หน้าแรก Voice TV เหยื่อร้อง 'ดีอี' ถูกหลอกลงทุนเทรดหุ้น 'ประเสริฐ' สั่งเร่งกวาดล้างอาชญากรรมไซเบอร์เด็ดขาด

เหยื่อร้อง 'ดีอี' ถูกหลอกลงทุนเทรดหุ้น 'ประเสริฐ' สั่งเร่งกวาดล้างอาชญากรรมไซเบอร์เด็ดขาด

88
0
เหยื่อร้อง-'ดีอี'-ถูกหลอกลงทุนเทรดหุ้น-'ประเสริฐ'-สั่งเร่งกวาดล้างอาชญากรรมไซเบอร์เด็ดขาด

‘ประเสริฐ’ สั่งทุกหน่วยงานเร่งกวาดล้างอาชญากรรมไซเบอร์เด็ดขาด ‘70 เหยื่อ’ รวมตัวร้องขอช่วยติดตามคดี หลังถูกหลอกลงทุนหุ้น เสียหายสูงกว่า 91 ล้านบาท

วันที่ 25 มกราคม 2567 ประเสริฐ จันทรรวงทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำโดยตำรวจไซเบอร์ ตำรวจกองปราบปราม รับเรื่องร้องเรียนจาก ปวีณา หงสกุล ประธานมูลนิธิปวีณาหงสกุลเพื่อเด็กและสตรี ซึ่งได้พาตัวแทนผู้เสียหายถูกหลอกลงทุนเทรดหุ้นทั้งในและต่างประเทศ มูลค่าความเสียหายกว่า 91 ล้านบาท จากผู้เสียหายผู้เสียหายทั้งหมดกว่า 70 ราย เพื่อขอให้ช่วยเหลือให้ความเป็นธรรมและเร่งรัดดำเนินคดี พร้อมทั้งขอให้ดำเนินการกวาดล้างอาชญากรรมทางออนไลน์ที่เป็นภัยร้ายแรงของชาติให้หมดสิ้นไป 

โดยตัวแทนผู้เสียหายได้รวมตัวกันเข้าร้องทุกข์ต่อนางปวีณา ตั้งแต่วันที่ 17 -24 มกราคม 2567 ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักลงทุนหน้าใหม่ไม่มีประสบการณ์ในตลาดหุ้นจึงถูกชักชวนทางเฟซบุ๊ก ติ๊กต็อก ไอจี ทวิตเตอร์ ให้เข้าศึกษาเรื่องการเทรดหุ้น โดยใช้รูปของบุคคลที่มีชื่อเสียงในวงการตลาดหุ้นไทยมาหลอกลวง และแนะนำให้เปิดพอร์ตลงทุนกับโบกเกอร์ปลอม โดยจะมีบุคคลที่อ้างเป็นผู้ช่วยอาจารย์ให้ซื้อ-ขายหุ้นตามคำชี้แนะ ให้โอนเงินเข้าบัญชีของโบกเกอร์ปลอมเพื่อนำไปซื้อหุ้น ทำให้เหยื่อหลงเชื่อ เนื่องจากตรวจสอบแล้วหุ้นดังกล่าวมีการปรับตัวตามภาวะตลาดจริง แต่เมื่อเหยื่อจะทำการถอนเงินลงทุนก็ไม่สามารถถอนได้จึงรู้ว่าถูกหลอก ซึ่งปัจจุบันนี้ยังมีการประชาสัมพันธ์โฆษณาชวนเชื่อจัดการอบรมสัมมนาจากขบวนการหลอกลวงอยู่ในโซเชียลอย่างแพร่หลาย โดยเป็นลักษณะของบริษัทที่ตั้งขึ้นเพื่อการหลอกลวงเกี่ยวกับการลงทุนเทรดหุ้นปลอมทั้งระบบ 

