หน้าแรก Voice TV 'วิชา' แนะ รบ. รับฟังคำเตือน ป.ป.ช. ชี้อาจถูกแจ้งข้อกล่าวหาแบบ 'คดีจำนำข้าว'

'วิชา' แนะ รบ. รับฟังคำเตือน ป.ป.ช. ชี้อาจถูกแจ้งข้อกล่าวหาแบบ 'คดีจำนำข้าว'

73
0
'วิชา'-แนะ-รบ-รับฟังคำเตือน-ปปช.-ชี้อาจถูกแจ้งข้อกล่าวหาแบบ-'คดีจำนำข้าว'

’วิชา’ อดีต ป.ป.ช. เตือนรัฐบาล หากมีข้อท้วงติงทุจริตจาก ป.ป.ช. แต่ยังเดินหน้า ’ดิจิทัลวอลเล็ต’ อาจถูกแจ้งข้อกล่าวหา ยกเทียบ ‘จำนำข้าว‘ เคยเตือนถึง 2 ครั้ง ยันไม่ได้ขัดขวาง แต่เป็นการไต่สวนเชิงป้องกัน

29 ม.ค. 2567 ศาสตราจารย์วิชา มหาคุณ อดีตคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กล่าวถึงนโยบายเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาทของรัฐบาลว่า กระบวนการของ ป.ป.ช. คือกระบวนการที่ชี้ให้เห็นว่า มันมีข้อไหนที่ยังบกพร่องอยู่ และยังฝืนทำ เมื่อเกิดเรื่องทุจริตขึ้นมา จะแสดงให้เห็นว่า “เราเตือนแล้ว” เพราะฉะนั้นจึงสมควรเข้าข่ายที่จะยกไต่สวนเพื่อสืบหาความผิด 

วิชา ชี้ให้เห็นว่า เหมือนกรณีของนโยบายจำนำข้าว ที่เกิดขึ้นในรัฐบาลนำโดย ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งทาง ป.ป.ช. ก็ได้มีข้อท้วงติง และข้อสงสัยในเรื่องของการทุจริตบกพร่อง เพราะทาง ป.ป.ช. นั้น มีการทำรีเสิร์ช หรือรายงานอย่างละเอียด แต่รัฐบาลในขณะนั้นยังไม่ฟัง พร้อมอ้างว่า “เป็นนโยบายของรัฐบาล” ดังนั้นเมื่อเราเตือนไปถึง 2 ครั้งแล้ว และเกิดเรื่องทุจริตขึ้นมา เราถึงต้องสอบสวน ยิ่งลักษณ์ ในฐานะผู้นำรัฐบาล 

โดยเบื้องต้น วิชา ยอมรับว่า ยังไม่เห็นรายละเอียดหนังสือความเห็นของ ป.ป.ช. ที่จะส่งให้แก่กระทรวงการคลังในเรื่องดังกล่าว แต่หากรัฐบาลยังดื้อดึงที่จะทำต่อก็ต้องมาสอบสวนเพื่อหาข้อทุจริต และข้อบกพร่องต่อไป 

อย่างไรก็ตาม อดีต ป.ป.ช. เผยถึงการตรวจสอบนโยบายดังกล่าวว่า สำนักงาน ป.ป.ช. อาจจะต้องปรึกษาหารือกับคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ในฐานะที่เป็นองค์กรอิสระด้วยกัน อย่างกรณีของจำนำข้าว ป.ป.ช. ก็ได้มีการยื่นเรื่องหารือระหว่างสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) และผู้ตรวจการแผ่นดิน และทั้ง 2 องค์กรดังกล่าวก็ยื่นความเห็นเตือนเช่นเดียวกัน

“เขาเรียกว่า เป็นการไต่สวนเชิงป้องกัน หรือ Preventive Investigation เราต้องป้องกันไว้ก่อน ดังนั้นรัฐบาลต้องระวัง ถ้ายังดื้อดึงจะทำต่อ และพบว่า มันมีข้อบกพร่องจริงๆ เราจะถือว่า เป็นเหตุให้แจ้งข้อกล่าวหาได้“ 

ด้าน จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้เปิดเผยถึงความคืบหน้าของนโยบายดังกล่าวในวันนี้ว่า ต้องรอข้อเสนอแนะจาก ป.ป.ช. ก่อนว่าจะออกมาอย่างไร มีความเป็นห่วงด้านกฎหมายจุดใดบ้าง ซึ่งรัฐบาลพร้อมปรับเงื่อนไขให้สอดคล้องกับข้อเสนอของฝ่ายต่างๆ และขณะนี้ได้ยกร่าง พ.ร.บ.กู้เงิน เตรียมการรองรับเสร็จแล้ว

อีกทั้ง ยอมรับว่า แผนแจกเงินดิจิทัลจะล่าช้าออกไปจากแผนเดิมคือเดือนพฤษภาคม 2567 แต่ยืนยันว่า จะใช้เงื่อนไขเดิมทั้งหมด โดยต้องให้คณะทำงานชุดใหญ่ ตัดสินใจเดินหน้า เพราะรัฐบาลมองว่า เศรษฐกิจ ยังมีปัญหา

ทิ้งคำตอบไว้

กรุณาใส่ความคิดเห็นของคุณ!
กรุณาใส่ชื่อของคุณที่นี่