วันนี้ (22 ม.ค.67) นายเสรี สุวรรณภานนท์ สว.ในฐานะ ประธานคณะกรรมาธิการการพัฒนาการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชน สว. พร้อมด้วย สว.ยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปในวุฒิสภา เพื่อให้คณะรัฐมนตรีแถลงข้อเท็จจริงหรือชี้แจงปัญหาสำคัญ เกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินโดยไม่มีการลงมติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2560 ม.153 ต่อนายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา
นายเสรี เปิดเผยว่า สว.จำนวน 98 คน เข้าชื่อกันเพื่อขอเสนอญัตติเปิดอภิปรายฯ ตามรัฐธรรมนูญ ม. 153 เพื่อสอบถามการปัญหาการบริหารราชการแผ่นดิน ในประเด็นที่ สว.ยังมีข้อสงสัย เพื่อประโยชน์การบริหารราชการแผ่นดิน และประโยชน์ของประชาชน
พร้อมยืนยันว่า การยื่นญัตติครั้งนี้ไม่ได้มีเป้าหมายเพื่อล้มรัฐบาล ตามที่ฝ่ายการเมืองพยายามกล่าวหา หรือกล่าวอ้างว่า รัฐบาลบริหารประเทศได้เพียง 4 เดือน และต้องการให้รัฐบาลชี้แจงการทำงาน ตามที่ควรดำเนินการตามสิ่งที่ได้หาเสียงไว้
อ่านข่าว : ถก 6 พรรคฝ่ายค้าน เดินหน้าตรวจสอบรัฐบาล จับตา “ดิจิทัลวอลเล็ต”
ส่วนสาเหตุที่มี สว.เข้าชื่อกันเพื่อขอเปิดอภิปรายฯ ทั้งที่ก่อนหน้านี้ในสมัยรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกฯ สว.กลับไม่เคยมีการเปิดอภิปรายนั้น นายเสรี ชี้แจงว่า ใน 4 ปีของ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ได้เสียเวลาไป 3 ปีกับปัญหาการแพร่ระบาดโควิด-19 และอีก 1 ปี ก็ไม่มีปัญหาใด ๆ ที่ สว.เห็นว่าจะต้องมีการยื่นขอเปิดอภิปราย
แต่ปัจจุบันกลับมีปัญหามากมาย และรัฐบาลชุดนี้ กับรัฐบาลชุด พล.อ.ประยุทธ์ มีพรรคร่วมรัฐบาลที่คล้ายคลึงกัน และ สว.ก็ไม่ได้กลัวว่าบุคคลใดที่เป็นนายกฯ แต่ สว.ได้ยื่นขอเปิดอภิปรายตามหน้าที่ สว.ที่รัฐธรรมนูญกำหนด พร้อมยังเห็นว่า ในระยะเวลา 3 – 4 เดือน ที่เหลือของ สว.ควรทำหน้าที่ เพื่อประโยชน์ของประชาชน และยังว่า การยื่นขอเปิดอภิปรายครั้งนี้รัฐบาลจะนำไปใช้เพื่อเป็นประชาชนของประชาชน
นายเสรี ยังอธิบายเพิ่มเติมถึงปัญหามากมายที่ สว.จำเป็นต้องยื่นเปิดอภิปราย อาทิ ปัญหาเศรษฐกิจปากท้อง ที่รัฐบาลน่าจะแก้ปัญหาได้ดีกว่านี้ แต่กลับไปวนกลับเรื่องนโยบายเงินดิจิทัล ทั้งที่รัฐบาลก็ระบุตลอดว่า เศรษฐกิจไม่ดีซึ่ง 4 เดือนควรจะเป็นรูปเป็นร่างแต่รัฐบาลกลับไม่ดำเนินการใด ๆ
นโยบายดิจิทัลวอลเล็ตนั้น ก็ยังมีข้อสงสัยว่า จะสามารถกระตุ้นเศรษฐกิจได้จริงหรือไม่ และในอนาคตจะเป็นภาระทางการคลังของประเทศหรือไม่ รวมถึงปัญหาความชอบด้วยกฎหมาย และช่องทางรั่วไหลอื่น ๆ
นอกจากนี้ ยังมีปัญหากระบวนการยุติธรรม ที่หากรัฐบาลไม่รักษาความเป็นธรรม เลือกปฏิบัติกับบางคน บางกลุ่ม ก็จะเป็นปัญหาใหญ่ของบ้านเมือง
ส่วนกรอบเวลาการเปิดอภิปรายจำเป็นจะต้องเป็นช่วงเวลาก่อนที่นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกฯ จะครบกำหนดได้รับสิทธิ์การพักโทษหรือไม่นั้น นายเสรี ยืนยันว่า ไม่จำเป็น เพราะการอภิปรายของ สว. จะไม่ได้เน้นตัวบุคคล แต่จะเน้นหลักการ
อ่านข่าว : “สมชาย” เตือน จนท.อย่าใช้วิธีพิเศษช่วย “ทักษิณ” ระวังจะถูกดำเนินคดีแทน
นายเสรี ยังคาดหวังว่า การอภิปรายฯ ในครั้งนี้ สว.จะได้เวลาการอภิปราย 2 วัน ส่วนจำนวน สว.ที่จะอภิปรายนั้น ต้องขึ้นอยู่กับ สว.ที่จะมาแสดงความจำนงในการอภิปรายก่อน
ขณะที่ นายพรเพชร วิชิจชลชัย ประธาน สว.ชี้แจงว่า หลังจากนี้จะส่งญัตติดังกล่าวให้ สำนักงานเลขาฯ สว.ตรวจสอบความถูกต้องของญัตติและลงชื่อของ สว.ก่อนจะส่งให้ ครม.ไปพิจารณาว่า จะพร้อมมาชี้แจงต่อ สว.เมื่อใด เพื่อนัดหมายเวลาการเปิดอภิปราย
