอุ้มทุกความเชื่อความฝันของการเขียนรัฐธรรมนูญใหม่ และต้องคำนึงถึงการทำความเข้าใจของประชาชนเป็นสำคัญ ดังนั้น คำถามประชามติจะต้องมีความชัดเจน ตรงไปตรงมา และนำไปสู่การสร้างความร่วมมือในการผลักดันการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของประชาชน
นอกจากนี้ ทางกลุ่มประชาชนร่างรัฐธรรมนูญขอทวงถามความคืบหน้าของคำถามประชามติที่ประชาชนได้ร่วมกันเข้าชื่อเสนอกว่า 211,904 รายชื่อ เพื่อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการออกเสียงประชามติ โดยได้เสนอต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งไปเมื่อวันที่ 30 สิงหาคม 2566 และต่อมาทางคณะกรรมการการเลือกตั้งได้แจ้งกับทางภาคประชาชนว่า ได้ดำเนินการตรวจสอบรายชื่อเป็นที่เรียบร้อยและการเข้าชื่อดังกล่าวมีความครบถ้วนตามที่กฎหมายกำหนด พร้อมทั้งได้ยื่นต่อสำนักงานเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่กลับไม่มีความคืบหน้าจากทางคณะรัฐมนตรีแต่อย่างใด
ด้าน สมคิด เชื้อคง รองเลขาธิการคณะรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง กล่าวว่า “ความคิดเห็นเรื่องประชามติมีหลายกลุ่ม กลุ่มหนึ่งก็เสนอว่าควรตั้งคำถามแบบเปิดกว้างก่อนไหม อีกกลุ่มหนึ่งบอกว่า ถ้าเปิดกว้างไปก็เสี่ยงที่จะไม่ผ่านประชามติ อีกมุมก็บอกว่า ถ้าเปิดกว้างก็ผ่าน เพราะฉะนั้นเรื่องนี้ยังถกเถียงกันอยู่ แต่ก็ดีที่ภาคประชาชนมายื่น ก็ได้แสดงออกอีกกลุ่มหนึ่งว่า ความต้องการของภาคประชาชนกลุ่มหนึ่งเป็นอย่างนี้”
สมคิด กล่าวว่า “การแก้รัฐธรรมนูญเป็นความต้องการของทุกพรรคการเมือง ดังนั้น ในส่วนของ ครม. รายละเอียดยังไม่มี แต่ในส่วนของพรรคการเมืองมีเป้าหมายของแต่ละพรรคอยู่แล้ว เพียงแต่จะเอามารวมกันอย่างไรมันถึงจะเดินได้ มันจะบอกเกินไปก็ไม่ได้ ลบเกินไปก็ไม่ดี สิ่งเหล่านี้ต้องมาคุยกัน”
“ส่วนเรื่องรายชื่อที่ยื่นมา ผมเพียงแต่ทราบ แต่ยังไม่เห็นเรื่อง แต่ว่าจะตามให้” รองเลขาธิการคณะรัฐมนตรี กล่าว
สมคิด เชื้อคง กล่าวปิดท้ายว่า “ในส่วนของการทำประชามติ รองนายกฯ ภูมิธรรม จะเป็นคนแถลง ภายในอาทิตย์นี้หรืออาทิตย์หน้า แล้วพอประกาศออกมาต้องทำประชามติภายใน 120 วัน พอทำเสร็จถึงจะไปแก้รัฐธรรมนูญ ม.256 ดังนั้น วันนี้เอาประชามติให้ผ่านก่อน