ประเสริฐ กล่าวว่า กระทรวงดีอีได้เร่งดำเนินกวาดล้างขบวนการนี้เพราะถือเป็นอาชญากรรมทางไซเบอร์ที่เป็นร้ายแรงของชาติตามนโยบายรัฐบาล โดยนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง มอบหมายให้ดีอี เร่งปราบปรามอาชญากรรมออนไลน์ทุกรูปแบบ พร้อมเน้นย้ำการทำงานใกล้ชิดร่วมกัน โดยได้จัดตั้งศูนย์ต่อต้านอาชญากรรมออนไลน์ AOC 1441 เพื่อให้เป็น One Stop Service แก้ปัญหาออนไลน์แก่ประชาชนได้ทันที

“มูลนิธิปวีณา ได้มีข้อเรียกร้องอยากให้กระทรวงได้ดำเนินการ คือการกวาดล้างมิจฉาชีพ ในเรื่องการปราบแก๊งค์คอลเซ็นเตอร์และภัยออนไลน์ทุกรูปแบบ และขอให้รัฐบาลได้ประชาสัมพันธ์ ได้เตือนภัยไปยังพี่น้องประชาชนให้รับทราบ กระทรวงฯ ได้มอบเอกสารและส่งต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจให้ไปดำเนินการต่ออย่างรัดกุมและอย่างมีประสิทธิภาพซึ่งทางตำรวจพร้อมทีมงานได้รับเรื่องไปดำเนินการอย่างเร่งด่วนเพื่อให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากที่สุด” ประเสริฐ กล่าว

ปวีณา กล่าวว่า เรื่องนี้ถือเป็นอาชญากรรมออนไลน์ที่ร้ายแรงสร้างความเสียหายทั่วโลก ผู้ตกเป็นเหยื่อสูญเงินจำนวนมหาศาล บางคนต้องกู้เงิน ขายบ้าน เอาบ้านที่ดินไปจำนอง ขายทรัพย์สินเอาเงินมาลงทุนจนหมดตัว หลังเจอปัญหาหลายคนไม่มีเงินให้ลูกเรียน เครียดหนัก จนเป็นโรคซึมเศร้า นอนไม่หลับ คิดฆ่าตัวตาย จึงเสนอให้กระทรวงดีอี มอยนโยบายในการดำเนินการกวาดล้างแก๊งมิจฉาชีพ อาชญากรรมออนไลน์ทุกรูปแบบให้หมดสิ้นไป และขอให้รัฐบาลได้ประชาสัมพันธ์เตือนภัยให้ความรู้กับประชาชนถึงพฤติกรรมอาชญากรรมออนไลน์ ให้เข้าถึงประชาชนเพื่อไม่ให้ตกเป็นเหยื่ออาชญากรรมออนไลน์อีก โดยขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องติดตามคดีและให้ความช่วยเหลือผู้เสียหายต่อไป 

โดยผู้เสียหาย ชื่อ ‘น.ส.เอ’ (นามสมมุติ) ที่สูญเสียเงินหลักล้านบาทได้ให้ข้อมูลกับทางเจ้าหน้าที่ว่า กลุ่มมิจฉาชีพมีพฤติกรรมการหลอกลวงด้วยการสร้างความน่าเชื่อถือ ผ่านหน้าพอร์ตปลอมที่สร้างขึ้นมาให้เหมือนแอปพลิเคชันแล้วให้ผู้เสียหายกดลิงก์โหลดเข้าในมือถือ ดูความเคลื่อนไหวของหุ้นซึ่งเป็นของจริง แต่การโอนเงินไปลงทุนเป็นการโอนเข้าบัญชีม้าและไม่มีการซื้อหุ้นจริง ผู้เสียหายจะเห็นตัวเลขเงินลงทุนและกำไร แต่ไม่สามารถถอนเงินออกมาได้ เมื่อตรวจสอบพบว่าชื่อบัญชีที่โอนเงินไปลงทุนมีหลายแพลตฟอร์ม ปลายทางเป็นชื่อบริษัท และชื่อเจ้าของบัญชีเดียวกัน มีความเชื่อมโยงกัน จึงเชื่อว่าจะเป็นเครือข่ายเดียวกัน แต่ทำเป็นขบวนการ โดยผู้เสียหายแต่ละคนสูญเงินไปจำนวนมาก ตั้งแต่หลักแสนถึงหลักล้าน บางคนสูงสุด 8-12 ล้านบาท รวมผู้เสียหาย 70 ราย เสียหายกว่า 91 ล้านบาท 

