‘เศรษฐา-ประธานาธิบดีแห่งเยอรมนี’ แถลงข่าวร่วมเห็นพ้องยกระดับความสัมพันธ์หุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์-ไทยขอช่วยคุยสหภาพยุโรป เว้นลงตราเข้าเขตเชงเกน เผยเยอรมนีพร้อมหนุนเทคโนโลยีพลังงานทดแทน เตรียมไปเยือน มี.ค.
วันที่ 25 ม.ค. เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และ ฟรังค์-วัลเทอร์ ชไตน์ไมเออร์ประธานาธิบดีสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ร่วมกันแถลงข่าวหลังหารือร่วมกัน
นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การเยือนอย่างเป็นทางการครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกของประธานาธิบดีเยอรมนีในรอบ 22 ปี ไทยและเยอรมนีมีความสัมพันธ์กันมากว่า 162 ปี โดยเยอรมนีเป็นคู่ค้ารายใหญ่ที่สุดในอียู ในขณะที่ไทยเป็นคู่ค้าอันดับที่ 3 ในอาเซียน ทั้งสองประเทศยังเห็นพ้องกำหนดเป้าหมายในการยกระดับความสัมพันธ์สู่การเป็นหุ้นส่วนเชิงยุทธศาสตร์
เศรษฐา กล่าวว่า ในการหารือกับประธานาธิบดีแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมัน ได้ให้ความสำคัญกับความร่วมมือด้านความยั่งยืน การรับมือกับภาวะโลกร้อน และการเปลี่ยนผ่านพลังงานเพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็นกลางทางคาร์บอน และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ เยอรมนีพร้อมสนับสนุนเทคโนโลยีการผลิตพลังงานทดแทน เพื่อเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้าเป็นร้อยละ 50 ภายในปี ค.ศ. 2040 และขยายการลงทุนในอุตสาหกรรมอีวี เพื่อให้ไทยก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในระดับภูมิภาค รวมทั้งยังยินดีส่งเสริมการทำเกษตรแบบยั่งยืนในไทยอย่างต่อเนื่อง และพร้อมให้ความร่วมมือในการแก้ไขปัญหาฝุ่น PM 2.5
เศรษฐา ยังกล่าวว่า การเยือนไทยอย่างเป็นทางการในครั้งนี้ ประธานาธิบดีเยอรมนียังได้นำคณะภาคเอกชนร่วมเดินทางมาด้วย โดยในระหว่างการพบกับภาคเอกชน ได้ให้ข้อมูลเกี่ยวกับศักยภาพด้านเศรษฐกิจของไทยและโอกาสใหม่ๆ รวมทั้งยังให้ข้อมูลเกี่ยวกับนโยบายและโครงการต่าง ๆ อาทิ โครงการแลนด์บริดจ์ โครงการยกระดับการขนส่งระบบรางและโลจิสติกส์ของไทย Ease of Doing Business และการสร้างทรัพยากรมนุษย์ โดยเฉพาะการเพิ่มพูนความร่วมมือด้านอาชีวศึกษา โดยภาคเอกชนแสดงความสนใจในด้านงานสินค้านานาชาติ การรีไซเคิลและการผลิตเม็ดพลาสติกจากขยะ ซึ่งไทยพร้อมพิจารณาเพื่อสนับสนุนการลงทุนจากเยอรมนีต่อไป
ส่วนความร่วมมือด้านการท่องเที่ยว นายกรัฐมนตรีขอการสนับสนุนสำหรับการเจรจากับสหภาพยุโรปเพื่อให้บรรลุขอยกเว้นตรวจลงตรา สำหรับการเดินทางเข้าเขตเชงเกนให้แก่ผู้ถือหนังสือเดินทางธรรมดาไทย โดยไทยถือเป็นจุดหมายปลายทางที่นักท่องเที่ยวชาวเยอรมันชื่นชอบ มีนักท่องเที่ยวเดินทางมาไทยเมื่อปี พ.ศ. 2566 กว่า 700,000 คน และชาวเยอรมันได้รับการยกเว้นการตรวจลงตรา 30 วันแล้วด้วย
โดยในเย็นวันนี้ ประธานาธิบดีเยอรมนียังมีกำหนดเข้าเฝ้า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินี และจะไปเยี่ยมชมโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำไฮบริด เขื่อนสิรินธร และโครงการเกษตรยั่งยืนที่เป็นความร่วมมือระหว่างเยอรมนีกับไทย
รวมทั้ง ในวันพรุ่งนี้ (26 ม.ค.) ประธานาธิบดีเยอรมนี จะเดินทางไปจังหวัดอุบลราชธานี เพื่อเยี่ยมชมโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำไฮบริดที่เขื่อนสิรินธร ซึ่งผลิตกระแสไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์และพลังน้ำใหญ่เป็นอันดับต้นของโลก และโครงการเกษตรยั่งยืนที่เป็นความร่วมมือระหว่างเยอรมนีกับไทย รวมทั้งเยี่ยมชมอุทยานแห่งชาติผาแต้ม ซึ่งเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงธรรมชาติที่เป็นที่นิยมของทั้งคนไทยและชาวต่างชาติ และจะเป็นการเปิดศักราชใหม่ของการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือระหว่างไทยกับเยอรมนี ซึ่งจะนำไปสู่ความร่วมมือที่ใกล้ชิดและเป็นประโยชน์ต่อทุกฝ่าย โดยเฉพาะในด้านยานยนต์ไฟฟ้า พลังงานสะอาด เศรษฐกิจหมุนเวียน และความร่วมมือในด้านอื่น ๆ อีกมากมาย ทำให้ประเทศไทยกับเยอรมนีมีความร่วมมือในทุกมิติที่แน่นแฟ้นมากขึ้น