รวมถึงกรอบเวลาการอภิปราย ก่อนที่จะมีการออกหนังสือนัดการประชุมอย่างเป็นทางการต่อไป แต่คาดว่า น่าจะสามารถเปิดการอภิปรายได้ ในช่วงเดือน ก.พ.นี้
อ่านข่าว : “เศรษฐา” ยัน “ดิจิทัลวอลเล็ต” ดีเลย์จาก พ.ค. แต่ไม่ยุติโครงการ
ส่วนผลงานการอภิปรายชิ้นนี้ จะถือเป็นผลงานชิ้นโบว์แดงของ สว.ก่อนที่จะหมดวาระหรือไม่นั้น นายพรเพชร ปฏิเสธว่า จะระบุเช่นนั้นไม่ได้ เพราะถือเป็นหน้าที่ สว.ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนด และเข้าใจในความประสงค์ของ สว.ที่ต้องการให้มีการเปิดอภิปราย เพื่อสอบถามการบริหารราชการแผ่นดินจากรัฐบาล
จะโบว์แดงหรือโบว์ขาว ก็เป็นเรื่องที่ทุกท่านจะตระหนักเอง ผมคงพูดไม่ได้ แต่สิ่งที่ที่ตนพูดได้คือเข้าใจในวัตถุประสงค์ของสมาชิกที่ขอยื่นอภิปรายทั่วไป เพื่อต้องการให้ชี้แจงเรื่องการบริหารราชการแผ่นดินให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ
พรเพชร กล่าวภายหลังรับยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายว่าการยื่นญัตติครั้งนี้เป็นไปตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญ จากนี้จะส่งหนังสือตามขั้นตอนของธุรการ เพื่อให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาตรวจสอบว่าคำร้องเข้าหลักเกณฑ์ตามมาตรา 153 หรือไม่
ก่อนประสานงานไปยังคณะรัฐมนตรี (ครม.) และนัดวันที่เหมาะสม เพื่อมาตอบชี้แจงคำถาม ซึ่งไม่สามารถยืนยันได้ว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ แต่ทราบว่าผู้ร้องต้องการให้เกิดขึ้นภายในเดือน ก.พ. นี้ ทั้งนี้ต้องรอความพร้อมของคณะรัฐมนตรีด้วย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไป เพื่อให้คณะรัฐมนตรีแถลงข้อเท็จจริงหรือชี้แจงปัญหาสำคัญเกี่ยวกับการบริหารราชการแผ่นดินโดยไม่มีการลงมติตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 153 มีสาระสำคัญว่า ในช่วงเวลาประมาณ 4 เดือนที่ผ่านมา รัฐบาลยังไม่ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาตามนโยบายที่แถลงไว้ ดังนี้
1) ปัญหาด้านเศรษฐกิจของชาติ และปัญหาปากท้องของประชาชน
2) ปัญหาด้านกระบวนการยุติธรรม และการบังคับใช้กฎหมาย
3) ปัญหาด้านพลังงาน
4) ปัญหาด้านการศึกษา และสังคม
5) ปัญหาด้านการต่างประเทศ และการท่องเที่ยว
6) ปัญหาการแก้ไขรัฐธรรมนูญ
7) ปัญหาการดำเนินการปฏิรูปประเทศและการดำเนินการตามยุทธศาสตร์ชาติ
ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มตามว่า ใน 98 รายชื่อที่ร่วมเสนอญัตตินั้น ประกอบไปด้วยหลากหลายสาย ทั้งสายทหาร อาทิ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม, พล.ร.อ.พะจุณณ์ ตามประทีบ, พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์, พล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร
สายพลเรือน อาทิ เสรี สุวรรณภานนท์, จเด็จ อินสว่าง, เฉลิมชัย เฟื่องคอน, ออน กาจกระโทก, ดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม, ถวิล เปลี่ยนศรี, สมชาย แสวงการ, ประพันธุ์ คูณมี, กิตติศักดิ์ รัตนวราหะ
สายอาชีพ อาทิ วัลลภ ตังคณานุรักษ์, มณเฑียร บุญตัน, เจน นำชัยศิริ, สถิตย์ ลิ่มพงษ์พันธุ์, สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย, สนธิญา น้อยฉายา, นพ.อำพน จินดาวัฒนะ, ม.ล.ปนัดดา ดิศกุล เป็นต้น
ทั้งนี้ นางดาวน้อย สุทธินิภาพันธ์ สว. ถอนชื่อเมื่อเช้าก่อนการยื่นญัตติ
อ่านข่าวอื่น ๆ
“ภูมิธรรม” ไม่กังวลศึกซักฟอก มั่นใจ 4 เดือนทำงานไร้ที่ติ