ขณะที่ ‘น.ส.บี’ (นามสมมุติ) อายุ 50 ปี ให้ข้อมูลว่า ช่วงปลายเดือน สิงหาคม 2566 ได้พบเพจเฟซบุ๊กสอนลงทุนซื้อหุ้นฮ่องกงฟรี โดยมีโปร์ไฟล์เป็นรูปเซียนหุ้นชื่อดังเกี่ยวกับการลงทุนคนหนึ่ง จึงกดเข้าไปทางแอดมินให้แอดไลน์กลุ่มซึ่งมีสมาชิกในห้องเรียน 50 คน มีการส่ง E-book มาให้ศึกษา และใช้ข้อความสอนทางไลน์อาทิตย์ละ 2-3 ครั้ง ซึ่งตลอดเวลาจะมีสมาชิกในกลุ่มไลน์โน้มน้าวว่าหุ้นตัวนั้นตัวนี้ดีน่าลงทุน จากนั้นจะมีคนที่อ้างตัวเป็นอาจารย์แนะนำคอนแทคให้เป็นโปรกเกอร์และให้แอดไลน์คุยกันพร้อมกดลิงก์โหลดแอปพลิเคชั่นที่เป็นรูปตัว T เพื่อให้ดูหน้าพอร์ตและการเคลื่อนไหวหุ้น รวมไปถึงจำนวนเงินเข้าออกปแบบเรียลไทม์ทำให้ดูน่าเชื่อถือ พร้อมอาจารย์จะคอยแนะนำให้ลงทุนหุ้นแต่ละตัว ขณะที่จะมีสมาชิกในกลุ่มไลน์ซึ่งคาดว่าจะเป็นหน้าม้าจะคอยบอกให้รีบลงทุนหุ้นตัวต่อไปอีก ทำให้จำนวนเงินลงทุนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เนื่องจากถูกชักจูงให้ซื้อหุ้นตัวอื่นตลอดเวลา จนตัวเลขในบัญชีมีเงินถึง 3 ล้านบาท เมื่อมีความคิดว่าจะถอนเงินออกมาแต่กลับก็ถอนไม่ได้ และรู้สึกผิดสังเกตว่าจากการที่สมาชิกในกลุ่มไลน์ต่างออกจากกลุ่มกันหมด และบัญชีที่โอนเงินลงทุนไปแต่ละครั้งจะเปลี่ยนชื่อไปตลอดเวลา เมื่อรู้ตัวว่าถูกหลอกจึงได้ไปแจ้งความที่ สภ.พุทธมณฑล จ.นครปฐม 

ทั้งนี้ตัวแทนผู้เสียหาย ได้เสนอให้ 1. ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ตรวจสอบการโอนเงินระหว่างประเทศของบริษัทที่ตั้งขึ้นมาในหลอกลวงเพื่อการลงทุนเทรดหุ้นที่เชื่อว่ามีการนำเงินที่ถูกหลอกไปลงทุนต่อในตลาดคริปโต บิทคอยน์ ในต่างประเทศเพื่อการฟอกเงินสีเทาให้ถูกกฎหมาย 2. ขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย กวดขันการเปิดบัญชีของมิจฉาชีพที่ถูกอายัดแล้ว ไม่ให้เปิดใหม่ได้อีก 3. ขอให้ทุกธนาคาร ส่งเอกสารหลักฐานเส้นทางการเงินให้กับสถานีตำรวจที่รับแจ้งความ เพื่อประกอบสำนวนคดีได้อย่างรวดเร็ว และ 4. ขอให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมมีการตรวจสอบการซื้อโฆษณาในสื่อออนไลน์เกี่ยวกับการชักชวนให้ลงทุน แอบอ้างเป็นหน่วยงานต่างๆ และแอบอ้างผู้มีชื่อเสียงในสังคม

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่