“โดยในห้วงเดือนมีนาคมที่จะถึงนี้ ผมมีกำหนดที่จะเดินทางเยือนสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนีอย่างเป็นทางการ เพื่อสานต่อและผลักดันความร่วมมือระหว่างกัน อันจะนำไปสู่การสถาปนาความเป็นหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ระหว่างกันต่อไป”
‘ผู้นำเยอรมนี‘ ยินดีการเมืองไทยเข้มแข็ง
ฟรังค์-วัลเทอร์ ชไตน์ไมเออร์ ประธานาธิบดีสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี ระบุว่า ประเทศไทยและเยอรมนี มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันกว่า 160 ปี ซึ่งได้ทำการค้าและสำรวจเส้นทางเดินเรือ ตั้งแต่เป็นประเทศสยาม จึงเกิดความสัมพันธ์ข้ามระยะเวลามานาน และวันนี้ถือเป็นช่วงเวลาสำคัญที่ประเทศไทย ที่มีเสรีภาพและเป็นประชาธิปไตยมากขึ้น เพราะผ่านการเลือกตั้งมาแล้ว ซึ่งสะท้อนให้เห็นความเข้มแข็ง และรัฐบาลนี้ที่นำโดยนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ก็ขอให้ประสบผลสำเร็จ และร่วมผลักดันความร่วมมือระหว่างสองประเทศ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของการค้า การลงทุน และการท่องเที่ยวท่อง ซึ่งในปี 2566 มูลค่าการลงทุนมีถึง 14,000 ล้านยูโร โดยประเทศไทยมีบริษัทสัญชาติเยอรมันกว่า 600 แห่งเข้ามาลงทุนภายในประเทศ รวมถึงสร้างงาน สร้างเศรษฐกิจ
ในขณะเดียวกันการท่องเที่ยวระหว่าง 2 ประเทศ ในทุกๆ ปีมีนักท่องเที่ยวชาวเยอรมันกว่า 2 แสนคน เดินทางเข้ามายังประเทศไทย จึงหวังว่าทั้ง 2 ประเทศจะมีความร่วมมือประสานทำงานร่วมกันในด้านนี้
ร่วมผลักดันเอฟทีเอไทย-อียู สำเร็จโดยเร็ว
ทั้งนี้มีความคาดหวังว่าประเทศไทยจะให้ความร่วมมือในการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาด ในขณะเดียวกันก็ต้องการเห็นการสร้างความเข้มแข็ง ในการอำนวยความสะดวก ในการลงทุนระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการสนับสนุนเขตการค้าเสรีหรือ FTA ระหว่างสหภาพยุโรป และประเทศไทย โดยหวังจะเห็นการบรรลุข้อตกลงนี้ในระยะเวลาอันใกล้ ซึ่งประเทศเยอรมนีพร้อมที่จะขยายความร่วมมือ โดยเน้นนโยบายลดการพึ่งพาฝ่ายเดียว ขยายการค้าการลงทุนมายังเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งประเทศไทยถือว่ามีภูมิศาสตร์ประเทศที่ดีในการทำการค้า ขณะเดียวกันมีจุดยืนในการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศ
ชี้คำพิพากษาคดี ‘พิธา’ ถือเป็นการพัฒนาการเมืองไทย
พร้อมกันนี้ตนเองยังได้หารือเรื่องสิทธิบทบาทของภาคประชาสังคม ซึ่งตนเองก็ยินดี ภายหลังได้รับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ชี้ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ ประธานที่ปรึกษาพรรคก้าวไกล ไม่พ้นความเป็นสมาชิกภาพ สส. และได้กลับมาปฏิบัติหน้าที่ สส.ต่อ โดยคำพิพากษาถือว่าออกมาดี ซึ่งเป็นการดำเนินการทางการเมืองที่ดีของไทย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในการตอบคำถามสื่อมวลชน ที่ได้สอบถามถึงความร่วมมือที่ชะงักไปในช่วงที่ผ่านมาจนถึงรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ประธานาธิบดีเยอรมนี กล่าวว่า หลังการเลือกตั้งของไทย มองเห็นแนวทางเชิงบวกในการพัฒนาความร่วมมือระหว่างกัน ตนเห็นในความเชื่อมั่นของนายกรัฐมนตรี ขณะที่คดีของ พิธา ก็แสดงให้เห็นว่าประเทศไทยมีพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตยที่มีเสถียรภาพในการแสดงออก
ส่วน เศรษฐา ได้ย้ำว่า รัฐบาลนี้ให้ความสำคัญกับสิทธิมนุษยชน ตลอดเวลาที่เข้ามาปฏิบัติหน้าที่ ได้ให้สิทธิเสรีภาพอย่างเหมาะสมภายใต้กรอบกฎหมาย และสนับสนุนด้านนี้อย่างต่อเนื่อง ส่วนเรื่องการค้าระหว่างประเทศตลอด 4 เดือนที่ผ่านมา เราเดินทางไปทั่วประเทศและทั่วโลก ขณะที่จุดยืนทางการเมือง เรายึดมั่นในความเป็นกลาง ไม่สนับสนุนความขัดแย้ง พร้อมช่วยเหลือให้คนไทยที่อยู่ในต่างประเทศได้รับการดูแลเป็นอย่างดี